สกู๊ปพิเศษ แนวทางผลิต “ ทุเรียนภาคใต้ ” สร้างรายได้แบบยั่งยืน อาจารย์วิลิต ปราชญ์ทุเรียน เมืองขนอม บอกวิธีจัดการสวนทุเรียน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทีมงานนิตยสารพลังเกษตร ได้จัดทำสกู๊ปพิเศษ เรื่อง แนวทางการผลิต ทุเรียนภาคใต้ เพื่อรายได้แบบยั่งยืน โดยนำข้อคิดเห็นของคนในวงการที่มีประสบการณ์สูงมานำเสนอ

1.อาจารย์วิลิต สุทิน
1.อาจารย์วิลิต สุทิน

สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน

“ทุเรียน” ราชินีผลไม้ไทย ที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และราคาดีกว่าพืชอีกหลายชนิด ทำให้มีผู้สนใจปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่การปลูกทุเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้น มีหลายปัจจัย อาทิ ดิน น้ำ แสง อากาศ ต้นพันธุ์ ปุ๋ย และ การบริหารจัดการสวน เป็นต้น

อาจารย์วิลิต สุทิน เจ้าของ ร้านพลอยเกษตรภัณฑ์ ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่คลุกคลีกับการทำสวนปาล์ม ยางพารา และ สวนทุเรียน ในพื้นที่ภาคใต้มานาน การเปิดร้านจำหน่ายปุ๋ย ยา เคมีภัณฑ์ ภายใต้สโลแกน “รอยยิ้มของเกษตรกร คือ งานของเรา” มีความมุ่งมั่นช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีองค์ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ย และการจัดการสวนให้เป็น โดยเฉพาะการทำสวนทุเรียน

อาจารย์วิลิตได้ให้ข้อมูลว่า ได้ปลูกทุเรียน จำนวน 700 ต้น แบ่งเป็น 2 รุ่น อายุ 7 ปี จำนวน 400 ต้น และ อายุ 2-3 ปี จำนวน 300 ต้น ทั้งหมดเป็นทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง ได้ซื้อกิ่งพันธุ์แบบเสียบยอด ในราคา 150 บาท/ต้น จากร้านอำมริตพันธุ์ไม้ใน อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นผู้ผลิตกิ่งพันธุ์ทุเรียนมืออาชีพ จึงมั่นใจว่าสายพันธุ์แน่นอน มีต้นสมบูรณ์ ระบบรากดี

ส่วนการปลูกจะยกโคกทั้งหมด เพราะพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ราบ มีโอกาสสุ่มเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมได้ง่าย และได้ติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์ไว้ทั้งสวน เมื่อยกโคกแล้วจะรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ผสมอะมิโนฮิวมิคฟลูวิค อัตรา 2-3 ขีด/หลุม ความลึกไม่เกินครึ่งตุ้มของต้นกล้าทุเรียน ระยะ 9×9 เมตร จะได้ทุเรียน 22-24 ต้น/ไร่  

2.สวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง อายุประมาณ 7 ปี จำนวน 400 ต้น
2.สวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง อายุประมาณ 7 ปี จำนวน 400 ต้น

การให้ปุ๋ยและน้ำต้นทุเรียน

“การดูแลรักษาต้นทุเรียนจะต้องละเอียด ตั้งแต่การใช้ปุ๋ย ปุ๋ยที่ผมใช้จะเป็นอินทรีย์เคมีในเม็ดเดียว ใช้สลับกับ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมี ใช้น้อยเป็นตัวเสริม ใช้ทั้งปุ๋ยทางดิน และ ทางใบอาจารย์วิลิตกล่าวถึงการดูแลสวนทุเรียนช่วงก่อนให้ผลผลิตช่วงอายุ 1-4 ปี เมื่อทุเรียนปลูกแล้วจะแตกยอดใหม่ประมาณ 45-60 วัน ถ้าบำรุงใบดี ใช้เวลา 45 วัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งหลักการใส่ปุ๋ย เมื่อทุเรียนอ่อน ทุเรียนเริ่มแทงยอดปลาทู จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ควบคู่กับให้อาหารทางใบด้วย ผสมร่วมกับยาฆ่าแมลง หนอน เพลี้ย เพราะการให้อาหารทางใบจะช่วยได้ประมาณ 30% ซึ่งจะทำให้ทุเรียนเล็ก ขยายโครงสร้าง กิ่งก้านใบดีมาก ที่สำคัญต้องสัมพันธ์กับการรดน้ำด้วย เกษตรกรต้องเข้าใจด้วยว่าทุเรียนเป็นรากตะขาบกินอาหารผิวดินความลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร ทำให้การรดน้ำกับต้นทุเรียนต้องดูที่ความชื้นดินบริเวณโคนต้นเป็นหลัก

กรณีทุเรียนเล็กจะให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ควบคู่กับการเช็ค pH ดิน ไม่ให้ดินเป็นกรด เพราะทุเรียนเปรียบเหมือนเด็กอ่อน ถ้าให้อาหารมากไปจะกระทบระบบราก การให้อาหารอ่อน คือ ให้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นหลัก จะทำให้การเจริญเติบโตของทุเรียนดีมาก และ แข็งแรง ส่วนศัตรูทุเรียนที่พบบ่อยในพื้นที่ คือ ไรแดง มักเกิดช่วงใบแก่ ถ้าทุเรียนเล็กอายุ 3-4 ปี ก็ฉีดป้องกันไว้ เกษตรกรจะรู้จากการสังเกตเป็นหลัก เพราะไรแดงมักเกิดกับทุเรียนใบแก่ ระยะออกผล เพราะมีอาหารเยอะ

เมื่อทุเรียนให้ผลผลิตแล้วต้นจะค่อนข้างโทรม ก่อนจะทำชุดใบ อาจารย์วิลิตบอกว่า ต้องฟื้นฟูระบบรากก่อน ด้วยการปรับสภาพโครงสร้างดินก่อนเป็นอันดับแรก เพราะรากฝอยเสียไป 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะช่วงที่ทุเรียนให้ผลผลิตกระทบกับระบบราก ซึ่งระบบรากจะทำงานหนัก เพื่อส่งอาหารไปเลี้ยงผล บวกกับบางสวนในภาคใต้นิยมทำทุเรียนนอกฤดู จึงมีการใช้สารจิบเบอเรลลินทำนอกฤดู และสารแพกโคบิวทาซอล สารตัวนี้ทำให้ระบบรากทำงานหนัก

ฉะนั้นก่อนทำชุดใบต้องฟื้นฟูระบบดินก่อน โดยใช้สารปรับปรุงดินฮิวมิกและอะมิโน ร่วมกับใส่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใส่ทางดิน แล้วใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 เพื่อดึงระบบรากฝอยก่อน ซึ่งได้ศึกษาจากหลายอาจารย์ว่าธาตุ P มีประโยชน์และให้โทษ ต้องใช้ให้ถูกช่วง ต้นทุเรียนอายุ 6-7 ปี จะใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ทางดินประมาณ 2 ช่วง คือ 1.กับช่วงฟื้นฟูหรือบูสระบบรากฝอย อัตรา 7 ขีด/ต้น และใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0  ของศักดิ์สยาม ร่วมกับแคลเซียม 26 เปอร์เซ็นต์ และ แมกนีเซียมซัลเฟตแฮปต้าไฮเดรต ใส่อัตรา 2 ขีด/ต้น ช่วงที่ฟื้นฟูระบบราก  2.ช่วงที่ทุเรียนสะสมตาดอก

“ปุ๋ยเคมีสูตร 15-0-0 ของศักดิ์สยาม ทำแล้วถือว่าขาดไม่ได้ เพราะใช้หลายระยะ คือ 1.ช่วงฟื้นฟูระบบราก ทำชุดราก 2.ชุดทำใบที่ 1 2 และ 3 ก่อนต้นทุเรียนสะสมตาดอก และช่วงกำลังสร้างเปลือก ที่ต้องใช้แคลเซียมเยอะ อยู่ในระยะผล 30-60 วัน ใส่ 15-0-0ได้เลย” อาจารย์วิลิตให้ข้อมูลสูตรปุ๋ย

3.ทุเรียนหมอนทองติดผลเล็ก
3.ทุเรียนหมอนทองติดผลเล็ก

การบำรุงดูแลทุเรียน

คือใบของทุเรียนมีความสมบูรณ์ สะสมอาหารไว้มากน้อยแค่ไหน ความสมบูรณ์ของใบต้องดี เมื่อถึงระยะสะสมตาดอก จะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 1 กก./ต้น/ครั้ง ควบคู่กับปุ๋ยสูตร 0-52-34 +ธาตุรอง และ ธาตุเสริม ฉีดพ่นทางใบในการสะสมตาดอก เมื่อตาดอกสมบูรณ์แล้วดูแลระบบรากเป็นพิเศษ จะใช้อะมิโนเข้มข้นฉีดพ่นทางใบ เพื่อช่วยลดความเครียดกับต้นทุเรียนในขณะให้น้ำ ถ้าฟื้นระบบรากและใบไม่ดี เมื่อให้น้ำทุเรียนจะเครียดแล้วเกิดภาวะ ซันเบิร์น (Sunburn) เป็นอาการแดดเผาใบไหม้ แต่ถ้าบำรุงต้นทุเรียนดี ต้นสมบูรณ์ แข็งแรง จะไม่เป็นซันเบิร์น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากนั้นจะให้น้ำกับต้นทุเรียน เพื่อกระตุ้นการเกิดตาดอก และสะสมน้ำตาลที่ผิวมากขึ้น ทุเรียนจะเริ่มออกดอกมาเรื่อยๆ และเป็นช่อมีตั้งแต่ 3-30 ดอก/ช่อ และออกดอกเป็นรุ่นๆ 1-3 รุ่น จึงต้องจัดการสอยดอกออก และต้องเลือกไว้ดอกต่อต้นแค่รุ่นเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการผลผลิต เพราะถ้าไว้หลายรุ่นแล้วจะให้อาหารยาก และอาจทำให้ต้นโทรม จะเลือกไว้เพียง 5-7 ช่อดอก/กิ่ง ซึ่งมีวิธีการจัดการตัดแต่งทุเรียนในแต่ละช่วงดังนี้

ครั้งที่ 1 การตัดแต่งช่อดอกในระยะมะเขือพวงเล็ก อยู่ติดกับโคนต้นออก จะเริ่มไว้ช่อดอกแรกให้ห่างจากต้น 50 เซนติเมตร และ เลือกไว้เพียง 5-7 ช่อดอกต่อกิ่ง แต่ละช่อห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร

ครั้งที่ 2 การตัดแต่งในระยะผลเท่าไข่ไก่ ระยะนี้ 1 พวงดอก จะติดผลได้ประมาณ 10-20 ผล จะคัดเลือกผลที่ไม่สวย หรือ บิดเบี้ยวออก เก็บผลที่ติดอยู่ในช่อออกให้เหลือไว้ประมาณ 3-4 ผล /ช่อ แล้วทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง

ครั้งที่ 3 การตัดแต่งในช่วง 20 วัน หลังจากระยะผลมีขนาดเท่าไข่ไก่ ช่วงนี้ทุเรียนจะแตกใบอ่อนออกมา ต้องคอยหมั่นสังเกต เพราะทุเรียนจะรักใบมากกว่าผล หากมีใบต้นจะสลัดผลทิ้ง ระยะนี้การตัดแต่งขาดไม่ได้ การแต่งผลช่วงนี้ต้องดูใบทุเรียนด้วย เพราะทุเรียนจะเลือกผลที่แข็งแรงไว้ ถ้าผลไหนสู้ไม่ไหวจะร่วงลงไป การตัดแต่งในระยะนี้ จำต้องทำหลังผ่านการแตกใบอ่อนไปแล้ว ระยะนี้จะใช้เทคนิคการส่งใบเพื่อประคองผล/ลดการหลุดร่วงของผล จึงตัดแต่งผลในรอบนี้ให้เหลือเพียง 3-4 ผล/ช่อ

ต้องดูแลพิเศษเพราะเป็นช่วงของรายได้มีระยะไข่นกถึงไข่ไก่ ทางสวนจะไม่ให้อาหารทางเดินเลย เราจะให้ทางใบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแคลเซียมโบรอนฉีดพ่นทางใบเป็นหลัก ส่วนการให้น้ำก็ใส่พอประมาณ” อาจารย์วิลิตให้ข้อมูลช่วงสำคัญของทุเรียน

ครั้งที่ จะตัดแต่งในระยะกระป๋องนม ให้เหลือเพียงช่อละ 1-2 ผล ใน 1 กิ่ง จะไว้เพียง 3-5 ผล ไว้ผลได้ประมาณ 60 ผล/ต้น หรือ 25-35 ผล/ต้น ขึ้นอยู่กับตลาดว่าต้องการผลใหญ่หรือเล็ก เมื่อผลทุเรียนมีขนาดกับกระป๋องโค้กแล้วจะมีเม็ดเต็ม และออกซินอยู่ในผลแล้ว จึงเริ่มใส่ปุ๋ยบำรุงเพื่อปั้นรูปทรงของผล ด้วยการใส่ปุ๋ยทางดิน เป็นปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ในบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากต้น 50 เซนติเมตร

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.ต้นทุเรียนสมบูรณ์ เจริญเติบโตดี ใบใหญ่ เขียว มัน
4.ต้นทุเรียนสมบูรณ์ เจริญเติบโตดี ใบใหญ่ เขียว มัน

การบริหารจัดการสวนทุเรียน

การทำทุเรียนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ระยะการเพิ่มน้ำหนักผล คืออายุ 70-90 วัน เป็นช่วงที่ผลกางหนาม เบ่งพู ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 เพื่อการแบ่งเซลล์ สร้างเนื้อ ในช่วงระยะผลโค้กไปจนถึงเก็บผลผลิต จะใส่ปุ๋ย 15 วัน/ครั้ง อัตรา 3-5 ขีด/ต้น ใช้หลักเกณฑ์ดูแต่ละต้นว่าไว้ผลมากมากน้อยแค่ไหน ช่วงที่ผลอายุ 90-100 วัน เป็นช่วงที่ทุเรียนไม่ค่อยกินอาหารแล้ว ถ้ากินก็น้อย เพราะต้องแต่งพู แต่งสี กลิ่น

ในช่วงนั้นตัดผลขายก่อนที่เปอร์เซ็นต์น้ำตาลในเนื้อยังไม่ได้ เนื้อทุเรียนก็ไม่อร่อย ช่วงที่เหมาะสมในการตัดผล คือ ช่วงอายุผล 115 วัน เนื้อจะเต็ม มีรสชาติ หวาน มัน หอม แน่นอน บางสวนเก่ง มีเทคนิคทำให้เปลือกบาง เนื้อเยอะ เม็ดลีบ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่ที่พันธุกรรม แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการส่วนใหญ่ ทุเรียนของผมเปลือกบาง เนื้อเหลืองหวาน มัน เนื้อนุ่ม เม็ดลีบ

บางสวนที่ทุเรียนเนื้อไม่อร่อย พูไม่เต็ม ขึ้นอยู่กับการจัดการของชาวสวน การใช้ปุ๋ยแต่ละช่วง ไม่ถูกต้อง การให้น้ำ ให้ธาตุอาหารหลัก ธาตุรอง และ ธาตุเสริม ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ผล สี กลิ่น เพี้ยน ฉะนั้นการจัดการในเรื่องของธาตุอาหาร เรื่องปุ๋ย  เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก” อาจารย์วิลิตกล่าวถึงการผลิตทุเรียนคุณภาพ

ทุเรียนหมอนทองที่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 400 ต้น เก็บผลผลิตเมื่อปีที่ผ่านมา ได้ 20 ตัน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องของราคารับซื้อหน้าสวน ผลผลิตบางรุ่นได้แค่ 80 บาท/กก. เพราะผลผลิตออกในฤดูกาล ราคาตกต่ำ แต่ช่วงเดือนตุลาคม เป็นผลผลิตออกหลังฤดูกาล จะได้ราคาดี 160-250 บาท/กก.

5.จำหน่าย ยา เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการเกษตร
5.จำหน่าย ยา เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการเกษตร

ปัญหาและอุปสรรคของต้นทุเรียน

อาจารย์วิลิตให้ความเห็นว่า โรคไฟทอปเทอราเป็นโรคคู่กับทุเรียน ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน ในขณะที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีไม่ระมัดระวังทำให้ดินเป็นกรด พวกเชื้อราไฟทอปชอบอยู่แล้ว ถ้าไม่ระมัดระวังจะมีปัญหาตามมา

การรักษาโรคไฟทอปเทอราก็มีหลากหลายวิธี  เช่น การใช้ยาหลากหลายทาต้น ทาเปลือก ฉีดเข้าต้น ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ที่สวนจะใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน และเกิดโรคไฟทอปเทอราน้อย เพราะก่อนใส่ปุ๋ยจะคอยต้องเช็ค pH ดิน ถ้า pH ดินเป็นกรด จะปรับดินก่อน เป็นเชิงการป้องกันมากกว่า ทำอย่างไรให้ “ดินมีชีวิตชีวา” ไม่ให้ดินเป็นกรด ช่วยลดปัญหาได้เยอะ พอช่วงระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะใส่ “ฟอสไฟด์” สลิงเข้าต้น 1 ครั้ง/ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วิลิต  สุทิน ร้านพลอยเกษตรภัณฑ์ 110/5 หมู่ 11 ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โทร.081-968-6781

เมื่อนำ “องค์ความรู้” มาวิเคราะห์ จะพบว่า ชาวสวนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดี โดยเฉพาะแนวทางทำให้ต้นทุเรียนแข็งแรง อันเนื่องมาจากการจัดการที่ถูกต้อง แม้แต่ “หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน GI” ที่พังงา ก็ไม่สุดวิสัยที่จะป้องกัน ถ้ารัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

เรื่องทุเรียน เป็นงานฝีมือ ดังนั้น รัฐ และ เอกชน ต้องพัฒนาองค์ความรู้ และ ปรับตัวตามสถานการณ์ สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องทุเรียนในทุกๆ เรื่อง โทร.085-075-8853

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 24