ไทยยูเนี่ยนฯ ส่งเสริมเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ควบคู่กุ้งและหอยแครง ได้ทั้งเงินและสิ่งแวดล้อม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับกุ้งขาววานาไม

ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำได้สัมภาษณ์เกษตรกรถึง 2 ราย จากทั้งหมด 16 ราย ที่ตัดสินใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ควบคู่กับสัตว์น้ำชนิดอื่น ได้แก่ คุณชวลิต คำหริ่ม หนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ชาวตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่แต่ก่อนเลี้ยงหอยแครงเป็นอาชีพหลัก และมีประสบการณ์เลี้ยงมากถึง 13ปี และคุณศักดิ์ทัศน์ ทองอุทัย หนุ่มไฟแรงอายุ 38 ปี ที่ทำงานบริษัทเอกชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และหันมาเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับกุ้งขาววานาไม เพื่อสร้างรายได้เสริมควบคู่กับงานประจำที่ทำอยู่

ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ได้รับคำแนะนำจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ให้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่เลี้ยงเป็นปกติอยู่แล้ว โดยได้รับคำแนะนำว่าให้เข้าไปรับลูกพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลกับ คุณวันชัย พนาธเนศ ผู้ชำนาญการแปรรูปอาหารทะเล บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีด มิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลร่วมกับทางบริษัท

ซึ่งบริษัทก็ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ในละแวกเดียวกันกับบ่อของเกษตรกรทั้ง 2 ท่าน และคุณวันชัยก็เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลแก่เกษตรที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งทางบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ยังเป็นตลาดหลักๆ ที่รับซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้

1.กุ้งขาววานาไมของคุณศักดิ์ทัศน์
1.กุ้งขาววานาไมของคุณศักดิ์ทัศน์
2.คุณศักดิ์ทัศน์-ทองอุทัย-เลี้ยงปลานวลจันทร์ควบคู่กับกุ้งขาววานาไม
2.คุณศักดิ์ทัศน์-ทองอุทัย-เลี้ยงปลานวลจันทร์ควบคู่กับกุ้งขาววานาไม

คุณศักดิ์ทัศน์ ทองอุทัย เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับกุ้งขาววานาไม จ.สมุทรสาคร

เราจะกล่าวถึงเกษตรกรท่านแรกก็คือ คุณศักดิ์ทัศน์ ทองอุทัย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ส่วนมากเลี้ยงกุ้งไม่สำเร็จ เลี้ยงแล้วตาย เลี้ยงแล้วเป็นโรคตายด่วน คนเลี้ยงจึงทยอยหายไป มาปีนี้จึงอยากทดลองเลี้ยงปลาดูก่อน เนื่องจากมีบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ สนับสนุนโครงการ และเป็นตลาดหลักๆ ที่รับซื้อปลานวลจันทร์ทะเล

จึงตัดสินใจเลี้ยงร่วมกับกุ้งขาววานาไมเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว และเป็นแรงจูงใจเพื่อต้องการหารายได้เสริม โดยมองว่าปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาที่ทนต่อสภาพน้ำที่แย่ที่สุด อย่างเช่น น้ำเสีย สีเขียวๆ คิดว่าปลาตัวนี้น่าจะเลี้ยงง่ายกว่าปลาชนิดอื่น อย่างเช่น ปลากะพง หรือปลานิล อีกทั้งทราบว่าปลาตัวนี้เป็นปลาทำความสะอาดบ่อ และในท้องมีจุลินทรีย์ที่ช่วยบัดน้ำเสียได้ และบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ก็แนะนำให้เลี้ยงควบคู่กับกุ้ง จึงตัดสินใจเลี้ยง

3.บ่อของคุณศักดิ์ทัศน์
3.บ่อของคุณศักดิ์ทัศน์

สภาพพื้นที่เลี้ยง ปลานวลจันทร์

คุณศักดิ์ทัศน์ลงทุนเช่าบ่อ 2 ที่ ที่แรกมี 1 บ่อ พื้นที่ 14 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ 2 มี 3 บ่อ บ่อละ 4 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านแพ้ว อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งบ่อแรกเป็นบ่อเช่า ค่าเช่าปีแรก 30,000 บาท และจ้างคนเฝ้าบ่อเดือนอีกละ 6,000 บาท ส่วนที่ 2 ทำร่วมกับเจ้าของบ่อ เจ้าของบ่อดูแลให้ จึงไม่ได้จ้างคนเฝ้าบ่อ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ค่าพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ซึ่งซื้อมาขนาดความยาว  1 นิ้ว ราคาจำหน่ายตัวละ 1 บาท โดยซื้อมาทั้งหมด 76,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จะเป็นค่าอาหารปลา เป็นอาหารที่ซื้อจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ เป็นอาหารรีโปรเซส และอาหารเม็ดนั้นซื้อมาจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ อย่างละ 500 กก. และซื้อมา 2 รอบ แล้ว ราคากระสอบละ 620 บาท โดยซื้อมาทั้งหมด 2 ตัน เป็นเงิน 30,000 บาท ค่าเตรียมบ่อ และค่าทำอวน รวมกันเป็นเงิน 20,000 บาท

บ่อของคุณศักดิ์ทัศน์เป็นบ่อดินธรรมชาติทั้งหมด โดยบ่อที่ ต.บางแก้ว ห่างจากทะเล 2 กม. น้ำเลี้ยงที่ใช้ก็จะเปิดบ่อให้น้ำทะเลเข้ามาตามคลองส่งน้ำ ความเค็มของน้ำอยู่ที่ 35 ppt. (parts per trillion) ส่วนที่ 2 ที่ อ.บ้านแพ้ว เป็นน้ำกร่อย ความเค็มของน้ำอยู่ที่ 5 ppt. การลงลูกปลาที่แรกลง 40,000 ตัว ผ่านไป 3 วัน ตามด้วยลูกกุ้งขาววานาไม 2 แสนตัว ส่วนที่ 2 มีทั้งหมด 3 บ่อ แบ่งลงบ่อละ 12,000 ตัว แล้ว ผ่านไป 3 วัน จึงตามด้วยลูกกุ้งบ่อละ 1 แสนตัว

4.ให้อาหารปลานวลจันทร์
4.ให้อาหารปลานวลจันทร์

การให้อาหารปลานวลจันทร์

การให้อาหารในช่วงแรกจะให้รำร่วมกับอาหารเม็ดแบบลอยที่ซื้อมาจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ส่วนเรื่องการให้ออกซิเจนตอนนี้ ที่บ่อ อ.บ้านแพ้ว มีเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินเครื่อง เนื่องจากเพิ่งลงลูกปลานวลจันทร์ได้ 1 เดือน หลังจากลงลูกปลานวลจันทร์ทะเลแล้วพบว่าลูกปลาแข็งแรงดี อัตราการรอดสูง อัตราการรอดอยู่ที่ 90% เป็นที่น่าพอใจ ช่วยประหยัดค่าอาหารปลา

เนื่องจากปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลากินพืช จึงกินสาหร่ายในบ่อเป็นอาหาร ส่งผลให้สาหร่ายในบ่อกุ้งลดลง เป็นที่น่าพอใจ บ่อกุ้งสะอาดขึ้น ช่วยให้กุ้งเจริญเติบโตดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรค และมีอัตราการรอดสูง ยกเว้นบ่อที่ ต.บางแก้ว เลี้ยงกุ้งไม่ประสบผลสำเร็จ ตายไปหมดแล้ว เนื่องจากความเค็มของน้ำทำให้กุ้งไม่สามารถลอกคราบได้ และตายในที่สุด ซึ่งลงทุนซื้อลูกกุ้งไป 16,000 บาท จากที่ตกลงกันกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ

เมื่อเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือจนได้ขนาด 0.5 กก./ตัว แล้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ทางบริษัทต้องการ บริษัทก็จะมารับซื้อปลาที่ฟาร์ม โดยให้ราคาขั้นต่ำ 50 บาท/กก. แต่ทางฟาร์มจะขึ้นปลาเอง หรือทางบริษัทจะรับผิดชอบขึ้นปลาเองทั้งหมดนั้น อันนี้ยังไม่ได้ตกลงกัน ต้องคุยกันตอนที่ปลานวลจันทร์อายุได้ 3-4 เดือนขึ้นไป

ทั้งนี้คุณศักดิ์ทัศน์ยังทิ้งท้ายถึงเกษตรกรท่านอื่นว่า ปลาตัวนี้น่าส่งเสริมให้เลี้ยง เพราะว่าเป็นปลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้เลี้ยงมาโดยตลอด เนื้อปลาเมื่อปรุงเป็นอาหารก็รสชาติดี อยู่ง่าย เลี้ยงง่าย ค่าอาหาร และต้นทุนการเลี้ยงไม่สูง ถ้าใครจะเลี้ยงก็เริ่มเลี้ยงตอนนี้ได้เลย เพราะมีตลาดรองรับ และเชื่อมั่นได้ว่าบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ สามารถผลักดันให้เป็นปลาเศรษฐกิจได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.คุณชวลิต-คำหริ่ม-เลี้ยงปลานวลจันทร์ควบคู่กับหอยแครง
5.คุณชวลิต-คำหริ่ม-เลี้ยง ปลานวลจันทร์ ควบคู่กับหอยแครง

คุณชวลิต คำหริ่ม เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับหอยแครง จ.สมุทรสาคร

ส่วน คุณชวลิต คำหริ่ม เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงในพื้นที่ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับหอยแครงมาเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานว่า พื้นที่บริเวณ ต.โคกขาม ไปจนถึง ต.พันท้าย เป็นพื้นที่เลี้ยงหอยแครง เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และสร้างรายได้ต่อปีค่อนข้างสูง และเกษตรกรในละแวกนั้นก็ยังเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติที่เกิดในชายทะเลแล้วเข้ามาเจริญเติบโตตามธรรมชาติในบ่อของเกษตรกร

ซึ่งก่อนการเลี้ยงกุ้งก็จะล้างบ่อด้วยการใส่กากชาลงไปในบ่อเพื่อฆ่าปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลากุเลา เมื่อปลาจำพวกนี้ตายก็จะลดจำนวนศัตรูกุ้งลงไปได้ ทำให้อัตราการรอดของกุ้งสูงขึ้น แต่พบว่าการเทกากชาไม่ได้ช่วยให้บ่อสะอาดขึ้น หรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคในกุ้งได้เลย

คุณชวลิตจึงมาลองวิธีอื่นที่ดีกว่า และเป็นแรงจูงใจของคุณชวลิต คือ ต้องการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพื่อให้กินสาหร่าย และแพลงก์ตอน ที่ทำให้น้ำเสียในบ่อหอยแครงโดยยึดหอยแครงเป็นหลัก แล้วปลาเป็นรอง เพื่อให้หอยแครงเจริญเติบโตเต็มที่ โตไว ให้ผลผลิตสูง

ซึ่งปัญหาจากการเลี้ยงหอยแครง แต่เดิมนั้นในบ่อมีสาหร่ายขึ้นเป็นจำนวนมากในก้นบ่อ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามระดับความสูงของน้ำ มักมีมากตอนที่กักน้ำในบ่อไว้ พอมีมากขึ้น และสะสมหนาขึ้นเรื่อยๆ ที่ก้นบ่อ จนเน่าทับถมหอยแครง และหอยแครงก็บ้วนสาร หรือแพลงก์ตอน บางอย่างออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้น้ำเสีย จนทำให้หอยแครงเจริญเติบโตช้า และตายได้ จึงตัดสินใจนำปลานวลจันทร์ทะเลมาเลี้ยงเสริมควบคู่กับหอยแครงเป็นเจ้าแรกในพื้นที่

การลงทุนได้ลงทุนซื้อลูกปลานวลจันทร์ทะเลขนาด 2 นิ้ว มาจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ในราคาตัวละ 2 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท และค่าอาหารปลาสำหรับลูกปลาจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ แบบเม็ดจม 1 กระสอบ ราคากระสอบละ 620 บาท ส่วนเรื่องการจ้างแรงงานพี่ชวลิตบอกว่าจะใช้คนงานตอนขึ้นหอยอย่างเดียวประมาณ 30-40 คน นอกนั้นก็ไม่ได้จ้างคนงาน เพราะว่าการเปิด-ปิด บ่อเป็นเรื่องที่ตนเองสามารถทำได้ โดยไม่ต้องจ้างคนงาน ส่วนคนงานที่จะใช้ขึ้นปลานวลจันทร์ทะเลนั้นยังไม่สามารถตอบได้ เพราะว่ายังไม่ได้ตกลงกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ว่าจะให้เราขึ้นปลาเอง หรือว่าทางบริษัทจะขึ้นปลาเอง

6.บ่อของคุณชวลิต
6.บ่อของคุณชวลิต

การควบคุมคุณภาพน้ำ

แต่เดิมคุณชวลิตมีบ่อหอยแครงทั้งหมด 3 บ่อ บ่อละ 50 ไร่ รวมพื้นที่เป็น 150 ไร่ ความสูงของบ่ออยู่ที่ 0.6-1.5 เมตร แต่ทดลองเลี้ยง ปลานวลจันทร์ ทะเลควบคู่กับหอยแครงเพียงบ่อเดียวเป็นพื้นที่ 50 ไร่ ระบบน้ำเลี้ยงที่ใช้จะเป็นน้ำเค็ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดทะเล มีความเค็มอยู่ในช่วง 27-30 ppt.โดยความเค็มจะมีมากสุด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในช่วงที่กักน้ำเอาไว้จะอยู่ที่ 30 ppt. เพราะว่าน้ำมีการระเหยออกไป ทำให้ความเข้มข้นของเกลือมีมากขึ้น การเปิด-ปิดบ่อ จะเปิดบ่อให้น้ำทะเลเข้ามา เพื่อให้แพลงก์ตอนเข้ามาเป็นอาหารของปลา และหอยแครงได้ ระยะเวลาเปิดบ่อจะเปิด 7-8 วัน และหลังจากนั้นจะปิดบ่อกักน้ำไว้เป็นเวลา 10 วัน แล้วก็ถ่ายทิ้ง แล้วเปิดบ่อใหม่ เปิด-ปิด แบบนี้วนไป ตามอิทธิพลของน้ำขึ้น น้ำลง

ส่วนเรื่องการให้ออกซิเจนตอนนี้ยังไม่จำเป็น เพราะว่าตอนนี้น้ำทะเลยังไม่เสีย น้ำทะเลจะเริ่มเสียช่วงกลางเดือน เม.ย. และจะเสียมากช่วงต้นเดือน พ.ค. ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่เปิด-ปิด บ่อยที่สุด โดยจะเปิดตอนเช้า และปิดตอนเย็น เพราะยิ่งเปิด-ปิดบ่อบ่อยมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้หอยแครงเจริญเติบโตดีขึ้นเท่านั้น

ซึ่งน้ำเสียในทะเลนั้นมีอิทธิพลจาก 2 ปัจจัย คือ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากมนุษย์ทำขึ้น ถ้าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็จะเกิดจากการบูมของแพลงก์ตอนบางชนิด แต่ถ้าเกิดจากฝีมือมนุษย์ก็เกิดจากการปล่อยกากน้ำตาลจากโรงงานอุตสาหกรรมในละแวกนั้น เมื่อเกิดน้ำเสียก็จะปิดบ่อไว้กันน้ำเสียเข้ามา ต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์พอสมควร

การให้อาหาร ปลานวลจันทร์

ส่วนการให้อาหารปลาตอนนี้ยังไม่ได้เน้นให้ เพราะต้องการให้ปลากินสาหร่ายในบ่อหอยแครงเป็นหลักก่อน แต่ก็มีสำรองอาหารเม็ดชนิดจมสำหรับลูกปลาจากบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ เพราะถ้าให้อาหารปลา ปลาก็จะไม่กินสาหร่ายในบ่อ และจะเริ่มให้อาหารปลาเมื่อปลาอายุได้ 3-4 เดือนขึ้นไป

หลังจากที่เลี้ยงปลาไปแล้ว ตอนนี้พบว่าปลาแข็งแรงดี มีการเจริญเติบโต คุณชวลิตบอกว่าผลที่ได้ตอนนี้ คือ เหนื่อยน้อยลง เนื่องจากแต่ก่อนเวลาจะเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้ลูกปลาจะต้องใช้เรือยนต์ขับวนในบ่อเพื่อตีน้ำเพิ่มออกซิเจน จะกำจัดสาหร่ายในบ่อก็ต้องใช้กิ่งไม้ไปลากสาหร่ายออกจากบ่อ

แต่พอมี ปลานวลจันทร์ ทะเลเข้ามาจึงตัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ เนื่องจากปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมหากินเป็นฝูง สามารถพัดโบกน้ำที่ก้นบ่อให้ขุ่น เป็นการเพิ่มออกซิเจนที่ก้นบ่อให้หอยแครง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเหมือนแต่ก่อนที่ต้องใช้เรือยนต์ขับวนในบ่อเพื่อตีน้ำเพิ่มออกซิเจน เป็นการลดต้นทุนค่าน้ำมันเรือยนต์ไปในตัว ไม่ต้องเสียเวลาใช้กิ่งไม้ไปลากสาหร่ายออกจากบ่อเหมือนแต่ก่อน เป็นการลดแรงงานไปในตัว แถมยังสามารถขายปลาเป็นรายได้เสริมอีกทาง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากการศึกษาของคุณชวลิตบอกกับทีมนักข่าวว่า ปลานวลจันทร์ ไม่ชอบน้ำเค็มมากนัก ความเค็มที่เหมาะสมอยู่ที่ 15 ppt. ถ้าเปรียบเทียบการเลี้ยงในจังหวัดเพชรบุรีกับสมุทรสาคร จะพบว่า ปลานวลจันทร์ ทะเลที่เลี้ยงในจังหวัดเพชรบุรีจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่าการเลี้ยงในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นพื้นที่น้ำกร่อย มีความเค็มของน้ำต่ำกว่าในจังหวัดสมุทรสาคร

แนวทางในอนาคต

คุณชวลิตเล่าว่าลงทุนเลี้ยงไปแล้วก็ถือว่าลงทุนค่อนข้างสูง ก็หวังผลกำไรจากทั้ง ปลานวลจันทร์ และหอยแครง อยู่แล้ว ถ้าได้ทั้งหอย ได้ทั้งปลา ก็จะดี ปลาก็จะเป็นผลพลอยได้ไปในตัว เรื่องขายปลาก็ไม่ได้คาดหวังกำไรมาก เพราะเน้นหอยเป็นหลัก แต่ถ้าได้กำไรทั้งสองอย่างก็จะเป็นผลพลอยได้ที่ดีมาก ซึ่งคุณชวลิตคาดว่าเมื่อเลี้ยงปลาไปได้ 8 เดือน ก็อาจจะสุ่มจับปลาขึ้นมาก่อน เพื่อดูไซส์ว่าได้ขนาด ที่บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ต้องการหรือยัง ส่วนราคารับซื้อขั้นต่ำที่ตกลงกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯไว้ ก็คือ 50 บาท/กก.

ในอนาคตคุณชวลิตบอกว่าถ้าการเลี้ยงในครั้งนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่ม เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่ตัดสินใจเลี้ยง ปลานวลจันทร์ ทะเลควบคู่กับสัตว์น้ำที่มีอยู่ คุณชวลิตยังมีความคิดเห็นทิ้งท้ายว่าจากการที่คำนวณผลตอบแทนคร่าวๆ ของ ปลานวลจันทร์ ตอนนี้อยู่ที่ 2-3 แสนบาท การที่ได้ปลามาโบกออกซิเจน ให้หอยแครงมากินสาหร่ายแล้วบ่อสะอาดขึ้นอันนี้น่าสนใจมาก ตอนนี้เราเลี้ยงก่อนคนอื่น คนอื่นยังไม่ได้สนใจ แต่ถ้าเรามีผลประโยชน์ และมองเห็นผล โอกาสที่คนอื่นจะหันมามองก็ค่อนข้างมีสูง

สุดท้ายหากเกษตรกรท่านใดสนใจเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลควบคู่กับสัตว์น้ำที่มีอยู่เพื่อสร้างรายได้เสริม สามารถปรึกษา คุณวันชัย พนาธเนศ, คุณชวลิต คำหริ่ม และคุณศักดิ์ทัศน์ ทองอุทัย ได้ที่เบอร์
081-956-4999, 081-858-2561 และ 089-111-3265