กะหล่ำปลี สร้างเงิน ปลูก 2 ไร่ ลงทุน 3,000 บาท/ไร่ เก็บผลผลิต 11 ตัน มีตลาดตลอด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถ้าหากใครได้ผ่านไปแถวๆ ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ที่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวโต้ลมหนาวในช่วงต้นปีได้เป็นอย่างดี เพราะภูทับเบิกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,768 เมตร อุณหภูมิบนยอดภูทับเบิกจึงหนาวเย็นทั้งปี ถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน จ.เพชรบูรณ์ ด้วยมนต์เสน่ห์ของบรรยากาศที่งดงามธรรมชาติ ทะเลหมอก และภูเขาอันสลับซับซ้อน ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็น 1 ใน UNSEEN THAILAND ที่นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนอยากไปสัมผัส กะหล่ำปลี

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของภูทับเบิก ก็คือ ไร่กะหล่ำปลี ที่กว้างใหญ่ที่สุดลูกหูลูกตา กินบริเวณยอดภูเขาหลายลูก ถือเป็นไร่กะหล่ำปลีใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายคนได้มาเยือนที่แห่งนี้แล้ว ก็ไม่พลาดที่จะต้องถ่ายภาพกับเจ้าไร่ที่มีป้ายเขียนว่า “ กะหล่ำปลี ทับเบิกปลอดภัย แหล่งใหญ่ที่สุดในโลก” กลับไปเป็นที่ระลึกอย่างแน่นอน

1.แปลง กะหล่ำปลี
1.แปลง กะหล่ำปลี

สภาพพื้นที่ปลูก กะหล่ำปลี

จะเห็นได้ว่ากะหล่ำปลีเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น ซึ่งสมัยก่อนจะปลูกได้ดีเฉพาะฤดูหนาวแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมามีการคิดค้นสายพันธุ์กะหล่ำปลีที่ทนร้อนขึ้นได้ ทำให้ปัจจุบันมีการปลูกกะหล่ำปลีได้ทุกฤดูกาล และเกือบทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย

ประเภทของกะหล่ำปลีที่ปลูกในประเทศสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

กะหล่ำปลีธรรมดา (Cabbage หรือ White Cabbage) มีลักษณะหัวหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นหัวกลม หัวเหลี่ยม และหัวแบนราบ มีสีเขียวอ่อนจนถึงเขียวเข้ม กะหล่ำปลีพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่สามารถทนต่ออากาศร้อนได้ดี อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ 50-60 วัน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด

กะหล่ำปลีแดง (Red Cabbage) มีลักษณะหัวค่อนข้างกลม ใบมีสีแดงทับทิม ส่วนใหญ่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน

กะหล่ำปลีใบย่น (Savoy Cabbage) เป็นกะหล่ำปลีที่มีผิวใบหยิกและเป็นคลื่น สำหรับพันธุ์นี้จะต้องปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นถึงจะเจริญเติบโตได้ดี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กะหล่ำปลีเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นที่สั้นมาก ใบเดี่ยว รูปกลมหรือรูปไข่กว้าง เรียงสลับซ้อนกันแน่นหลายชั้นเป็นก้อนกลมแป้นหรือกลมรี แผ่นใบหนา สามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ถ้าหากเป็นดินโปร่งก็จะดี ค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) ควรอยู่ในช่วง 6-6.5 มีความชื้นในดินสูงพอสมควร และต้องได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ควรจะอยู่ที่ 22-25 องศาเซลเซียส

2.ต้นกล้ากะหล่ำปลี
2.ต้นกล้ากะหล่ำปลี

ขั้นตอนการปลูกกะหล่ำปลี

คุณพยงค์ เอี้ยวถาวร เกษตรกรอีกผู้หนึ่งที่หันมาปลูกกะหล่ำปลีเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยากนัก และความต้องการของตลาดยังมีเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังปลูกถั่วฝักยาว และแตงร้าน ร่วมด้วย ทำให้สินค้าเกษตรออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

กะหล่ำปลีที่คุณพยงค์เลือกปลูกเป็นกะหล่ำปลีธรรมดา เพราะสามารถทนต่อความร้อนได้ดี มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้น น้ำหนักดี และเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณพยงค์กล่าวถึงขั้นตอนการปลูกกะหล่ำปลี ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะต้นกล้า การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้กับทีมงานฟังอย่างละเอียด ดังนี้

การเตรียมดิน

ไถเปิดหน้าดินด้วยผาล 3 ให้ลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร แล้วใช้เครื่องปั่นดินให้ละเอียด ซึ่งจะไม่นิยมไถด้วยผาล 7 เนื่องจากเนื้อดินจะไม่ละเอียดเท่ากับการใช้เครื่องปั่นดิน ซึ่งการปลูกกะหล่ำปลีจะไม่นิยมปลูกแบบชักร่อง แต่จะปลูกแบบพื้นราบ แล้วกำหนดขนาดแปลงเอง สำหรับแปลงของคุณพยงค์จะกว้างประมาณ 4 เมตร ความยาวแล้วแต่ขนาดของพื้นที่ จากนั้นตากดินไว้อย่างน้อยประมาณ 15 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค แมลง และวัชพืชในดิน แล้วรองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน สำหรับปริมาณที่ใช้จะดูตามความสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่หลัก

“ผมไม่ได้ปลูกกะหล่ำปลีเพียงอย่างเดียว ในพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 20 ไร่ จะปลูกแตงร้าน และถั่วฝักยาว ด้วย โดยจะปลูกหมุนเวียนกันไปไม่ให้ซ้ำที่เดิม กว่าจะครบรอบการปลูกกะหล่ำปลีในแต่ละครั้งใช้เวลาราวๆ 1-2 ปี ซึ่งดินก็จะเกิดการพักตัวและฟื้นตัวโดยธรรมชาติ ทำให้สภาพดินค่อนข้างมีความสมบูรณ์ รวมทั้งปัญหาเรื่องโรคและแมลงก็ไม่มากนัก” คุณพยงค์กล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเพาะต้นกล้า

ก่อนที่จะปลูกกะหล่ำปลีต้องเพาะต้นกล้าก่อน โดยการขุดแปลงเพาะกล้าตามขนาดที่ต้องการ ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 รองพื้น หว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายทั่วแปลง ระวังอย่าหว่านให้ติดกันเป็นกระจุก เพราะต้นกล้าจะขึ้นเบียดกันจนเกินไป ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร หลังจากที่หว่านเมล็ดแล้วต้องนำฟางมาคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้น แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน ให้ดินชื้นอยู่เสมอ ในช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้

หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 วัน ต้นกล้าก็จะเริ่มงอก เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริงก็จะฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้าอินทรีย์ สารป้องกันกำจัดเชื้อราและแมลง โดยจะผสมผสานทั้งหมดเข้าด้วยกันตามอัตราส่วนที่ฉลากกำหนด แล้วฉีดพ่นทุกๆ 4-5 วัน เพื่อป้องกันโรคและแมลงที่อาจจะเข้าทำลายต้นกล้า และน้ำหมักอินทรีย์จะช่วยให้ต้นกล้าเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน

ทั้งนี้ต้นกล้าจะเจริญเติบโตเต็มที่ พร้อมนำไปลงแปลงปลูกได้ก็ต่อเมื่อมีอายุประมาณ 25-30 วัน และก่อนที่จะถอนต้นกล้าจากแปลงเพาะมาปลูกจะต้องรดน้ำให้แปลงเพาะกล้าไว้ก่อนประมาณ 30 นาที เพื่อให้ต้นกล้าชุ่มน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ต้นกล้าที่ถอนมาไม่เหี่ยวง่าย และต้องถอนอย่างระมัดระวัง อย่าให้รากขาดมากนัก

3.ปลูกและดูแลง่าย
3.ปลูกและดูแลง่าย

การปลูกและบำรุงดูแลกะหล่ำปลี

วิธีการปลูกจะขุดหลุมไม่ใหญ่มาก ให้มีขนาดพอดีกับรากของต้นกล้าที่จะนำไปปลูก แล้วกลบดินให้เรียบร้อย ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 70×70 เซนติเมตร ซึ่งในแต่ละแปลงจะปลูกได้ประมาณ 8 แถว โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้ต้นกล้าราวๆ 4,000 ต้น/ไร่ สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกควรจะเป็นช่วงเย็นๆ หลัง 14.00 น. ไปแล้ว เพราะถ้าปลูกในช่วงที่มีแดดจัดจะทำให้ต้นกล้าเหี่ยวเฉาได้ง่าย

“ระยะห่างของการปลูกก็อาจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนว่าจะเอาหัวเล็ก หรือหัวใหญ่ ถ้าจะเอาหัวเล็กก็ไม่ต้องให้ห่างถึง 70×70 เซนติเมตร เพราะตลาดรองรับทั้งหัวเล็ก และหัวใหญ่ แต่ราคาอาจจะลดหลั่นกันลงไป แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมปลูกหัวใหญ่มากกว่า เพราะทั้งระยะเวลาและการลงทุนไม่ต่างกันมากจนเกินไป” คุณพยงค์กล่าว

ทั้งนี้การปลูกกะหล่ำปลีของคุณพยงค์ในพื้นที่ 2 ไร่ จะไม่ปลูกครั้งเดียวหมด แต่จะทยอยปลูกเรื่อยๆ วันละ 2 งาน เพื่อให้มีผลผลิตเก็บได้เรื่อยๆ และไม่ต้องจ้างแรงงานในการปลูกด้วย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การให้น้ำและปุ๋ยกะหล่ำปลี

ระบบการให้น้ำภายในแปลงปลูกกะหล่ำปลีของคุณพยงค์จะใช้ระบบสปริงเกลอร์ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยจะให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ ซึ่งควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นผักที่มีระบบรากตื้น หากขาดน้ำจะทำให้กะหล่ำปลีเข้าหัวช้า และได้ผลผลิตต่ำ แต่เมื่อกะหล่ำปลีเข้าปลีเต็มที่แล้วควรลดปริมาณน้ำที่ให้น้อยลง เพราะหากกะหล่ำปลีได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้ปลีแตกได้

การให้ปุ๋ย เมื่อปลูกไปแล้ว 1 สัปดาห์ จะให้ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ในอัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้น หลังจากนั้นอีก 21 วัน ก็จะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 30 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อให้ต้นพืชได้รับธาตุอาหารอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ให้ปุ๋ยแล้วต้องให้น้ำตามทุกครั้ง ทั้งนี้การให้ปุ๋ยทางดินจะให้เพียง 2 ครั้ง หลังจากนั้นจะฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้าอินทรีย์ทุกๆ 4-5 วัน ในช่วงเวลาเย็นๆ ที่แดดไม่แรงมากนัก

“ผมจะให้ปุ๋ยทางดินเพียง 2 ครั้ง หลังจากนั้นจะฉีดพ่นน้ำหมักปลาร้าอินทรีย์แทน ซึ่งสามารถทดแทนฮอร์โมนในพืชและปุ๋ยเม็ดได้ เพราะในน้ำหมักปลาร้าจะมีธาตุอาหารต่างๆ ที่พืชต้องการอยู่แล้ว” คุณพยงค์กล่าว

4.หนอนจะกัดกินผิวด้านล่างใบจนเป็นรูพรุน
4.หนอนจะกัดกินผิวด้านล่างใบจนเป็นรูพรุน

การป้องกันและกำจัด โรค แมลงศัตรูพืช กะหล่ำปลี

ส่วนมากในพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีของคุณพยงค์จะไม่พบปัญหาเรื่องโรคมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชมากกว่า ซึ่งศัตรูพืชที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ หนอนใยผัก จะเข้าทำลายโดยการกัดกินผิวด้านล่างใบจนเกิดเป็นรูพรุน ทำให้ยอดกะหล่ำปลีเสียหาย ศัตรูพืชชนิดหนึ่ง คือ หนอนเจาะยอดกะหล่ำ จะเจาะเข้าไปกัดกินในหัวหรือยอดผักที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดขาดไม่เข้าหัว นอกจากนี้ยังมีด้วงหมัดผักที่มักกัดกินใบจนเป็นรูพรุน ทำให้เกิดความเสียหายในระยะกะหล่ำปลีกำลังเจริญเติบโต

การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชดังกล่าวจะใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงต่างๆ โดยฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ถ้าหากเกิดโรคและแมลงแล้วจะทำให้แก้ไขยากขึ้น ส่งผลให้เกิดสารตกค้าง และมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น

“ผมจะผสมสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงและน้ำหมักปลาร้าเข้าด้วยกัน แล้วฉีดพ่นไปพร้อมๆ กันเลย เพื่อเป็นการประหยัดเวลา นอกจากนี้ด้วยความที่น้ำหมักปลาร้ามีกลิ่นค่อนข้างฉุน จึงสามารถไล่แมลงและผีเสื้อกลางคืนที่จะมาวางไข่ได้อีกด้วย” คุณพยงค์กล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.หัวใหญ่ ได้น้ำหนัก
5.หัวใหญ่ ได้น้ำหนัก

การเก็บเกี่ยวผลผลิตกะหล่ำปลี

อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตของกะหล่ำปลีจะขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละพันธุ์ด้วย โดยจะแบ่งออกเป็นพันธุ์เบา ระยะเวลาที่เก็บผลผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 60 วัน  แต่ถ้าเป็นพันธุ์หนักจะต้องอายุถึง 90 วัน กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้  แต่โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะนิยมปลูกพันธุ์เบามากกว่า รวมทั้งคุณพยงค์ด้วย เนื่องจากให้ผลผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น

การเก็บผลผลิตจะต้องเก็บตามระยะเวลาที่กำหนด หากปล่อยไว้นานเกินไปหัวของกะหล่ำปลีจะหลวม ทำให้คุณภาพลดลง การเก็บจะต้องใช้มีดตัดให้ใบนอกที่หุ้มหัวติดมาด้วย เพราะใบนอกจะช่วยเก็บรักษาความสดได้ตลอดวัน ก่อนที่จะนำไปบรรจุถุงจำหน่ายควรตัดแต่งใบนอกออกให้เหลือประมาณ 2-3 ใบ  เพื่อป้องกันความเสียหายจากการบรรจุ และขนส่ง

การเก็บเกี่ยวผลผลิตของคุณพยงค์จะทยอยเก็บครั้งละ 1 งาน เนื่องจากปลูกไม่พร้อมกัน ผลผลิตที่ได้ในแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 1 ตัน/1 งาน ถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก ส่วนผลผลิตที่ได้จะนำไปส่งให้กับผู้ค้าในตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ด้วยตนเอง และพ่วงผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ของเพื่อนบ้านติดไปด้วย

6.กะหล่ำปลีพร้อมจำหน่าย
6.กะหล่ำปลีพร้อมจำหน่าย

ด้านตลาดและช่องจำหน่ายผลผลิตกะหล่ำปลี

ด้านราคาจำหน่ายในปัจจุบันอยู่ที่ 4 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผลผลิตทางการเกษตรจะผันผวน ขึ้น-ลงตามกลไกของตลาดอยู่เสมอ ซึ่งจะมีตัวแปรในเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากเป็นช่วงฤดูหนาว พืชผักกินใบทุกชนิดจะมีราคาถูก กะหล่ำปลีก็เช่นกัน เนื่องจากโรคและแมลงศัตรูพืชมีน้อย ผักได้ผลผลิตดี เพราะได้อิทธิพลมาจากอากาศเย็นที่ช่วยเสริมอีกทางหนึ่ง รวมทั้งผลผลิตในแต่ละท้องที่ก็ออกมามากเช่นกัน สำหรับช่วงฤดูฝนและหน้าแล้ง พืชจำพวกผักใบจะมีราคาแพง เนื่องจากเป็นช่วงที่ปลูกยาก โรคและแมลงเข้ามารบกวนมาก เกษตรกรผลิตได้น้อย ความต้องการของตลาดจึงมากตามไปด้วย

นอกจากนี้ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการปลูกกะหล่ำปลี คือ หลังจากตัดหัวกะหล่ำปลีไปแล้ว อีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะมีแขนงกะหล่ำปลีงอกออกมาบริเวณขั้วที่ตัด ในส่วนนี้ก็จะสามารถเก็บไปจำหน่ายได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้ได้ผลดี หลังจากตัดกะหล่ำปลีควรใช้ปูนแดงทาให้ทั่วบริเวณขั้วที่ตัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือเชื้อราที่อาจจะเกิดขึ้นได้ปัจจุบัน แขนง กะหล่ำปลี ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้คนนิยมบริโภคไม่แพ้ กะหล่ำปลี เช่นกัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ต้นทุนในการปลูก กะหล่ำปลี ในที่ของตนเอง และมีระบบน้ำอยู่แล้ว จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 บาท/ไร่ แบ่งออกเป็นค่าไถดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งต้นทุนดังกล่าวอาจจะเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงหน้าแล้ง และหน้าฝน ที่มีโรคแมลงระบาดมาก

7.นำไปผัดหรือแกงจืดก็ได้
7.นำไปผัดหรือแกงจืดก็ได้

ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจปลูกกะหล่ำปลี

ท้ายนี้คุณพยงค์ได้ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจอยากปลูก กะหล่ำปลีว่า พืชชนิดนี้ถือว่าสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี แต่เกษตรกรเองก็ต้องหมั่นดูแลรักษาและเอาใจใส่พืชที่ปลูกด้วย ถึงจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ทั้งนี้ก็ใช่ว่าการปลูกในแต่ละครั้งจะได้กำไรตายตัวเสมอไป ต้องขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลปลูกอย่างที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการทำเกษตร ที่ผลผลิตและราคาจะผันผวนได้ตลอดเวลา

การนำ กะหล่ำปลี มารับประทานไม่ควรรับประทานแบบดิบในปริมาณมากเกินไป เนื่องจากใน กะหล่ำปลี ดิบจะมีสารที่เรียกว่า กอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งเป็นสารที่จะไปป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับไอโอดีนไปสร้างเป็นฮอร์โมนไทรอกซิน (Thyroxine) ส่งผลให้เกิดเป็นโรคคอหอยพอกได้ แต่สารกอยโตรเจนดังกล่าวจะถูกทำลายได้โดยการต้ม ดังนั้นก่อนที่จะรับประทาน กะหล่ำปลี จึงควรปรุงให้สุกก่อนจะดีที่สุด

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 12