กุ้งก้ามกราม เพศผู้ปลอดเชื้อ ตัวทำเงินของฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี และเกษตรกร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในทำเนียบผู้ผลิตลูกกุ้งของไทย ย่อมมี “ฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี” อยู่ในอันดับต้นๆ เพราะเป็นฟาร์มมาตรฐาน COC โรงเพาะฟักลูกกุ้งวานาไม และมาตรฐาน GAP กุ้งก้ามกราม ที่คนในวงการรู้จักดี

19 ปี ฟาร์มแห่งนี้เข้มข้นด้วยผลงานการเพาะเลี้ยง เพราะมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจกุ้ง ที่มีทั้งช่วงรุ่งเรือง และรุ่งริ่ง สลับกันไป

1.คุณสมประสงค์ เนตรทิพย์ หรือ คุณมิ้ว
1.คุณสมประสงค์ เนตรทิพย์ หรือ คุณมิ้ว

การเพาะเลี้ยงกุ้ง

ผู้สถาปนาฟาร์มเพาะลูกกุ้งเศรษฐี คือ สมประสงค์ เนตรทิพย์ หรือ คุณมิ้ว ซึ่งได้สะสมทักษะ และ องค์ความรู้ ด้านการเพาะลูกกุ้งรูปแบบต่างๆ

คุณมิ้วเปิดเผยถึง “เส้นทาง” ธุรกิจเพาะลูกกุ้งว่า เริ่มจากลูกกุ้งกุลาดำใช้กำลังผลิตอยู่ 2 ฟาร์ม เพื่อทยอยส่งลูกกุ้งให้ลูกค้า ต้นเดือน กับ ปลายเดือน แต่เมื่อพ่อแม่พันธุ์คุณภาพจากธรรมชาติไม่เสถียร ปัญหาหลายอย่างตามมา แม้แต่กุ้งขาววานาไมที่มีการพัฒนาสายพันธุ์จากต่างประเทศคุณภาพก็ไม่นิ่งทุกชุด ส่งผลกระทบต่อลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ที่สั่งลูกกุ้งไปเลี้ยง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดกับฟาร์มเพาะลูกกุ้งทั้งประเทศ ครั้นจะผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาววานาไมเป็นของตัวเอง ก็ไม่ทันเวลา และต้องลงทุนสูง สุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุน

เมื่อธุรกิจกุ้งขาวอยู่ในช่วงขาลง จะหันกลับไปหากุลาดำ คุณมิ้วมองว่า แม้จะมีการพัฒนาสายพันธุ์มากกว่าอดีต แต่ “ตลาด” ยังไม่โตพอ สุดท้ายก็ได้บทสรุปว่าควรหันมาเพาะลูกกุ้งก้ามกราม เพราะเป็นกุ้งที่มีตลาดในประเทศรองรับ และเมื่อนำกุ้งก้ามกรามมาลี้ยงปนกับวานาไม ปรากฏว่าไปได้สวย เกษตรกรหลายคนประสบความสำเร็จ

พอเริ่มวางแผนการผลิตกุ้งก้ามกราม ปี 59 พบว่า “ปัญหา” มันยากกว่าที่คิด เหตุนี้คุณมิ้วจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก นั่นคือ การหาข้อมูลกุ้งก้ามกรามเชิงธุรกิจ “ปรากฏว่าก้ามกรามส่วนใหญ่บ้านเราใช้พันธุ์จากแม่ไข่ดำในบ่อดินขึ้นมาทำพันธุ์ผลิตลูกกุ้งวนกลับไปขายเกษตรกร ขาดการพัฒนา ขาดแหล่งพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ดี เมื่อเราเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ ทำอย่างไรจะได้สายพันธุ์ที่ดีเป็นของตัวเอง โจทย์มันยากตรงนี้” คุณมิ้วเปิดเผย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

วงจรวิบัติในกุ้งก้ามกราม ตามทัศนะของคุณมิ้ว ก็คือ การใช้ลูกพันธุ์เวียนกลับมาเป็นแม่พันธุ์ ทำให้เกิดการคัดเลือกสายพันธุ์ในทางลบโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลทำให้กุ้งโตช้า แคระแกรน ลักษณะไม่ดี อัตรารอดต่ำ  และลูกกุ้งบางชุดมีอาการหลังขาวเกิดจากเชื้อไวรัสติดมาจากแม่นั่นเอง

ถ้าจะให้หลุดจากวงจรวิบัติดังกล่าว จะต้องหาแหล่งพันธุ์ที่ดี โตเร็ว และต้องปลอดโรคซึ่งเป็นงานท้าทายมากๆ

2.ผลตรวจกุ้งก้ามกรามปลอดโรค
2.ผลตรวจกุ้งก้ามกรามปลอดโรค

ทำไมต้องเป็นก้ามกรามปลอดโรค??

คุณมิ้วอธิบายว่า เป้าหมายในการผลิตก้ามกรามปลอดโรค ก็เพื่อต้องการให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เลี้ยงปนกับกุ้งวานาไม “ต้องปลอดจากโรค ที่ไม่ติดกับกุ้งขาว และไม่ติดกับก้ามกราม เช่น โรคตัวแดงดวงขาว, หัวเหลือง ถึง

แม้กุ้งก้ามกรามจะติดโรค แต่ไม่ตาย แต่กลับเป็นพาหะถ่ายทอดไปยังกุ้งขาวได้

เมื่อเลี้ยงปนกุ้งขาว กุ้งขาวจะตาย เกษตรกรก็จะเหลือแต่กุ้งก้ามกรามให้จับ  ถ้ากุ้งขาวเป็นพาหะโรคหลังขาว พอเลี้ยงปนกุ้งก้ามกรามตาย เหลือแต่กุ้งขาว เกษตรกรไม่ได้อะไร เพราะการเลี้ยงผสมเป็นการลดจำนวนการเลี้ยงทั้งคู่ เพื่อให้เลี้ยงง่าย ได้ผลผลิต ดังนั้นจึงต้องให้มันรอดทั้งคู่ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ คุณมิ้วให้ความเห็น

ด้วยเหตุนี้คุณมิ้วจึงต้องสะสมพ่อแม่พันธุ์ก้ามกรามคุณภาพ ปลอดเชื้อเอง และได้มีส่วนร่วมทดลองกับสายพันธุ์กุ้งก้ามกราม MU1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์นี้เกิดจากการทดลองร่วมกัน ระหว่าง บรรจงฟาร์ม กับ ม.มหิดล อีกทั้งยังมีกุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ มาโคร1 จากกรมประมง ทำให้ฟาร์มมีพ่อแม่กุ้งก้ามกรามปลอดเชื้อที่หลากหลาย เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตลูกกุ้งปลอดเชื้อเชิงธุรกิจ และมีความได้เปรียบคู่แข่งทางการตลาด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แม้จะได้พันธุ์กุ้งที่ดี แต่ผู้เลี้ยง “กุ้งเนื้อ” ในบ่อดิน ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้าน “ราคา” ที่ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะผลผลิตจากการใช้กุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ธรรมดา ที่มีกุ้งตัวผู้ หรือ “กุ้งก้ามทอง” ราคาแพง ไม่ถึง 20% ในบ่อเลี้ยง นอกนั้นเป็นกุ้งหลากหลายประเภทรวมกัน ได้แก่ กุ้งจิ๊กโก๋ ผู้ก้ามลาก ผู้ก้ามรุ่น ตัวเมีย ตัวเมียไข่โปร่ง และ กุ้งจิ๋ว เป็นต้น ซึ่งขายไม่ได้ราคา บางครั้งต้องจำใจขายแบบคว่ำบ่อ ในราคาต่ำ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลังจากที่ปล่อยลูกกุ้งนับจากวันคว่ำไปอีก 120 วัน จะเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ ถ้าเลี้ยงแบบรวมเพศในสัดส่วน ตัวผู้ / ตัวเมีย 50:50 ระหว่างนี้ตัวผู้จะเริ่มสร้างหลุมเพื่อสร้างอาณาจักร แย่งตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ เมื่อตัวผู้โตไวก็จะกลายเป็น “จ่าฝูง” มีชั้นวรรณะเป็นผู้ปกครองโดยปริยาย และจ่าฝูงสัญลักษณ์ก้ามใหญ่สีฟ้า จะเริ่มผสมพันธุ์ และหยุดกินอาหาร จะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายๆ ตัว จนน้ำเชื้อหมด จากนั้นก็ตาย และตัวผู้ตัวอื่นก็จะขึ้นมาแทน เมื่อเลี้ยงนานตัวผู้เหลือน้อยในบ่อ ขณะที่ตัวเมียมาก บางชุดจะมากถึง 70% จึงไม่ต้องแปลกใจที่กุ้งในบ่อมีขนาดเล็ก 30-40 ตัว/กก. หลังจากใช้เวลาเลี้ยงหลายเดือน

คำตอบจึงสรุปได้ว่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ได้กำไร คุ้มค่า จะต้องมีพันธุ์กุ้งปลอดโรค และจะต้องเป็นตัวผู้ โตไว  ใช้เวลาเลี้ยงที่สั้น

3.ลูกกุ้งก้ามกรามตัวผู้ล้วน
3.ลูกกุ้งก้ามกรามตัวผู้ล้วน

การเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม

การผลิตลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ทั่วโลกมี 3 วิธี และมี 2 วิธี อยู่ในประเทศไทย เพราะเรามีนักวิจัยที่เก่ง และมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน 1.ม.เกษตรศาสตร์ โดย อาจารย์วิกรม รังสินธุ์ งานวิจัย “การผลิตก้ามกรามเพศผู้ล้วน โดยใช้เทคโนโลยีการทำลายต่อมแอนโดรเจนิค” จนเอกชนนำไปใช้อย่างได้ผล หรือ 2. ม.มหิดล โดย ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล งานวิจัย “เทคนิคการทำกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วนด้วยสารประกอบชีวโมเลกุล” ทั้ง 2 วิธี ก่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อยอดเป็นธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ

สำหรับ ฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี ใช้วิธีทำลายต่อมแอนโดรจินิค เป็นหลัก โดยผลิตแม่พันธุ์จากก้ามกรามตัวผู้ ปลอดเชื้อ โตไว ที่เป็นกุ้งเล็กยาว 1.5-1.8 ซม. ที่ยังไม่แสดงเพศชัดเจน นำมาผ่าทำลายต่อมแอนโดรเจนิค (ต่อมเพศผู้) ออก ทำให้ลักษณะเพศผู้หยุดพัฒนา เกิดการพัฒนารังไข่เหมือนกุ้งเพศเมียแทน แต่โครโมโซมยังเป็นเพศผู้ แม่พันธุ์แบบนี้เรียกว่า นีโอฟีเมล  ซึ่งเมื่อนำไปผสมพันธุ์กับกุ้งเพศผู้ปกติจะให้ลูกเพศผู้ทั้งหมด

ในกระบวนการผลิตลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ปลอดเชื้อ ทางฟาร์มได้แบ่งรูปแบบออกเป็น “โซน” โซนกักกันโรค โซนแปลงเพศ โซนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ โซนผสมพันธุ์ และ โซนผลิตกุ้งพีหรือกุ้งคว่ำ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในเรื่องจัดการน้ำเลี้ยง คุณมิ้วใช้ระบบรีไซเคิล โดยนำน้ำเค็มผสมกับน้ำจืด เข้าสู่บ่อเพาะเลี้ยง ถ่ายน้ำลงสู่บ่อน้ำทิ้ง เข้าสู่บ่อตกตะกอน เข้าสู่บ่อปลาเบญจพรรณ เพื่อบำบัดน้ำ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ขณะที่เพาะลูกกุ้งต้องใส่ใจวัดคุณภาพน้ำ ถ้าของเสียไม่เยอะไม่ต้องถ่ายน้ำ ประมาณ 5 วัน จึงเริ่มถ่ายจาก 20% แล้วค่อยๆ เพิ่มวันละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเสียและคุณภาพน้ำ โดยจะใช้จุลินทรีย์ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำตลอดการเลี้ยง และจะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ พอกุ้งเริ่มคว่ำจะต้องถ่ายทุกวัน และปรับความเค็มของน้ำอยู่ที่ 4-5 ppt.

ในเรื่องโรงเรือนระบบปิดจะมีโรงกักกันไว้พักกุ้งสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่นำเข้ามา เพื่อส่งตรวจเชื้อ เมื่อผ่าต่อมเสร็จก็ต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้ง จากนั้นก็นำไปเลี้ยงต่อในโซนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์อีก 6-7 เดือน และตรวจซ้ำอีก 1 รอบ จึงจะนำเข้าโรงผสมพันธุ์ พอได้กุ้งไข่แล้วก็นำเข้าฟาร์มผลิตกุ้ง P จากนั้นก็สุ่มตรวจทุกล๊อตการผลิต ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าเป็นกุ้งปลอดเชื้อ 100% แน่นอน ถ้าตรวจเจอเราทำลายทันที ไม่ปล่อยลงคลอง เพราะมันจะแพร่เชื้อต่อ” คุณมิ้วยืนยันถึงความใส่ใจผลิตลูกกุ้งปลอดเชื้อ

4.กุ้งโตไว แข็งแรงสมบูรณ์
4.กุ้งโตไว แข็งแรงสมบูรณ์

การให้อาหารกุ้ง

ในเรื่องการโตไว คุณมิ้วยืนยันว่า กุ้งทุกรุ่นโตไวทั้งหมด ตั้งแต่ในโรงเพาะฟัก ปัจจุบันลูกกุ้งเฉลี่ย 15 วัน เริ่มคว่ำ ขณะที่กุ้งทั่วไป 21 วัน เริ่มคว่ำ เมื่อนำลูกกุ้งเศรษฐีไปเลี้ยง เพียง 20 วัน กุ้งเริ่มกินอาหารในยอ และสามารถเห็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ทั่วไป

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพศผู้ปลอดเชื้อ โตไว ในระบบปิด ข้อดี คือ สามารถคอนโทรลได้ทุกอย่าง ควบคุมน้ำหนักทุกตัว ควบคุมเรื่องอาหาร อายุ และ ความสมบูรณ์ของเพศได้ ซึ่งตลอดเวลา 2 ปีเศษ ยังไม่เจอปัญหาเรื่องจำนวนหรือ ปริมาณ/ตัว และรังไข่สมบูรณ์ ใกล้เคียงแม่พันธุ์จากธรรมชาติ แต่ดีกว่าตรงที่เลี้ยงในระบบปิด ไม่ปวดหัวเรื่องเชื้อโรค

ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ เชื้อที่มากับอาหารที่ให้ลูกกุ้ง ดังนั้นทางฟาร์มไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่จะใช้การควบคุมเชื้อในอาหารเป็นหลัก โดยเน้น “อาร์ทีเมีย” จากแหล่งผลิตที่เดียว ผลิตใช้วันต่อวัน มีสารอาหารครบ ได้ระยะอินสตาร์วันทั้งหมด ขนาดเท่ากัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“เราใช้อาร์ทีเมียปลอดเชื้อ ระหว่างเลี้ยงจนถึงคว่ำ เราไม่ใช้ไรน้ำจืด เพราะยังไม่เคยเจอไรน้ำจืดปลอดเชื้อ ในระยะยาวถ้ามีไรน้ำจืดปลอดเชื้อเข้ามา หรือมีคนผลิตปลอดเชื้อจริง เราก็ใช้ เพราะไรน้ำจืดก็มีสารอาหารบางตัว ที่อาร์ทีเมียไม่มี” คุณมิ้วให้ความเห็นถึงความจำเป็นของอาหารปลอดเชื้อ และยืนยันถึงความจำเป็นของการเลี้ยงก้ามกรามเพศผู้ปลอดเชื้อว่า เมื่อเกษตรกรเลี้ยงแล้วใช้เวลาสั้น กินอาหารน้อยกว่าตัวเมีย เพราะไม่ได้ออกไข่โตอย่างเดียว ได้ไซส์ใหญ่ ทดแทนกุ้งธรรมชาติที่นำเข้า และขายได้ราคา

เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของเกษตรกรมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.เลี้ยงแบบครั้งเดียวจับ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงในภาคอีสาน 3.5 เดือน จับโดยพาเชียนรอบแรก จากนั้นก็เลี้ยงต่ออีก 20 วัน จับขายได้ราคาทั้ง 2 ครั้ง ส่วนการเลี้ยงแบบผสมนั้น จะมีการอนุบาลก่อน 60 วัน แล้วจับแบ่งบ่อนำไปเลี้ยงร่วมกับกุ้งขาว อีก 60-70 วัน ก็สามารถจับขายพร้อมกัน

การอนุบาลลูกกุ้ง

การอนุบาลกุ้ง ทางฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐีมี “บ่อดิน” ไว้ทดลองเลี้ยงไร่ละ 1 แสนตัว ในปีแรก ทั้งบ่อเล็ก และ บ่อใหญ่ 60 วัน ได้ไซซ์ 180-200 ตัว / กก. ปัจจุบันนี้ทดลองเลี้ยงไร่ละ 2 แสนตัว เพราะได้วางระบบการเลี้ยงแบบพัฒนา เช่น บำบัดพื้นบ่อ จัดการน้ำด้วยการให้ออกซิเจน และ ให้อาหาร 3 มื้อ เป็นต้น

แต่คุณมิ้วแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแบบบาง ต้องการให้เอาไปชำได้ไซซ์ 300 ตัว เร็วที่สุด ปล่อยชำไร่ละ 5 หมื่นตัวกุ้งโตไว ย้ายได้ไว  ระยะเวลาเลี้ยงตั้งแต่กุ้งพีจนถึงจับก่อน 120 วัน จะเจอกุ้งจิ๊กโก๋น้อยมาก เป็น “กุ้งก้ามทอง” เยอะ ขายได้ราคา

5.บ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
5.บ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

การบริหารจัดการบ่อกุ้งก้ามกราม

ซึ่งเรื่องนี้คุณมิ้วฟันธงว่า “เมื่อเราไม่สามารถเพิ่มผลผลิต / ไร่ ได้ แต่สามารถเพิ่มมูลค่า และลดต้นทุน / ไร่ ได้ ก็เลยไปหาจุดที่กุ้งก้ามกรามแสดงศักยภาพการโตเร็วที่สุด โดยเอากุ้งชำไซซ์ 300 ตัว กับกุ้งขาวระยะพี 11-12 ไร่ละ 2-3 หมื่นตัว 60 วัน ไซซ์ 60-70 ตัว / กก. ก็จะลงตัวพอดี

บ่อที่รับกุ้งชำมาเลี้ยงสามารถเพิ่มการผลิตเป็น 4-5 รอบ / ปี พื้นบ่อไม่ช้ำ น้ำไม่เสีย บำบัดบ่อแป๊บเดียว จับกุ้งเสร็จตากบ่อ ไล่แก๊ส ใช้รถไถนาตีดินบำบัดเลนแล้วตากอีก 3 วัน กรองน้ำเข้าบ่อด้วยถุงกรองละเอียด เตรียมน้ำ ระยะเวลารวมแล้วประมาณ 10 วัน ลงใหม่ได้  1 ปี เราดันบ่อ 1 ครั้ง ระหว่างเลี้ยงใช้จุลินทรีย์ควบคุม ตลอดการเลี้ยง ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และ ยาฆ่าเชื้อ”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจาก “ฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี” เป็นทั้งฟาร์มวิจัยและพัฒนา โดยมีความสำเร็จของเกษตรกรเป็นเป้าหมายหลัก ภายใต้ปรัชญา ลดต้นทุน / เพิ่มผลผลิต ดังนั้นกระบวนการพัฒนาดำเนินไปภายใต้หลักวิทยาศาสตร์ แม้กระทั่งบ่อเพาะ คือ บ่อปูน ระบบปิด และ บ่อดิน / บ่อเลี้ยง ระบบเปิด ล้วนให้คำตอบได้ตลอดเวลา

จึงได้แนะนำเกษตรกร ให้มี “บ่อชำ” 1 บ่อ ควบคู่ “บ่อเลี้ยง” เพราะบ่อชำนอกจากชำลูกกุ้งเพื่อเลี้ยงเองแล้ว ยังขายให้คนอื่นไปเลี้ยง ได้เงินมาเป็นค่าลูกกุ้ง ซึ่งคุณมิ้วให้ความเห็นว่า “ชำแล้วเลี้ยง เพิ่มรอบการผลิต มีกุ้งขายตลอด  เงินเข้าต่อเนื่อง บ่อไม่ช้ำ ชำก็ชำไป จับขายก็ขายไป”

นอกจากนี้ฤดูกาลก็มีผลต่อการเลี้ยง เช่น “หน้าร้อน” กุ้งก้ามกรามชอบอยู่พื้นบ่อ อุณหภูมิสูง ออกซิเจนละลายน้ำได้น้อย เมื่อตีน้ำน้อย พื้นบ่อมีแก๊สต่างๆ ขาดออกซิเจน กุ้งเหงือกอักเสบ หรือ ทยอยตาย หรือ “หน้าฝน” น้ำฝนมี pH ต่ำ ค่าอัลคาไลน์ต่ำ อากาศปิด การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในอากาศน้อย จะเกิดแก๊สในบ่อง่าย ไนไตรท์เยอะ

ดังนั้นพอเข้าหน้าฝน เกษตรกรต้องดูเรื่องแร่ธาตุให้เพียงพอ และต้องปรับความลึกของน้ำเหลือ 80 ซม.-1 เมตร หรือถ้าน้ำในบ่อน้อย ฝนตกจนล้นก็ต้องถ่ายน้ำออก อะไรเหล่านี้ ดังนั้นการเลี้ยงกุ้งจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เกษตรกรต้องใส่ใจจริงๆ จึงจะประสบความสำเร็จ

6.กุ้งก้ามกรามไซซ์ที่ตลาดต้องการ
6.กุ้งก้ามกรามไซซ์ที่ตลาดต้องการ

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุ้งก้ามกราม

ในเรื่องตลาด คุณมิ้วมองว่า โอกาสส่งออกมีสูง เพราะกรมประมงสนับสนุน อีกทั้งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งก้ามกราม เบอร์ 1 ของโลก ดังนั้นทุกฟาร์มต้องได้มาตรฐาน GAP ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

19 ปี ฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี ที่เดินในธุรกิจผลิตลูกกุ้ง วันนี้กลายมาเป็นฟาร์มชั้นนำด้านลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ปลอดเชื้อ ที่คนในวงการยอมรับ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณข้อมูล คุณสมประสงค์ เนตรทิพย์ ฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐี

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ สั่งจองลูกกุ้ง โทร : 062-289-3562, Facebook : ก้ามกรามสายพันธุ์โตเร็ว : LST Farm

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 382