กฤษณ์นิญาฟาร์ม เลี้ยงกระทา 10 โรงเรือน สร้าง “กำไร” ด้วย 2 สูตรอาหาร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถ้าพูดถึงสัตว์ปีกที่ทำเงินและสามารถยึดเป็นธุรกิจได้ในปัจจุบันมีไม่กี่ชนิด ในบางชนิดได้ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ยึดพื้นที่สัดส่วนการตลาดไปเกือบทั้งหมดแล้วในปัจจุบัน แต่ยังมีอีกหนึ่งอาชีพในสายผลิตสัตว์ปีกที่ยังสามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพได้เป็นอย่างดี และยังไม่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่แชร์สัดส่วนตลาด ทำให้เกษตรกรที่มีทุนน้อยก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ นั่นคือ “การเลี้ยงนกกระทา” นั่นเอง

1.กฤษณ์นิญาฟาร์ม01

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงนกกระทา

นิตยสารสัตว์บก เดินทางสู่ดินแดนอีสาน เพื่อไปตามหาความรู้และแนวทางในการทำธุรกิจเลี้ยงนกกระทา ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนานกว่า 28 ปี อย่าง คุณคมกฤษณ์ ลอยฟ้า หรือ คุณบอย เจ้าของ กฤษณ์นิญา ฟาร์ม ฟาร์มนกกระทา ในพื้นที่ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ที่สร้างมูลค่าจากการเลี้ยงนกกระทาได้มากถึง 5-6 แสนบาท/เดือน หักค่าใช้จ่ายแล้วยังเป็นกำไรมากกว่า 1 แสนบาท/เดือน นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าจับตามองเลยทีเดียว

โดยจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงนกกระทา คุณบอยเล่าให้ฟังว่า ตนได้เริ่มสนใจการเลี้ยงนกกระทาหลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ทางด้านนกกระทาจากห้องสมุด เริ่มต้นจากการชื่นชอบสู่การเล็งเห็นแนวทางในการสร้างรายได้ตั้งแต่วันนั้น “เริ่มต้นตั้งแต่ผมยังเด็ก เวลาก่อนไปเรียนหรือว่าหลังเลิกเรียน พ่อผมเขาก็จะพาผมเลี้ยงไก่ หรือทำเกษตร โดยมองไว้ว่าอยากให้ผมเป็นเจ้าของฟาร์ม หรือเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวกับเกษตร พอผมจบ ม.3 เขาก็เลยพาไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยเกษตรฯ แล้วผมก็เข้าไปห้องสมุด ไปอ่านเจอนิตยสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ พอเปิดไปเจอนกกระทา ผมก็เลยชอบ และมองว่าน่าจะเอาไปทำเพื่อหาเงินได้

แต่ในช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีเงินทุน เลยค่อยๆ เก็บเงินประมาณ 3 เดือน เก็บเงินได้ประมาณหนึ่ง เลยเอาเงินจากจุดนั้นไปซื้อลูกนกกระทามาเลี้ยง เริ่มต้นเลี้ยงวันนั้นประมาณ 100 ตัว นี่แหละ ในช่วงนั้นพ่อ-แม่ ก็ยังช่วยดูอยู่บ้าง เพราะยังต้องเรียนหนังสือ หลังจากเริ่มเลี้ยงและค่อยๆ มีรายได้ จนมีทุนเพิ่มอีกประมาณ 10,000 บาท เลยเลี้ยงเพิ่มเป็น 400-500 ตัว พอผลผลิตเริ่มมากขึ้น ก็ลองไปขายในตลาดสด ที่เป็นพวกแม่ค้าที่เขาซื้อของไปขายต่อในจังหวัด จนกลายเป็นเจ้าที่รับซื้อนกระทาเราเป็นประจำ” คุณบอย เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจนกกระทา จนประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้

คุณบอยยังบอกถึงผลผลิตของการทำธุรกิจเลี้ยงนกกระทาว่า สามารถสร้างเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าออกมาได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การขายไข่สด (ไข่ลม) การขายไข่เชื้อพร้อมฟัก การขายนกกระทาเนื้อ การขายนกกระทาสาว เป็นต้น แม้กระทั่ง มูลนกกระทา ยังมีมูลค่าและความต้องการเป็นอย่างมากสำหรับภาคการเกษตร แต่ถ้าถามถึงเรื่องราคาขายในท้องตลาดอาจยังไม่สูงและนิ่งมากนัก แต่ถ้ามีผลผลิตขายได้เรื่อยๆ อย่างแน่นอน

2.กฤษณ์นิญาฟาร์ม02

เทคนิคการจัดการฟาร์ม เลี้ยงนกระทา ฉบับ กฤษณ์นิญา ฟาร์ม จ.อำนาจเจริญ

ถ้าพูดถึงส่วนสำคัญ คุณบอยเน้นย้ำไปถึงขั้นตอนการจัดการฟาร์มที่ต้องทำอย่างใส่ใจ เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพ ตามที่ตลาดหรือผู้บริโภคต้องการ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ การสร้างโรงเรือนที่แข็งแรงรองรับการเลี้ยงนกกระทา การเลือกใช้กรงเลี้ยงที่มีคุณภาพและได้สัดส่วน การเลือกใช้อาหารที่มีโปรตีนเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การใช้เครื่องมือและนวัตกรรมในการกกและอนุบาล เลือกใช้อุปกรณ์การเลี้ยง-การให้น้ำที่แข็งแรงใช้ได้ระยะยาว เป็นต้น ทุกอย่างที่กล่าวมาจะเป็นเหมือนสะพานก้าวไปสู่ความสำเร็จ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กฤษณ์นิญา ฟาร์มนกกระทา มีทั้งหมด 10 โรงเรือน แบ่งออกเป็น

-โรงเรือน พ่อ-แม่พันธุ์ ขนาด 6×30 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน

-โรงเรือน นกกระทาขุน ขนาด 6×17 เมตร 1 โรงเรือน, ขนาด 5×15 เมตร 1 โรงเรือน, ขนาด 4×15 เมตร 1 โรงเรือน

-โรงเรือน กกและอนุบาลนกกระทา ขนาด 4×12 เมตร 3 โรงเรือน

-โรงเรือน นกกระทาไข่ลม ขนาด 6×15 เมตร 1 โรงเรือน

คุณบอยเสริมด้วยว่า ตนเลือกสร้างโรงเรือนตามความยืดหยุ่นของพื้นที่ฟาร์ม และยังเลือกใช้เป็นระบบเปิด และนำนวัตกรรมด้านอุปกรณ์การเลี้ยงที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เพื่อสะดวกในการเซ็ตระบบจัดการควบคุมและทำความสะอาดได้ง่าย ทำให้ทุกวันนี้คุณบอยใช้เพียงแรงงานในครอบครัวในการจัดการภายในฟาร์ม ลดต้นทุนด้านแรงงาน และทำให้ทุกคนในครัวเรือนมีรายได้ร่วมกันอีกด้วย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

3.กฤษณ์นิญาฟาร์ม03

การบริหารจัดการฟาร์มนกกระทา

ทุกวันนี้ กฤษณ์นิญา ฟาร์ม มีการเลี้ยงนกกระทาหมุนเวียนภายในฟาร์มกว่า 100,000 ตัว สร้างมูลค่าจากการเลี้ยงนกกระทาได้มากถึง 5-6 แสนบาท/เดือน หักค่าใช้จ่ายแล้วยังเป็นกำไรมากกว่า 1 แสนบาท/เดือน เลยทีเดียว โดยใช้ระยะเวลาต่อรุ่นประมาณ 46 วัน

-ระยะเวลาจาก ไข่เชื้อ-ฟักตัว ประมาณ 16 วัน

-เข้าโซนกก และ อนุบาล ประมาณ 10 วัน

-ส่งต่อเข้าสู่โซนเลี้ยงนกกระทาขุน ประมาณ 20 วัน (แยกเพศเมื่อครบอายุ 25 วัน)

-เมื่อผ่านกระบวนการฟักตัว-ขุน ครบ 30 วัน ทางฟาร์มจะแยกประเภทขายออกเป็น 2 ประเภท คือ จำหน่ายเป็นนกกระทาเนื้อ (เพศผู้) และจำหน่ายเป็นนกกระทาสาว (เพศเมีย)

คุณบอยยังบอกถึงจุดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ กระบวนการกกและอนุบาล เพราะว่านกกระทาที่ออกมาจากไข่ฟักจะยังไม่แข็งแรง จุดนั้นต้องใช้ความระมัดระวังและเฝ้าสังเกตอยู่อย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านการฟักออกมาเป็นตัว จะนำเข้าสู่กระบวนการกกและอนุบาลลูกนกกระทาประมาณ 10 วัน ด้วยเครื่องกกฮีตเตอร์ ด้วยอุณหภูมิระหว่างกกที่ 37 องศาเซลเซียส ในโรงเรือนอนุบาลขนาด 4×12 เมตร เพื่อให้ลูกนกกระทาได้รับความอบอุ่นที่ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต หลังจากครบกำหนดเวลาจะถูกย้ายเข้าสู่โรงเรือนนกกระทาขุนต่อไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

4.กฤษณ์นิญาฟาร์ม04

การให้อาหารนกกระทา

อีกส่วนที่สำคัญเป็นอย่างมาก นั่นคือ “อาหาร” ในการเลี้ยงนกกระทา ทางฟาร์มเลือกใช้โปรตีนในอาหารแต่ละประเภทการเลี้ยงต่างกัน ช่วงแรกเกิด-นกกระทาเริ่มออกไข่ หรืออายุประมาณ 35 วัน จะเลี้ยงนกกระทาด้วยอาหารไก่เนื้อแรกเกิด โปรตีน 21% ของ บริษัท กรุงไทยอาหารสัตว์ จำกัด เพราะจะช่วยให้นกกระทาเจริญเติบโต แข็งแรง กล้ามเนื้อสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นนกกระทาเพศเมียจะพร้อมเข้าสู่ระยะออกไข่อย่างเต็มตัว

หลังจากครบ 35 วัน ทางฟาร์มจะเปลี่ยนมาใช้ อาหารนกกระทาไข่ โปรตีน 22% เพื่อกระตุ้นการสร้างไข่ตามระยะอย่างเต็มที่ ช่วยให้กระบวนการออกไข่ของนกกระทาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ สามารถผลิตไข่อย่างมีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งรุ่น และอาหารสูตรเดียวกันนี้ทางฟาร์มยังได้ใช้ไปถึงการเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์นกกระทา เพื่อกระตุ้นระบบสืบพันธุ์และรังไข่ สามารถสร้างไข่เชื้อที่มีคุณภาพ พร้อมนำไปฟักขยายพันธุ์ต่อได้

“การกกที่สำคัญอีกอย่าง คือ เรื่องอาหาร ผมจะใช้อาหารไก่เนื้อแรกเกิด โปรตีน 21% บดให้กินก่อนในช่วงอายุ 1-6 วัน หลังจากเข้าวันที่ 7 ก็ให้แบบเต็มเม็ดได้เลย และอีกเรื่องที่สำคัญ ส่วนใหญ่เกษตรกรทั่วไปอาจจะให้อาหารไก่เนื้อ แค่ช่วงแรกเกิด-เข้านกสาว หรือแค่ประมาณ 30 วันเท่านั้น เพราะจากประสบการณ์ถ้าเปลี่ยนในช่วง 30 วันเลย ร่างกายของนกกระทาสาวยังไม่พร้อมออกไข่อย่างสมบูรณ์ ไข่ออกมาจะไม่เต็มที่ แต่เทคนิคของฟาร์มผมจะให้นกกินเกินไปจนถึงประมาณ 35 วัน หรือไข่ออกไปได้เกิน 10% ค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารนกกระทาไข่ เพราะจะเข้าไปทำหน้าที่กระตุ้นการออกไข่ได้อย่างเต็มที่สมบูรณ์ที่สุด ออกไข่ได้สม่ำเสมอตลอดทั้งรุ่น แต่ก็แล้วแต่เกษตรกรคนอื่น ก็อาจจะสูตรใครสูตรมัน” คุณบอย แนะนำเทคนิคการให้อาหารนกกระทาแบบฉบับของตน

5.กฤษณ์นิญาฟาร์ม05

6.กฤษณ์นิญาฟาร์ม06

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย นกกระทา ไข่นกกระทา

ซึ่งผลผลิตของฟาร์มจะแบ่งออกเป็นหลายประเภท ในส่วนที่เป็น “นกกระทาเนื้อ (เพศผู้)” จะส่งขายแม่ค้าจำพวกขายเป็นนกกระทาสดหรือแปรรูป ในส่วนของ “นกกระทาสาว (เพศเมีย)” จะถูกขายต่อไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงนกกระทาไข่ เพื่อเลี้ยงเอาไข่เป็นผลผลิตหลักในการจำหน่ายอย่างเดียว และเมื่อระยะของนกกระทาสาวเกินอายุที่จะให้ไข่ได้แล้ว จะถูกขายเป็น “นกกระทาปลดระวาง”  อีกส่วนคือ จำหน่ายเป็น “ไข่นกกระทา” แบ่งออกจำหน่ายเป็น “ไข่เชื้อ และ ไข่ลม” ซึ่งไข่เชื้อจะเป็นไข่นกกระทาที่พร้อมเข้าสู่ระยะฟักตัวและนำไปเลี้ยงต่อได้ ส่วนไข่ลมจะเป็นไข่ที่เหมาะสำหรับการรับประทาน จะถูกคัดออกไปจำหน่ายเพื่อประกอบอาหารให้กับแม่ค้าและผู้บริโภคต่อไป อีกอย่างที่สามารถสร้างเป็นเงินได้ นั่นคือ “มูลนกกระทา” ที่สร้างรายได้ต่อปีกว่า 2 แสนบาท/ปี เลยทีเดียว เป็นที่ต้องการของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน เป็นอย่างมาก

สำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่หรือเกษตรกรเปลี่ยนอาชีพและกำลังมองว่าจะเริ่มเลี้ยง สามารถนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ร่วมกันได้ จะเป็นการลดต้นทุนในการเริ่มต้นได้อีกด้วย อาทิ ปรับปรุงโรงเรือนโดยไม่ต้องสร้างใหม่ทั้งหมด อุปกรณ์ให้อาหาร-น้ำ ระบบระบายอากาศ ระบบไฟในโรงเรือน เป็นต้น โดยคุณบอยแนะนำให้เริ่มเลี้ยงจากน้อยๆ ถ้าเลี้ยงนกกระทาขุน ให้คำนวณความหนาแน่นเบื้องต้นประมาณ 100 ตัว/ตารางเมตร

ถ้าเป็นการเลี้ยงนกกระทาไข่ ให้คำนวณความหนาแน่นของกรงเลี้ยงเบื้องต้นประมาณ 10 ตารางเมตร/ตัว เมื่อมีทุนเพิ่มมากขึ้นค่อยเริ่มขยายสัดส่วนและปริมาณให้มากขึ้นตามไปได้ เริ่มต้นทำไม่ต้องมากนัก แต่ทำให้มีความชำนาญก่อนจะเลี้ยงในจำนวนมาก เพื่อให้มั่นใจและควบคุมผลผลิตให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดีกว่าเลี้ยงจำนวนมากแล้วผลผลิตเสียหายจนทำให้สูญเสียและขาดทุนไปก่อน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

7.กฤษณ์นิญาฟาร์ม0724

“สำหรับผม การตลาดไม่สำคัญเท่าการเลี้ยง และทำสินค้าให้มีคุณภาพ เพราะถ้าเราเลี้ยงแล้วของออกมาไม่มีคุณภาพ ขายไปก็ราคาไม่ดี เสียหายมากกว่าได้กำไรเสียมากกว่า อย่างเกษตรกรหลายๆ คนเคยโทรมาหาผม เพื่อมาปรึกษาบ้าง มาเยี่ยมชมที่ฟาร์มบ้าง เขาจะมองแต่เรื่องตลาดอย่างเดียว หรือเลี้ยงแล้วจะเอาไปขายที่ไหน เหมือนตัวผมเองก่อนหน้าที่จะประสบความสำเร็จในจุดนี้ก็เคยคิด เลยไปเดินหาตลาดเอง เขาก็ตกลงรับซื้อ แต่เรากลับไม่มีของให้เขา ทำให้เราเสียโอกาสไปในวันนั้น

ตั้งแต่วันนั้นผมเลยมีแนวคิดใหม่ว่า ถ้าเรายังไม่ลงมือทำเลย จะมากังวลเรื่องตลาดก่อนไม่ได้ ต้องลงมือทำเลย เลี้ยงนกแล้วให้มันไข่ให้ได้ก่อนอันดับแรก ทำแล้วต้องทำให้ได้คุณภาพ ไข่ไม่เน่า ไม่เสีย เป็นไข่สด ถึงเอาไปขาย ถ้าเราไม่เอาเปรียบและซื่อสัตย์ต่อลูกค้าแค่นั้นพอ แล้วตลาดมันจะค่อยๆ เข้ามาหาเราเอง ตามคุณภาพสินค้าของเรา” คุณบอย ให้แนวทางสำหรับมือใหม่ หรือเกษตรกร ที่กำลังสนใจธุรกิจเลี้ยงนกกระทาเป็นอาชีพ

นับได้ว่าธุรกิจการเลี้ยงนกกระทายังสามารถกลายเป็นอาชีพและสร้างรายได้เลี้ยงชีพให้กับเกษตรกรที่สนใจได้ เพราะด้วยการแข่งขันทางด้านตลาดยังไม่ถูกควบคุมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่มากนัก สัดส่วนการรองรับผลผลิตในท้องตลาดขยายขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง การลงทุนทำธุรกิจสามารถใช้เงินทุนไม่มากในการเริ่มต้น ผลผลิตที่ออกมาสามารถจำหน่ายได้หลากหลายรูปแบบ และไม่เหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์

สอบถามหรือปรึกษาแนวทางการเลี้ยงนกกระทา ติดต่อได้ที่ โทร.081-120-2479 คุณบอย หรือเข้าเยี่ยมชมฟาร์มได้ที่ 87 หมู่ที่ 12 ตำบลห้วย อำเภอประทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ 37110

ขอบพระคุณข้อมูล : คุณคมกฤษณ์ ลอยฟ้า หรือ คุณบอย ผู้บริหาร กฤษณ์นิญา ฟาร์มนกกระทา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 370