การเลี้ยงนกกระทา ระบบ Evap ผลิตไข่สดและไข่ต้มสุก 30 ล้านฟอง/เดือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“นกกระทา” (Quail) อีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจอนาคตไกล ที่ตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการบริโภคสูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย การเลี้ยงนกกระทา นั้นมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงนกกระทาโดยพบเห็นทั่วไปในแต่ละจังหวัด ทว่าที่เปิดเป็นฟาร์มเลี้ยงอย่างจริงจังภายใต้ระบบปิด (EVAP) ที่ได้มาตรฐานสากลนั้น นับจำนวนผู้เลี้ยงในเมืองไทยมีไม่มากนัก

1.คุณระวีพงศ์-และคุณชิชญาส์-วีระพงศ์
1.คุณระวีพงศ์-และคุณชิชญาส์-วีระพงศ์

การเลี้ยงนกกระทา ระบบอีแวป

สำหรับในประเทศไทย ฟาร์มนกกระทาที่ได้มาตรฐานและกิจการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยครองส่วนแบ่งตลาดนกกระทาในประเทศกว่า 80% อีกทั้งยังดำเนินธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่อาชีพเกษตรกรเพาะเลี้ยงนกกระทา จนกระทั่งเกิดการต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจหลักสามารถสร้างรายได้ และยกระดับการเลี้ยงให้มีมาตรฐาน ทั้งเรื่องของ “นกเนื้อ” และ “นกไข่” และ “ผลิตภัณฑ์แปรรูป” พร้อมสร้างแบรนด์ และทำการตลาดสร้างช่องทางจำหน่าย ขยายฐานลูกค้าไปทั่วประเทศ

โดยฟาร์มนกกระทาดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คลองวัว อ.เมืองอ่างทอง โดยเอ่ยชื่อในแวดวงฟาร์มเลี้ยงนกกระทาในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักในนาม “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม”

นิตยสารสัตว์บกได้มาเยือน (อีกครั้ง) ที่ “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม” แห่งนี้ และมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณตั้ว-ชิชญาส์ วีระพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พี แอนด์ โปรดักส์ จำกัด (WRP & Product) บุตรชายคนโตทายาทรุ่น 2 ผู้นำทัพอาณาจักร “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม”

โดยคุณชิชญาส์ (ตั้ว) ปัจจุบัน (ปี 2563) อายุ 25 ปี ได้สืบทอดกิจการครอบครัวและของคุณพ่อ (คุณเต้ย-ระวีพงศ์ วีระพงศ์) มาตั้งแต่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษา สาขาสัตวศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ซึ่งหลังเรียนจบจึงเข้ามารับช่วงต่ออย่างเต็มตัว

คุณชิชญาส์เล่าย้อนอดีตสมัยคุณพ่อเริ่มต้นอาชีพให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลาที่คุณพ่อ คุณแม่ เริ่มต้นอาชีพดังกล่าวก็ได้ส่งเสริมเกษตรกรควบคู่กับการทำฟาร์มด้วย ขณะที่ความต้องการของนกกระทาเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงนกกระทายังคงผลิตได้เท่าเดิม จึงเกิดปัญหาสินค้ามีไม่เพียงพอ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.โรงเรือนนกกระทา
2.โรงเรือนนกกระทา

สภาพพื้นที่เลี้ยงนกกระทา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเล็งเห็นความสำคัญกับต้นน้ำ (ฟาร์ม) มากขึ้น จึงตัดสินใจสร้างฟาร์มเลี้ยงนกกระทาในปี พ.ศ.2555 นามว่า “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม” โดยทำเป็นมาตรฐานในระบบปิด (EVAP) และเริ่มเลี้ยงในปีต่อมา จากนั้นก็เพิ่มโรงเรือนจนปัจจุบันมีทั้งหมด 20 หลัง

กระทั่งมาถึงในยุคสมัยของคุณชิชญาส์ ซึ่งเข้ามาบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงฟาร์ม ยกระดับฟาร์มนกกระทาให้เทียบเท่ากับการเลี้ยงไก่เนื้อ-ไก่ไข่ พร้อมสร้างระบบอีแวปภายในฟาร์ม และลงทุนนำเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยนำมาใช้ในส่วนของไลน์ผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยที่สร้างชื่อและเป็นที่รู้จัก คือ ไข่นกกระทาต้มสุก พร้อมรับประทาน แบรนด์ “วีระพงศ์”

สำหรับ “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม” ปัจจุบันเป็นฟาร์มเลี้ยงนกกระทาได้มาตรฐาน และถือเป็นต้นแบบฟาร์มนกกระทาของจังหวัดอ่างทอง โดยเป็นโรงเรือนระบบปิด (อีแวป) ได้รับฟาร์มมาตรฐาน GAP ของกรมปศุสัตว์

3.ไข่นกกระทาสด
3.ไข่นกกระทาสด

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย นกกระทา และไข่นกกระทา

ด้านผลิตภัณฑ์ วีระพงศ์เจริญฟาร์ม ปัจจุบันผลิตและจำหน่าย นกกระทาชำแหละ (นกเนื้อ) นกกระทาสาวพร้อมขึ้นกรง ไข่พันธุ์ และไข่บริโภค (ไข่สด และไข่แปรรูป) โดยจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง เจาะกลุ่มทั้งตลาดพรีเมียม ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่าง ๆ และจำหน่ายกลุ่มตลาดกลาง-ล่าง ทั่วประเทศ (Mass Market) อีกด้วย

คุณชิชญาส์เผยว่าสำหรับการทำตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่สด และไข่ดิบ ปัจจุบันมีออร์เดอร์จัดส่งวันละ 1 ล้านฟอง (ไข่ต้ม 6 แสนฟอง และไข่สด 4 แสนฟอง) โดยช่องทางจำหน่ายจัดส่งให้กับลูกค้าหลักๆ ได้แก่ ตลาดโมเดิร์นเทรด เช่น ส่งขึ้นห้างฯ แม็คโคร ตีตราแบรนด์ ARO มี 3 แพ็คเกจจิ้ง ได้แก่ บรรจุ 30-50-100 ฟอง โดยมียอดสั่งซื้อจากห้างฯ แม็คโคร ร่วม 4 แสนฟอง/วัน ทั้งนี้ “โรงต้มของ WRP” มีกำลังการผลิตที่เพียงพอ ซึ่งสามารถผลิตได้สูงกว่า 8 แสนฟอง/วัน

4.การเลี้ยงนกกระทา ผลิตไข่นกกระทาต้ม
4.การเลี้ยงนกกระทา ผลิตไข่นกกระทาต้ม

การแปรรูปไข่นกกระทา

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน วีระพงศ์เจริญฟาร์มบริหารจัดการอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งประกอบด้วยฟาร์มเพาะเลี้ยงนกกระทา จำนวนเลี้ยงกว่า 1 ล้านตัว มีโรงงานแปรรูป (WRP) โรงบรรจุไข่สด และไข่แปรรูป (ไข่นกกระทาต้มสุก) โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลคุณภาพสูง และมีกำลังคนอีกส่วนหนึ่งเพื่อคอยตรวจเช็ค/คัดแยกคุณภาพของสินค้า เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในส่วนของไลน์ผลิตด้านการแปรรูปไข่นกกระทา โดยโรงงาน WRP เดินเครื่องจักรกำลังการผลิตเต็มที่ 100% จะสามารถผลิตได้ถึง 1.5 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งปัจจุบันวีระพงศ์เจริญฟาร์มเดินเครื่องผลิตอยู่ที่ 85%

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของวีระพงศ์เจริญฟาร์ม อย่างที่กล่าวไป คือ ไข่นกกระทาต้มสุก ถือเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ Biotechnology ผ่านมาตรฐานการผลิต GMP, HACCP โดยผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจาก อย. และเครื่องหมายฮาลาล (HALAL) เป็นต้น

โดย ไข่นกกระทาต้มสุก เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานนับปี ที่สำคัญ คือ ไม่ใส่วัตถุกันเสีย และปลอดภัยต่อการบริโภค 100% โดยเป็นไข่ต้มสุก บรรจุภัณฑ์อย่างดีด้วยกระบวนการ Vacuum หรือแพ็คสุญญากาศ และพร้อมรับประทานได้ทันที พกพาสะดวก รสชาติอร่อย ไม่ต้องปรุงแต่งรสชาติใดๆ เพิ่มเติมอีก

สำหรับการแปรรูปเป็นแนวคิดของคุณชิชญาส์ วัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นการแก้ไขปัญหาไข่ล้นตลาด นอกจากนี้การแปรรูปยังเป็นการเปิดโอกาสขยายช่องทางจำหน่ายไปถึงลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น และทำให้มีเชลล์ฟไลฟ์ (Shelf Life) ได้นานยิ่งขึ้นด้วย

5.นกกระทาแข็งแรง โตเร็ว
5.นกกระทาแข็งแรง โตเร็ว

การบริหารจัดการฟาร์มนกกระทา

ด้านการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงนกกระทา โดยปัจจุบันวีระพงศ์เจริญฟาร์มป้อนผลผลิตออกสู่ตลาด รวมทั้งนกเนื้อ และนกไข่ ที่หมุนเวียนอยู่กับฟาร์มวีระพงศ์ฯ ทั้งหมดกว่า 3 ล้านตัว/เดือน รวมไปถึงการสร้าง “ระบบลูกเล้า” ที่มีเกษตรกรในเครือข่ายที่เลี้ยงนกกระทาอีกกว่า 50 ราย เลี้ยงจำนวนกว่า 5 แสนตัว ภายใต้รูปแบบการเลี้ยงระบบปิดที่ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกฟาร์ม ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ไข่สดที่ได้คุณภาพ ปลอดเชื้อ และผลผลิตป้อนสู่ตลาดตลอดทั้งปี

สำหรับการตรวจสอบเชื้อ วีระพงศ์เจริญฟาร์มนำส่งตรวจเชื้อที่ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (Central Lab) ทุกเดือน ในส่วนผลของยาปฏิชีวนะ นำส่งตรวจทุก 3 เดือน ซึ่งกรมปศุสัตว์จะเข้ามาเก็บผลตรวจในฟาร์มโดยตลอด

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.ผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาสดและไข่นกกระทาแปรรูป
6.ผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาสดและไข่นกกระทาแปรรูป

แนวโน้มในอนาคต

ปัจจุบันวีระพงศ์เจริญฟาร์มสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อเตรียมส่งออกไปยังต่างประเทศหลายประเทศในอาเซียน เริ่มต้นปักหมุดประเทศสิงคโปร์ก่อนที่แรก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาและตกลงเรื่องของเอกสารสัญญา ทั้งนี้ลูกค้าสิงคโปร์มีความต้องการจำนวนกว่า 5 ล้านฟอง/เดือน ซึ่งเป็นความต้องการในปริมาณที่สูงมาก

นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ได้วางแผนเตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์บุกตลาดเอเชีย เนื่องด้วยในหลายๆ ประเทศ ประชากรส่วนใหญ่ในแถบเอเชียมีการบริโภค ซึ่งบางประเทศมีการบริโภคไข่นกกระทาเฉลี่ยประมาณ 10 ล้านฟองต่อเดือน

เมื่อถามถึงเป้าหมายที่จะทำในปี 2563 นี้ และปีต่อไป โดยคุณชิชญาส์เปิดเผยกับนิตยสารสัตว์บกถึงความตั้งใจที่จะทำ 3 ประการ ซึ่งตอนนี้บรรลุสิ่งที่ตั้งใจไว้เกือบ 100% แล้ว ได้แก่

1.สร้างและปรับปรุงโรงชำแหละ (โรงเชือด) ให้ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์
2.สร้างโรงงานปุ๋ย เพื่อแปรรูปมูลนกกระทา ซึ่งมีปริมาณมากในแต่ละวัน  โดยแปรรูปทำเป็นปุ๋ย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่น เรื่องแมลงรบกวน อีกด้วย ทั้งนี้มูลนกกระทามีคุณค่าสูง ไม่แตกต่างจากมูลวัว/มูลควาย ซึ่งเป็นรองแค่มูลค้างคาวอย่างเดียว ซึ่งนำไปทำปุ๋ยก็จะได้คุณภาพที่สูง
3.แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า นั่นคือ ไข่นกกระทาต้มสุก

7.ไข่นกกระทาต้มปอกเปลือก
7.ไข่นกกระทาต้มปอกเปลือก การเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงนกกระทา

การวางแผนในอนาคต

“สำหรับการปรับปรุงโรงเชือดใหม่ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรเรื่องของ Demand และ Supply ที่สำคัญมาก หากต้องการยกระดับสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ตลาดต่างประเทศ

 เหตุผลที่ต้องการปรับปรุงโรงเชือด เพราะปัจจุบันมีออร์เดอร์นกเนื้อที่ต้องผลิตให้ได้กว่าวันละ 5 ตัน เพื่อเตรียมจัดส่งให้กับตลาด ที่พ่อค้า แม่ค้า จะรับซื้อนำไปทำนกหัน ซึ่งขณะนี้ปริมาณการผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงต้องการพัฒนาโรงเชือดแห่งใหม่ให้ได้มาตรฐานและเสร็จสิ้นโดยเร็ว และเพิ่มการบริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า และลูกค้าสามารถนำผลิตภัณฑ์ของเราไปปรุงอาหารได้อย่างสะดวก สะอาด และปลอดภัย ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น และสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้มากขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

รวมถึงในอนาคตวางแผนจะขยับขยายพื้นที่ โดยจะจัดสร้างห้องเย็นเพื่อต่อยอดโรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์รูปแบบกระป๋อง และเพื่อเพิ่มยอดการผลิตและจำหน่ายให้มากขึ้น ตลอดจนการให้ความสำคัญถึงระบบ Biosecurity การจัดการภายในฟาร์ม และรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อป้อนผลผลิตเกรดพรีเมียมสู่ลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดพรีเมียม อย่าง ห้างโมเดิร์นเทรด เพราะตลาดโมเดิร์นเทรดไม่ได้คุยกันที่เรื่องของราคา แต่คุยกันที่เรื่องมาตรฐานและคุณภาพต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก

ด้านตลาดส่งออก โดยในปี 2563 นี้ ไปจนถึงปี 2564 เราวางแผนไปตลาดส่งออกให้ได้อย่างมีมาตรฐานและเข้มแข็ง เพราะตลาดในประเทศไทยขณะนี้เติบโตไปได้ในทุกๆ ปี ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าส่งออกประเทศในอาเซียนให้ได้ทั้งหมด รวมถึงตลาดส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ซึ่งประชากรทั้ง 2 ประเทศนี้บริโภคไข่นกกระทาในอัตราที่สูงมาก”

8.ฟาร์มนกกระทา
8.ฟาร์มนกกระทา การเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงนกกระทา 

ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงนกกระทา

ในตอนท้ายคุณชิชญาส์ยังได้กล่าวฝากเกี่ยวกับอาชีพทำฟาร์มเลี้ยงนกกระทา ฝากไปถึงเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยง รวมไปถึงผู้บริโภคทั่วประเทศอีกด้วย โดยบอกว่าสำหรับ การเลี้ยงนกกระทา เป็นอาชีพที่น่าจับตามอง และยังมีอนาคตไกล โดยไข่นกกระทาถือเป็นแหล่งของโปรตีนที่ให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงกว่าการบริโภคไข่ไก่เสียอีก ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนไข่ไก่/น้ำหนัก 100 กรัม จะอยู่ที่ 12.8 แต่ถ้าเป็นไข่นกกระทาต้มสุก โปรตีนจะอยู่ที่ 13.1 ซึ่งถ้าเทียบน้ำหนักเท่ากันแล้ว ไข่นกกระทาต้มสุกจะมีโปรตีนสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วน การเลี้ยงนกกระทา เป็นอาชีพหลักๆ แบ่งได้ 2 ลักษณะ  คือ  เลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อขยายพันธุ์ และเลี้ยงนกไข่ (เลี้ยงรุ่นในกรง) อย่างไรก็ตามเกษตรกรจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  และปรับปรุงพัฒนา การเลี้ยงนกกระทา ให้เป็นที่รู้จัก และมีมาตรฐานเหมือนการเลี้ยงไก่ไข่และไก่เนื้อให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ทางวีระพงศ์เจริญฟาร์ม ปัจจุบันยกระดับ การเลี้ยงนกกระทา เพื่อให้เป็นตัวอย่างของลูกเล้า เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางเดียวกันที่มีมาตรฐาน เนื่องจากมองว่าเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป การตลาดก็เปลี่ยนไปด้วย ทั้งนี้หากเกษตรกรท่านใดที่สนใจอยากจะขอคำปรึกษา การเลี้ยงนกกระทา ที่ได้มาตรฐานอย่างถูกต้อง โดย วีระพงศ์เจริญฟาร์ม พร้อมที่ให้คำปรึกษาแก่ทุกท่านด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง

สนใจผลิตภัณฑ์คุณภาพ นกกระทาชำแหละ (นกเนื้อ) นกกระทาสาวพร้อมขึ้นกรง ไข่พันธุ์ ไข่บริโภค จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม ฟาร์มนกกระทา” ที่อยู่เลขที่ 71/7 ม.2 ต.คลองวัว อ.เมือง จ.อ่างทอง โทร.081-853-6162, 089-239-5812 และ Facebook : วีระพงศ์เจริญ ฟาร์มนกกระทา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 322