การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย และ การขยายพันธุ์จิ้งหรีด รายได้ดีราคาขายปลีกอยู่ที่ 100 บาท/กิโลกรัม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงจิ้งหรีด หรือคนท้องถิ่นเรียกว่า “จั๊กหรีด” เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ คุณแฉล้ม หาญสงคราม (ป้าแฉล้ม) เจ้าของ “แฉล้มฟาร์ม” เลขที่ 332 หมู่ 9 บ้านสวรรค์วารี ตำบลหนองตะไก้ อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรคนเก่งที่ใช้เวลาว่างเว้นจากการทำไร่มันสำปะหลัง เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริมร่วม 7 ปี สร้างรายได้ให้กับครอบครัว “หาญสงคราม” จำนวนหลายหมื่นบาท

จิ้งหรีด
จิ้งหรีด
1.คุณแฉล้ม-หาญสงคราม-เจ้าของแฉล้มฟาร์ม
1.คุณแฉล้ม-หาญสงคราม-เจ้าของแฉล้มฟาร์ม

จุดเริ่มต้น การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย

ป้าแฉล้มเผยว่า เดิมเป็นคนอำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นย้ายมาอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยทำไร่มันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก ซึ่งในขณะนั้นก็ได้เลี้ยงไก่เนื้อประมาณ 7,000 ตัว ควบคู่กันไป ทำอยู่ 14 ปี เห็นเพื่อนบ้านที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย มีรายได้ดี และตลาดยังเปิดกว้าง จึงเกิดความสนใจ ปรึกษากันในครอบครัว และเริ่มทดลองเลี้ยง ศึกษาพฤติกรรม เพื่อหวังว่าจะเป็นอาชีพที่สามารถทดแทนการเลี้ยงไก่เนื้อได้ในอนาคต

หลังจากตัดสินใจที่จะทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ป้าแฉล้มซื้อไข่จิ้งหรีดมาขยายพันธุ์เองจำนวน 10 ขันๆ ละ 1,000 บาท และนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษไม้ และสังกะสีเก่า มาสร้างโรงเรือนแบบง่ายๆ เน้นบังแดด บังฝน โดยเสียค่าช่าง และอุปกรณ์บางส่วนเท่านั้น จนกระทั่งขยายและพัฒนาโรงเรือนให้มั่นคง แข็งแรง มากขึ้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 50 เมตร

2.โรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีด
2.โรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีด

“จากวันแรกจนถึงปัจจุบันอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ดีสำหรับเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งแตกต่างจากการทำไร่มันสำปะหลังที่จะได้ผลผลิตแค่ปีละครั้ง ที่สำคัญมีเวลาว่างในการทำอย่างอื่น และอยู่กับครอบครัวมากขึ้น” ป้าแฉล้มกล่าวถึงข้อดี

3.สายพันธุ์จิ้งหรีด
3.สายพันธุ์จิ้งหรีด

สายพันธุ์จิ้งหรีด

ปัจจุบันทางฟาร์มเลี้ยงแมงสะดิ้งและจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง-ทองดำ แต่แมงสะดิ้งจะเลี้ยงในปริมาณที่มากกว่า เนื่องจากเพิ่งเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดตามความต้องการของตลาด ซึ่งอนาคตวางเป้าหมายการผลิตอยู่ที่ 50% และประกอบกับราคาแมงสะดิ้งมีการปรับตัวลงเล็กน้อย ส่วนอัตราการผลิตที่ฟาร์มสามารถผลิตได้ประมาณ 2 ตัน/รอบ

แต่ปัจจุบันมีการบริหารการเลี้ยงเป็น 3 รุ่น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอตามความต้องการของตลาด โดยระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 45 วัน ส่วนอากาศหนาวอาจต้องเลี้ยงถึง 60 วัน “จิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้งจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงหน้าร้อน แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวจิ้งหรีดจะโตช้า และไม่ค่อยออกมากินอาหาร ชอบหลบซ่อนตัวในแผงไข่” ป้าแฉล้มยืนยันถึงฤดูกาลที่มีผลต่อการเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.บ่อเลี้ยงจิ้งหรีด
4.บ่อเลี้ยงจิ้งหรีด
ถาดอาหาร
ถาดอาหาร

ขั้นตอน การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย

สำหรับขั้นตอน การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย จะเริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อให้พร้อม โดยการทำความสะอาดด้วยน้ำ โรยปูนขาว และรอให้แห้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากเก็บขี้จิ้งหรีดออกจากบ่อ โดยจะนำขี้จิ้งหรีดที่ได้ใส่ไร่มันสำปะหลัง และนาข้าว ให้ผลผลิตดี และไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แผงไข่ จะนำไปตากแดดเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค และทำความสะอาดอุปกรณ์ใส่น้ำ และอาหาร

5.ขันสำหรับให้จิ้งหรีดไข่
5.ขันสำหรับให้จิ้งหรีดไข่

การขยายพันธุ์จิ้งหรีด

ก่อนจับจิ้งหรีดขายจะมีขั้นตอนที่สำคัญ คือ การรองไข่จิ้งหรีด เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ โดยสังเกตได้จากการส่งเสียงร้องของจิ้งหรีด จากนั้นนำภาชนะ (ขัน) ใส่แกลบดำ หรือดินปลูกต้นไม้พรมน้ำเล็กน้อย นำไปวางในบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน จึงนำภาชนะ (ขัน) ที่มีไข่จิ้งหรีดออก เตรียมตัวสู่ขั้นตอนการฟักในบ่อที่เตรียมไว้ คลุมด้วยผ้าเพื่อให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะสมในการฟัก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน จากนั้นจึงเทขันไข่จิ้งหรีดลงบ่อ เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไป

6.การเรียงแผงไข่
6.การเรียงแผงไข่

ข้อดีและข้อเสียของการเรียงแผงไข่

“สำหรับการเรียงแผงไข่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีด ตลอดระยะเวลา 7 ปี ทางฟาร์มได้มีการทดลองหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน โดยการเรียงแผงไข่แบบถี่จะทำให้จิ้งหรีดไม่กัดกัน และได้จำนวนมาก แต่จิ้งหรีดตัวที่ได้จะไม่สม่ำเสมอ และเล็กกว่า การเรียงแผงไข่แบบเว้นระยะห่าง แต่ก็มีข้อเสีย คือจิ้งหรีดจะกินและกัดกันเอง และได้ปริมาณน้อยกว่า” ป้าแฉล้มกล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของการเรียงแผงไข่ทั้งสองแบบ

7.การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย ให้อาหารด้วยฟักทอง
7.การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย ให้อาหารด้วยฟักทอง

การให้อาหารจิ้งหรีด

ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีด ทางฟาร์มจะใช้อาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอาหารไก่เนื้อ สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด โดยให้เช้า-เย็น และเสริมด้วยรำข้าว ฟักทอง ในช่วงที่จิ้งหรีดเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย และก่อนจับขาย ส่วนการให้น้ำจะใช้ขวดพลาสติกเจาะรู เพื่อให้สามารถนำเศษผ้าใส่ลงด้านใน ลักษณะดูดซับน้ำก็จะทำให้จิ้งหรีดกินน้ำได้ตลอดเวลา

8.จิ้งหรีดพร้อมจำหน่าย
8.จิ้งหรีดพร้อมจำหน่าย

ด้านตลาดจิ้งหรีด

จากปัญหาการกดราคารับซื้อจิ้งหรีดของพ่อค้าตลาดย่านโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว ทำให้เกษตรกรบางรายเลิกกิจการไป เหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น และแฉล้มฟาร์มก็เป็นหนึ่งในนั้นที่โดนผลกระทบ และมีการปรับตัวในเวลาต่อมา จนมีพ่อค้าเจ้าประจำมารับซื้อหน้าฟาร์ม ในราคาขายส่งที่ 70-80 บาท และราคาขายปลีกอยู่ที่ 100 บาท/กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับภาวะตลาด ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้ารายใหม่เข้ามาติดต่อเพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น ปลาสวยงาม เป็นต้น โดยจะใช้ตัวเป็นเท่านั้น

“ตอนนี้เรื่องรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็เหลือหลายหมื่นบาท สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย แถมดีกว่าการทำไร่มันสำปะหลังอีก” ป้าแฉล้มกล่าวและยิ้มอย่างมีความสุข

โฆษณา
AP Chemical Thailand
9.คุณแฉล้ม-ซ้าย-คุณกำไล-ขวา-และญาติ
9.คุณแฉล้ม-ซ้าย-คุณกำไล-ขวา-และญาติ

แนวโน้มตลาดจิ้งหรีด

นอกจากเกษตรกรจะมีอาชีพทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวแล้ว ยังเห็นความรัก ความสามัคคีกัน ของคนในหมู่บ้านที่มีอาชีพเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาหารือเรื่องแนวโน้มตลาด หรือแลกเปลี่ยนพันธุ์จิ้งหรีดกัน และที่สำคัญให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

“ การเลี้ยงจิ้งหรีดขาย ต้องมีใจรักในอาชีพนี้ด้วย หากเจอปัญหาจะต้องศึกษาวิธีแก้ไขต่างๆ จากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ ส่วนเรื่องตลาดยังมีความต้องการค่อนข้างสูง และยังเปิดกว้างอีกด้วย” ป้าแฉล้มกล่าวทิ้งท้าย

ขอขอบคุณ ป้าแฉล้ม และคุณกำไล หาญสงคราม (แฉล้มฟาร์ม) โทร.081-075-7048