คุณป๊อก อดีต นายสนามชนไก่แคราย 2 สมัย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เพื่อนไก่ชนขอเขียนถึงยอดคนของวงการไก่ชนทางยาวของกรุงเทพมหานคร อดีตเป็น นายสนามชนไก่แคราย ร่วม 2 สมัย คือ สมัยแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2522-2523 และต่อมาอีกครั้งก็ใน ปี พ.ศ.2526-2527 พี่ป๊อก ชื่อจริงคือ นายบันเทิง จันทร์วิชิต อายุปัจจุบัน 69 ปี แก่กว่าผู้เขียน 5 ปี เป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามากรุงเทพฯ แต่วัยเด็กที่ชมชอบกีฬาไก่ชน

เริ่มเลี้ยงไก่ชนตั้งแต่อายุ 14-15 ปี มีเพื่อนรุ่นพี่ ชื่อ นิพนธ์ เป็นคนราชบุรี ทำงานรถไฟ ได้บอกให้พี่ป๊อกไปศึกษาดูตำราไก่ชนจากสมุดข่อย  เป็นหนังสือเขียนเล่นหางสมัยก่อน  สมัยรัชกาลที่ 5  เพราะเขียน จปร. ไว้ที่มุมหนังสือ  ที่หอสมุดแห่งชาติ พี่ป๊อกบอกว่าเก่ามากๆ เวลาดูต้องใช้ไม้บรรทัดกดทับไว้ให้เสมอ มีหลายเรื่อง ทั้งเกล็ด และ ขน อันเป็นชาติตระกูลสี

แต่โบราณมาความรู้วิชาการต่างๆ ได้จากในพระราชวัง โดยมีพราหมณ์ปุโรหิต และได้จากในวัด ก่อนบวชต้องเข้าไปศึกษาหาความรู้ จึงจะได้บวชเรียน ต่อมาโรงเรียนต่างๆ ก็จะเป็นโรงเรียนวัด พี่ป๊อกก็จะเลือกดูแต่ที่เด่นๆ และจำไว้ ตอนหลังไปรื้อค้นใหม่เพื่อจะดูอีกก็ไม่มี คงจะเปื่อยเสียหายแล้ว เป็นที่น่าเสียดาย

1.พี่ป๊อก อดีตนายสนามชนไก่แคราย เจ้าของชมรมบางซื่อ
1.พี่ป๊อก อดีตนายสนามชนไก่แคราย เจ้าของชมรมบางซื่อ

การเพาะเลี้ยงไก่ชน

พี่ป๊อกได้ถ่ายทอดให้ผู้เขียน ก็ตั้งใจจะรวบรวมตำราไก่ชนชั้นสูงไว้ต่อไป แม้ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของไก่ชนจากคนรุ่นใหม่ ทั้ง ไก่ชนเดือยประยุกต์ และ ไก่ทางยาว ซึ่งทำให้ตำรับตำราดูจะไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่ แต่ศาสตร์ชั้นสูงของตำราไก่ชนยังคงใช้ได้เสมอ

ในปี พ.ศ.2522 พี่ป๊อกได้เช่าสนามชนไก่แคราย ซึ่งบรรดานักเลงไก่ชนทุกภาคให้ความเชื่อมั่น จนกลายเป็นศูนย์รวมของนักเลงไก่ชนของจริง เซียนไก่ทางภาคใต้ตอนนั้นก็มี ส.ส.บรม ตันเสถียร และเซียนไก่หลากหลายจากจังหวัดชุมพร อันเป็นรอยต่อของภาคใต้ตอนบน คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไก่ชนเมื่อก่อนนี้ ไก่ชนทางยาวเขาชนกัน 12 ยก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชนกัน 10 ยก ช่วงปี พ.ศ.2526 อันเป็นช่วงที่พี่ป๊อกได้เข้ามาบริหารเป็นนายสนามชนไก่แครายอีกครั้งหนึ่ง ทำร่วมกันกับ นายเหิน ลูกน้อง ของ ป.ประตูน้ำ

และมาเลิกอีก พ.ศ.2527 สาเหตุก็เหมือนกันกับครั้งแรก คือ พี่ป๊อกเป็นคนจริง เป็นที่มั่นใจของบรรดาเซียนไก่ชน จึงมีลูกค้ามาก ทำให้เจ้าของสนามขอขึ้นค่าเช่า และครั้งที่สองก็เข้าอีหรอบเดิม ขอขึ้นค่าเช่า เพราะเห็นคนมาก และเป็นยุคของ พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ให้ชนได้เดือนละ 2 ครั้ง เฉพาะเป็นวันอาทิตย์ ค่าใช้จ่ายสูง สู้ไม่ไหว ต้องเลิก ให้ป่าแหวงเจ้าของทำเองแต่นั้นมา

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.วีระลูกตาลฟาร์ม รองบ่อนที่ชมรมบางซื่อ ทำไก่ส่งหลายๆ ฟาร์ม
2.วีระลูกตาลฟาร์ม รองบ่อนที่ชมรมบางซื่อ ทำไก่ส่งหลายๆ ฟาร์ม

จุดอ่อน จุดแข็ง ของไก่ชน

ในช่วงปลายปี พ.ศ.2526  ที่พี่ป๊อกเป็น นายสนามชนไก่แคราย ได้มีไก่เดือยจากจังหวัดชุมพรขึ้นไปชนกับไก่ชนทางยาวของเสี่ยรังสรรค์ เจ้าของร้านเพชรบ้านหม้อ ชื่อ เพชรรังสรรค์ ชนกัน 2 คู่ ก่อนหน้านี้ไก่เดือยของทางภาคใต้ได้ขึ้นไปชนทางยาว กับ ไก่ชนทางภาคกลาง โดยที่ต่อให้ไก่ชนทางภาคกลางตัวโตกว่า แต่ใช้แข้งเป็นอาวุธ  คนใต้จะเรียกไก่ชนภาคกลางว่า ไก่แข้งจนติดปาก แม้ผู้เขียนเองก็เรียกไก่แข้งเหมือนกัน จากจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ไก่แข้งกับไก่เดือยเป็นคู่ชนกันนานมาก

ตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่ของผู้เขียน จึงรู้ จุดอ่อน จุดแข็ง ของไก่ชน ไก่แข้งถือว่า ตีแรง ตีคอหัก จะตีกับท้องแข้งเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีสายที่ตีกับเดือย ครั้งชนเดือยธรรมชาติ ต่อให้ไก่เดือยเปิดเดือยชนได้ นักเลงไก่ชนจากจังหวัดชุมพรเอาไก่เดือยขึ้นไปตีที่กรุงเทพ และ เขตปริมณฑล ได้รับชัยชนะมาโดยตลอด และครั้งนี้เอาชนกันกับเสี่ยรังสรรค์ โดยตกลงกันว่าให้ติดเดือยกันทั้ง 2 ฝ่าย (ภาคกลางเรียกว่า การต่อเดือย) ทางฝ่ายของเสี่ยรังสรรค์ก็สั่งเดือยมาจากทางใต้ให้ลูกน้องติดเดือยให้ ตัวโตกว่า สูงกว่า

พี่ป๊อกบอกว่า ไก่เดือยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ตัวไก่ลำเตี้ย ตัวเล็กกว่า ปรากฏว่าไก่เดือยแพ้ทั้ง 2 ตัว เล่นกันต้องเสีย ทั้งเดิมพัน สร้อย แหวน ของภรรยาไปด้วย ไก่ทั้ง 2 ฝ่าย ตายหลังจากชน แล้วพี่ป๊อกบอกว่าน่าจะเป็นเดือยดองแช่ยาทั้ง 2 ฝ่าย ได้แต่สงสัย เพราะไม่รู้เรื่องเดือย ส.ส.บรม เล่นฝ่ายตัวโตกว่าชนะ และต่อมา ส.ส.บรม ก็เอาไก่ชนภาคกลางเข้ามาผสมกันกับไก่เดือยภายในซุ้ม เป็นไก่เก่งในภาคใต้ คือ ไก่เขียวและสายด่าง ผู้เขียนก็ได้สายด่างของท่านที่ขายโกเต็กมาพัฒนาเป็นไก่สายเก่งของภาคใต้ “แจ้เจ้าหมู” ปี 33 ส.ส.บรม ท่านได้เสียชีวิตคราวสึนามิ

3.พี่ป๊อก พี่วรณ์ ผู้จัดการซุ้มบางซื่อ ที่ยืนข้างหลังกุ๊กมือน้ำประจำทีม
3.พี่ป๊อก พี่วรณ์ ผู้จัดการซุ้มบางซื่อ ที่ยืนข้างหลังกุ๊กมือน้ำประจำทีม

การให้ความรู้ในการเลี้ยงไก่ชน

พี่ป๊อกปัจจุบันเป็นพิธีกรในงานบุญต่างๆ ทั่วประเทศ และที่องค์คณะไปทัวร์ต่างประเทศก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งไก่ชนอันเป็นที่รัก ตั้งแต่เป็นเด็กมาจนถึงปัจจุบันยังคงตั้งซุ้มให้เด็กๆ ได้ซ้อม พูดคุยพบปะกัน อันเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนที่ไม่เคยเงียบเหงา แถมยังให้ความรู้แก่คนรุ่นหลังสำหรับคนที่ใฝ่รู้ แม้วิถีไก่ชนนั้นจะเปลี่ยนไป ผู้เขียนก็ได้ความรู้ สอบถามหลายเรื่องราวของไก่ชนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ในการพุดคุยกับพี่ป๊อก ไว้จะนำมาเขียนในโอกาสต่อไปครับ (ศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไชยา 081-535-8082)

อ้างอิง : นิตยสารเพื่อนไก่ชน