บอนไซ เผยลักษณะและเทคนิค การเลี้ยงบอนไซ แต่ละชนิดจาก เซียนบอนไซคนดัง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การทำบอนไซ และ การเลี้ยงบอนไซ

กระถางต้นไม้ P&U 336x280

ผู้คนเรียกขานกันว่า “บอนไซ” ไม่ใช่ชื่อของต้นไม้อย่างที่ใครๆ เข้าใจผิดกัน แต่เป็นความงดงามของการจำลอง ต้นไม้ใหญ่ลงในกระถางใบเล็ก ต้นไม้แห่งจินตนาการ และความเป็นศิลปะของผู้สร้างที่มีความสำคัญทางด้านจิตใจที่เกิดจากความอดทนในการปลูกเลี้ยง จัดได้ว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ความโดดเด่น และสวยงามกับผู้พบเห็น

กิตติ พ่วงพานทอง นักเล่นบอนไซรุ่นลายคราม คนในวงการบอนไซรุ่นใหญ่แทบทุกคนรู้จักชายผู้นี้ดีว่าเขาคือ ครูน้อย มือบอนไซ ชาวเพชรบุรี ที่ฝีมือหาตัวจับได้ยาก ทีมงาน “ไม้ดอกไม้ประดับ” จะพาทุกท่านไปรู้จักไม้เด่นบอนไซประจำถิ่นเมืองเพชรบุรี พร้อมกับเทคนิค-เกร็ดความรู้ต่างๆ ของน้อย บอนไซ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคนรักบอนไซ และ ชอบ การเลี้ยงบอนไซ ทุกท่าน

1.หมากเล็กหมากน้อยเกาะหิน
1.หมากเล็กหมากน้อยเกาะหิน

 

2.คุณกิตติ-พ่วงพานทอง-นักเล่นบอนไซ-จ.เพชรบุรี
2.คุณกิตติ-พ่วงพานทอง-นักเล่นบอนไซ-จ.เพชรบุรี เผย การเลี้ยงบอนไซ
3.บอนไซเพรมน่า-รากโหย่ง
3.บอนไซเพรมน่า-รากโหย่ง การเลี้ยงบอนไซ

ลักษณะไม้ของการสร้างบอนไซ 

บอนไซ คือ การจำลองต้นไม้ให้เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เราพบเห็นตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ต้นไม้ ที่มีพุ่มกิ่งละเอียด สวยงาม ให้สามารถปลูกในกระถางขนาดเล็ก ต้นไม้เกือบทุกชนิดที่มีใบเล็ก และเป็นไม้ยืนต้น สามารถนำมาทำเป็นบอนไซได้ทั้งสิ้น

ลักษณะไม้ที่ดีของการสร้างบอนไซต้องเป็นไม้ที่คุมใบอยู่ ริดใบได้ เพื่อสร้างรายละเอียด สร้างทรงได้ ถ้าเป็นไม้ที่คุมใบไม่ได้ก็จะกระชับทรงไม่ได้ อย่าง ต้นมะม่วง ต้นมะยม ที่พอแตกใบออกมาแล้วข้อยืด เป็นไม้ที่กระชับทรงไม่ได้ ไม่คอมแพค จึงนำมาสร้างเป็นบอนไซได้ยาก หรือไม่เหมาะจะนำมาสร้างเป็นบอนไซ

ไม้แทบทุกชนิดสามารถนำมาสร้างบอนไซได้ โดยเลือกไม้ที่สามารถ “ควบคุมใบได้” หมายถึงว่า เวลาตัดแล้วไม้ต้องกระชับทรง ตัดแล้วข้อไม่ยืด เพราะบอนไซต้องมีความกระชับ อยู่ทรง แต่ถ้าเป็นไม้ร่มจะลักษณะใบใหญ่ กิ่งยืด เมื่อนำมาสร้างเป็นบอนไซที่เน้นความคอมแพคจึงทำได้ยากกว่า

“ตัวอย่าง ต้นมะยม ก็ทำไม่ได้ เพราะใบมะยมเป็นใบประกอบ กิ่งยืดยาว โบราณเขาก็สอนกันมาว่าต้องเป็นไม้ที่คุมใบได้ถึงจะดี”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ครูน้อยบอกว่า เพียงแค่เราปลูกไม้ลงกระถางขนาดเล็กก็เท่ากับการทำบอนไซแล้ว เพราะเมื่อไม้ถูกจำกัดอาหาร และยังต้องนำอาหารไปเลี้ยงกิ่งก้านแขนงต่างๆ ทั้งต้น ด้วยอาหารที่มีอยู่จำกัด ส่งผลทำให้ใบเล็กลง และถ้าเรานำปุ๋ยไปใส่ ใบก็จะขยายใหญ่ขึ้นกลับกลายเป็นปกติได้

“ถึงแม้ต้นจะสามารถอาศัยอยู่ได้ในกระถางขนาดเล็กที่มีสารอาหารจำกัด แต่ก็ยังต้องดูแลเอาใจใส่ ให้ปุ๋ยบ้าง เราจะให้กินพอสมควร ให้ต้นมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่อยากให้ต้นเล็กแล้วไม่ให้อาหาร แบบนั้นไม่ได้

“อีกประการ คือ การตัดแต่ง มีส่วนให้ไม้เล็กลงด้วยเหมือนกัน” ครูน้อยอธิบายการเลือกไม้มาทำบอนไซ

4.บอนไซมะขาม
4.บอนไซมะขาม

การเพาะเมล็ด-ตอนกิ่ง-ขยายพันธุ์ บอนไซ

ตอนนั้นการเล่นบอนไซของคนในพื้นที่ยังเป็นการขุดไม้จากธรรมชาติมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ แต่ปัจจุบันไม้ป่าที่เคยมีจำนวนลดลงอย่างมาก ถึงขั้นหายาก ทำให้สวนต้องปรับตัวหันมาเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง ในการขยายพันธุ์มากขึ้น เขาเล่าว่า แต่ก่อนยังพอขุดตามท้ายไร่ ท้ายนา ได้ อย่าง ต้นตะโก ต่อไปจะหายากแล้ว

เพราะว่าเดี๋ยวนี้ที่เอาไปทำไร่ ทำนา หมดแล้ว ก็ไถทิ้งกันหมด และแต่ก่อนมีป่ายังพอไปขุดได้บ้าง ถ้าถามว่า..ไม้หายากขึ้น แล้วต้นตอมีราคาแพงขึ้นไหม..?? ครูน้อยกล่าวตอบว่า ตอกลับไม่แพงนะ เพราะตอนนี้คนหันมาปลูกเลี้ยงกันเยอะ มีการตอน เพาะเมล็ด และการขยายพันธุ์ มีการพัฒนาไปมาก พอขยายตอแล้วจึงกลายเป็นว่าต้นตอถูกลงมาเล็กน้อย

แต่ต้องมาดูเรื่องความสวยงามด้วย ถ้าตอสวยมากราคาก็แพงได้ พวกไม้เพาะเมล็ดหรือกิ่งตอนจะหาต้นตอเก่าๆ ยาก ไม่เหมือนไม้ที่มาจากป่า ไม้จากป่าจะเป็นไม้ได้อายุมาแล้ว อย่างไม้ตอนจะไม่ค่อยมีโคนราก รากจะเล็ก เป็นรากแล้วก็ลำต้นเลย ไม่มีโขด หรือโคนรากใหญ่ๆ ต้องใช้เวลาเลี้ยงไปให้เก่า ให้มีอายุอย่างไม้ป่า

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หลังบ้านเราก็จะสร้างตอไว้ ปลูกไม้ไว้ให้ได้ขนาดเราก็เอาขึ้นมาทำ เป็นแหล่งวัตถุดิบ พอเราขุดไม้มาเราก็เลี้ยงไว้ก่อน จนกว่าเขาจะติดดี หรือต้นได้ขนาด เราต้องปลูกสำรองไว้ ถ้าไม่มีสำรองขายแล้วก็หมดไป” ครูน้อยกล่าว

ด้วยความที่มีใจรักในการสร้างบอนไซของครูน้อย ทำให้เขาสร้างบอนไซแต่ละต้นออกมาได้อย่างละเอียด ประณีต  เขาเล่าว่าเมื่อใดที่เขาทำบอนไซจะรู้สึกมีสมาธิ ผ่อนคลาย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เครียด เวลาเกือบทั้งหมดของครูน้อยจึงอยู่กับ การเลี้ยงบอนไซ

การสร้างกิ่งแบบ 1 2 3

เดิมทีหลักการเล่นบอนไซไทยเน้นการสร้างกิ่งแบบ 1 2 3 แต่ละกิ่งมีระบบ เน้นระเบียบกิ่งเป็นสำคัญ แตกต่างจากการเล่นบอนไซของต่างประเทศที่ไม่เน้นระบบกิ่ง 1 2 3 มากนัก เพียงแต่เมื่อเป็นไม้จบต้องได้ทรงพุ่ม มองในภาพรวมแล้วเป็นโครงสร้างแบบไม้ใหญ่เท่านั้น

“ไม้บางต้นก็ไม่จำเป็นต้องไปทำกิ่ง 1 2 3 แต่อย่างไร เราก็ต้องยึดถือกิ่งหลักเอาไว้ อย่าง ไม้ตกกระถาง หรือไม้เอนชาย และไม้ทรงต้นนั้นมีรูปทรงต่างกัน การวางกิ่งหลัก กิ่งรอง ก็แตกต่างกันด้วย ต้องอาศัยการเรียนรู้ และประสบการณ์

“มันเป็นงานศิลปะ เราต้องคิดว่าจะออกแบบอย่างไรให้ดูดี อย่างไม้ถ้ากิ่งมันหาย เราก็ต้องดึงกิ่งบนลงมา เพื่อไม่ให้มันขาด กว่ามันจะกลืนกัน กว่าจะใหญ่ มันต้องใช้เวลา ใช้เวลาไม่พอ ยังต้องใช้ฝีมืออีก แต่มันก็ได้ราคาเหมือนกัน”

5.เทียนทะเล-หนามพรม-เกล็ดปลาหมอ-หมากเล็กหมากน้อย
5.เทียนทะเล-หนามพรม-เกล็ดปลาหมอ-หมากเล็กหมากน้อย

ไม้เด่นประจำถิ่น

ส่วนตัวของครูน้อยสนใจไม้ไทย อย่าง เทียนทะเล หนามพรม ไกร เพรมน่า มะสัง ตะโก มะขาม เกล็ดปลาหมอ และหมากเล็กหมากน้อย มีเกือบทุกอย่างที่เขาเล่นกัน แต่ที่เป็นไม้เด่นประจำถิ่นเมืองเพชรบุรี และเป็นไม้หลักประจำสวน คือ หมากเล็กหมากน้อย หนามพรม และเกล็ดปลาหมอ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เขาเล่าต่อไปว่า สมัยก่อนหากนึกถึงบอนไซเพชรบุรีต้องต้นเกล็ดปลาหมอ ถัดมาหมากเล็กหมากน้อย เนื่องจากเป็นไม้พื้นบ้านประจำท้องถิ่น และไม้พื้นบ้านทั่วไป เช่น มะสัง และตะโก เป็นต้น ไม้ที่ไม่ถูกโฉลกกับเมืองเพชรบุรี คือ ไม้ตระกูลโมก

“ผมสังเกตจากตัวผมนะ คิดว่าโมกน่าจะชอบอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ ชอบชื้นๆ แฉะๆ ผมเห็นเขาปลูกตามริมทางงามเชียว มาอยู่เพชรบุรีนี่ใบเหลืองหมด เวลาอยู่ตามร่องสวน ดินขี้เลน ดินตม กลับงาม แล้วก็อากาศโปร่งๆ แบบนี้ไม่ค่อยชอบ ปลูกตามรั้วนี่ดอกสะพรั่งเชียว” ครูน้อยบอกเล่าประสบการณ์ตรง 

6.บอนไซหมากเล็กหมากน้อยทรงต้น
6. การเลี้ยงบอนไซ หมากเล็กหมากน้อยทรงต้น

ลักษณะ ของ ไม้เด่น แต่ละชนิด

1.หมากเล็กหมากน้อย มีหลายสายพันธุ์ และลักษณะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น มีปุ่มปมที่โคนต้น ให้ความรู้สึกเป็นไม้เก่า บางสายพันธุ์ก็ไม่ค่อยเกิดปุ่มปมนี้ ลักษณะของใบก็ไม่เหมือนกัน บางต้นขอบใบหยัก หยักน้อย หยักมาก ต่างกัน และเท่าที่สังเกตต้นที่ขอบใบหยักมักเกิดปุ่มปมที่โคนและราก

“ต้นนี้เพิ่งได้รางวัลยอดเยี่ยมงานสวนสิริกิติ์ อยู่กับผมมา 7-8 ปี ตั้งแต่ขุดมาจากป่า จุดเด่น คือ ความเก่าของไม้ โคนเก่า ตำแหน่งกิ่ง ไม้เข้าฟอร์มทั้งหมด ราก กิ่ง สมบูรณ์ มาตรฐานทรงต้น หากเป็นไม้ตอนมักจะไม่มีโขด”

หมากเล็กหมากน้อยเกาะหิน เป็นไม้ที่เกาะหินได้สวย เกาะได้ดีกว่าตระกูลไทรเสียอีก เกาะได้แนบเนียนอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างต้นนี้ใช้เวลาทำนานกว่า 10 ปี จึงได้สันรากที่สวย

หมากเล็กหมากน้อยเกาะหิน
หมากเล็กหมากน้อยเกาะหิน

 

ไม้ซากเทียนทะเล
ไม้ซากเทียนทะเล

2.ไม้ซากเทียนทะเล เป็นซากที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ได้นำมาติด จากนั้นก็นำมาแกะสลัก ตกแต่ง และทาสีขาว เพื่อป้องกันเชื้อรา กันน้ำเข้า ถือว่าเป็นการรักษาเนื้อไม้อย่างหนึ่ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“เทียนทะเลนั้นจะเด่นเรื่องไม้ซาก มีข้อได้เปรียบที่ใบมีขนาดเล็ก มีดอก และมีผิวพรรณดูเก่า ได้อายุ”

ไม้ซากหนามพรม
ไม้ซากหนามพรม

3.หนามพรม เป็นไม้พื้นเมืองของเรา พบได้ตามป่า เติบโตขึ้นเป็นกอๆ ละหลายลำ ก่อนตัดเราต้องพิจารณาดูว่าต้องการนำไปสร้างบอนไซแบบไหน เช่น สวนป่า ไม้ซาก เล่นต้น มีทรงการเล่นคล้ายเทียนทะเล แต่ได้เปรียบที่ลีลาไม้ธรรมชาติของหนามพรม มีลักษณะเป็นไม้เถากึ่งไม้เลื้อย ไม้เนื้อแข็ง อายุยืน หนามพรมส่วนใหญ่จึงนิยมเอามาทำเป็นทรงตกกระถาง ทรงเลื้อย แต่ก่อนอื่นควรเลี้ยงให้รากเดินดีก่อน หลังจากขุดมาจากป่าแล้วจึงนำมาจัดให้ได้ลีลาต้น

ลักษณะเด่นของต้นหนามพรม คือ เป็นไม้ที่สามารถเติบโตได้ทุกสภาพอากาศ เลี้ยงง่าย มีดอกและผลทานได้ เป็นไม้ผลัดใบยาก ไม่เหมือนพวกหมากเล็กหมากน้อย ที่ใบจะค่อนข้างแก่เร็ว ผลัดใบครั้งหนึ่งหมดต้น

4.กระเสียว เขาเล่าว่าเป็นไม้ที่สวน อยู่ระหว่างศึกษา ยังจับทางไม่ถูก บางคนเขาเลี้ยงได้จนใบเขียว ใบมันสวย แต่เขาเลี้ยงแล้วใบเหลือง

“ตอนที่เราได้มามีแค่ตอ เป็นไม้กอ แล้วเราก็คัดเลือกบางยอดไว้ บางยอดก็เอามาทำซาก ดูทรงว่าเราชอบแบบไหน จะเอาอันไหนไว้ มันต้องใช้จินตนาการ ไม้ที่ขุดจากป่าไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ มันไม่ได้มาสวยๆ เราต้องมาสร้างเอง”

เผยเทคนิค-เกร็ดความรู้ง่ายๆ ของ การเลี้ยงบอนไซ

ครูน้อยเผยเทคนิค-เกร็ดความรู้ง่ายๆ ของ การเลี้ยงบอนไซ ว่า ถ้าเราเลี้ยงในสถานที่อากาศดีๆ แสงแดดดี อากาศโปร่ง จะไม่มีโรค แต่ไม้ทุกชนิดมีโรคทั้งหมด แต่ว่าเป็นโรคที่จะยอมรับกันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง “บางคนจะบอกว่าหมากเล็กหมากน้อยมักมีโรคประจำตัวเป็นหูด แต่จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับการเลี้ยง ถ้าอยู่ในร่ม หรือที่ชื้นๆ จะเป็นเยอะ มันเป็นโรคชนิดนึ่ง”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เขายกตัวอย่าง การปลูกเลี้ยงเทียนทะเลว่าจะไม่ใช้ดินในการปลูก ที่นิยม คือ ใช้ขุยมะพร้าวล้วน ขุยมะพร้าวผสมทราย หรือถ้าใครมีทุนดีก็หินภูเขาไฟผสมพีทมอส ข้อดีของพีทมอส คือ มีความทนทาน ไม่เป็นเชื้อรา และอุ้มน้ำได้ดี นิยมนำมาเป็นเครื่องปลูกในการเพาะเมล็ดร่วมกับหินภูเขาไฟ มีคุณสมบัติช่วยให้วัสดุปลูกโปร่ง มีความชื้นสูง แต่ไม่แฉะ “แต่ก่อนเทียนทะเลเลี้ยงยาก ปัจจุบันเลี้ยงกันได้ดีขึ้น แต่ถ้าได้อยู่ใกล้ไอทะเลก็จะดี ไม้จะงามกว่า”

7.บอนไซมะนาวเทศทรงต้น
7.  การเลี้ยงบอนไซ บอนไซ มะนาวเทศทรงต้น

การใส่ปุ๋ย-อาหารเสริมให้ บอนไซ

“บอนไซถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนคนเรานั่นแหละ กินแต่ข้าวทุกวันมันก็เบื่อ บางวันก็อยากกินก๋วยเตี๋ยวบ้าง ต้นไม้เหมือนกัน ก็ต้องมีปุ๋ย มีอะไรบ้าง ปุ๋ยเคมีบ้าง ปุ๋ยคอกบ้าง อาหารเสริมบ้าง นานๆ ให้สักครั้งหนึ่ง ถ้าให้บ่อยๆ ก็งามเกิน ก็จะกลายเป็นคนอ้วน” ครูน้อยให้ข้อคิดการให้ปุ๋ยบอนไซ

การตัดแต่งริดใบ ครูน้อยแนะนำว่า ควรใช้กรรไกรตัด เพราะว่าการใช้มือเด็ด หรือใช้มีด อาจทำให้กิ่งฉีก และอาจไปถูกตากิ่งเสียหายได้ ครูน้อยอธิบายพร้อมยกตัวอย่างว่า มีไม้บางชนิดห้ามริดใบหมดทั้งต้น ตัวอย่าง ต้นมะนาวเทศ และเทียนทะเล เพราะถ้าริดใบออกทั้งหมดไม้จะทิ้งกิ่ง เพราะฉะนั้นต้องริดแบบเอาปลายใบไว้

8.บอนไซ การเลี้ยงบอนไซ
8.บอนไซ การเลี้ยงบอนไซ

มองสถานการณ์บอนไซเป็นอย่างไรบ้าง..?

ตลาดบอนไซในมุมองของเจ้าของสวนมองว่า ตอนนี้ก็ไม่ค่อยฟู่ฟ่าเท่าไหร่ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะต้นไม้ไม่ใช่สิ่งของจำเป็น ถ้าเศรษฐกิจดีๆ เขาก็ซื้อไปเป็นของฝากกัน

 “แต่บางคนไม่กล้าซื้อไม้พื้นฐานดีๆ ถ้าคนซื้อไม้เป็นนี่เขาจะยอมเสียแพง เพื่อให้ได้ไม้พื้นฐานดีๆ พอเบื่อแล้วยังสามารถขายออกไปได้ หรือบางคนซื้อไม้รากฐานไม่ดีมา พอไปเจอของดี ของเก่าก็ทิ้งไปหมด เพราะมารู้ว่าไม้แบบนี้ทำยังไงก็สวยยาก มันขึ้นอยู่กับว่าเราดูเป็นแค่ไหน เราชอบแบบไหน แล้วพื้นฐานมันมายังไง ตรงนี้มันต้องมาจากประสบการณ์ด้วย มีส่วนเหมือนกัน สำคัญมากๆ ไม้บางต้นคนที่ไม่เคยเล่นจะดูไม่ออกเลยว่ามันมายังไง” ครูน้อยให้ข้อคิดการเลือกซื้อบอนไซ

พร้อมกับฝากถึงมือใหม่ที่อยากลองเข้ามาสัมผัสวงการบอนไซว่า การสร้าง การเลี้ยงบอนไซ ก็เหมือนคนวาดภาพ ถ้าไม่เคยวาด วาดออกมาก็ไม่สวย วาดได้สวยยาก เพราะไม่มีพื้นฐาน คือ คนจะเล่นบอนไซต้องมีพื้นฐานบ้าง พื้นฐานนี้ต้องเกิดจากการเรียนรู้ และลงมือทำ ต้องเห็นของจริง ต้องใช้เวลา บางต้นทำจบแล้วมันไม่สวยก็ต้องยอมตัดทิ้งนะ เสียเวลาตั้งกี่ปี แต่ก็ยอมตัดทิ้ง ทำใหม่ให้มันสวยให้ได้ เปรียบเทียบมันก็คืองานศิลปะนั่นเอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณข้อมูล : กิตติ พ่วงพานทอง (น้อย บอนไซ) 17/1 ซอยเจตน์จำลอง ถ.บริพัตร ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี 76000 โทรศัพท์ 08-1613-2590