การทำนาปรังในพื้นที่ภาคกลางเจอสารพัดปัญหาถาโถมเข้าใส่ชาวนามาตลอด จนรัฐต้องอุ้มให้อยู่รอดด้วยสารพัดนโยบาย แต่วันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ต้องแบกหนี้หลังแอ่น เพราะต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำกว่าชาวนาในหลายๆ ประเทศ
การปลูกข้าว
แต่ชาวนาไทยส่วนน้อยได้พัฒนาฝีมือ ปลูกข้าว นาปรัง จนมีกำไร คุ้มค่าต่อการลงทุน เช่น คุณพยนต์ โพธิ์พันธ์ ได้ใช้ประสบการณ์ปลูกข้าวของตน เช่า ที่นา ของนายทุน ร่วม 200 ไร่ หลายแปลงใน อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็น ดินเหนียว และมีน้ำตลอดปี เหมาะแก่การปลูกข้าว
ปัญหาที่เขาเจอ ก็คือ ข้าวดีด ข้าวเด้ง หรือ ข้าววัชพืช ที่คอยแย่งปุ๋ยจากข้าวจริง จนผลผลิตตกต่ำ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว เขาจึงได้ทดลองนำ จุลินทรีย์ มาใช้ เพราะนาบางแปลง 7 ไร่ เจอข้าวดีด ได้ผลผลิตประมาณ 60 ถัง เท่านั้น
การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง
เป้าหมายในการใช้จุลินทรีย์ ต้องการแค่สลายตอซังเพื่อลดการเผาตามนโยบายของรัฐ แต่ปรากฎว่าจุลินทรีย์ไปย่อยเม็ดหญ้าบางชนิด และเมล็ด ข้าวดีด ข้าวเด้ง ด้วย จนหญ้าและข้าวดีดลดลงถึง 60%
นาข้าว 7 ไร่ ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังไปเพียง 4 ซองเล็ก หรือใช้ไปทั้งหมด 200 กรัม เท่านั้น
วิธีการใช้ด้วยการขึ้นน้ำจนท่วมตอซัง แล้วฉีดจุลินทรีย์ 5 วัน จากนั้นก็นำรถมาตี อีก 5 วันต่อมา ก็ใช้รถเล็กทำเทือก “เราฉีดไปแล้ว 5 วัน แล้วตีกลับหน้าดิน อีก 5 วัน ไม่ได้ขาดน้ำ ก็ใช้รถเล็กจิ้มเลย แล้วทำเทือก แต่เที่ยวนี้ต้องเอายาช่วยด้วย ต้องใช้ส่วนประกอบหลายอย่าง ก็คือ หว่านข้าว 2 วัน ฉีดยาคุมเลนไปได้ 6 วัน ก็ไล่น้ำ เพราะข้าวดีดมันจะขึ้นทีหลัง” คุณพยนต์ เปิดเผยถึงแนวทางการประยุกต์ใช้
พันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ กข85 เป็นข้าวพื้นนุ่มที่ผู้ซื้อต้องการ โดยการหว่านหลังจากเตรียมแปลงนาครบ 15 วัน
ข้าวที่ปลูกไปแล้ว 50 กว่าวัน ปรากฏว่าหญ้ากอหายไป ข้าวดีดลดลงประมาณ 60% นั้น ก็ฉีดจุลินทรีย์ได้ 2 ครั้ง “เราขึ้นน้ำเร็วขึ้น พอเมล็ดข้าวดีดขึ้นมา โดนยาตัวนี้มันจะเบาลง เพราะข้าวดีดมันงอกช้ากว่าข้าวจริง แต่พอข้าวดีดสุก แค่โดนลมก็ร่วงแล้ว ไปอยู่ที่พื้นเยอะ 1 รวง ประมาณ 100 กว่าเมล็ด ยาจึงช่วยได้เยอะ” คุณพยนต์ ยืนยันถึงประสิทธิภาพของจุลินทรีย์
การเตรียมดิน
อย่างไรก็ดี การเตรียมดินเพื่อหว่านข้าว ลดปัญหา ข้าวดีด ข้าวเด้ง และไม่เผาตอซัง โดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย เป็นเรื่องใหญ่ที่คุณพยนต์ให้ความสำคัญมาก เช่น การเตรียมดินด้วยการไถตาก อาจทำให้เมล็ดข้าวดีดฝ่อ เพราะเมื่อจมูกข้าวถูกความร้อนทำงานมันอาจไม่งอกเป็นต้นก็ได้ แต่ดินจะต้องแห้งจริงๆ ซึ่งการเตรียมดินก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการลงทุน
แม้แต่การทำเทือก ซึ่งต้องใช้น้ำมาก จะเห็นเมล็ดข้าวดีดที่เน่าๆ ลอยน้ำไปอยู่ข้างคันนาตรงกัน ถ้ามีเมล็ดข้าวดีดที่มีจมูกข้าวขาวๆ อยู่ หากฝังอยู่ใต้ดิน พอเตรียมดินมันจะกลับมาใหม่ ดังนั้นคุณพยนต์จึงต้องวิดน้ำเข้าแล้วฉีดยาคุม 5 วัน ก็เติมน้ำเข้า อีก 5 วัน ก็ตีกลับหน้าดิน เอาข้างล่างขึ้นมาข้างบน อีก 5 วัน จึงทำเทือก ล้วนแล้วแต่แสวงหาข้อมูลและประสบการณ์จากการลงทุนทำจริง
แม้แต่พันธุ์ข้าวอายุสั้นที่ชาวนาฮิตแรกๆ โรงสีต้องการ คุณพยนต์ไม่คลั่งตามกระแส “ของผมหลายแปลงข้าวอายุไว ดูไม่ทัน 20 วัน ใส่ปุ๋ย 35 วัน ใส่ปุ๋ย พอไล่น้ำแปลงโน้นกลับมาแปลงนี้มันเลยอายุ เราจึงต้องทำ กข85 ที่โรงสีต้องการ และถ้าพันธุ์ 54 หรือ 51 อายุไว โรงสีจะตัดเกวียนละ 300 บาท หรือ 500 บาท” คุณพยนต์ เปิดเผยถึงเหตุผลในการปลูก กข85
การใส่ปุ๋ยอินทรีย์
อย่างไรก็ดี อาหารพืช หรือปุ๋ยเคมี จำเป็นต้องใช้ เช่น สูตร 18-8-8 เพื่อเร่งการเติบโต ใส่ 30-35 กก./ไร่ หลังหว่าน 20 วัน ข้าวแตกกอไว คุมหญ้าได้ดี และพอข้าวกำลังจะออกรวงก็ใส่สูตร 16-20-0 ราคาปุ๋ยกลางๆ ใส่ 2 ครั้งก็พอ แต่ชาวนาบางคนใส่ 3 ครั้ง เพื่อให้ได้ข้าวไร่ละเกวียนกว่าๆ
แม้จะใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง แต่คุณพยนต์ก็ต้องเสริมด้วยฮอร์โมน เช่น ปุ๋ยเกล็ด เป็นต้น เพื่อให้ข้าวสมบูรณ์นั่นเอง เช่นเดียวกับการฉีดยากันหนอนและเชื้อรา ซึ่งจำเป็นมากๆ ยิ่งอากาศแปรปรวนไว ยาเป็นสิ่งจำเป็น
เนื่องจากบางแปลง ดินเปรี้ยว คุณพยนต์ได้นำ ปุ๋ยอินทรีย์ ซิลิคอนสูง ของ เกษตรนำโชค มาทดลอง และจะทราบผลเร็วๆ นี้
เมื่อถามว่าชาวนาจะผิดพลาดช่วงไหน คุณพยนต์ฟันธง “โดยมากจะพลาดช่วงข้าวตั้งท้อง ซึ่งเราแก้ตัวไม่ได้แล้ว เดี๋ยวเจอราหลุม ช่วงข้าว 45 วันไปแล้ว ข้าวไม่ออกรวง ข้าวเจอไวรัส”
ดังนั้นชาวนาจะต้องขยันตรวจแปลงนาบ่อยๆ เพราะโรค แมลง มันเยอะ จำเป็นต้องฉีดยาป้องกัน แม้วันนี้การพ่นปุ๋ยหรือยา ชาวนาหันมาใช้ โดรน มากขึ้น แต่สภาพที่นาหลายที่ใช้โดรนไม่ได้ เพราะกระทบต่อการปลูกพืชปลอดสาร คุณพยนต์ได้ใช้ รถพ่นยาแบบกางแขน ค่าจ้างไร่ละ 50 บาท ฉีดได้ไว และกระจายทั่วถึง
รายได้จากการปลูกข้าว
เนื่องจากคุณพยนต์เป็นชาวนาหัวก้าวหน้า เช่านาไร่ละ 1,000 บาท/ปี เป็นสมาชิก สหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรีจำกัด บางแปลง 50 ไร่ ลงทุนครอปละแสนกว่าบาท แต่รายได้สามแสนกว่าบาท เพราะเก่งการจัดการต้นทุน และไม่ได้จ้างใคร ดูแลด้วยตัวเองตลอด ดังนั้นเขาจึงกล้าทำสัญญาเช่า 10 ปี “เขาไม่เอาที่คืน เราก็ทำต่อได้ เขามีกิจการส่วนตัว และเราทำมานาน ที่ค่าเช่าไม่แพง เพราะเดิมเป็นสวนส้มเก่า เราต้องเสียค่ากลบเอง” คุณพยนต์ เปิดเผย ดังนั้นการทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง จึงคุ้มค่า
เมื่อรัฐคอยลงโทษชาวนาที่เผาฟาง คุณพยนต์เปิดให้คนมาซื้อฟาง โดยการอัดก้อน มีรายได้ก้อนละ 3 บาท ดังนั้นเรื่องการเผาฟาง ชาวนาไม่กลัวๆ ข้าวดีด มากกว่า เพราะมันแก้ปัญหายากมาก
ต้องการข้อมูลลึกๆ เรื่องสร้างกำไรจากการทำนาปรัง ติดต่อ คุณพยนต์ โทร.084-1110991