เผยเคล็ดลับรวย จากเซียน ไร่อ้อย เมืองขอนแก่น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“อ้อย”  คือ พืชไร่ที่เกษตรกรภาคอีสานยึดเป็นอาชีพหลัก ถึงแม้ส่วนใหญ่ตอนนี้จะมีการปลูกยาง ลุกลามเหมือน “ไฟลามทุ่ง” เข้าภาคอีสานอยู่ไม่น้อย!!! แต่ “อ้อย” ก็ยังเป็นพืชไร่หลักๆ ของคนในอำเภอกระนวนอยู่

จากที่ผู้เขียนเป็นคนภูมิลำเนาแถวนั้น เติบโตมากับภาพไร่อ้อยติดตามาตั้งแต่เด็กๆ ยามเมื่อคราหน้าหนาวจะเห็นดอกอ้อยที่ปลิวสะบัดตามสายลม ซึ่งทำให้หวนนึกถึงบ้านซะแล้ว!!!

ทีมงานนิตยสารพืชพลังงานได้บุกเข้าพื้นที่ภาคอีสานสู่เมืองขอน!!! เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าค้นพบซากไดโนเสาร์ จึงต้องเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มากในช่วง 100 ปีก่อน

ชื่อจังหวัดขอนแก่น นครขอนแก่น หรือจะเป็นเมืองขอน หลากหลายชื่อทีเดียวสำหรับเมืองนี้ ต้องบอกว่าเมืองขอนแก่นในช่วงเวลา 2-3 ปี จนถึงบัดนี้ ความเจริญรุ่งเรืองถือว่าเป็นไปได้ดี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับคนต่างชาติ ถ้าไปขอนแก่นแล้วไม่ได้ไปไหว้พระธาตุขามแก่น เหมือนกับไปไม่ถึงขอนแก่น เพราะเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ก็คือ โปงลาง หรือหมอลำ ถ้าอาหารก็คงจะเป็นไก่ย่างเขาสวนกวาง ที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง หรือตามคำบอกเล่าบ้าง

1.ไร่อ้อย
1.ไร่อ้อย

อย่างไรก็ตามถึงจะมีความเจริญเข้ามามาก แต่อาชีพของกษตรกรเมืองขอนแก่นในแถบชนบทยังยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การทำนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ปลูกยาง หรือจะเป็นอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม วันนี้ทีมงานนิตยสารพืชพลังงานจะขอยกตัวอย่างเกษตรกรผู้หนึ่งที่ทำไร่อ้อย และประสบผลสำเร็จมานานกว่า 30 ปี ในอำเภอกระนวน จากตัวเมืองขอนแก่นถึงอำเภอกระนวนก็เกือบ 70 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางชั่วโมงกว่าๆ ก็เดินทางถึงที่หมายปลายทาง

นั่นก็คือ บ้านหัวนาคำ อำเภอกระนวน จากสภาพพื้นที่ของบ้านหัวนาคำ ตามถนนสองข้างทางมีการปลูกยาง อ้อย มัน ตามรายทางเกือบทั้งหมด มีการทำเกษตรมากมาย ถือเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมมากพอสมควร และทีมงานก็ได้มารู้จักกับเซียนของการทำ ไร่อ้อย มีไร่อ้อยกว่า 300 ไร่ มีทั้งไร่มัน และยางพารา แต่อ้อยก็ยังเป็นอาชีพหลักๆ ที่ทำอยู่

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.พ่อหนู-ทับเจริญ-เกษตรกรปลูกอ้อยมา-30-ปี-จ.ขอนแก่น
2.พ่อหนู-ทับเจริญ-เกษตรกรปลูกอ้อยมา-30-ปี-จ.ขอนแก่น

พ่อหนู ทับเจริญ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อใหญ่หนู” คือ เกษตรกรทำไร่อ้อยตัวจริง ทำมานานกว่า 30 ปี แต่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้ต้องผ่านปัญหา และอุปสรรค มาไม่น้อย ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน พ่อหนูได้เคยทำไร่มัน ไร่อ้อย เป็นคนที่ทำเกษตรเก่ง และมีฝีมือ จึงมีคนจีนมาเอาตัวไปทำ ไร่อ้อย ไร่มัน ด้วย

โดยให้ช่วยในเรื่องรับซื้ออ้อย เพราะเถ้าแก่เป็นเจ้าของโรงงานรับซื้ออ้อยรายย่อย โดยรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรที่นำมาขายแล้วไปขายส่งโรงงานอีกครั้งหนึ่ง พ่อหนูอยู่กับเถ้าแก่คนนี้เกือบ 8 ปี เมื่อเวลาผ่านไปจึงได้มีเถ้าแก่อีกคนหนึ่งได้เห็นความสามารถในเรื่องการทำ ไร่อ้อย และเป็นคนดี

จึงชวนพ่อหนูไปทำงานด้วย และให้ทำเกี่ยวกับการประกอบกระบะรถยนต์ และทำไร่อ้อยด้วย เมื่อทำมาเรื่อยๆ มีเงินเก็บ จึงได้ซื้อที่ดินเก็บไว้จำนวนหนึ่ง ตอนนั้นซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 100 บาท และได้อยู่กับเถ้าแก่คนนี้ ฝึกฝนตนเอง เก็บเกี่ยวประสบการณ์กว่า 20 ปี

3.พื้นที่การปลูกอ้อย ไร่อ้อย
3.พื้นที่การปลูกอ้อย ไร่อ้อย

สภาพพื้นที่ปลูกอ้อย

พ่อหนูยังเคยมีอาชีพทำไร่ปอมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้หันเหมาทำ ไร่อ้อย และย้ายมาอยู่กับแฟน ซึ่งแฟนเป็นคนมีฐานะในระดับหนึ่ง และบวกกับความสามารถในการทำไร่อ้อยของพ่อหนูด้วย จึงทำให้การทำไร่อ้อยดียิ่งขึ้น จากที่มีไร่อ้อยเพียงเล็กน้อย จึงเริ่มขยับขยายทำไร่มันสำปะหลัง และยางพารา มาเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จ

ได้เริ่มทำไร่อ้อยอย่างจริงจังประมาณ 30 กว่าปี ได้เงินจากไร่อ้อยครั้งแรก คือ 30,000 บาท จากไร่อ้อยทั้งหมด 2 แปลง และต่อมาก็ได้เพิ่มเป็น 60,000 บาท ในช่วงปีนั้นต้องบอกได้เลยว่าเป็นจำนวนที่เยอะพอสมควร จากนั้นก็เริ่มมีพื้นที่มากขึ้นโดยได้ซื้อไว้ช่วงที่ทำงานกับเถ้าแก่

เมื่อมีพื้นที่การทำไร่มากขึ้น ทำกับครอบครัวไม่ไหว จำเป็นจะต้องจ้างคนงานมาช่วย ด้วยความที่ตนเองเคยลำบากมาก่อน จึงเห็นใจลูกน้อง จึงไม่คิดเอาเปรียบลูกน้อง รวมทั้งยังมีลูกชาย และลูกสาว เป็นเสาหลักช่วยทำไร่อีกทาง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ลูกสาวเขาก็ออกบ้านไปแล้ว พ่อก็แบ่งที่ทางให้ 100 ไร่ เอาไปทำไร่หากินตามประสาเขา แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งนะ ก็ยังมาดูพ่ออยู่เรื่อยๆ ช่วยทำไร่อยู่บ้าง ลูกชายก็ยังมาช่วยทำอยู่ เขาก็มีรถสิบล้อเองแล้วล่ะ แต่ก็เหลือลูกชายนี่ล่ะ ถึงจะแต่งงานไปแล้วก็ยังต้องมาช่วยทำไร่อยู่ เพราะเราก็เริ่มจะทำไม่ไหว ตอนนี้อายุก็ 66 ปีแล้ว แต่พ่อก็ยังพอทำได้ ไม่เหนื่อยนะ ยังทำได้อยู่”

4.แม่สุบรรณ-จิตไธสง-ลูกน้องผู้ที่ทำไร่กับพ่อหนูมากกว่า-10-ปี
4.แม่สุบรรณ-จิตไธสง-ลูกน้องผู้ที่ทำไร่กับพ่อหนูมากกว่า-10-ปี

การบริหารบุคลากร              

สำหรับการจ้างลูกน้องทำงานของพ่อหนู จะทำแบบครอบครัว คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีลูกน้องที่ทำมาด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่น ด้วยความที่พ่อหนูเป็นคนที่มีความเห็นใจลูกน้อง จึงทำให้ลูกน้องรัก และทำไร่อ้อยกับพ่อหนูหลายครอบครัว

วันนี้ทีมงานจะยกตัวอย่างลูกน้องที่ทำไร่อ้อยกับพ่อหนูมานานกว่า 10 ปี คือ แม่สุบรรณ จิตไธสง หรือ แม่บัน เป็นลูกน้องที่ทำ ไร่อ้อย ไร่มัน และทำนา ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลไหนก็จะมาช่วย และทำกับพ่อหนูอยู่เรื่อยๆ ตอนนี้ได้ทำนาอยู่ประมาณ 14 ไร่ โดยการทำแล้วเมื่อได้ผลผลิตก็แบ่งข้าวกัน

แต่พ่อหนูคนนี้ไม่เคยเอาเปรียบลูกน้อง จะให้ลูกน้องเยอะกว่าเสมอ เมื่อลำบากก็ช่วยเหลืออยู่เสมอ แม่สุบรรณก็เปรียบเสมือนเป็นลูกสาวของพ่อหนูอีกคน “เพราะเราไม่เคยเอาเปรียบลูกน้อง เมื่อเขาลำบากเรื่องเงินๆ ทองๆ เขาก็มาเอาที่เรา เราก็ให้เขา โดยที่ไม่ได้คิดดอกเบี้ย และบอกเขาว่ามีเมื่อไหร่ค่อยเอามาคืน”

5.รถไถใหญ่ใช้มานานกว่า-10-ปี
5.รถไถใหญ่ใช้มานานกว่า-10-ปี

ขั้นตอนการปลูกอ้อย

สำหรับวิธีการปลูกอ้อยตามแบบของพ่อหนู คือ ใช้รถไถยกร่อง และใช้คนงานแบกอ้อยแล้ววางตามร่อง จากนั้นใช้มีดสับลำอ้อยให้เป็นท่อนๆ ละประมาณ 50-60 ซม. และใส่ปุ๋ยตามลงไป จากนั้นจึงไถกลบ การปลูกอ้อยของพ่อหนูเป็นวิธีแบบพื้นบ้าน ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรมากมายนัก

การปลูกอ้อยตามแบบพ่อหนูจะปลูกและตัดเพียงตอเดียวเท่านั้น เพราะไม่คุ้มค่า พ่อหนูจึงให้เหตุผลว่า “มันไม่คุ้มค่านะ เพราะเราต้องซื้อแปลงอ้อยจากคนอื่นด้วย และมีการดูแลพื้นที่เยอะ จึงทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง เพราะมัวแต่ไปดูแต่อ้อยที่ซื้อมากลัวขาดทุน ลืมมาดูอ้อยตอที่เป็นของเราเอง พ่อหนูเลยตัดสินใจทำตอเดียวดีกว่า ถึงแม้จะต้องเหนื่อย แต่ผลที่ได้คุ้มค่ากว่านะ”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อก่อนการไถแปลงอ้อย มัน หรือไม่ว่าจะเป็นการทำนา ต้องใช้ “ควาย” ในการไถแปลง เพราะยังไม่มีรถไถ หรือ “ควายเหล็ก”  เข้ามาช่วยทุ่นแรง ทุนซื้อก็ยังมีไม่พอ ต้องบอกว่าการทำไร่อ้อยในช่วงนั้นลำบากมาก เพราะไม่มีเครื่องทุ่นแรงมาใช้ ต่างจากตอนนี้ที่มีรถไถ รถคีบอ้อย เข้ามาช่วยเยอะพอสมควร

6.ปุ๋ยที่ใช้ในไร่อ้อย
6.ปุ๋ยที่ใช้ในไร่อ้อย

การใส่ปุ๋ยและน้ำให้ต้นอ้อย

ปุ๋ยที่ใช้ในไร่ คือ ปุ๋ยท็อปวัน สูตร 22-5-18 และสูตร 27-16-6 ซึ่งพ่อหนูให้เหตุผลว่า “ปุ๋ยที่ใช้ในไร่ก็ใช้อันนี้ล่ะทั้งหมด ใช้ได้เยอะ และราคาก็ไม่ค่อยแพงเท่าไหร่ เราก็ดูแลอ้อยตามประสาชาวบ้านนี่แหละ แต่ก็ได้ผลผลิตดีนะ เพราะเราเอาใจใส่ และมีเวลาดูแลอย่างเต็มที่”

ช่วงที่พักแปลง หรือไม่มีการปลูก จะเป็นการบำรุงดิน จะนำเอา “ขี้อ้อย” มาเทในแปลงเพื่อเป็นการบำรุงดินสำหรับปลูกฤดูกาลต่อไป หรือบางปีอาจจะเป็นปุ๋ยคอกนำมาหว่านในแปลง แล้วแต่ว่าปีไหนมีปุ๋ยแบบไหน การบำรุงดินจะต้องบำรุงอยู่บ่อยๆ เพราะเมื่อปลูกอ้อยไปในแต่ฤดูกาล ธาตุอาหารก็หมดไป

การดายหญ้าก็จะเป็นอยู่ 2 ช่วง เมื่อหญ้าในแปลงเยอะ คนดายไม่ได้ ก็จะใช้ควายเข้าไปไถ เพราะถ้าอ้อยโตแล้วจะเอารถไถเข้าแปลงไม่ได้ แต่ถ้าหญ้าไม่เยอะ และต้นอ้อยยังไม่สูงเกินไป ก็สามารถใช้แรงงานคนได้ ช่วงที่ 2 จะเป็นการดายครั้งสุดท้าย จากนั้นก็จะปล่อยไว้ และให้อ้อยเจริญเติบโตเอง อาศัยน้ำจากธรรมชาติ คือ ฝน ถ้าปีไหนแล้งจริงๆ ก็ต้องยอมรับสภาพที่เป็นไป แต่ถ้าปีไหนฝนดี ผลผลิตก็ได้ดี

การทำไร่อ้อยในแถบนั้นเป็นการทำไร่ที่อาศัยน้ำตามธรรมชาติเกือบทั้งหมด เพราะทางภาคอีสานฝนดี น้ำดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีตลอดทุกปี มีแล้งบ้างสลับกันไป ไม่ได้ทำอ้อยก็ยังมีอาชีพอื่น ทำอยู่เรื่อยๆ ไม่ถึงกับขาดแคลน แต่ก็ไม่ถึงกับมีแบบหวือหวา อยู่กันได้ทุกฤดูกาล

7.รถคีบอ้อยของพ่อหนู
7.รถคีบอ้อยของพ่อหนู

การตัดอ้อย

สำหรับการตัดอ้อยเมื่อปีที่ผ่านมาได้ 3,000 ตัน/ปี ทั้งส่งอ้อยสดกับโรงงาน และตัดส่งโควตา ช่วงนั้นราคาอยู่ที่ตันละ 1,300 บาท ก็ถือว่ายังได้ในราคาที่ดีพอสมควร แต่ปีนี้ยังไม่ถึงช่วงฤดูกาลตัด ต้องรออีกสักระยะ รายได้จาการทำไร่อ้อยแต่ละปีเฉลี่ยรายได้อยู่ที่ 3 ล้านบาท/ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ต้นทุนการทำไร่อ้อยแต่ละปี สำหรับค่าปุ๋ยอยู่ที่ 3 แสนบาท/ปี และค่าแรงงาน ทั้งจ้างรถขนอ้อย ค่าคนขับรถคีบอ้อย ประมาณ 4-5 แสนบาท เป็นข้อมูลที่คิดตามประสาชาวบ้าน อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ จึงไม่ได้มีการจดบันทึกสักเท่าไหร่ รวมๆ ต้นทุนใน 1 ปี ก็เกือบๆ ล้านบาท แต่นำมาหักลบกับรายได้ก็เยอะพอสมควร

ตอนนี้อุปกรณ์ในการทำไร่ก็มีพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถคีบอ้อย 1 คัน รถสิบล้อขนอ้อย 2 คัน และรถขนส่งคนงานอีก 1 คัน แม้จะเป็นเพียงแค่ชาวบ้านที่มีความรู้ในเรื่องทฤษฎีน้อย แต่ในทางปฏิบัตินั้นต้องยอมรับในฝีมือการทำไร่อ้อยของพ่อหนู เพราะต้องเป็นหลักให้ลูกๆ คอยบอก คอยสอน การทำงาน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง พ่อหนูจะบอกกับลูกเสมอๆ ว่า “ห้ามคิดว่าตัวเองมีเงินแล้วจะทำยังไงกับลูกน้องก็ได้ เขาทำงานให้เรา เขาก็เหนื่อยไม่ต่างจากเราที่ผ่านมา”

เมื่อมีพื้นที่การทำไร่เยอะ พื้นที่บางแปลงก็ปลูกอ้อยไม่ค่อยได้  จึงได้แบ่งให้ลูกชายปลูกยาง 70 ไร่ เพื่อเป็นอาชีพระยะยาว ปลูกไว้จะได้มีอาชีพเสริมอีกทาง เผื่อต่อไปในอนาคตจะได้ทำเป็นหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังไม่ให้ทิ้ง ไร่อ้อย  เพราะครอบครัวอยู่ได้ มีกิน มีใช้ ทุกวันนี้ก็เพราะ ไร่อ้อย จะทิ้งไม่ได้ พ่อหนูให้เหตุผล

8.รถสิบล้อขนอ้อยส่งโรงงาน
8.รถสิบล้อขนอ้อยส่งโรงงาน

รายได้จาก ไร่อ้อย

เมื่อมีรายได้เยอะ บวกกับอายุที่มากขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องหาที่พักกายและใจ พ่อหนูจึงได้มีการนำเอารายได้ส่วนหนึ่งมาสร้างวัดซึ่งอยู่ในป่า และเป็นพื้นที่ของพ่อหนูเอง เพื่อเป็นแหล่งรวมใจของชาวบ้าน ได้มาทำบุญในวันสำคัญต่างๆ นี่จึงเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากการทำไร่ และดำรงชีวิตตามแบบชาวบ้าน อย่างเป็นสุข

นี่คงเป็นสิ่งที่สามารถชี้ชัดได้แล้วว่าอาชีพเกษตรกรรมยังคงเป็นอาชีพหลักๆ ของชาวบ้านในแถบภาคอีสาน ถึงแม้การปลูกยางจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าการทำไร่อ้อยจะลดน้อยลงแต่อย่างใด อย่างที่ทีมงานได้เกริ่นไว้ข้างต้น

ขอขอบคุณ พ่อหนู  ทับเจริญ ที่อยู่ 106 ม.9 บ้านหัวนาคำ ต.หัวนาคำ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น 40170 โทร.09-3535-2119

โฆษณา
AP Chemical Thailand