นวัตกรรม…ธุรกิจ หมูหลุม รวยทั้งชาวหมู & ชาวสวน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

พอเอ่ยชื่อ “ หมูหลุม ” คนไทยเข้าใจว่าเลี้ยงในหลุมที่สกปรกด้วย เยี่ยว และขี้ พร้อมทั้งแมลงวันบินยั๊วเยี๊ยะเต็มหลุม

หมูหลุม คือ หมูที่เลี้ยงโดยระบบเกษตรธรรมชาติ ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย จึงขุดหลุมลึก 1.5-2 เมตร เป็นคอก โดยใช้วัสดุรองพื้นหลุม ซึ่งเป็นแนวทางจากเกาหลีนั่นเอง

1.คุณสุพจน์ และ คุณแพง สิงห์โตศรี
1.คุณสุพจน์ และ คุณแพง สิงห์โตศรี

การเลี้ยงหมูหลุม

ปัจจุบันการเลี้ยงหมูหลุมในไทย ไม่จำเป็นต้องขุดหลุมลึก เลี้ยงบนพื้นดินที่มีวัสดุรองพื้นก็พอแล้ว ท่ามกลางกระแสหมูหลุมที่เกิดขึ้น ก็มีสัตวบาลประจำ NK FARM นาม สุพจน์ สิงห์โตศรี ผู้มองเห็นจุดอ่อนของ “หมูฟาร์ม” หรือหมูเคมี ทั้งในเรื่อง ต้นทุน และตลาดผู้บริโภค จึงตัดสินใจลาออกมาเลี้ยงหมูหลุมที่หมู่ 11 ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อปี 2549 จนกระทั่งศักราช 2565 หมูหลุม ในเครือข่ายของเขาเติบโต เป็นธุรกิจครบวงจร ถักทอเป็นเส้นใยไปหลายจังหวัด

หมูหลุมอินทรีย์ ถูกพัฒนาตั้งแต่ “พันธุกรรม” รูปแบบการเลี้ยง อาหาร และการจัดการ เป็นต้น ที่เน้น “ธรรมชาติ” เป็นหลัก พอขุนโตได้ไซซ์ 100-140 /กก. ก็นำไปเข้าโรงเชือดมาตรฐานของเอกชน โดยแยกชิ้นส่วนแต่ละชนิด ตั้งราคาขายปลีก และขายส่ง ที่สูงกว่าตลาด ผลก็คือ ผู้บริโภคติดใจในรสชาติ ที่ล้ำกว่าหมูฟาร์ม หรือหมูเคมี ทั้งหลาย

เกิดขบวนการเพาะเลี้ยงหมูในราชบุรี ในรูป กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มี คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี เป็นผู้นำทางธุรกิจ และใช้ฟาร์มของตนทำธุรกิจกลางและปลายน้ำ ภายใต้แบรนด์ GPO ผลิตภัณฑ์หลายชนิดถูกวางในโมเดิร์นเทรด เช่น เลมอนฟาร์ม เป็นต้น

2.โรงเรือนการเลี้ยงหมูขุน
2.โรงเรือนการเลี้ยงหมูขุน

สภาพพื้นที่เลี้ยงหมู

27 พฤศจิกายน 2565 คุณสุพจน์ได้เปิดใจถึงเส้นทางธุรกิจหมูหลุมว่า “เราตั้งใจทำหมูที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ วันนี้มีการเลี้ยงหมูตามใจคนเลี้ยง ซึ่งขัดหลักธรรมชาติ เราจึงต้องเลี้ยงหมูตามใจหมู”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ดังนั้นการสร้าง “คอก” ให้เหมาะสม เช่น ใช้วัสดุรองพื้นให้ใกล้เคียงธรรมชาติ จึงจำเป็นมากที่สุด

คำว่า “ธรรมชาติ” ของการเลี้ยงหมู คือ ไม่ใช้ยาทุกชนิด แม้แต่ “วัคซีน” ก็ไม่ใช้ เป้าหมายเพื่อให้หมูมี “ภูมิคุ้มกัน” โรคตามธรรมชาตินั่นเอง

ที่สำคัญการเลี้ยงหมูหลุม นอกจากจะคุ้มค่าแก่การลงทุนแล้ว จะต้องปลอดกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวัน และไม่มีน้ำเสีย ทำให้ฟาร์มหมูหลุมเป็นมิตรกับชุมชนนั่นเอง

คำว่า “คุ้มค่า” แก่การลงทุน นั่นคือ คุณสุพจน์ได้ทำหมู 2 สาย ลาร์จไวท์ กับ แลนด์เรซ ผสมกัน ได้ลูกตัวเมียก็นำไปผสมกับพ่อ ดูร็อค มาผสม เมื่อได้ลูกก็นำมาเลี้ยงเป็น “หมูขุน” ซึ่งมี “มัน” แทรกในเนื้อเพียง 5% ทำให้ตลาดต้องการมาก ขายได้ราคา หมูเป็น กก.ละ 108 บาท แต่ต้นทุนการเลี้ยงเพียง 8,000 บาท/ตัว ค่าอาหารเพียงตัวละ 4,000 บาท เท่านั้น แม้ราคาหมูเป็นจะลงถึง กก.ละ 100 บาท อีก 2 ปี ก็ยังมีกำไร

3.หมูขุนมีความแข็งแรง และอารมณ์ดี
3.หมูขุนมีความแข็งแรง และอารมณ์ดี

การบำรุงดูแลหมู

ในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ดังกล่าว ใช้ ผสมเทียม เท่านั้น ซึ่งหมูแต่ละตัวจะมีพันธุ์ประวัติ (เพดดีกรี) ทั้ง พันธุ์แท้ และลูกผสม เพื่อผสมพันธุ์ให้ได้ลูกหมูตามที่ต้องการ ทั้ง หมูพันธุ์ และหมูขุน จึงสรุปได้ว่า คุณสุพจน์ใช้วิชาการพัฒนาพันธุ์หมูฟาร์มมาใช้กับพันธุ์หมูหลุม เพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจนั่นเอง

เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนา  “อาหารหมู”  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก หากซื้ออาหารจากบริษัท ขาดทุนแน่นอน  ดังนั้นคุณสุพจน์จึงหาความรู้ในการคิด “สูตรอาหาร” โดยใช้วัตถุดิบหลายชนิด ได้แก่ รำข้าว กากถั่วเหลือง ถั่วอบ และ น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ซึ่ง หมูพันธุ์ 2-3 สายเลือด มีสูตรอาหารที่แตกต่างกันชัดเจน โดยใช้เครื่องผสมขนาด 300 กก. เป็นอาหารผง ที่พร้อมจะนำไปใช้กับหยวกกล้วย ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ผมมีประสบการณ์เรื่องผสมอาหารสัตว์อยู่แล้ว ทุกสัปดาห์สมาชิกต้องมาช่วยผสมอาหาร โดยออกสูตรอาหารให้ และแต่ละบ้านก็ทำต้นกล้วยอยู่แล้ว ก็เอาอาหารไปผสม” คุณสุพจน์ เปิดเผย และยืนยันว่า เครื่องหั่นหยวกกล้วยจำเป็นต้องมีทุกคน หากไม่มีเงินก็กู้ ธกส. ได้ บางรายก็กู้จาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ แล้วผ่อนชำระเป็นรายปีก็มี นอกจากนี้คุณสุพจน์ยังได้ทำ อาหารหมัก สูตรต่างๆ ให้หมูกิน 50% ผสมผสานกับอาหารผงอีก 50%

4.ภายในเล้าคลอด ไม่ได้ใช้ไฟกกลูกหมู
4.ภายในเล้าคลอด ไม่ได้ใช้ไฟกกลูกหมู

การอนุบาลลูกหมู

สำหรับ “คอก” เพื่อการเลี้ยงหมูหลุมนั้น คุณสุพจน์ได้ออกแบบโดยขุดหลุมลึก 60-90 ซม. ปูพื้นด้วย ใบไม้แห้ง ขยะแห้ง ขี้เลื่อย หรือแกลบ ดินแดง 1 กระสอบ เกลือทะเล 0.5 กก. ไอเอ็มโอ3 1 กระสอบ ไอเอ็มโอ2+น้ำหมักผลไม้+น้ำตาลทรายแดง อย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 10 ลิตร โดยให้วัสดุทั้งหมดหนา 30 ซม. และโรยด้วยแกลบหนา 1 ฝ่ามือ ทิ้งไว้ 7 วัน จึงนำลูกหมูลงเลี้ยง ซึ่งหมูที่เลี้ยงแบบนี้ “กีบ” จะไม่แตก เหมือนพื้นปูน จึงไม่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด และพื้นปูน หมูต้องยืนเกร็ง  ต้องใช้กล้ามเนื้อขามาก เมื่อฆ่าแล้วเอาขาไปต้มต้องใช้เวลากว่าจะเปื่อย ต่างจากหมูหลุมที่ต้มแป๊บเดียวเปื่อยแล้ว

จึงเห็นได้ว่าทั้ง สายพันธุ์ การออกแบบคอก ให้เลี้ยงได้ 3-4 ตารางเมตร/ตัว และสูตรอาหารล้วนแตกต่างจากหมูฟาร์มโดยสิ้นเชิง แต่ผลผลิตได้สูงกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และเห็น “กำไร” มากกว่า ระยะหลังคุณสุพจน์ทำคอกแบบไม่ขุดหลุม แต่ก่อผนังแล้วรองพื้นด้วยวัสดุ ซึ่งได้ผลดีกว่า

แม้แต่การกก “ลูกหมู” ก็ไม่ได้ใช้ไฟฟ้ากก แต่ใช้ แกลบ ทำให้ต้นทุนลดลงโดยปริยาย นอกจากนี้ได้ผลิตน้ำหมักจุลินทรีย์ (ราขาว) ฉีดพ่นคอกทุกสัปดาห์ ย่อยสลายขี้ และวัสดุ ป้องกันหมูติดโรคอีกด้วย

แต่คนเลี้ยงหมูหลุมทุกคน คุณสุพจน์ยืนยันว่า จะต้องตกผลึกเรื่องความเข้าใจการเลี้ยง หรือการจัดการฟาร์ม ซึ่งเป็น “ต้นทุน” ที่สำคัญ เพราะถ้าผิดพลาด ขาดทุนได้เหมือนกัน

5.การฉีดพ่นฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
5.การฉีดพ่นฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

การบริหารจัดการฟาร์มหมู

นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบต้นทุนทุกตัวตลอดเวลา เช่น เวลานี้แกลบแพงมาก ก็ได้ใช้ กาบมะพร้าวสับ จากโรงงานอุตสาหกรรมมะพร้าวที่บ้านแพ้วมาทดแทน โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องซื้อมะพร้าวน้ำหอมของชาวสวน ที่ใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ จากฟาร์มหมูหลุมของกลุ่มเท่านั้น ปรากฏว่าข้อตกลงนี้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ มูลค่าสูง เป็นธุรกิจแบบ แชริ่งอีโคโนมี ที่โลกหันมาสนับสนุน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปรากฏว่า กาบมะพร้าวสับ ซึ่งมี สารแทนนิน มีประโยชน์ต่อหมูโดยตรง และย่อยสลายเร็ว เพราะจุลินทรีย์จากขี้หมูกลายเป็นปุ๋ยได้ไว ปรากฏว่าแม่หมู 1 ตัว ผลิตปุ๋ย 6-8 ตัน/ปี ขุดปุ๋ยออกจากคอกปีละ 3 รอบ ซึ่งฟาร์มคุณสุพจน์เลี้ยงหมู ปี 65 ทั้งหมด 1,780 ตัว แบ่งเป็นพ่อแม่หมู 80 ตัว ลูกหมู 200 ตัว และ หมูขุน 1,500 ตัว

และปี 66 ได้วางแผนการผลิตพ่อแม่หมู 20 ตัว ทั้งลูกหมู/หมูขุน ของฟาร์ม และเครือข่าย 2,000 ตัว/ปี ปุ๋ยจากแม่หมู 1 ตัว สามารถเอาเงินมาซื้อวัตถุดิบอาหารหมูได้ทั้งปี และแม่ออกลูกเฉลี่ย 20 ตัว/ปี คือ กำไรล้วนๆ ดังนั้นแม่หมู 4 ปี ได้ 10 ท้อง น้ำหนักแม่ 300 กก. ราคาตัวละ 27,000 บาท ขายแล้วซื้อหมูสาวได้หลายตัว มาเลี้ยงเป็นแม่หมูต่อไป “แม่หมู” คือ ทรัพย์สิน ที่มีค่าเวลานี้

6.การแพ็คหมูหลุมแต่ละชื้นส่วนก่อนนำไปแช่ฟรีซ
6.การแพ็คหมูหลุมแต่ละชื้นส่วนก่อนนำไปแช่ฟรีซ

การจำหน่าย เนื้อหมู ชิ้นส่วนหมู และผลิตภัณฑ์ต่างๆ

เป็นอันว่าธุรกิจหมูหลุม ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ คือ แม่หมู ลูกหมู และ หมูขุน ล้วนมีราคา แต่สำหรับคุณสุพจน์ต้องนำหมูขุนเข้าโรงฆ่าเพื่อนำ ชิ้นส่วน 31 ชนิด ให้กลายเป็นเงิน เพราะทุกชิ้นส่วน คือ หมูอินทรีย์ ปลอดยา หรือสารเคมี ต่างๆ กลายเป็น “หมูพรีเมียม” ของผู้บริโภค ที่เน้นเรื่องสุขภาพ มิหนำซ้ำ “รสชาติ” ยังอร่อย ถูกใจ

ที่ต้องเข้าธุรกิจกลางน้ำ เพราะภรรยามีความเชี่ยวชาญทางด้านการตัดแต่งเนื้อหมู โดยเฉพาะการคอนโทรลคุณภาพเนื้อและชิ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นหมูชำแหละ เข้าห้องเย็นเพื่อส่งตลาด

แรกๆ  ส่งหมูเป็นเข้าโรงเชือดเอกชนที่มาตรฐานในจังหวัดวันละไม่กี่ตัว  ปรากฏว่าตลาดต้องการมากขึ้น  ทั้งๆ ที่คุณ สุพจน์ตั้งราคา เนื้อหมู ชิ้นส่วน และ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สันนอก สันใน สันคอ และ สะโพก เป็นต้น สูงกว่าราคาตลาด ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และวันนี้ปลายปี 65 ราคาหมูฟาร์มเท่าราคาหมูหลุม ทำให้คุณสุพจน์ต้องขยับราคาให้สูงกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นข้อแตกต่าง

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล คุณสุพจน์ได้ผลักดันให้มีคนเลี้ยง โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงแล้วขาดทุน เพราะไม่รู้เรื่องพันธุ์ เรื่องการผสมเทียม และทำคลอดไม่เป็น แต่เลี้ยงแล้วไม่มีกลิ่นเหม็น คุณสุพจน์จึงศึกษาธุรกิจหมูขุน โดยนำองค์ความรู้ที่อยู่ NK ฟาร์ม มาประยุกต์ใช้ แล้วถ่ายทอดให้คนที่ต้องการเลี้ยงได้ 12 คน เมื่อปี 49 ก่อตั้งเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ ดอนแร่ อีก 2 ปี ได้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูหลุมตำบลดอนแร่” ภายใต้การสนับสนุนจากปศุสัตว์ จังหวัดราชบุรี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปรากฏว่า สมาชิกหลายร้อยคน วันนี้ได้เรียนรู้เรื่องพันธุกรรม การผสมเทียม การทำคลอด การผลิตอาหารสัตว์ การจัดการฟาร์ม การทำเพดดีกรี และการทำตลาด พูดง่ายๆ ว่าเรียนรู้ธุรกิจหมูหลุมครบวงจร

7.เปิดฟาร์มให้ผู้สนใจเข้าอบรมและดูงาน
7.เปิดฟาร์มให้ผู้สนใจเข้าอบรมและดูงาน

ด้านตลาด เนื้อหมู และชิ้นส่วนหมู

เมื่อการเลี้ยงหมูมากขึ้น ภายใต้การประกันราคาให้สมาชิก จำเป็นที่จะต้องเปิดตลาด เนื้อหมู และชิ้นส่วน ให้มากขึ้น คุณสุพจน์เล็งผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีประชากรประมาณ 20,000 คน ถ้าเปิดได้ 20 กก./คน/ปี ต้องมีหมูเข้าโรงเชือดไม่เกิน 2,000 ตัว/ปี สมาชิกบางคนกลายเป็นเซลล์ขาย สัปดาห์ละ 4-5 ตัว ขณะเดียวกันก็เปิดเขียงหมูในตลาดชุมชน และตลาดในตัวเมืองราชบุรี แม้ไม่มี GAP รองรับ แต่คุณภาพหมูเป็นจุดขาย ทำให้ตลาดโต เพราะผู้บริโภคเชื่อมั่น เพราะเป็นฟาร์ม หมูหลุม มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เป็นฟาร์มแรกของประเทศ และสมาชิกกลุ่มก็เลี้ยงภายใต้มาตรฐานของฟาร์ม

ด้วยกระแสผ่านสื่อ และปากต่อปาก ทำให้ LOGO ของหมูหลุม G.PORK ทั้ง เนื้อ ชิ้นส่วน และ ผลิตภัณฑ์ 31 รายการ เข้าถึงโมเดิร์นเทรดในกรุงเทพ “เมื่อก่อนยอดขาย 1-2 ล้าน/ปี ตอนนี้ 10 ล้าน/ปี เฉพาะเลมอนฟาร์ม 5-6 ล้าน/ปี เราทำ ไส้อั่ว กุนเชียง และ หมูแดดเดียว ผลิตไม่ทัน ต้องเพิ่มคน” คุณสุพจน์ ยืนยันถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และลูกค้าต้องสั่งล่วงหน้า 7 วัน แม้ราคาแพงกว่าตลาดทั่วไปถึง 30% ก็ไม่พอต่อออเดอร์ และหมูขุนเลี้ยงเพียง 4 เดือน น้ำหนัก 100 กก. ก็ต้องส่งโรงฆ่าแล้ว เพราะต้องเอาใจลูกค้า โดยเฉพาะขาประจำ

ฉบับหน้าโปรดติดตามความแตกต่างทางธุรกิจ ระหว่าง หมูหลุม กับ หมูฟาร์ม และประสบการณ์จากนักศึกษาฝึกงานในฟาร์ม จะทำให้คนในวงการตาสว่างขึ้น ส่วนใครต้องการอบรมธุรกิจหมูหลุม โทร.081-857-3593

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 356