จังหวัดกาญจนบุรีมีแม่น้ำสายใหญ่ที่ล่อเลี้ยงคนทั้งจังหวัด เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อการทำเกษตรกรรม ทั้งปลูกผัก ทำสวน หรือแม้แต่การเลี้ยงปลากระชัง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำ จึงมีเกษตรกรหลายท่านทำการเกษตรใกล้ๆ แม่น้ำ และวางกระชังปลาในแม่น้ำเพื่อเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด
แต่ปลาที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด คือ “ปลาทับทิม” เรียกว่าหากมาเมืองกาญเมื่อใดต้องหาซื้อปลาทับทิมกระชังกลับไปทุกที ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ปลาเนื้อแน่น สีสวย และที่สำคัญ คือ ไม่มีกลิ่นสาบโคน เหมือนปลาบ่อนั่นเอง
ปลาทับทิมเป็นปลาที่นิยมเลี้ยง เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีสัน และให้เนื้อค่อนข้างมาก มีรสชาติเหมือนปลานิล เลี้ยงง่าย อัตราการเติบโตสูง ราคาในตลาดค่อนข้างคงที่ และมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในร้านอาหาร และตามโรงแรม หรือภัตตาคาร
ปลาทับทิม เป็นที่นิยมของตลาดทั่วไป
ปลาทับทิมเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลานิล ที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับปลานิลแดงของต่างประเทศที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน จนได้ปลาทับทิมพันธุ์แท้ที่มีรูปร่างลักษณะเฉพาะตัว มีคุณภาพของเนื้อที่หวาน นุ่ม และมีสีสวยงาม การพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ปลาทับทิมจนได้สายพันธุ์มีคุณภาพเนื้อปลาสูง
ทำให้ลดความด้อยในสีเดิมของปลานิลแดงพ่อแม่พันธุ์ คือ สีกระที่มีสีดำเจือปน จนเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่มีสีแดงอมชมพู หรือมีสีเหลืองอ่อน มีครีบเป็นสีแดง เนื้อและผนังช่องท้องเป็นสีขาว มีลำตัวหนา ทำให้มีเนื้อมาก และมีส่วนหัวเล็ก นอกจากนี้ยังมีสีผิวของปลาทับทิมที่เด่นชัดกว่าปลานิลแดง และมีคุณภาพของเนื้อปลาที่มีความหวาน และนุ่มกว่า
รูปแบบการเลี้ยงที่นิยมกันมากจะเป็นการเลี้ยงในกระชัง จะแบ่งออกตามแหล่งน้ำ คือ การเลี้ยงในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จะเป็นลักษณะการเลี้ยงในกระชังเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ปลาอยู่ในพื้นที่เลี้ยง ขนาดความลึกของน้ำไม่ควรต่ำกว่า 5 เมตร มีค่าความขุ่นใสไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร และอีกแบบที่จะพูดถึง คือ การเลี้ยงในแม่น้ำ แม่น้ำควรมีน้ำไหลตลอดฤดูกาลเลี้ยง หากเป็นพื้นที่ใกล้ปากอ่าวควรให้กระชังห่างจากปากอ่าวมากที่สุด อย่างน้อย 20 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงความเค็ม หรือคุณภาพมากเกินไป
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจึงลงพื้นที่พูดคุยกับพี่บัว หรือคุณธัญชนก เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ที่ผันตัวเองจากพนักงานออฟฟิศ ใช้ชีวิตในเมืองหลวง หันมาเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังลอยน้ำ ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์บริเวณแม่น้ำแควน้อย
คุณบัวกล่าวกับทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำว่า พื้นเพเดิมทีตนเป็นคนกรุงเทพ แน่นอนว่าเมื่อเรียนจบมาก็ต้องทำงานในเมืองใหญ่เพราะใกล้บ้าน แต่เมื่อนานวันเข้าตนและครอบครัวเริ่มเบื่อชีวิตในเมืองหลวง ประจวบกับลูกๆ โตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว ตนจึงมองหาอาชีพอื่นที่สามารถสร้างรายได้เทียบเท่ากับงานประจำที่ตนทำอยู่ จนกระทั่งเห็นญาติตนเองทำอาชีพ ลี้ยงปลาทับทิมกระชัง ที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งขณะนั้นตนมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง เนื่องจากตลาดปลาทับทิมค่อนข้างกว้าง
จุดเริ่มต้นการ เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง
ด้วยเหตุนี้ตนจึงเริ่มศึกษาวิธีการเลี้ยง การดูแล การให้อาหาร รวมถึงตลาดที่จะส่งขาย ขณะนั้นใช้เวลาศึกษากระบวนการเลี้ยงปลาทับทิมคุณภาพประมาณครึ่งปี จึงเริ่มทดลอง เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง ครั้งแรกโดยการเช่าที่ดินติดแม่น้ำ จากนั้นทำกระชัง และปล่อยปลาครั้งแรกประมาณ 20 กระชัง หรือ 2 หมื่นกว่าตัว
เริ่มเลี้ยงตั้งแต่การอนุบาลปลา การคัดรุ่นปลา การให้อาหาร การดูแลความสะอาดของกระชัง การดูแลป้องกันโรค ซึ่งคุณบัวยอมรับว่าการที่เราเพิ่งเลี้ยงครั้งแรกมันต้องอดทน ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเอง เพราะปัญหามีให้แก้ทุกวัน ดังนั้นในเมื่อเราตั้งใจที่จะ เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง แล้ว เราต้องใช้ความอดทนในการดูแลปลา เพื่อผลิตปลาให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการให้ได้มากที่สุด
จากวันนั้นถึงตอนนี้คุณบัวได้ขยายกระชังปลาเพิ่มขึ้นเป็น 40 กระชัง ในระยะเวลา 5 ปี จากความรู้ ความเข้าใจ ที่ได้ข้อมูลมาจากญาติพี่น้อง ประสบการณ์ของตนเองที่สะสมมา ส่งผลให้ปัจจุบันตนสามารถเลี้ยงปลาทับทิมจนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย
การคัดเลือกลูกพันธุ์ปลาทับทิม
ส่วนขั้นตอนการ เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง บริเวณแม่น้ำนั้น คุณบัวบอกว่าไม่มีอะไรยุ่งยาก และไม่แตกต่างจากการเลี้ยงในเขื่อน สำคัญอยู่ที่การคัดเลือกลูกพันธุ์ที่ดี ลูกพันธุ์ที่แข็งแรงเป็นอันดับหนึ่ง ลักษณะลูกพันธุ์ที่เลือกจะต้องรูปทรงสวย ไม่พิการ ว่ายน้ำตลอด ไม่เอื่อย เพราะลูกพันธุ์ที่แข็งแรงจะส่งผลให้อัตราการรอดจนถึงเวลาจับขายสูง
โดยคุณบัวจะใช้ลูกพันธุ์ของ ป.พันธุ์ปลา เป็นหลัก เมื่อได้ลูกพันธุ์มาแล้วจะนำมาอนุบาลในกระชังประมาณ 1 เดือน เพื่อดูความแข็งแรงของปลา และให้ปลาปรับสภาพสำหรับเลี้ยงในกระชัง หลังจากนั้นจะเริ่มคัดขนาดปลาโดยใช้ตาข่ายคัดขนาด แยกปลาลงแต่ละกระชังตามขนาดตัวที่ใกล้เคียงกัน ก่อนจะแยกออกไปยังกระชังเลี้ยงภายหลัง เมื่อได้ขนาดปลาตามที่ต้องการแล้วจะนำลูกปลาลงกระชังเลี้ยงประมาณ 1,500-1,600 ตัว ขึ้นอยู่กับอัตราการรอดของลูกพันธุ์ที่อนุบาลไว้
การให้อาหารปลาทับทิม
หลังจากนั้นให้อาหารวันละ 3 มื้อ คือ 8 โมงเช้า 11 โมง และช่วงเย็น ประมาณ 4 โมง ที่ให้อาหารหลายมื้อเนื่องจากส่วนหนึ่งสามารถขนกระสอบอาหารไปยังกระชังง่าย อีกทั้งปลาที่เลี้ยงเป็นปลาแม่น้ำที่น้ำไหลตลอดเวลา ทำให้ไม่มีการหมักหมมของเสียภายในกระชัง อีกทั้งอาหารบางส่วนอาจจะลอยออกนอกกระชังไป
ดังนั้นคุณบัวจึงต้องให้อาหารปลาบ่อยครั้ง เพื่อให้ปลากินอิ่ม ปลาอ้วนสมบูรณ์ หลังจากเลี้ยงไปได้ประมาณ 4 เดือน ก็จะเริ่มจับปลาออกขายได้
ด้านตลาดและการจำหน่ายปลาทับทิม
ในช่วงแรกทางฟาร์มจับปลาส่งขายให้กับพ่อค้าในพื้นที่ และบริษัทอาหารปลาเรื่อยมา แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตนได้พบเจอกับคุณเจมส์ และคุณปลา เจ้าของฟาร์มกระชังปลาทับทิม “พีเจ ฟาร์ม” เขื่อนกระเสียว ที่ฟาร์มจำหน่ายลูกพันธุ์ปลา จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเลี้ยงปลา จนทราบว่าคุณเจมส์รับซื้อปลาจากฟาร์มต่างๆ เพื่อส่งให้กับลูกค้า
อีกทั้งพีเจ ฟาร์ม ยังดูแลลูกฟาร์มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกลูกปลาคุณภาพ ให้ความรู้ถึงวิธีการเลี้ยงปลา การดูแลรักษาโรค หรือบางครั้งหากลูกฟาร์มมีปัญหาเรื่องปลาเป็นโรคค่อนข้างมาก ทางพีเจ ฟาร์ม จะส่งหมอมาช่วยตรวจดูแล รวมถึงอาหารปลายี่ห้อต่างๆ ที่ทางพีเจ ฟาร์ม ช่วยดูแล ด้วยเหตุนี้คุณบัวจึงสนใจเข้าร่วมกลุ่มเป็นลูกฟาร์มของพีเจ ฟาร์ม เพื่อผลิตปลาคุณภาพป้อนให้กับพีเจ ฟาร์ม ต่อไป
การบริหารจัดการปลาทับทิม
โรคที่พบในการเลี้ยงปลากระชังแม่น้ำที่คุณบัวมักเจอส่วนใหญ่จะเป็นปรสิต จำพวกหนอนสมอ ปลิงใส เห็บระฆัง มักพบบ่อย โดยเฉพาะเวลาฝนตกหนักแล้วเกิดน้ำขุ่น เมื่อน้ำเริ่มใสก็จะเห็นอาการของปลาที่ไม่ดี ว่ายน้ำไม่ปกติ ไม่กินอาหาร ต้องรีบแก้โดยการผสมยาคลุกเคล้ากับอาหารให้กิน หรือสาดเกลือลงไปเพื่อช่วยฆ่าปรสิต แต่โดยรวมมักไม่ค่อยเจอในการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ เพราะน้ำไหลเวียนอยู่เสมอ
การดูแลการเลี้ยง ทางฟาร์มจะมีการจัดการไปในทางเดียวกับ พีเจ ฟาร์ม มีการป้องกันนกด้วยการใช้ตาข่ายคลุมกระชัง ทำการฉีดล้างทำความสะอาดกระชังทุกครั้งหลังจับปลาเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในการเลี้ยงในรุ่นต่อไป
ฝากถึงเกษตรที่สนใจ เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง
สุดท้ายนี้คุณบัวได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “อาชีพ เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง เกษตรกรต้องสนใจ ใส่ใจ ดูแลปลาของตนให้แข็งแรง สมบูรณ์ อยู่เสมอ เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาดูแลเลี้ยงดูครอบครัวของเรา ดังนั้นเรื่องคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”
หากเกษตรกรท่านใดสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณแม่น้ำ สามารถติดต่อได้ที่ คุณธัญชนก น้อยนาง เบอร์โทรศัพท์ 086-413-1369 หรือคุณเพิ่มพล อสุวพงษ์พัฒนา (คุณเจมส์) จากพีเจ ฟาร์ม เบอร์โทรศัพท์ 084-158-4545