กว่า 3 ทศวรรษ “บุญรอดฟาร์ม” จากฟาร์ม เป็ดไข่ สู่การแปรรูปส่งขายตลาดออนไลน์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กว่า 3 ทศวรรษ “บุญรอดฟาร์ม” จากฟาร์ม เป็ดไข่ สู่การแปรรูปส่งขายตลาดออนไลน์ หากพูดถึง “ไข่” ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะไข่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามิน และยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน หากเปรียบเทียบคุณค่าทางอาหาร ระหว่างไข่ไก่ และไข่เป็ด ไข่เป็ดถือว่ามีคอเลสเตอรอล โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ สูงกว่าไข่ไก่ นอกจากนี้ไข่เป็ดก็มีเปลือกที่แข็งกว่า และมีอายุการเก็บที่ยาวนานกว่า ซึ่งแตกต่างจากไข่ไก่ที่มีเปลือกที่บอบบาง และแตกง่าย

คอกเป็ดต้องสะอาด ไม่แฉะเกินไป
คอกเป็ดต้องสะอาด ไม่แฉะเกินไป

จุดเริ่มต้นการเลี้ยง เป็ดไข่

นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพามารู้จักกับฟาร์ม เป็ดไข่ ครบวงจร ย่านบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่มีการดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปี “บุญรอดฟาร์ม” บริหารจัดการโดย คุณวรวรรณี พุ่มกุมาร หรือที่คนแถวนั้นเรียกกันว่า “เจ้หมวย” และในปัจจุบันมีลูกสาว (คุณใหม่) เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจด้วยกัน

1.คุณวรวรรณี พุ่มกุมาร เจ้าของบุญรอดฟาร์ม
1.คุณวรวรรณี พุ่มกุมาร เจ้าของบุญรอดฟาร์ม

เจ้หมวยเล่าให้ฟังว่า เดิมตนเป็นลูกชาวนา สวนผัก สวนผลไม้ และเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ อยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ได้ดูแลจัดการเองทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงนำผลผลิตที่ได้ไปขายเองที่ตลาดปทุมธานี ต่อมาในปี 2534 ได้แต่งงานกับ คุณบุญรอด พุ่มกุมาร เป็นเกษตรกรชาวบางเลน เนื่องจากทั้งคู่มีอาชีพเกษตรกรเหมือนกัน หลังจากแต่งงานจึงได้มาเลี้ยงเป็ดไข่อย่างเต็มตัว

“เพราะครอบครัวคุณบุญรอดเลิกทำกิจการ เลยโอนกิจการมาให้เราทำแทน ตอนนั้นเริ่มต้นเลี้ยงเป็ดครั้งแรก 4,000 ตัว อาศัยความรู้ที่ติดตัวมา ทำให้การเลี้ยงเป็ดไข่ดำเนินไปด้วยดี เก็บไข่ได้วันละ 3,800 กว่าฟอง ถือว่าให้ผลผลิตสูงมาก ส่วนเรื่องการตลาดไม่มีปัญหา เพราะลูกค้าจากตลาดปทุมธานีมารับซื้อถึงที่ตลอดเวลาเช่นกัน” เจ้หมวยย้อนอดีตให้ฟัง

ต่อมาเจ้หมวยก็ได้ขยายการเลี้ยงเป็ดมาเรื่อยๆ เพราะมีตลาดรองรับ  ตลอดกระทั่งปัจจุบันบุญรอดฟาร์มมีทั้งหมด 11 โรงเรือน มี เป็ดไข่ 70,000 ตัว อัตราการให้ไข่อยู่ที่ 70% ประมาณ 50,000 ฟอง/วัน แต่ในช่วงพีคอัตราการให้ไข่จะอยู่ที่ 94% แล้วจึงลดลงมาเรื่อยๆ ตามอายุเป็ด ส่วนไข่เป็ดทั้งหมดจะนำเข้าโรงคัดไข่ และนำไปจำหน่ายไข่เป็ดที่นำมาจำหน่ายเป็นไข่จากบุญรอดฟาร์มทั้งหมด

โดยคุณใหม่ได้ให้เหตุผลที่ไม่รับซื้อไข่จากข้างนอกว่า “ก็เคยรับไข่จากข้างนอกแล้วมันทำให้เราควบคุมเรื่องคุณภาพยาก เพราะบางครั้งมันมีไข่เช็ดน้ำปนมาด้วย เราก็ต้องมาคัดอีก ทำให้เราต้องทำงานหลายรอบ เพราะการล้างไข่ด้วยน้ำเปล่านั้นจะทำให้ไข่เป็ดเสียเร็วขึ้น เมื่อลูกค้านำมาดองไข่มันจะเสีย”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากนี้ทางบุญรอดฟาร์มไม่ได้ขายแค่ไข่สดเพียงอย่างเดียว แต่มี ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า และไข่แดงเค็ม ขายอีกด้วย และไม่ได้มีขายแค่ที่หน้าร้านอย่างเดียว ได้ส่งขายต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯ และลูกค้ายังสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทางเฟสบุ๊ค “บุญรอดฟาร์ม” และอีกช่องทางสั่งผ่านแอพ Shopee ชื่อร้านว่า “maii588”

2.การนำไข่เป็ดไปต้ม
2.การนำไข่เป็ดไปต้ม

วิธีการทำไข่เค็ม ฉบับบุญรอดฟาร์ม

แต่เดิมวิธีทำไข่เค็มของคุณหมวย คือ ต้มน้ำเกลือเข้มข้นแล้วแช่ไข่ไว้ 20 วัน โดยจะใช้เกลือทะเล 20 กิโลกรัม หรือให้ความเข้มข้นของความเค็มมากจนไข่ลอยอยู่ครึ่งลูก หลังจากนั้นช้อนฟองออกให้หมด นำไปใส่โอ่งจนเย็น จากนั้นนำไข่เป็ดลงภาชนะแล้วเทน้ำเกลือจนท่วม ทิ้งไว้ 20 วัน นำไข่ไปล้าง และไปต้ม แต่ไข่เค็มที่แช่น้ำเกลือจะเก็บได้ไม่นาน เพราะภายในเนื้อไข่จะแฉะ ซึ่งทำให้ไข่เสียเร็ว ทำให้เจ้หมวยต้องเปลี่ยนวิธีการทำไข่เค็มใหม่

จากวิธีเดิมที่แช่น้ำเกลือ เจ้หมวยได้เปลี่ยนมาเป็นการพอกด้วยดินจากนาเกลือ ซึ่งจะทำให้เนื้อไข่เค็มแห้งและมีอายุการจัดเก็บได้นานกว่า เริ่มจากการนำดินมาเคล้าเกลือป่น 1 กระสอบ กับดิน 1 กระสอบ ผสมน้ำแล้วกวนให้ดิน น้ำ และเกลือเข้ากัน

จากนั้นนำไข่เป็ดสดใหม่ไปคลุกดินที่ผสมไว้ แล้วจัดเรียงลงในภาชนะให้เรียบร้อย พอครบ 7-10 วัน ไข่เป็ดที่ได้สามารถนำไปทอดเป็นไข่ดาวได้ เมื่อครบ 20 วัน ล้างดินออกจนไข่สะอาด นำไปต้มจนสุก ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง หลังจากน้ำเดือดช้อนฟองออกให้หมด ก่อนนำไข่ลงใส่ผงสารส้มลงไปในกระทะต้มประมาณ 2 กำมือ เพื่อให้เปลือกไข่ขาวสะอาด

3.ไข่เป็ดพร้อมจำหน่าย
3.ไข่เป็ดพร้อมจำหน่าย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่เป็ด

ไข่เป็ดที่ฟาร์มตอนนี้มีประมาณ 50,000 ฟอง/วัน จะแบ่งเป็นไข่สดเพื่อจำหน่ายเลย และนำไปแปรรูปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าไข่เป็ดที่ซื้อจากบุญรอดฟาร์มเป็นไข่สดใหม่ เพราะทางฟาร์มขายไข่หมดวันต่อวัน และมีเขียนวันที่ระบุให้ด้วยว่าไข่ในแต่ละรอบเก็บมาวันไหน นอกจากนี้ยังมีระบุให้ด้วยว่ามาจากเป็ดช่วงอายุเท่าไหร่ เปลือกไข่หนาหรือบาง เหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารประเภทไหน

“เพราะเป็นไข่จากฟาร์มเราเอง เราเลยดูแลได้ทั่วถึง จะบอกคนงานไว้เลย เวลาเก็บไข่ให้ระบุวันที่ลงในแผงด้วยว่าเก็บมาวันไหน จากเล้าไหน แม่เป็ดอายุเท่าไหร่ เพื่อที่เวลาลูกค้าซื้อไปต้ม หรือจะเอาไปดอง จะได้บอกได้ว่า เป็ดเล้านี้อายุเท่าไหร่ เปลือกยังหนาอยู่เอาไปดองได้ หรือถ้าจะเอาไปต้มเราจะแยกเบอร์ให้ แยกวันที่ให้ทุกแผง” คุณใหม่ให้ความเห็น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทางฟาร์มจะเก็บไข่ทั้งหมด 2 รอบๆ แรกจะเก็บตอนตี 4 และอีกรอบตอน 7 โมงเช้า โดยจะเก็บใส่ตะกร้าใบใหญ่ก่อนนำลงแผงเพื่อขนส่งไปโรงคัดไข่ โดยคุณใหม่ได้ให้เหตุผลที่เก็บใส่ตะกร้าก่อนเพราะเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากนอกฟาร์มที่จะมากับแผงไข่ และมีการแบ่งโซนไว้สำหรับให้เป็ดเข้ามาไข่ โดยจะเปิดตอนกลางคืน และปิดตอนกลางวัน เพื่อป้องกันเป็ดเข้ามาขี้ข้างใน และจะทำให้ไข่สกปรกได้

4.การให้อาหารเป็ด
4.การให้อาหารเป็ด

การบริหารจัดการและดูแลฟาร์มเป็ด

เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญในการดูแลจัดการฟาร์มเป็ด ทางบุญรอดฟาร์มใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาด สุขภาพแม่เป็ด และเรื่องอาหาร คอกต้องสะอาด ไม่แฉะเกินไป ให้เป็ดอยู่สบายที่สุด แล้วเขาจะให้ผลผลิตที่ดี

ส่วนอาหารต้องครบ เห็นว่าผลผลิตดีแล้วลดปริมาณอาหารลงไม่ได้ ต้องให้เป็ดได้กินอย่างเต็มที่โดยทางฟาร์มจะให้อาหารสำเร็จรูป และมีอาหารผสมเอง โดยใช้รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว วิตามินเสริม สำหรับ เป็ดไข่ และสีผสมอาหารสำหรับสัตว์เพื่อเพิ่มสีของไข่แดง

ส่วนเรื่องสุขภาพ ทางฟาร์มก็มีการทำวัคซีนอย่างสม่ำเสมอตามโปรแกรมวัคซีน เป็ดไข่ และมีการให้ยาถ่ายพยาธิสำหรับเป็ดที่เพิ่งนำเข้ามา เพราะเป็ดไข่ที่นำมาเลี้ยงเป็นเป็ดไล่ทุ่งที่ปล่อยเลี้ยงตามทุ่งนา อาจมีการปนเปื้อนของพยาธิติดมาด้วย จะผสมยาถ่ายพยาธิในอาหารให้เป็ดกินในช่วง 5 วันแรก เมื่อครบ 1 เดือน จะให้กินอีก 1 รอบ จะช่วยให้เปอร์เซ็นต์ไข่เป็ดดีขึ้น

5.บริเวณพื้นที่ให้เป็ดเล่นน้ำ
5.บริเวณพื้นที่ให้เป็ดเล่นน้ำ

ฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยง เป็ดไข่

สุดท้ายคุณหมวยและคุณใหม่ได้ฝากทิ้งท้ายถึงอาชีพนี้ว่า “ถือว่าอาชีพการเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอีกอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ มีรายได้เข้ามาทุกวัน แต่อาจไม่ค่อยมีเวลา เป็นอาชีพที่ต้องทำงานทุกวัน เพราะมีผลผลิตให้ทุกวัน ก็ต้องมีการดูแลจัดการตลอด

และการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตก็ต้องดูแลจัดการอย่างใกล้ชิด ต้องหมั่นสังเกต ดูเปอร์เซ็นต์ไข่ ลักษณะไข่ ดูว่าเป็ดกินอาหารได้ปกติไหม ถ้ามีอะไรผิดปกติก็ต้องรีบรักษา ให้วิตามินเสริม ให้ยารักษาโรค ถ้าดูแลจัดการดี เราก็จะได้ผลผลิตที่ดีกลับมา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณวรวรรณี พุ่มกุมาร บุญรอดฟาร์ม 20 ม.3 ต.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 330