ฟาร์มเป็ดไข่ได้มาตรฐาน เดอะ เอส ซี ฟาร์ม กับรูปแบบการ เลี้ยงเป็ดไข่ สมัยใหม่ วางแผนโครงการลดต้นทุนในอนาคต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงเป็ดไข่ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สายพันธุ์ อาหาร หรือ วิธีการเลี้ยง  ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  เพื่อให้สามารถเลี้ยงเป็ดไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ  ลดต้นทุนการผลิต

1.คุณศักดิ์ชัย สีม่วงงาม
1.คุณศักดิ์ชัย สีม่วงงาม

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงเป็ดไข่

นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพาไปรู้จักกับ คุณศักดิ์ชัย สีม่วงงาม จากวิศวกรเจ้าของธุรกิจระบบปรับอากาศและอสังหาฯ สู่เจ้าของฟาร์มเป็ดไข่ที่ได้มาตรฐาน “เดอะ เอส ซี ฟาร์ม” ที่ได้มีการวางแผนที่จะทำฟาร์มมาตรฐาน  เพื่อจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด ที่ได้คัดสรรคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ มีรูปแบบการเลี้ยงสมัยใหม่ สู่การวางแผนโครงการลดต้นทุนในอนาคต

เดอะ เอส ซี ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี แต่เดิมคุณศักดิ์ชัยทำธุรกิจอสังหาฯ มีที่ดินอยู่จังหวัดปราจีนบุรีหลายแปลง มีอยู่ 2 แปลงติดกัน ตั้งใจเก็บใว้ทำบ้านพัก และจะทำเกี่ยวกับการเกษตร แต่หากจะปลูกพืชต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิต และโดยส่วนตัวแล้วก็เป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ จึงมองหาธุรกิจที่จะมีรายได้ทุกวัน ที่สำคัญสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้ จึงมาเป็นฟาร์มเป็ดไข่ เดอะ เอส ซี ฟาร์ม

“ผมเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว ก่อนหน้านั้นก็เคยเลี้ยง กวาง และ ม้า ไว้ในสวน ว่าจะปลูกพืชแต่มันก็ใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิต ก็เลยมาหาอะไรที่จะทำให้เรามีรายได้ทุกวัน ตอนแรกจะเลี้ยงไก่ไข่ แต่พื้นที่เราอยู่ใกล้ชุมชนเลยกังวลเรื่องกลิ่นที่จะรบกวนคนแถวนั้น เพราะเราก็อยากอยู่ร่วมกับธรรมชาติและชุมชนให้ได้ เลยตัดสินใจจะเลี้ยงเป็ดไข่ และปลูกพืชทิ้งไว้รอผลผลิต” คุณศักดิ์ชัยเผยถึงที่มาของฟาร์ม

2.ตุณศักดิ์ชัยและทีมงานซีพีเอฟ
2.ตุณศักดิ์ชัยและทีมงานซีพีเอฟ

การบริหารจัดการฟาร์มเป็ด

เมื่อตัดสินใจที่จะเริ่มทำธุรกิจฟาร์มเป็ด คุณศักดิ์ชัยได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งจากอินเตอร์เน็ต และสอบถามผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับคำแนะนำจากบริษัทที่อยู่ในสายธุรกิจปศุสัตว์ อย่าง ซีพีเอฟ ซึ่งทางบริษัทได้ให้ความร่วมมืออย่างดี มีผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำปรึกษาแนะนำตลอดการเลี้ยง

ทางฟาร์มให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐาน โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเป็ดไล่ทุ่งที่มาจากฟาร์มมาตรฐาน จะเลือกเฉพาะฟาร์มมาตรฐานที่มีทุ่งของตัวเอง และมีการจัดการทุ่งที่ดี โดยมีสัตวแพทย์ของบริษัทซีพีเอฟ แนะนำพาไปเลือกดูฟาร์มเป็ดไล่ทุ่งต่างๆ ที่มีมาตรฐาน จนได้ฟาร์มที่เป็นคู่ค้าประจำมาถึงปัจจุบัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

 “เราซื้อเป็ดไล่ทุ่งมาเลี้ยงก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าเราซื้อจากที่ไหนก็ได้ เราจะเลือกฟาร์มที่มีมาตรฐาน มีทุ่งของตัวเอง มีการจัดการทุ่งเอง เพราะการซื้อจากฟาร์มที่ย้ายทุ่งบ่อยๆ มีความเสี่ยงในเรื่องของเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลต่อการดูแลจัดการภายหลัง การเลือกซื้อจากฟาร์มแบบนี้อาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เป็ดที่เรานำมาเลี้ยงจะมีสุขภาพที่ดีกว่า แข็งแรงกว่า มีอัตราการรอดสูง ให้ผลผลิตดี มีคุณภาพ” คุณศักดิ์ชัยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคุณภาพ

3.โรงเรือนเป็ด
3.โรงเรือนเป็ด

สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ด

ในปีแรกทางฟาร์มลงทุนเลี้ยงเป็ด 2 โรงเรือน 6,000 ตัว เพื่อศึกษาพฤติกรรมเป็ด เรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดระหว่างเลี้ยง เอาปัญหาที่มีในแต่ละโรงเรือนมาปรับหาทางแก้ไขให้มันสอดคล้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในโรงเรือนถัดไป

ปัจจุบันเดอะ เอส ซี ฟาร์มเข้าสู่ปีที่ 3 มีทั้งหมด 6โรงเรือน เป็ดไข่ 18,000 ตัว ด้วยทำเลที่ตั้งฟาร์มอยู่ที่ลุ่มใกล้ภูเขา ทำให้ได้เปรียบตรงที่สภาพอากาศช่วงกลางคืนเย็นสบาย เป็ดอยู่สบาย ไม่เครียด จึงให้ผลผลิตไข่ได้ดี มีอัตราการให้ไข่เฉลี่ย 85% เพิ่มเทคนิคการเลี้ยงสามารถลากยาวไปถึง 80-90 สัปดาห์

“โดยปกติอัตราการให้ไข่ช่วงพีคถึงปลดจะอยู่ที่ 60 สัปดาห์ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งฟาร์มมีสภาพอากาศที่ดี อุณหภูมิ ความชื้นเหมาะสำหรับเป็ดไข่ ทำให้อัตราการให้ไข่ดีและยาวนาน โดยที่เปอร์เซ็นต์ไม่ตก” คุณศักดิ์ชัยให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงข้อดีของที่ตั้งฟาร์ม

เป็ดที่ฟาร์มจะเป็นการเลี้ยงสมัยใหม่ในรูปแบบของซีพีเอฟ จะไม่มีการปล่อยลงเล่นน้ำ และเป็ดถูกฝึกตั้งแต่นำเข้ามาเลี้ยง โดยที่ฟาร์มจะมีระบบไฟส่งสัญญาณ เมื่อเปิด-ปิด เป็ดจะรู้ว่าควรไปอยู่ที่ส่วนใดของโรงเรือน ใน 1 โรงเรือน จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน พื้นที่สำหรับให้น้ำ พักผ่อน ให้อาหาร และวางไข่

“ในแต่ละช่วงเวลาเป็ดที่ฟาร์มจะรู้ว่าควรไปอยู่ที่ส่วนไหนของโรงเรือน เวลานี้ควรกินอาหาร เวลานี้ควรไปให้ไข่ เพราะฉะนั้นคนที่ดูแลจะต้องเป๊ะเรื่องเวลาให้สม่ำเสมอ เพื่อฝึกเป็ด และต้องปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมเป็ดให้ได้” คุณศักดิ์ชัยกล่าวเพิ่มเติม

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.ไข่เป็ดพร้อมจำหน่าย
4.ไข่เป็ดพร้อมจำหน่าย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่เป็ด

สำหรับไข่ที่ได้จะมีการนำมาวิเคราะห์ทุกวัน น้ำหนัก สีไข่แดง ได้ตามมาตรฐานหรือไม่ และมีจะจำหน่าย 2 ช่องทาง คือ ขายให้กับทางบริษัท ซีพีเอฟ เพื่อตีแบรนด์ ส่งขายตลาดโมเดิร์นเทรด อย่าง แมคโคร วางจำหน่ายหน้าฟาร์ม และไข่ที่ไม่ผ่าน QC อาจจะมีฟองเล็ก สีไข่แดงไม่ได้ตามมาตรฐาน ที่จะเข้าตลาดโมเดิร์นเทรด ทางฟาร์มจะนำไปแจกจ่ายแก่ มูลนิธิ หมู่บ้าน ชุมชน หรือ สมาคมต่างๆ

5.ทำความสะอาดโรงเรือนเป็ด
5.ทำความสะอาดโรงเรือนเป็ด

ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มเป็ด

เมื่อถามถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศ คุณศักดิ์ชัยให้ความเห็นว่า “ปัญหาด้านภูมิอากาศที่นี่ไม่ค่อยส่งผลต่อการเลี้ยงเท่าไหร่ ด้วยทำเลที่ตั้งของฟาร์มมีอากาศค่อนข้างโปร่ง ในเวลากลางคืนเป็ดก็จะอยู่สบาย แต่ในช่วงเวลากลางวันที่อากาศร้อนอาจมีผลบ้าง เป็ดจะไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้ไข่ที่ได้มีใบเล็ก เราจะแก้ไขโดยไม่ให้อาหารช่วงกลางวันที่อากาศร้อนๆ จะขยับเวลาการให้อาหารมาให้ช่วงเย็นๆ ที่อากาศไม่ร้อน”

เมื่อถามถึงปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ส่วนใหญ่เจอ คุณศักดิ์ชัยให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของต้นทุนการเลี้ยง ทางฟาร์มมีการวางโครงการที่จะทำวิจัยร่วมกับซีพีเอฟ เพื่อลดต้นทุนในเรื่องของการซื้อเป็ดสาว เพราะสิ่งที่ทำให้เกษตรไปต่อไม่ได้ คือ การซื้อเป็ดในราคาที่สูง แต่พอขายเป็ดที่ปลดจะได้ในราคาถูก

การซื้อเป็ดสาวกับเป็ดสาวพร้อมไข่ มีทั้ง ข้อดี ข้อเสีย ต่างกัน สำหรับเป็ดสาวจะมีราคาที่ถูกกว่า แต่จะมีต้นทุนเรื่องค่าอาหารเพิ่มขึ้นที่เสียเปล่าโดยยังไม่ให้ผลผลิต ส่วนเป็ดสาวพร้อมไข่จะมีราคาสูง แต่เมื่อมาถึงฟาร์มใช้เวลาเลี้ยงไม่นานก็ให้ผลผลิต แต่จะไม่ทราบว่าเป็ดมีความสมบูรณ์พันธุ์หรือไม่ มีเชื้อโรคอะไรติดมาบ้าง

ทางฟาร์มจึงมีการวางแผนว่าในอนาคตจะมีการเพาะลูกเป็ดเลี้ยงเอง ผลิตอาหารเป็ดสาวใช้เอง เพื่อลดต้นทุน  และจำหน่ายแก่เกษตรในราคาที่ดี เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรลดต้นทุน และให้เกษตรกรได้เป็ดที่มีคุณภาพไปเลี้ยง

6.เป็ดแข็งแรง ให้ผลผลิตไข่ได้ดี
6.เป็ดแข็งแรง ให้ผลผลิตไข่ได้ดี

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงเป็ดไข่

สุดท้ายคุณศักดิ์ชัยได้ฝากทิ้งท้ายสำหรับอาชีพเลี้ยงเป็ดไข่ว่า “สำหรับคนที่สนใจก่อนตัดสินใจเลี้ยง เราควรศึกษาตลาดภายในพื้นที่ก่อน เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารที่สูง คนเลี้ยงเป็ดไข่ต้องมองตลาดก่อนว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน จำหน่ายในชุมชน หรือต้องการวางจำหน่ายในตลาดโมเดิร์นเทรด ในแต่ละตลาดปริมาณการผลิตต้นทุนค่าดำเนินการจะต่างกันไป หากเราวางแผนตลาดได้ เราก็จะรู้ว่าควรลงทุนการผลิตขนาดไหน วางรูปแบบการเลี้ยงอย่างไร”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณศักดิ์ชัย สีม่วงงาม เดอะ เอส ซี ฟาร์ม 104 ม.6 อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรีโทร.098-624-5999

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 339