ส้มโอ GI นครชัยศรี 5,000 ไร่ ดังระดับเอเชีย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส้มโอ..เป็นผลไม้ที่มีอนาคต เป็นผลไม้มงคลตามความเชื่อคนจีน มีตลาดโลกรองรับ

ประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์ส้มโอให้เหมาะกับการปลูกแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นจุดเด่นในการทำธุรกิจ ที่มีทางเลือกที่หลากหลาย แต่เนื่องจากเป็น “เมืองร้อนชื้น” อุดมด้วยโรคแมลงรบกวนตลอดเวลา ระยะหลังอากาศแปรปรวนมากขึ้น ทำให้ชาวสวนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ในการต่อสู้กับโรคแมลงต่างๆ พร้อมทำให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง

นิตยสารพลังเกษตร ฉบับนี้ได้นำเสนอ ส้มโอ GI มลฑลนครชัยศรี เพราะเห็นว่ามีจุดเด่นหลายประการ

1.คุณประวิทย์ บุญมี ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ
1.คุณประวิทย์ บุญมี ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ

ประธานเครือข่ายกลุ่มฯ ยืนยันส้มโอ GI ป้องกันการย้อมแมว

ผลไม้ที่ชาวโลกรู้จักดี คือ “ส้มโอ” เพราะรสชาติ หวานอมเปรี้ยว อร่อย มีหลากหลายสายพันธุ์ ในตลาดจีนนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะส้มโอไทยมีคุณภาพสูง การปลูกส้มโอในไทยมีหลายจังหวัด จนกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับจดทะเบียนเป็นส้มโอประจำถิ่น (Geographical Indications) หรือ GI ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องสายพันธุ์ การปลูกและดูแลรักษา และรูปลักษณ์ทางกายภาพและรสชาติ เป็นต้น

ยกตัวอย่าง ส้มโอ GI กลุ่มวิสาหกิจมณฑลนครชัยศรี ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าตลาด ต.ทรงคนอง ต.บางเตย และ ต.ไร่ขิง เป็นต้น พื้นที่ปลูกส้มโอกว่า 5,000 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ขาวน้ำผึ้ง และ ทองดี เป็นที่รู้จักระดับสากล แต่ละปีนำเงินเข้าประเทศหลายล้านบาท

คุณประวิทย์ บุญมี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส้มโอมณฑลนครชัยศรี เล่าว่า ก่อตั้งกลุ่มประมาณ ปี 2547 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 122 ราย เนื่องจากในพื้นที่มีร้านค้าหลายแห่งนำส้มโอที่ปลูกจากแหล่งอื่นมาย้อมแมวขายร่วมกับส้มโอนครชัยศรี ซึ่งเกิดความเข้าใจผิดของลูกค้าเมื่อซื้อไปบริโภค

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทางกลุ่มจึงได้หาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จึงนำส้มโอทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ ขาวน้ำผึ้ง เนื้อมีสีคล้ายน้ำผึ้ง กรอบ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย  และ ทองดี เนื้อสีส้มอมชมพู เพื่อไปขึ้นทะเบียน GI หลังจากขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ให้สมาชิกที่ปลูกส้มโอนำสติ๊กเกอร์ GI มาติดไว้ที่ผลส้มโอ เพื่อการันตีคุณภาพให้ลูกค้า

หลังจากน้ำท่วมปี 2554 ทำความเสียหายให้กับชาวสวนส้มโอ เพราะต้นส้มโอที่ปลูกไว้ให้ผลผลิตแล้วตายเกือบหมด เหลือแค่ไม่ถึง 1,000 ไร่ หลังจากน้ำท่วมผ่านไป ชาวสวนส้มโอต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยร่วมกันฟื้นฟูควบคู่กับการอนุรักษ์ปลูกส้มโอท้องถิ่นขึ้นมา จนทำให้ตอนนี้มีพื้นที่ปลูกส้มโอกระจายอยู่ 4 ตำบล จำนวน 5,000 ไร่ พื้นที่ปลูกมีลักษณะดินดำ ร่วน ด้านล่างเป็นดินเหนียว มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะใกล้แม่น้ำท่าจีน มีแร่ธาตุสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์

ปัจจุบันการขายส้มโอของชาวสวนใน 4 ตำบล ส่วนใหญ่ก็จะเน้นขายกันเองหลากหลายช่องทาง ยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ส่วนการตลาดของกลุ่ม คุณประวิทย์เดินหน้าลุยทำตลาดส้มโอขาวน้ำผึ้งและทองดีไปจำหน่ายตามห้างโมเดิร์นเทรด และขายตามปั๊มน้ำมันแหล่งใหญ่ และพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ส่วนตลาดต่างประเทศส่งผ่านล้ง ไปยัง จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ กว่า 80% ของผลผลิตทั้งหมด หากต้องการลิ้มรสส้มโอนครชัยศรีของแท้ ให้สังเกตจากผลส้มโอที่มีสติ๊กเกอร์ GI เป็นสัญลักษณ์ติดไว้ทุกผล

2.คุณอนันต์ วัฒนา เจ้าของสวนส้มโอขาวน้ำผึ้ง 15 ไร่
2.คุณอนันต์ วัฒนา เจ้าของสวนส้มโอขาวน้ำผึ้ง 15 ไร่

เซียนส้มโอ เปิดแนวทางการทำส้มโอคุณภาพ

เพื่อให้คนในวงการส้มโอได้ข้อมูลเชิงลึกเรื่องการผลิตส้มโอ GI คุณภาพ คุ้มค่าแก่การลงทุน จึงได้สัมภาษณ์พิเศษเซียนส้มโอตัวจริง คุณอนันต์ วัฒนา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูก ขยายพันธุ์ และดูแลรักษา ให้ส้มโอมีคุณภาพขายได้ราคา คุ้มค่าแก่การลงทุน จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และประสบการณ์

คุณอนันต์ให้ข้อมูลว่า เขาคลุกคลีกับสวนส้มโอมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จึงยึดอาชีพนี้เรื่อยมา หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้ส้มโอตายยกสวน“หลังปี 54 น้ำท่วม และส้มโอตายไปเยอะ ราคาก็ขยับขึ้นมาจาก 50 บาท เป็น 120 บาท/ลูก แล้วก็พอส้มโอให้ผลผลิตได้เยอะขึ้น จากราคา 120 บาท ก็ลดลงมาเหลือ 70-80 บาท” คุณอนันต์  กล่าวถึงราคาส้มโอหลังน้ำท่วมในปี 2554

หลายสวนจึงต้องฟื้นฟูและปลูกส้มโอใหม่ คุณอนันต์ก็เช่นกัน ลงทุนปลูกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง จำนวน 15 ไร่ ใช้กิ่งพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้งมาปลูกในระบบร่อง นำกิ่งพันธุ์จากสวนของน้องสาว ซึ่งมีต้นส้มโอรอดจากน้ำท่วมอยู่บ้าง และใช้กิ่งเสียบยอด แล้วค่อยมาเสริมราก 1 ราก ด้วยตอส้มซ่า เพราะส้มซ่ารากเยอะ หากินเก่ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งการปลูกส้มโอมีการพัฒนาขึ้น ตั้งแต่การปลูกและขยายพันธุ์ จากเดิมการปลูกส้มโอจะใช้กิ่งตอน และกิ่งเสียบยอด ปลูกอย่างเดียว แต่พบว่าเมื่อนำกิ่งตอนปลูกแล้วมักประสบปัญหา คือ ต้นเล็ก ต้นไม่แข็งแรง โค่นล้มได้ง่าย ไว้ผลจำนวนมากไม่ได้  ต้นโทรม “พอไว้ลูกมากๆ ต้นโทรมเลย บำรุงยังไงก็ไม่ขึ้น เรียกว่าปลุกเสกยังไงก็ไม่ฟื้น” คุณอนันต์ กล่าวถึงการปลูกส้มโอด้วยกิ่งตอนแบบดั้งเดิมที่มีจุดอ่อน

3.การปลูกส้มโอระบบร่อง
3.การปลูกส้มโอระบบร่อง

สภาพพื้นที่ปลูกส้มโอ

เมื่อส้มโออายุมากขึ้น มีปัญหา คือ ระบบรากหากินไม่เก่ง และตาย เกิดการคิดค้น พัฒนา และเพิ่มศักยภาพของต้นส้มโอขึ้น เมื่อนำกิ่งพันธุ์ลงปลูกจนได้อายุ 6 เดือนขึ้นไป และใช้ต้นส้มซ่ามาเสริมรากใหม่ “ราก” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดูดอาหารเข้ามา โดยขุดหลุมปลูกให้ห่างจากโคนส้มต้นแม่ประมาณ 40-50 เซนติเมตร

หลังปลูกต้นตอแข็งแรงดีแล้วจึงเสริมราก หลังจากนำต้นส้มซ่ามาเสริมรากแล้ว ทำให้ต้นส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งที่ปลูกไว้กว่า 300 ต้น โครงสร้างลำต้นแข็งแรง เจริญเติบโตได้เร็ว รากเยอะ หากินเก่ง ต้นไม่โค่นล้มง่าย การให้ปุ๋ยก็ตอบสนองเร็ว สามารถกระจายการติดผลได้ทั่วทรงพุ่มเดิม ผลดกและมีขนาดใหญ่ รสชาติเหมือนต้นฉบับตามสายพันธุ์

“การเสริมราก 1 ราก ทำให้ไว้ผลเยอะได้ ไม่เป็นไร ต้นไม่โทรม แต่บางสวนเสริมถึง 3 ราก ซึ่งพบว่าการเสริม 2-3 ราก ด้วยต้นตอส้มซ่านั้นทำให้เกิดปัญหาโรคยางไหล มีเห็ดขึ้นตามต้นทั้งที่ต้นไม่แห้ง” คุณอนันต์ กล่าวถึงข้อดีของการเสริมราก 1 ราก ซึ่งพบว่าต้นส้มโอตายน้อยมาก เมื่อเทียบกับสวนอื่นที่เสริม 3 ราก นอกจากนี้ยังได้ทดลองนำตอต้นส้มโอทับทิมสยามมาเสริมราก เพื่อแก้ปัญหายางไหลในช่วงปลายฝนต้นหนาว

“ส้มโอทับทิมสยามเป็นส้มโอที่บ้านเรานิยมปลูกกัน คือ มีชาวสวนนำกิ่งส้มโอทองดี ขาวน้ำผึ้ง ไปปลูกแล้วไม่ขึ้น หรือตาย ก็เลยลองซื้อกิ่งส้มโอทับทิมสยามมาปลูกในที่ที่ปลูกส้มโอสายพันธุ์อื่นตาย ปรากฏว่าต้นส้มโอทับทิมสยามไม่ตาย และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ แสดงว่าต้นส้มโอทับทิมสยามมีความแข็งแรง ระบบรากดี เกษตรกรก็นำต้นตอทับทิมสยามมาเสียบดู ปรากฏว่าไม่พบปัญหายางไหล ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการทดลอง” คุณอนันต์ กล่าวถึงการทดลองนำต้นตอส้มโอทับทิมสยามมาใช้เสริมราก

4.การติดดอกหลายรุ่น
4.การติดดอกหลายรุ่น

ปัญหาและอุปสรรคการปลูกส้มโอ

ปัจจุบันสวนส้มโอขาวน้ำผึ้งของคุณอนันต์ อายุ 12 ปี พบว่าต้นส้มโอตายไป 10 กว่าต้น เหลือ 300 ต้น และได้ลงทุนเช่าที่ดินอีก 7 ไร่ เพื่อปลูกส้มโอพันธุ์ทองดี กว่า 250 ต้น  อายุได้ 4 ปีแล้ว สาเหตุที่ทำให้ปลูกส้มโอทองดี เพราะว่าเป็นเรื่องของการตลาด สามารถส่ง ฮ่องกง จีน ได้ตลอดทั้งปี ลูกค้าต้องการเยอะ ส่วนส้มโอขาวน้ำผึ้งไม่ทั้งปี จึงต้องปลูกพันธุ์ทองดี 7 ไร่ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง ถ้าดูแลดีจะให้ผลผลิต 2,000 ลูก/ไร่  ราคาส่งออก 60-80 บาท/ลูก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขณะเดียวกันการทำสวนส้มโอให้ได้คุณภาพและรสชาติทำยากมาก ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศด้วย  ปริมาณฝนเยอะไปส้มโอก็ไม่หวาน แล้งมากก็มีปัญหา ดังนั้นการทำสวนส้มโอทั้งในและนอกฤดูต้องใช้ฝีมือมากขึ้น สำหรับชาวสวนส้มโอนครชัยศรี แต่ยังไงก็ต้องสู้ เพราะส้มโอ GI เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

“การทำสวนส้มโอยากขึ้นครับ เพราะอากาศแปรปรวน ร้อน หนาว โรคแมลงเยอะสูงขึ้น เพลี้ยไฟก็ดื้อยา การใช้ยาหนักขึ้น การลงทุนสูงขึ้น ราคาปุ๋ยแพง ต้นทุนสูงขึ้น บางสวนก็ไม่มีทุน ก็ไปกู้มาทำสวน บางสวนไม่ลงทุน หรือไม่ใส่ปุ๋ย หรือใส่ปุ๋ยน้อย ก็ไม่ได้คุณภาพ เปลือกไม่บาง รสชาติไม่หวาน” คุณอนันต์ให้ข้อมูลถึงอุปสรรคด้านอากาศที่แปรปรวน

5.การเก็บผลส้มโอ
5.การเก็บผลส้มโอ

การบำรุงดูแลต้นส้มโอ

ส่วนการให้น้ำ คุณอนันต์บอกว่า ในฤดูร้อนจะให้น้ำวันเว้นวัน และเลือกให้น้ำเฉพาะช่วงเที่ยงจนถึงบ่ายโมงเท่านั้น ถ้าให้น้ำช่วงเช้าหรือเย็น ทำให้ความชื้นสูง เพราะดินชั้นล่างเป็นดินเหนียว ทำให้มีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย  สำหรับการจัดการดอก ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ บางปีเดือนธันวาคม-มกราคม เป็นช่วงที่ต้องให้น้ำ บำรุงใส่ปุ๋ย เพื่อให้ติดดอกก่อนฤดู แต่ปรากฏว่าถ้าปีไหนฝนลากยาว การทำดอกต้องเลื่อนออกไป ซึ่งส้มโอขาวน้ำผึ้งทั้ง 15 ไร่ จะทำ  2 รุ่น/ปี ต้นทุนค่าปุ๋ย ยา 150,000-200,000 บาท/รุ่น

เทคนิคการทำให้เปลือกส้มโอบางก็เป็นเรื่องสำคัญ ขึ้นอยู่กับการดูแล และอายุของต้นส้มโอ ถ้าต้นส้มโออายุมาก เปลือกค่อนข้างบาง ถ้าต้นส้มโอสาวอายุ 2-3 ปี เริ่มไว้ลูกเปลือกจะหนา ต้องใช้ปุ๋ยสูตรกลางและท้ายสูงหน่อย เพื่อกดเปลือกไม่ให้ฟู ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนช่วงที่ผลส้มโอใกล้แก่จะได้ส้มโอคุณภาพดีหน่อย

6.ส้มโอขาวน้ำผึ้ง GI
6.ส้มโอขาวน้ำผึ้ง GI

ด้านตลาดและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตส้มโอ

เมื่อถามถึงปริมาณผลผลิต คุณอนันต์บอกว่า ผลผลิตส้มโออยู่ที่ 10,000-15,000 ลูก/ปี และราคาหน้าสวน พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง  เบอร์ 1 ราคา 70-100 บาท เบอร์ 2 ราคา 40-60 บาท ส่วนส้มโอพันธุ์ทองดี เบอร์ 1 ราคา 60-80 บาท การขายสัดส่วนต่างประเทศอยู่ที่ 80% และตลาดในประเทศ 20% โดยขายให้กับพ่อค้าที่มาซื้อที่สวน

เมื่อถามว่าอะไรคือความเสี่ยงของส้มโอ 4 ตำบล คุณอนันต์ให้ข้อมูลว่า “ราคาเริ่มปรับลง ต้นทุนสูงขึ้น กำไรต่อรุ่นน้อยลง จะไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะเราทำมาตรงนี้แล้ว จะไปเริ่มต้นใหม่ เราก็องค์ความรู้น้อย เราจึงต้องเดินหน้าเรื่องส้มโอต่อ แต่จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด และได้ส้มโอคุณภาพ ท่ามกลางอากาศที่แปรปรวนรุนแรง และโรคศัตรูพืชก็เยอะ ทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่เสี่ยงอย่างไรให้อยู่รอด”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จึงเห็นได้ว่าส้มโอ GI กลุ่มวิสาหกิจมณฑลนครชัยศรี ยังยืนหยัดพัฒนา 5,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตใหญ่ เพื่อการส่งออก สามารถนำเข้าจังหวัดปีละหลายล้านบาท เป็นกลุ่มตัวอย่างที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทางกลุ่มพร้อมต้อนรับทุกท่าน โทร.081-340-2867, 086-165-6507

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 33