ศิริขวัญฟาร์มแพะ กาญจนบุรี เจ้าของรางวัลถ้วยพระราชทาน จากการประกวดแพะ 22 ใบ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สัตว์เคี้ยวเอื้องที่เรียกว่า “แพะ” ทั่วโลก มีหลายสายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์นมและเนื้อ

พันธุ์เนื้อที่นิยมเลี้ยงในเชิงธุรกิจ คือ พันธุ์บอร์ เพราะเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาพันธุกรรมจากบรีดเดอร์หลายประเทศ ให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจชัดเจน

ประเทศไทยมีการเลี้ยงพันธุ์บอร์มาหลายปี โดยภาคเอกชนเป็นผู้บุกเบิก ลงทุนทำพ่อแม่พันธุ์แท้จากหลายๆ ประเทศมาเลี้ยงเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

1.ศิริขวัญฟาร์ม01

สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ

เช่น ศิริขวัญฟาร์ม จังหวัดกาญจนบุรี โดย คุณศิริขวัญ โชติชื่น (กุ๊ก) และ คุณนพดล โชติชื่น (เก่ง) พี่ น้อง ที่กล้าลงทุน โดยใช้พื้นที่ 7 ไร่ ทำฟาร์มแพะบอร์แบบพัฒนาเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ปรากฎว่าวันนี้ผงาดสู่ทำเนียบบรีดเดอร์แพะบอร์ชั้นนำของประเทศ โดยเปิดตัวกับ นิตยสารสัตว์บก เดือนตุลาคม 2563 และวันนี้ได้เปิดตัวอีกครั้ง ฉบับที่ 365 กันยายน 2566 ปรากฏว่าผลงานของ ศิริขวัญฟาร์ม น่าทึ่งหลายเรื่อง

เริ่มจากการเลี้ยง แพะลูกผสม แล้วขยับสู่แพะอินเตอร์ ด้วยการซื้อจากฟาร์มที่นำเข้า จากนั้นก็บินไปซื้อด้วยตนเอง นำพ่อแม่พันธุ์เข้ามา 141 ตัว โดยเฉพาะพ่อตัวดัง ชื่อ HERO และ NATAN จากแอฟริกา ตัวละ 1 แสนบาท เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา

2.ศิริขวัญฟาร์ม02

สายพันธุ์แพะ

ปี 2563 ทางฟาร์มมีบอร์ 3 สัญชาติ ได้แก่ แอฟริกา อเมริกา และ ออสเตรเลีย พ่อเกรด A 3 ตัว และแม่เกรด A 90 ตัว แต่ปลายปี 66 มีพ่อแม่นำเข้า 100% เป็นฟาร์มพัฒนาที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เป็นบรีดเดอร์ฟาร์ม หรือฟาร์มต้นน้ำ ในการพัฒนา “พันธุกรรม” แพะบอร์พันธุ์แท้ ที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมเมืองไทยและเอเชีย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

มีการผสมทั้ง อินบรีด คือ อเมริกาผสมกับอเมริกา และครอสบรีด คือ แอฟริกากับอเมริกา หรือออสเตรเลียกับแอฟริกา โดยยึด “กล้ามเนื้อ” “กระดูก” และ “โครงสร้าง” ของลูกที่ออกมา เป็นตัวชี้วัด

“10 กว่าปีที่พัฒนา คิดว่าแอฟริกากับแอฟริกาดีกว่า รองลงมาแอฟริกากับอเมริกา” คุณกุ๊ก ฟันธง บ่งบอกถึงการพัฒนาแบบอินบรีด ลูกของพ่อแม่เลือดแอฟริกาดีที่สุด รองลงมาลูกของครอสบรีดแอฟริกากับอเมริกา เมื่องานไบโอเทคพันธุกรรมออกมาอย่างนี้ ทำให้ ศิริขวัญฟาร์ม มีทิศทางการผลิตลูกบอร์ที่ชัดเจน ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ดี

“เราสร้างสายพันธุ์เฉพาะของเรา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรก่อน ต้องบรีดให้เห็นก่อน พอเห็นว่าสายนี้กับสายนี้เข้ากันได้ ก็ซื้อไปทำพันธุ์ เกือบทุกจังหวัดเอาพ่อแม่พันธุ์ของศิริขวัญไปบรีด” คุณกุ๊ก ยืนยัน

วันนี้พ่อพันธุ์บอร์เกรด A 12 ตัว และแม่ 100 กว่าตัว คือ โรงงานผลิตลูกแพะป้อนลูกค้าที่ต้องการซื้อไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก ขณะที่ แพะสาว 100 กว่าตัว ก็จะถูกเลี้ยงให้เป็นแม่ที่สมบูรณ์ เพื่อผสมพันธุ์ได้ลูกไปทดแทนตัวที่ปลดระวาง

ในส่วนของเกษตรกรที่ซื้อแพะจากฟาร์มไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ หรือเป็นแพะขุน คุณกุ๊กยืนยันว่าคุ้มค่า เพราะเป็นแพะที่โตไว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 เดือน น้ำหนักโดยเฉลี่ย 35-60 กก. หากจะขายลูกแพะอายุ 3 เดือน น้ำหนัก 25 กก. ขาย กก.ละ 17-25 กก. มีผู้รับซื้อชัดเจน แพะทุกตัวที่ผลิตโดยศิริขวัญฟาร์มมีเพดดีกรี (พันธุ์ประวัติ) รับรอง มีเบอร์หู มีไมโครชิปฝังใต้ผิวหนัง สะโพกหลัง ตรวจสอบรหัสของพ่อแม่ได้ว่ามาจากสายไหน มี วัน เดือน ปี ระบุชัดเจน

3.ศิริขวัญฟาร์ม03

การบริหารจัดการฟาร์มแพะ

การพัฒนาพันธุกรรมแบบบรีดเดอร์ฟาร์ม “โรงเรือน” ก็สำคัญ ทั้ง 5 โรงเรือน ขนาด กว้าง 9 เมตร ยาว 104 เมตร ใช้ไม้อย่างดี เหตุที่ต้องเลี้ยงแบบโรงเรือนยกสูงเพื่อป้องกันโรค และศัตรูต่างๆ ที่เลี้ยงปล่อยให้กิน นอน บนดิน เหมือนแพะทั่วไป เนื่องจากเป็นแพะสายเลือดสูง พันธุ์แท้ อ่อนไหวในเรื่องสภาพอากาศ และพยาธิต่างๆ และต้องมี “สนามหญ้า” ให้แพะวิ่งเล่นสัปดาห์ละครั้ง และโรงเรือนยกสูง อากาศถ่ายเทได้ดี ต้องเก็บและกวาดขี้ทุกวัน นอกจากเพื่อให้พื้นคอกสะอาดแล้ว ป้องกันพยาธิจากขี้ย้อนกลับสู่ตัวแพะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับเกษตรกรที่มีทุนไม่มาก โรงเรือนหลังคามุงสังกะสียกพื้นสูงไม่เกิน 2 หมื่นบาท ก็เลี้ยงได้แล้ว ตรงกันข้ามถ้าเลี้ยงปล่อยให้นอนแปลง จะเสี่ยงในเรื่องยุง และไรเห็บ ไรไก่ จนแพะตายได้ “เรื่องพยาธิสำคัญที่สุด แต่ละเดือนต้องถ่ายพยาธิบางอย่าง 6 เดือนครั้ง 4 เดือนครั้ง แต่ละตัว แยกออกไป พยาธิลำไส้ พยาธิผิวหนัง พวกผิวหนังเป็นพวกไร ปรสิต ถ้าเป็นพยาธิเม็ดเลือดก็ติดในกระแสเลือด มันทำลายระบบประสาท บางตัวตาถลอก ขาอ่อน พวกนี้ต้องทำทุก 6 เดือน พยาธิลำไส้ 4 เดือนครั้ง” คุณกุ๊ก เปิดเผยถึงความเสี่ยงจากการเลี้ยงแพะบนดิน

ซึ่งเรื่องพยาธิเม็ดเลือด คุณเก่งยืนยันว่าเกษตรกรไม่ค่อยเข้าใจว่ามาจากยุงที่เป็นพาหะของโรค ดังนั้นก่อนจะสั่งพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศเข้ามา ประเทศต้นทางต้องตรวจ 10 โรค เมื่อเข้าประเทศไทยถูกกัก 2 เดือน และต้องส่งผลตรวจให้ กรมปศุสัตว์ 2 รอบ เพื่อป้องกันแพะนำโรคมาแพร่ในไทย

4.ศิริขวัญฟาร์ม04

การให้อาหารแพะ

เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง 4 กระเพาะ แปลงหญ้าเป็นอาหาร เป็นสัตว์กินหญ้า จุลินทรีย์ ในปาก และในกระเพาะ ย่อยให้เป็น โปรตีน และธาตุอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายให้เจริญเติบโต ดังนั้นทางฟาร์มจึงต้องลงทุนผลิต อาหาร TMR หรืออาหารผสมสำเร็จรูป (TOTAL MIXED RATION) ที่ใช้ อาหารข้น และ อาหารหยาบ ผสมกัน โดยคิดสัดส่วนน้ำหนักแห้งให้เหมาะสม มีทั้ง อัดเม็ด ผง หรือ หมัก แต่ต้องมีโปรตีน 30-35% และเยื่อใยไม่เกิน 35%

ทางฟาร์มมีแหล่งวัตถุดิบที่ค้าขายกันมานาน โดยเฉพาะ กากถั่วเหลือง และ ข้าวโพด ส่วนอาหารหยาบใช้ หญ้า เนเปียร์ เป็นหลัก มีเกษตรกรรอบๆ ฟาร์มปลูกให้ “เราผสมเองเพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานและต้นทุน” คุณกุ๊ก ยืนยันถึงความจำเป็นในการผลิตอาหารสัตว์ ส่วน อาหารข้น ใช้เพื่อเป็นตัวเสริม

ส่วนวิตามิน และแร่ธาตุ ก็ให้ความสำคัญ ทดลองผลิต วิตามิน แล้วใช้ เพื่อหาข้อมูลระบบสุขภาพแพะ ทั้งพ่อ แม่ และลูก มีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษา และคุณกุ๊กก็เข้ารับการอบรมด้วยจนเห็นผล และจะเปิดตัวเป็นทางการเร็วๆ นี้

5.ศิริขวัญฟาร์ม05

การบำรุงดูแลแพะ

สำหรับการขยายพันธุ์แพะเชิงธุรกิจ ศิริขวัญฟาร์ม มุ่ง ผสมจริง เท่านั้น เพราะพ่อ 1 ตัว สามารถผสมตัวเมียได้ถึง 40 ตัว พักพ่อ 7 วัน ก็ให้ผสมใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการและการจัดการ โดยเฉพาะการบำรุงระบบสืบพันธุ์ ระบบน้ำเชื้อ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อผสมติดแล้ว หรือแม่ตั้งท้อง ก็ต้องดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะด้านโภชนาการ ทั้งอาหาร แร่ธาตุ และวิตามิน เป็นต้น อาจได้ลูกแฝดปีละ 4 ตัว/แม่ และถ้าเลี้ยงรอดทั้งหมด กำไรเนื้อๆ และแม่ตัวนี้ถูกเลี้ยงดูอย่างดี จะให้ลูกไปอีก 12 ปี ในทางธุรกิจคุ้มค่ามากๆ แพะบางตัวให้ลูกแฝด 3 และ แฝด 4 ก็มี

เมื่อแม่แพะเริ่มคลอด อยู่ในโซนที่เตรียมไว้ ต้องดูตลอด ทั้งแม่และลูก ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องรอให้ลูกกินนมแม่ ต้องรีดใส่ขวดป้อนให้กิน 7 วัน เพื่อให้ลูกแพะมีภูมิต้านทาน และต้องเช็ดเต้านมให้สะอาด ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าเป็นไปได้ควรให้ลูกแพะกินนมแม่ถึง 90 วัน แต่ไม่ควรปล่อยให้กิน 24 ชั่วโมง โดยไม่ให้ลูกแพะกินอาหาร จะทำให้โตไม่เต็มที่ และแม่จะโทรม

6.ศิริขวัญฟาร์ม06

การพัฒนาพันธุกรรมแพะบอร์

18 ปี ศิริขวัญฟาร์ม ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการพัฒนาแพะบอร์พันธุ์แท้ ให้เป็น “ต้นน้ำ” ทางพันธุกรรมแพะเนื้อของไทย โดย 2 พี่น้อง ที่ผนึกกำลังกันพัฒนา ท่ามกลาง สภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ที่บางช่วงวิกฤตหนัก ด้วยความมุ่งมั่นไม่หวั่นกระแสคลื่นลมที่รุนแรง อดทนเป็น เสาหลัก ของลูกค้า และคู่ค้า มุ่งหน้าพัฒนาพันธุกรรมต่อไป โดยเฉพาะการคัดสรรพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ

แต่เวลานี้ทางแอฟริกาไม่เปิดให้ไทยนำเข้า ก็ต้องรอ เพื่อหาทางนำเข้าพ่อพันธุ์ตัวดังๆ มาทดแทนพ่อในฟาร์ม เพื่อป้องกันเลือดชิด ทั้งในฟาร์ม และของเกษตรกร “ทางฟาร์มไม่หยุดการพัฒนา จะเพิ่มการพัฒนา ให้เกษตรกร เชื่อมั่น ไม่ท้อแท้ ไม่ถอดใจ ในการเลี้ยงแพะ” คุณเก่ง ยืนยันถึงเจตนารมย์ของฟาร์ม ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าได้แพะคุณภาพ สายเลือดดี ไปเลี้ยง คุ้มค่าแก่การลงทุนนั่นเอง

7.ศิริขวัญฟาร์ม07

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ

วันนี้ยังมีเกษตรกรเลี้ยงแพะไล่ทุ่งอยู่มาก ต้องใช้พ่อพันธุ์ของฟาร์มไปพัฒนาต่อยอด สมมติ เกษตรกรมีแม่ไล่ทุ่ง 30 ตัว เอาพ่อแพะของฟาร์มสายอเมริกาไป 2 ตัว แบ่งโซนฝูงละ 15 ตัว/พ่อ 1 ตัว ได้ลูกตัวเมียก็นำไปผสมกับตัวผู้อีกฝ่าย ถ้าได้ลูกตัวเมียสวยๆ เก็บไว้ทำพันธุ์ ลูกตัวผู้ขาย แล้วค่อยเปลี่ยนพ่อปีที่ 4 หรือปีที่ 5 ก็ได้ ตัวผู้ที่ขายชั่งเป็นกิโลฯ ก็ได้ราคา เพราะมัดกล้ามเนื้อดี กระดูกใหญ่ น้ำหนักดี ไม่ถูกพ่อค้ากดราคา และลดต้นทุนการเลี้ยง จาก 7 เดือน เหลือ 4 เดือน น้ำหนัก 25-30 กก. เหมาะเข้าไปขุน แต่มีข้อแม้ว่าแม่ลูกผสมจะต้องเช็คเลือดว่ามีโรคแท้งติดต่อมั๊ย และควรไปขึ้นทะเบียนฟาร์มกับกรมปศุสัตว์ จะได้ตรวจเลือดทุกปี ฟรีวัคซีน

แม้แต่ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ทั้งหลายที่ใช้พ่อแม่พันธุ์ของศิริขวัญฟาร์ม ก็ต้องซื้อพ่อแม่พันธุ์ตัวใหม่ๆ ไปพัฒนาพันธุกรรมในฟาร์ม ทำให้คุณกุ๊กและคุณเก่งต้องพัฒนาพันธุกรรมตลอดเวลา และถ้าผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อแพะมากขึ้น ก็เร่งให้ฟาร์มต้นน้ำทำงานมากขึ้น พร้อมๆ กับ ฟาร์มแพะขุน ที่กระจายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นฟาร์มกลางน้ำ ก็ต้องเร่งผลิตป้อนโรงฆ่า มันเป็น “คลัสเตอร์แพะ” ที่พลวัตเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความต้องการผู้บริโภคนั่นเอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ละปี ศิริขวัญฟาร์ม ผลิตลูกแพะมาก แต่คัดเฉพาะ เกรด A พลัส ได้เพียง 2% หรือ 100 ตัว ได้ 2 ตัว และ เกรด A ไม่ถึง 50 ตัว ที่จะต้องขายให้เกษตรกร ที่เหลือถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

ดังนั้นแพะสายอเมริกาเกรด A พลัส ราคาตัวละ 250,000 บาท หรือสายลูกผสมอเมริกากับแอฟริกา ตัวละ 150,000 บาท ย่อมเป็นเรื่องปกติ แต่พ่อแม่เกรด A ถูกสุด วันนี้ 15,000-25,000 บาท ซึ่งวันนี้ทางฟาร์มมีแพะ  3 ประเภท ได้แก่ เกรดประกวด เกรดทับ และ เกรดปล่อยฝูง โดยเฉพาะแพะเกรดประกวดมาตรฐานสูงมาก 300 ตัว เข้าประกวดได้ไม่ถึง 7 ตัว และเมื่อเข้าเวทีประกวดต้องติดรางวัลกลับมา เสียทรงฟาร์มมาตรฐานไม่ได้เด็ดขาด

สุดท้าย 2 พี่น้องแห่งศิริขวัญฟาร์ม ยืนยันว่า การใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อพ่อแม่พันธุ์เข้ามาเลี้ยงในไทยมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ทางฟาร์มได้ทุ่มเทเลี้ยงให้รอด และให้ลูกที่ดี เหมาะกับสภาพแวดล้อมเมืองไทย คนซื้อไปเลี้ยงไม่เสี่ยง และใช้เงินก้อนเล็กกว่า แต่เมื่อซื้อไปเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ กลายเป็นพลังให้ศิริขวัญฟาร์มต้องเร่งพัฒนาต่อไป

ศิริขวัญฟาร์ม หมู่บ้านห้วยรังดง 84 หมู่ 8 ต.ยางม่วง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โทร.080-598-8959, 065-863-8777

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 365