ปราโมทย์ฟาร์ม ผลิตลูก ปลากะพง ด้วยเทคนิค ฝังชิพพ่อแม่พันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปลากะพง สัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิดที่ทำเงินให้เกษตรกร ถึงแม้ในหลายปีที่ผ่านมาราคาผลผลิตปลากะพงจะตกต่ำด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายเลิกเลี้ยงปลากะพง เพราะสัตว์น้ำชนิดนี้มีต้นทุนการเลี้ยงที่ค่อนข้างสูง แตะหลักล้านเลยทีเดียว ซึ่งสวนทางกับราคาขายที่แทบไม่เหลือกำไร

แต่สำหรับปี 2565 นี้ ทิศทางปลากะพงเริ่มดีขึ้น ราคาปลาปากบ่อสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยหลักๆ มาจากสถานการณ์โรคโควิดเริ่มดีขึ้น ร้านอาหารกลับมาขายของได้ตามปกติ เมื่อตลาดมีความต้องการสูง แต่ปริมาณผลผลิตมีน้อย แน่นอนว่าราคาย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา แต่หากมองในมุมของเกษตรกร ก็ถือว่าเป็นปีที่ปลดหนี้สิน สร้างกำไร ได้ดีเลยทีเดียว

จากที่เกริ่นเรื่องต้นทุนการเลี้ยงที่สูง สาเหตุหลักๆ มาจาก “อาหาร” และ “ลูกพันธุ์ที่ดี” 2 ปัจจัยนี้ถือเป็นต้นทุนการเลี้ยงหลักที่หนีไม่พ้น หากใช้อาหารราคาถูก โปรตีนต่ำ อัตราการเจริญเติบโตของปลาก็จะต่ำลงด้วย บวกกับหากเลือกใช้ลูกพันธุ์ที่ราคาถูก ไม่มีคุณภาพ ท่านก็จะเจอกับปัญหาปลาโตช้า หรือ อัตรารอดต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยิ่งสูงขึ้นไป

สภาพพื้นที่เลี้ยงปลากะพง

วันนี้นิตยสารสัตว์น้ำขอพาท่านผู้อ่านมาติดตามความสำเร็จของ คุณประเทศ สังข์สุขศิริกุล หรือ คุณเพชร เจ้าของ “ปราโมทย์ฟาร์ม” ฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงคุณภาพ ตั้งอยู่ที่ ต.แสนสุข อ.อ่างศิลา จ.ชลบุรี ประสบการณ์เพาะเลี้ยงปลากะพงกว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ และปัจจุบันคุณเพชรมาสานต่อธุรกิจ

ฟาร์มแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 2.5 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ 1.โซนอนุบาลลูกปลา พื้นที่ 1.5 ไร่ ภายในโซนแบ่งเป็นบ่อปูนสำหรับอนุบาลลูกปลากว่า 46 บ่อ และโซน 2 สำหรับเพาะอาหาร พื้นที่กว่า 3 งาน สร้างเป็นบ่อปูนเพาะ “โรติเฟอร์” (อาหารลูกปลาวัยอ่อน)

สำหรับพ่อแม่พันธุ์ปลา ทางฟาร์มจะเลือกใช้แม่พันธุ์จากฟาร์มหลายๆ ที่มากถึง 4 ฟาร์ม  เพื่อป้องกันเลือดชิด โดยเน้นแม่พันธุ์ที่มีทรงสวย แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางฟาร์มได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนำพ่อแม่พันธุ์ปลาไปฝังชิพแล้วนำไข่มาเพาะเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นถัดไป ซึ่งประโยชน์ของฝังชิพในพ่อแม่พันธุ์ ก็เพื่อต้องการติดตามว่าปลาตัวไหนมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด เหมาะสำหรับนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นถัดไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งคุณเพชรย้ำว่า “เรื่องการฝังชิพเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจ และยังเป็นประโยชน์ต่อฟาร์มเพาะเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่ต้องมาคอยกังวงว่าลูกปลารุ่นนี้จะออกมาดีมั้ย จะโตดีรึเปล่า เพราะพ่อแม่พันธุ์ที่เราใช้ เรารู้แค่ว่าเค้าโตดีตามที่เราเห็น แต่พอมาใช้การฝังชิพทำให้เรารู้มากกว่าที่ตาเราเห็น รู้การเจริญเติบโต ทำให้เราเลือกได้ว่าจะใช้พ่อแม่พันธุ์ตัวไหน ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงให้เสียเวลา สามารถมั่นใจได้ว่าลูกปลาที่ออกมาจะโตดี แข็งแรง”

2.ลูกปลากะพง
2.ลูกปลากะพง

การเพาะพันธุ์ปลากะพง

ปัจจุบันทางฟาร์มกำลังพัฒนารุ่นที่ 2 จากการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีที่สุดที่ได้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ไปเรื่อยๆ เมื่อได้แม่พันธุ์ที่เหมาะสมแล้ว ทางฟาร์มจะนำปลามาเลี้ยงในบ่อปูนขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร ลึก 2 เมตร ปริมาตรน้ำประมาณ 120 ตัน อัตราการเลี้ยงตัวผู้ต่อตัวเมีย คือ 1 : 3 น้ำหนักขั้นต่ำที่เริ่มนำมาลงบ่อ คือ ตัวผู้ 3 กิโลกรัม และ ตัวเมีย 5 กิโลกรัม (พ่อแม่พันธุ์รุ่นใหม่) นอกจากนี้ยังมีพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์ภายในบ่ออยู่ที่ประมาณ 8-9 กิโลกรัม/ตัว

สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงจะมาจาก 2 แหล่ง คือ “น้ำเค็ม” จะเอามาจากทะเล ซึ่งจะมีคลองที่มีกระแสน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ ทางฟาร์มจะสูบน้ำผ่านคลองมาพักไว้ในบ่อพักเพื่อให้ตกตะกอน จากนั้นฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน 25 ppm พักไว้ 3 วัน จึงจะสามารถนำน้ำมาใช้เลี้ยงปลาได้

ส่วน “น้ำจืด” มาจากน้ำประปาเปิดใส่บ่อพัก ถ้าค่าน้ำปกติดีพักไว้ 2 วัน ก็สามารถนำมาใช้ได้เลย โดยระบบน้ำภายในฟาร์มจะเป็นระบบน้ำหมุนเวียน น้ำจะไม่เสียเลย เนื่องจากมีระบบกรองภายในตัวอยู่แล้วสามารถชักน้ำทิ้งเพื่อทำความสะอาดบ่อกรอง แล้วสามารถรันระบบต่อได้เลย จะเปลี่ยนน้ำแค่เฉพาะช่วงฉีดยาปลาเท่านั้น สำหรับการ “ผสมพันธุ์” ทางฟาร์มจะฉีดฮอร์โมนกระตุ้น หลังจากนั้น 48 ชั่วโมง จะปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ผสมกันเอง จากนั้นเก็บไข่ไปอนุบาลขั้นตอนต่อไปได้

โดยจะนำลูกปลามาอนุบาลในบ่อกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร เติมน้ำประมาณ 40 เซนติเมตร ใช้เวลาในการอนุบาล ถ้าหากเป็นปลาตุ้มจะใช้เวลาในการเลี้ยง 10 กว่าวัน ก็สามารถจับขายได้ หรือ ปลานิ้ว จะใช้เวลา 1 เดือน ในระหว่างการเลี้ยงจะมีการฝึกให้ปลากินอาหารเม็ดร่วมด้วย ทั้งปลาตุ้ม และ ปลานิ้ว ซึ่งเกษตรกรสามารถมั่นใจ นอกจากนีั้ยังมีการให้วิตามิน อาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของลูกปลา จะทำให้ลูกปลาแข็งแรง โตดี และมีอัตรารอดสูง

สำหรับการปลดระวางพ่อแม่พันธุ์ขึ้นอยู่กับปริมาณของไข่เสีย ทางฟาร์มจะมีบ่อพ่อแม่พันธุ์ 2 บ่อ จะฉีดผสมพันธุ์สลับกัน เพื่อให้ปลาได้พัก และ ฟื้นตัว ซึ่งปลาบางรุ่นสามารถใช้ได้นาน 3-4 ปี แต่หากเมื่อไหร่ที่ปริมาณของไข่เสียเยอะกว่าไข่ดี แสดงว่าพ่อแม่พันธุ์เริ่มแก่ ทางฟาร์มจะเปลี่ยนชุดปลาทันที

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณเพชรกล่าวว่า “อัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะนิ่งอยู่แล้วสำหรับปลาเล็ก แต่จะมีผลกับลูกบ่อที่เอาลูกปลาของเราไปเลี้ยงต่อ คือ ระยะเวลาการเลี้ยงต่อรอบจะสั้นลงเพราะปลาโตเร็วขึ้น” อัตราการรอดของของลูกปลาอยู่ที่ 70-80% ทางฟาร์มให้ความสำคัญกับพ่อแม่พันธุ์ที่ดี ลูกปลาจะออกมาสมบูรณ์แล้วพิการน้อย ซึ่งเกิดจากการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดี  แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้ลูกปลาออกมามีคุณภาพ ทั้งเรื่องการเตรียมน้ำ การเลี้ยง การอนุบาล อุณหภูมิ สภาพอากาศ

3.บ่อปลากะพง
3.บ่อปลากะพง

การบริหารจัดการบ่อปลากะพง

ในเรื่องของ “อาหาร” พ่อแม่พันธุ์ ทางฟาร์มจะให้เป็นเนื้อปลาข้างเหลือง โดยจะสั่งกับเรือประมงโดยตรง ราคาก็แล้วแต่ช่วงเฉลี่ยอยู่ที่ 50-70 บาท/กิโลกรัม และเสริมด้วยวิตามิน C / วิตามิน E จะให้วันละ 1 มื้อ สำหรับลูกปลาเล็กจะให้ “อาร์ทีเมีย” กระป๋อง มาใส่น้ำ 24 ชั่วโมง จะฟักเป็นตัว จึงจะนำมาให้ลูกปลา ให้วันละ 2 มื้อ

การทำความสะอาดจะใช้คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อทิ้งไว้ 1 วัน แล้วล้างปล่อยบ่อไว้ให้แห้ง สำหรับโรค คุณเพชรใช้คำว่า ไม่ทัน ฆ่าเชื้ออย่างเดียว ทำอะไรไม่ทัน เพราะว่าปลามันเล็ก ถ้าปลาป่วยมีอาการผิดปกติ วันเดียวก็ตายหมด เนื่องจากไม่เหมือนปลาใหญ่ที่จะมีเวลาให้รักษา ปลาเล็กไม่กินอาหารแค่ครึ่งวันก็ตายหมดแล้ว เขาเรียก ปลาปลิว นอนก้นบ่อตายหมด ไม่ทันได้รักษา แต่สำหรับปราโมทย์ฟาร์มไม่เคยเจอโรค เนื่องจากเลี้ยงในระบบปิด

คุณเพชรกล่าวต่อว่า เราไม่เคยใช้พ่อแม่พันธุ์เสียหาย ปลาจากฟาร์มเราไม่เคยป่วย เพราะว่าน้ำที่เราใช้มันเป็นน้ำที่หมุนเวียน โอกาสที่โรคจะมาทางเดียว คือ เหยื่อสด แต่โอกาสเกิดน้อยมาก เพราะในธรรมชาติก็กินเหยื่อสดอยู่แล้ว ทางฟาร์มก็เสริมวิตามินสร้างภูมิคุ้มกัน และตรวจคุณภาพน้ำอยู่ตลอด ทางฟาร์มให้ความสำคัญและดูแลพ่อแม่พันธุ์อย่างดีที่สุดอยู่แล้ว

สำหรับช่วงเปลี่ยนฤดู โดยฟาร์มจะมีโรงเรือนอยู่แล้ว อุณหภูมิจะนิ่ง ไม่ใช่แค่ฤดูหนาว ฤดูร้อน ก็จะต้องทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะอุณหภูมิมีผลต่อลูกปลา ทางฟาร์มพยายามควบคุมให้อุณหภูมินิ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อน้ำจากข้างนอกเข้ามาจะต้องปรับอุณหภูมิก่อน

4.คัดไซซ์ปลา
4.คัดไซซ์ปลา

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลากะพง

สำหรับต้นทุนในการเลี้ยง จากงบประมาณที่ต้องจ่ายประจำอยู่แล้ว  เช่น ค่าคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนละเกือบแสน เราไม่ได้เลี้ยงปลาก็เสียตรงนี้อยู่แล้ว สิ่งที่เพิ่มขึ้น คือ ค่ายาฉีดฮอร์โมน ค่าอาหารปลา อาร์ทีเมีย คุณเพชรกล่าวว่าราคาลูกปลาต้นปีจะตกตัวละ 20 สตางค์ กลางปีจะลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 10 สตางค์ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะอยู่เขตสองคลองเป็นหลักประมาณ 80-90% ที่เหลือจะเป็นทางภาคใต้ เช่น ระยอง และแถวแปดริ้ว แต่จะมีออเดอร์จากต่างประเทศบ้าง เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย กำไรต่อเดือนประมาณ 200,000-500,000 บาท โดยประมาณ บางเดือนขาดทุนก็มี เฉลี่ยๆ กันไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับภาพรวมปลากะพงปี 2565  ปีนี้ราคาค่อนข้างดีครับ เพราะว่าไม่ดีมา 2 ปีแล้ว มันจะเป็นรอบของมัน จะเป็นวัฏจักรเรื่องราคาอยู่แล้ว พอคนเลี้ยงน้อยลงเพราะราคาถูกมาก ก็เลิกเลี้ยงกัน จนปลาขาดตลาด ราคาก็จะดีอยู่ประมาณ 6-8 เดือน ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ราคาก็จะตกลงมาหน่อย พอปลายปีมันทำยาก ราคาก็จะกลับมาสูงขึ้น เป็นแบบนี้ปกติสำหรับปลาไซซ์ เพราะว่าราคาปลาเล็กจะขายดีไม่ดีขึ้นอยู่กับปลาไซซ์ ถ้าคนเลี้ยงเยอะ เอาปลาไปลงก็จะดี คุณเพชรกล่าว

โดยเป้าหมายในปีหน้า คุณเพชรจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ถ้าปีหน้ายังดีเหมือนปีนี้ ทางฟาร์มกำลังเตรียมพื้นที่เคลียร์บ่อเพิ่มเติม ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับช่วงเดือน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ 3 เดือนนี้ ลูกค้าจะใช้ปลาเยอะ ทางฟาร์มจะผลิตไม่ค่อยทัน

5.ไซซ์ที่ตลาดต้องการ
5.ไซซ์ที่ตลาดต้องการ

ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง

สุดท้ายคุณเพชรฝากถึงเกษตรกรว่า ช่วงนี้มันลำบากนิดนึง เพราะว่าปลากะพงเป็นปลาที่บริโภคภายในประเทศ พอราคาต้นทุนสูงขึ้น ราคาปลาก็จะผันผวนพอสมควร ห้องเย็นเหมือนกับได้ปลาเต็มตู้ อย่างนี้แล้วก็จะกดราคาลง พอเกษตรกรจะขาย 130 บาท อีกวันหนึ่งจะมาขายกลายเป็น 120 บาท กำไรส่วนต่าง 10 บาท ของเกษตรกรมันเยอะ มันก็เป็นเงินแสน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ปราโมทย์ฟาร์ม

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 396