ไชโยฟาร์ม สร้างระบบคุมน้ำ100 % เลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่น บ่อ 4 ไร่ ผลผลิต 25 ตัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ได้กุ้งที่มีคุณภาพ

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่อยู่ตอนล่างสุดของภาคกลาง มีพื้นที่ติดกับจังหวัดที่อยู่ตอนบนของภาคใต้นั่นก็คือ จังหวัดชุมพร จึงนับว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประตูด่านแรกสู่จังหวัดทางภาคใต้ นอกจากนั้นยังเป็นเมืองที่มีชายฝั่งทะเลยาวตลอดแนว ซึ่งถือได้ว่าทะเลนั้นเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรชาวประมงตั้งแต่บรรพบุรุษนั้นเอง

ทะเลสีครามนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเกษตรกรชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับ

“เกษตรกรหัวใจ ต้องสู้ คุณไชโย เก่งตรง เจ้าของไชโยฟาร์ม ที่ทำตามใจรักในอาชีพเลี้ยงกุ้งขาว ด้วยต้นทุนที่มีอยู่แล้ว คือ น้ำทะเลที่อยู่ไม่ไกลจากฟาร์มมากนัก คุณไชโย เก่งตรง เป็นผู้ทดลองเลี้ยงกุ้ง ลองผิดลองถูก มาตั้งแต่ พ.ศ.2537 จนสามารถสร้างสูตรสำเร็จแบบฉบับเป็นของตนเองที่เปิดกว้างให้ท่านผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาและวางแผนดำเนินการร่วมกันได้

กุ้งคุณภาพไซส์ดี

 

จากที่ทีมงานได้นั่งพูดคุย สืบสาว ราวเรื่องไปถึงประวัติ อันน่าทึ่ง ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ ว่าก่อนที่คุณไชโยจะพลิกผันตนเองมาเลี้ยงกุ้งนั้นได้ประกอบอาชีพมาแล้วมากมาย ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จากเด็กหนุ่มจบ ม.ศ.5 ชาวอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความใฝ่ฝันอยากมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ในทุ่งหญ้ากว้าง ไว้เป็นอาหารสัตว์ใหญ่ๆ เขียวขจีรอบล้อมฟาร์ม แต่ความฝันก็ไม่เป็นจริง หลังจากเรียนจบ เริ่มต้นการทำงานด้วยอาชีพของบรรพบุรุษนั้นคืออาชีพกระดูกสันหลังของชาติคือการทำนามามากว่า 10 ปีและยังมีอีกอาชีพนั่นก็คือการสร้างเรือปั่นและเรือล้อม ออกหาปลาในทะเล ในแถบจังหวัดสตูล     คุณไชโยผลิกบทบาท จากความเป็นเด็กชั่งคิด ช่างสงสัยประกอบกับความไม่อยู่นิ่งเฉย จับนั้น มาประกอบนี้และคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประยุกต์ ของที่มีให้เกิดเป็นระบบ ที่จะสามารถใช้งานได้ง่าย คุณไชโยเริ่มเข้าวงการกุ้งด้วยการรวมหุ้นกับเพื่อนทำฟาร์มเพาะลูกกุ้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดั่งใจหวัง ในเรื่องของการจำหน่ายผลผลิตไม่สามารถออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกแต่ในปัจจุบันนี้คุณไชโยก็มีฟาร์มเช่นกัน แต่เป็นฟาร์มที่แตกต่างจากที่ฝันไว้เมื่อช่วงเป็นเด็กหนุ่มจบใหม่นั่นก็คือ ฟาร์มกุ้ง ที่ลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่ใครจะเชื่อเลี้ยงเพียง 3 ครอป สามารถคืนทุนได้

ช่วงแรกที่ทำการเลี้ยงกุ้งนั้นได้หุ้นกับพี่ชายท่านหนึ่งชื่อว่า คุณนุกูล ทำการเลี้ยงจำนวน 10 บ่อ เลี้ยงด้วยกันมาประมาณ 15 ปี ที่บางเบิด ต่อมาได้ลงทุนกับคุณนุกูลอีกที่ถ้ำธงในพื้นที่ 500 ไร่ ใช้เวลาเกือบ 9 ปี โดยวางผังการเลี้ยงเป็นโซน ๆ แรกเลี้ยงกุ้ง 7-8 บ่อ ได้กำไรในช่วงนั้นถือว่าสวยงามเลย จึงมีความคิดร่วมกันกับหุ้นส่วนที่จะขยับขยายบ่อจนเต็มพื้นที่ ซึ่งการเลี้ยงนั้นคุณไชโยจะได้ส่วนแบ่ง 10 % ของกำไรที่ได้ / รอบการเลี้ยง และเมื่อมีทุนในการขยับขยายเลี้ยงกุ้งจนเต็มพื้นที่แล้ว ได้มีผังของฟาร์มที่ได้เปรียบกว่าที่อื่นๆ ตรงที่อยู่ใกล้กับทะเล จึงใช้น้ำทะเลเลี้ยงกุ้งได้ง่าย และได้ทดลองค่อยเป็นค่อยไป เกิดการเรียนรู้และออกแบบบ่อ รวมถึงระบบน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งกับน้ำทะเล และเนื่องจากคุณไชโยและคุณนุกูลได้หุ้นทำฟาร์มกุ้งหลายที่ ทั้งใน จ.ประจวบฯ จ.ระนอง และ จ.ภูเก็ต ซึ่งในแต่ละที่นั้นก็จะมีทั้งการเลี้ยงโดยใช้น้ำคลองและการเลี้ยงโดยใช้น้ำทะเล ซึ่งถ้าใช้น้ำแตกต่างกันระบบน้ำและการออกแบบบ่อก็จะต่างกันไปด้วย ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการเลี้ยงนั้นๆ ว่าใช้น้ำอะไรในการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งถ้าทำเป็นระบบของคุณไชโยแล้วรับประกันได้ว่าเลี้ยงรอด 100% แต่การลงทุนในการเลี้ยงนั้นค่อนข้างสูง คุณไชโยเปิดเผยกับทีมข่าวของเราว่า บ่อกุ้งขนาด 4 ไร่ ลงทุนเกือบ 5 แสนบาท ถ้ารวมอุปกรณ์ในการเลี้ยงด้วยแล้วตกอยู่ที่บ่อละ 4,000,000 บาท

 

เครื่องมือที่ใช้ในฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand
  1. ใบพัด
  2. เครื่องซุปเปอร์ชาร์ต 4 ตัว/ไร่
  3. หลักปักโครงเหล็กหุ้มด้วย PE เพื่อกันสนิม
  4. PE ปูพื้นราคา 100,000 บาท/ไร่

หลังจากที่คุณไชโยได้หุ้นเลี้ยงกุ้งกับคุณนุกูลมาเป็นเวลานับ 10 ปี ก็ได้แยกตัวเองออกมา ด้วยความที่อยากลองออกมาพัฒนาระบบของตนเอง ตามที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้จึงได้เริ่มมาทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งในรูปแบบตนเองบริหารจัดการตามระบบของตนเองเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีหุ้นส่วนรายใหญ่ชาวจังหวัดชลบุรีมาทำการลงขันร่วมหุ้นให้ ซึ่งระบบการเลี้ยงแบบของคุณไชโยนั้นจะเลี้ยงเลียนแบบบ่อเพาะทุกอย่าง คือ มีบ่อเลี้ยงและบ่อบำบัด ทุกบ่อจะต้องปูบ่อด้วย PE 100% เมื่อปูเสร็จจะต้องทำการซีนโดยการดูดอากาศที่อยู่ใต้ PE ออกให้หมด และ PE ที่ฟาร์มของคุณไชโยใช้นั้นจะต้องมีความหนา 0.75 มม. ถ้าความหนาน้อยกว่านี้จะทำให้การซ่อมแซมเวลารั่ว ซึม นั้นเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นความหนา 0.75 มม. ที่คุณไชโยใช้อยู่ที่สามารถปะซ่อมได้จึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น “ถ้ามีทุนน้อยไม่ปู PE ได้ไหม” มีเกษตรกรหลายท่านเคยถามเช่นนี้ คุณไชโยบอกไว้ว่าไม่แนะนำ เพราะเมื่อเราเลี้ยงกุ้งในบ่อดิน การควบคุมน้ำ ควบคุมแพลงก์ตอนพืช นั้นจะยากกว่า ถ้าไม่ใช่บ่อที่ปู PE ค่า pH ก็จะคุมให้มีความเสถียรได้ยาก ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่น่าคิดถึงแม้การลงทุนจะสูง แต่คุณไชโย การันตีว่า ในระบบนี้ เลี้ยงกุ้ง 3 รอบก็สามารถคืนทุนได้แล้ว อยู่ที่ว่าคนเลี้ยงจะกล้าลงทุนหนักๆในรอบแรกหรือไม่

เรื่องโรค ในการเลี้ยงกุ้ง “โรค” ถือเป็นด่านปราบเซียน ท้าทาความสามารถของคนเลี้ยงสุดๆ ทั้งโรคตัวแดง หัวเหลือง หลังขาวหรือที่กำลังฮิต ติดจรวดอย่าง โรค EMS นั้น คุณไชโยเชื่อว่าเกิดจากสายพันธุ์กุ้งบางส่วนและการจัดการภายในบ่อเลี้ยง การเลือกใช้ลุกกุ้งคุณภาพ จากแหล่งที่ได้มาตรฐานเป็นอีกทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหา ฉะนั้นในรอบการเลี้ยงใหม่ ทางฟาร์มจะทดลองใช้กุ้งจากฟาร์มของบริษัทชั้นนำ ที่มีการพัฒนาเรื่องของสายพันธุ์ที่ดี โตเร็ว มาเลี้ยงเปรียบเทียบ ระยะลูกกุ้งที่ทางฟาร์มปล่อย จะใช้ลูกกุ้งขนาด P12 และไม่จำเป็นต้องชำก่อน สามารถปล่อยลงบ่อเลี้ยงได้เลย เนื่องจากรอบแรกที่คุณไชโยเลี้ยงนั้น ใช้ลูกกุ้งที่ได้จากการชำ โดยปล่อยลูกกุ้งลงชำจำนวน  2,000,000 ตัว ในบ่อเพาะ  ชำ1 เดือนได้ลูกกุ้ง P30  อัตรารอดประมาณ 1,400,000 ตัว จึงย้ายมาลงบ่อเลี้ยงไม่มีความแตกต่างจากการปล่อยกุ้งขนาด P12 ลงเลี้ยงแต่อย่างไร จึงตัดส่วนของการชำลูกกุ้งออกไป

การเตรียมบ่อ

               ถ้าบ่อลึก 7 เมตร จะใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร 50 เซนติเมตร ซึ่งบ่อที่ลึก 7 เมตร นี้ ตอนแรกคุณไชโยกะเอาไปใช้เป็นบ่อพักน้ำ แต่ไม่ได้ใช้พักน้ำแล้ว จึงได้ทดลองมาใช้เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งแทน ผลปรากฎว่าบ่อ 7 เมตร นี้ สามารถใช้เลี้ยงกุ้งได้ จึงได้ใช้มาเป็นบ่อเลี้ยงที่สร้างความฮือฮาในการประชุมที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองจำกัดจัดขึ้น ซึ่งคุณไชโยได้ไปร่วมประชุมเสวนาเทคนิคการเลี้ยงกุ้งฝ่าวิกฤต EMS ตัวจริง ว่าด้วยการเป็นเจ้าของสถิติ 18 ตัน/ไร่ ซึ่งถ้าเป็นบ่อเลี้ยงโดยปกติแล้วจะเป็นบ่อที่มีความสูง 4 เมตร จุน้ำได้ 3 .50 เมตรสโลปคันประมาณ1.5 เมตร สโลปพื้นบ่อประมาณ 10.50 เมตร ปู PEซีน 100% แต่ที่ฟาร์มของคุณไชโยจะมีปัญหาอยู่ 1 บ่อ คือบ่อที่ PE รั่ว จึงต้องมีระบบดูดน้ำออกใต้ PE ตลอด ซึ่งระบบของคุณไชโยนั้นจะไม่มีใครกล้าทำตาม อย่างที่กล่าวได้ข้างต้นเพราะต้องใช้งบการลงทุนสูง

“มาดูแลฟาร์มที่ประจวบและที่ระนองทำอย่างไร” การทำงานนั้นจะตั้งเป้าหมายไว้ว่า การที่เราจะทำให้ประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กันได้นั้น เราต้องบริหารคนให้เป็น ทางระนองจะมีผู้จัดการฟาร์ม แต่เราวางระบบไว้หมดแล้ว ผู้จัดการที่คุณไชโยเลือกก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจระบบที่เราวางไว้ และบริหารคนให้เป็น แต่เรื่องสีน้ำ เรื่องเติมน้ำ ทางเราจะมีสูตรตายตัวอยู่แล้วว่าถ้า pH ช่วงเช้ากับช่วงเย็นห่างกันเยอะจะต้องเติมน้ำลงในบ่อเลี้ยงเท่าไหร่ เป็นต้น ซึ่งฟาร์มที่จังหวัดระนองจะใช้เป็นระบบน้ำคลองซึ่งยังมีปัญหาอยู่ในเรื่องของขี้แดด ที่นั่นบ่อประมาณ 3 ไร่ครึ่ง เลี้ยงไว้ 1 บ่อ เพื่อทดลองว่าผลผลิตที่ได้ระหว่างน้ำทะเลกับน้ำคลองแตกต่างกันหรือไม่ สรุปได้เลยว่าไม่ต่างกันเพราะที่จังหวัดระนองลากไปครั้งที่แล้วได้กุ้งน้ำหนักถึง25 ตัน เลยทีเดียวและครอปล่าสุดลงกุ้งใหม่ไปแล้ว 96 วัน ตอนนี้กินอาหารต่อมื้ออยู่ที่ 800-900 กิโลกรัม/วัน คุณไชโยกล่าวว่า กว่าจะได้ระบบสูตรสำเร็จมานั้น มูลค่าในการลงทุน คิดเป็นตัวเงินประมาณ 24,000,000 บาท

การจัดการระบบน้ำ ถ้าเป็นระบบน้ำคลองที่ จังหวัดระนองจะมีการจัดการระบบบ่อทั้งหมดด้วยบ่อ 4 บ่อคือ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
  1. บ่อสต๊อกน้ำ
  2. บ่อบำบัดน้ำ
  3. บ่อนำน้ำเข้าไปใช้
  4. บ่อเลี้ยง

ทำไมถึงให้ความสำคัญกับระบบน้ำ

  1. ระบบน้ำ คุณไชโยกล่าวว่า ถือเป็นหัวใจสำคัญเลยก็ว่าได้ฉะนั้นภายในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของตน จะต้องบ่อพักน้ำจำนวน 2 บ่อ เนื่องจากมีพื้นที่ฟาร์มจำกัด บ่อแรกจะเป็นบ่อพักน้ำ ที่ดูดน้ำทะเลมาพักไว้ และเติมปูนแคลเซียมให้น้ำเป็นสีน้ำข้าว จากนั้นน้ำเก่าที่พักอยู่ในบ่อแล้ว จะถูกน้ำใหม่ดันให้เคลื่อนตัวไปยังบ่อที่ 2 ซึ่งมีท่อเชื่อมต่อกันเพื่อให้ตกตะกอนอีกครั้ง และวางท่อเพื่อสูบน้ำด้านบน ที่ผ่านการตกตะกอนแล้วนำไปใช้ในบ่อเลี้ยงต่อไป
  2. บ่อเลี้ยง ภายในบ่อจะมีเครื่องตีน้ำโดยรอบทั้งแขนสั้นและแขนยาว ส่วนตรงกลางบ่อจะเป็นท่อที่สามารถดูดเลนจากกลางบ่อออกไปยังบ่อเก็บเลนได้และเปลี่ยนถ่ายน้ำปกติ จากมุมมองและความคิดเห็นส่วนตัว คุณไชโยจะไม่เน้นการทำสีน้ำและไม่มีการเติมแร่ธาตุหรือจุลินทรีย์ใดๆ ลงบ่อเลี้ยงเลย เนื่องจากยึดหลักการเลี้ยงกุ้งเมื่อ 10 ปีก่อน เลี้ยงได้แบบใดก็เลี้ยงแบบนั้น แต่ก่อนที่จะนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงจะใช้ท่อ pvc เจาะรอบๆ และใช้ผ้าสปันบอนด์ที่มีความถี่มาพันรอบท่อ จากนั้นใช้น้ำที่ผ่านการกรองได้จากบ่อพักที่ 2 มาเติมเข้าบ่อผ่านการกรองจากท่อ pvc ที่พันด้วยผ้าสปันบอนด์เรียบร้อยแล้ว แขวนไว้ตามแนวขอบบ่อ 2 ด้านจาก 4 ด้านของคันบ่อ

ความแตกต่างระหว่างบ่อเลี้ยงกุ้งที่จังหวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ ที่จังหวัดระนองจะเป็นน้ำคลองส่วนที่จังหวัดประจวบจะเป็นน้ำทะเลซึ่งคุณภาพน้ำทะเลจะดีกว่าน้ำคลอง ตรงที่ว่าไม่ต้องบำบัดน้ำมาก ความเค็มทั้ง 2 ที่นี้เท่ากันคือ 34-35 น้ำคลองจะลำบากในช่วงแรกคือ ต้องปรับน้ำให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งส่วนระยะต่อจากนี้ก็เหมือนกันหมดไม่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นอัตราการรอดหรือผลผลิตที่ได้

อัตราการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง

               ช่วงแรกที่หุ้นกับคุณนุกูลลงเลี้ยงประมาณ 1,200,000 ตัว/ไร่ แต่เมื่อมาทำการเลี้ยงด้วยระบบตนเองจึงทดลองเลี้ยงเพิ่มจากเดิมเป็น 2,000,000 ตัว/ไร่ มีอัตรารอดประมาณ 1,500,000 ตัว/ไร่ ที่กล้าปล่อยกุ้งในอัตราที่หนาแน่นก็เพราะเราเชื่อว่าระบบที่เราลงทุนไป สามารถรองรับกุ้งและสามารถจัดการ ควบคุม ทุกอย่างได้

อาหารและการให้อาหาร

               เรื่องอาหารนั้นคุณไชโยได้ให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจใช้อาหารของ บริษัท โกรเบสท์คอร์โพเรชั่น จำกัด ถือว่าคุณภาพอาหารใช้ได้เลยทีเดียว โดยเริ่มให้จากเบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 จนถึง 3L แต่ไม่ถึงขั้นเบอร์ 4 เพราะใช้เวลาเลี้ยง 90 วัน กุ้งที่เลี้ยงได้ ขนาด 80 ตัว/กิโลกรัม แต่ชุดหลังนี้จะเลี้ยง 80 วัน และคิดว่าเป้าหมายของเรา คือ 50 ตัน/ครอป การให้อาหารให้โดยการหว่านมือ แบ่งย่อยออกเป็นมื้อ ทั้งหมด 11 มือ เริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. – 03.00 น. ให้อาหารทุกๆ 2 ชม. ปรับลดอาหารผ่านการเช็คยอและการหว่านอาหารจะแบ่งย่อยลงไปอีกตามยอที่เช็คได้ว่า ยอมุมไหนกินหมดก็เพิ่มอาหารเฉพาะในมุมนั้น มุมไหนกินไม่หมดหรือคงที่ก็ปรับลดอาหารที่จะให้ในมุมยอนั้นตามยอที่เช็คได้จริง ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่ากุ้งในบ่อเราอยู่มุมไหนและทำให้สังเกตได้ว่ากุ้งขาวนั้นจะกินอยู่ประจำแต่ละมุมยอที่วาง ไม่ได้ล่องกินทั่วบ่อแต่อย่างใด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เป้าหมายในการเลี้ยงกุ้ง

               ครอปที่คุณไชโยปล่อยเลี้ยงไปอัตราปล่อย 2,000,000 ตัว/ไร่ นั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางฟาร์มจะสามารถเลี้ยงกุ้งให้มีอัตรารอด 7,500,000 ตัว/บ่อ ในบ่อขนาด 4 ไร่ ซึ่งคิดเป็นตันประมาณ 25 ตัน ขนาดไซส์ที่เลี้ยงได้ประมาณไซส์ 100 ตัว/กิโลกรัม คุณไชโยคิดว่าปริมาณอัตราปล่อยที่หนาแน่น ผลผลิตที่เลี้ยงตนเองเอาอยู่ ควบคุม ดูแลได้ทั้งระบบอย่างแน่นอน เพราะตนมั่นใจว่าระบบที่เลี้ยงอยู่นั้นจะให้อัตราการรอดที่สูงกว่า การเลี้ยงแบบทั่วไป การเลี้ยงในบ่อที่ปูPE ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคEMS หรือโรคต่างๆน้อยกว่าการเลี้ยงในระบบบ่อดินเพราะเชื้อโรคจะเข้าสู่บ่อเลี้ยงยากกว่าการเลี้ยงในบ่อดินอย่าง เมื่อทราบอย่างนี้แล้วเกษตรกรท่านใดยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็สามารถเดินทางไปสอบถาม ณ สถานที่เลี้ยงได้ที่ หมู่บ้านต้นเกตุ ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

DSC_0008

นิตยสารสัตว์น้ำ

[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]