แฝดสยาม ดำ/ขาว กุ้งกุลาดำ กุ้งขาววานาไม เศรษฐกิจ ต้องพิชิตตลาดโลก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เพราะความที่ กุ้งกุลาดำ อดีต คือ กุ้งดาวรุ่งของไทย นำเงินเข้าประเทศกว่าแสนล้านบาท/ปี จึงเป็นกุ้งที่คนใจจดจำ

วันนี้มีหลายคนในวงการจะนำกุ้งดำกลับมา โดยหวังว่าจะเป็น แฝดสยาม ดำ/ขาว 2 กุ้ง รุ่งในตลาดโลก

กุลาดำ มีจุดเด่นหลายประการ เช่น พ่อแม่พันธุ์ หาได้จากทะเลไทย และวันนี้มีการผลิตพ่อแม่พันธุ์ได้คุณภาพ มีรสชาติอร่อย ปรุงได้หลายเมนู ขณะที่ กุ้งขาววานาไม โดดเด่นตรงที่เป็นกุ้งที่ตลาดมีความต้องการ มีสายพันธุ์ให้เลือกมากมาย ทั้งแม่นอก และ แม่ใน

เหตุนี้หลายคนพยายามจะส่งเสริมการเลี้ยงกุลาดำ แต่ไปไม่ถึงฝั่ง เพราะอุปสรรคมากมาย

1.อาจารย์บัลลังก์ และทีมงานที่ร่วมวิจัย
1.อาจารย์บัลลังก์ และทีมงานที่ร่วมวิจัย

การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กุ้งขาววานาไม

มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี หนึ่งในผู้ปลุกปั้นกุลาดำ โดยการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ให้ตอบสนองทางธุรกิจ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น หรือเฟส 1 ซึ่งวันนี้มีเอกชนเข้ามาร่วมอย่างเป็นทางการ

อาจารย์บัลลังก์ เนื่องแสง อดีตลูกหม้อซีพี ได้นำทีมงานฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนได้พ่อแม่พันธุ์กุลาดำ ที่จะเป็นฐานการผลิตให้เอกชนผู้สนใจลงทุนเลี้ยงในเชิงธุรกิจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษ ทีมข่าวพลังเกษตร ด้านสัตว์น้ำ ปลายปี 63

ประเด็นแรกอาจารย์เปรียบเทียบด้านต้นทุนการเลี้ยง ระหว่างกุ้งดำ/กุ้งขาว ว่า กุ้งขาววานาไมช่วงแรกโตเร็ว เลี้ยง 2-3 เดือน ได้ไซซ์ 80-100 ตัว/กก. เป็นที่ต้องการของตลาด แต่กุลาดำไซซ์ 80-100 ตัว/กก. ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าวานาไม 10-15 วัน

ขณะที่ ต้นทุน การเลี้ยงกุลาดำต่ำกว่า ไม่ต้องปรุงแต่งน้ำเลี้ยง ด้วยการซื้อสารเคมีมาผสม แต่ทุกวันนี้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งขาวสูงขึ้นมาก เพราะเลี้ยงแบบหนาแน่น ต้องปรุงแต่งน้ำเลี้ยง และต้องใช้พลังงาน เช่น การให้ออกซิเจนมากขึ้น ทั้งๆ ที่วานาไมเลี้ยงแบบไม่หนาแน่น ต้นทุนจะต่ำ

2.บ่อทดลองเลี้ยงกุ้งขาว และ กุ้งกุลาดำ ร่วมกัน
2.บ่อทดลองเลี้ยงกุ้งขาว และ กุ้งกุลาดำ ร่วมกัน

สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง

ที่อาจารย์บัลลังก์กล้าฟันธงอย่างนี้ เพราะได้เลี้ยงกุ้งดำ/กุ้งขาวในบ่อเดียวกัน ในมหาวิทยาลัย

โดยปล่อยลูกกุ้งดำในบ่อสัก 2-3 สัปดาห์ แล้วปล่อยลูกกุ้งขาวตาม ทำให้ระบบนิเวศในบ่อขณะเลี้ยงสะอาด เพราะกุ้งดำชอบอยู่พื้นบ่อ คุ้ยเขี่ยจนดินก้นบ่อได้ปรับสภาพ สารต่างๆ ที่เป็นมลพิษจะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ขณะที่กุ้งขาวชอบว่ายอยู่ข้างบนเพื่อหาอาหาร ทั้ง 2 กุ้ง จึงเกื้อกูลกันในระบบนิเวศ และระยะเวลาจับกุ้งก็จับใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเป็นการตัดวงจรโรคต่างๆ ได้ดี แต่ก็มีปัญหากับ แพกุ้ง อยู่บ้าง ตอนจับคัดไซซ์ อาจารย์บัลลังก์ส่งเสริมให้เลี้ยงเชิงเดี่ยวมากกว่า แต่ที่ต้องทดลองเลี้ยงรวมกันก็เพื่อหาข้อดี/ข้อด้อยเชิงวิจัยไปในตัว

ม.บูรพา ไม่ได้เลี้ยงกุ้งดำแบบโดดเดี่ยว แต่ได้รับความอนุเคราะห์งบวิจัยจาก สวทช. หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์ทดสอบพันธุกรรมกุ้ง และทำวิจัยร่วมกับ จุฬาฯ มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ตั้งแต่ปี 39 โดยการนำพ่อแม่พันธุ์กุลาดำมาเลี้ยง และปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการ เพื่อคัดสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ ข้อมูลการเลี้ยงทุกเรื่องถูกส่งไปยังหน่วยงานภาคีเพื่อบันทึกและศึกษาต่อ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ตอนนี้เราฟันธงได้ว่าควรใช้พ่อแม่พันธุ์จากแหล่งไหนบ้าง เรามีองค์ความรู้ตรงกันพอสมควร ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้ว เราเลี้ยงลูกกุ้งดำจนเป็นพ่อแม่พันธุ์ แล้วส่งไปให้โรงเพาะนักเอกชนผลิตลูกกุ้ง เพราะถ้าเพาะพันธุ์เองจะเกิดการเข้าข้างตัวเอง ตอนนี้มีคำตอบชัดเจน ไม่ต้องใช้พ่อแม่พันธุ์จากกุ้งทะเลก็ได้ อาจารย์บัลลังก์ยืนยันถึงความสำเร็จในการผลิตพ่อแม่กุลาดำคุณภาพเท่ากุ้งธรรมชาติ

ที่โดดเด่นกว่า คือ พ่อแม่พันธุ์กุลาดำที่ผลิตจาก ม.บูรพา สามารถรู้อัตราการเจริญเติบโต รู้พันธุกรรม รู้อายุ และพฤติกรรม เมื่อเกษตรกรซื้อไปเลี้ยงก็ต้องหาข้อมูลตลอด โดยเฉพาะการดูคุณภาพลูกกุ้งว่าเป็นอย่างไร

เนื่องจาก ม.บูรพา จันทบุรี พื้นที่ 140 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.โขมง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พื้นที่ติดทะเล เอื้อต่อการทำ น้ำเค็ม มาใช้ในการเพาะเลี้ยง และทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดเพื่อใช้งาน

3.กุ้งกุลาดำที่กำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นแม่กุ้งต่อไป
3.กุ้งกุลาดำที่กำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นแม่กุ้งต่อไป

การพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ

ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงต้องออกแบบการใช้พื้นที่ ให้สอดรับกับภารกิจวิจัยและพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ปลากะพงขาว ปลาเก๋า หอยนางรม และ ปูทะเล เป็นต้น โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ เป็นไฮไลท์สำคัญ

พื้นที่ 140 ไร่ ใช้เป็นบ่อเลี้ยงเกือบ 20 บ่อ บ่อพักน้ำขนาด 3.5 ไร่ บ่อพักน้ำเค็ม 4 บ่อ อยู่ใต้อาคาร โรงเรือน ที่บรรจุบ่อ PE เลี้ยงพ่อแม่กุลาดำ อาคารห้องแลป ห้องประชุม และอาคารสำนักงาน เป็นต้น ขณะนี้พื้นที่ถูกใช้งานเกือบเต็มรูปแบบ ภายใต้เป้าหมายเดียว คือ วิจัยในห้องแลปมาตรฐาน แล้วนำข้อมูลไปสู่การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และสัตว์น้ำตัวอื่นๆ ในบ่อต่างๆ โดยจะต้องทำให้เกิด เม็ดเงิน คุ้มค่าแก่การลงทุน และเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่วงการกุ้งและสัตว์น้ำ เป้าหมายของมหาวิทยาลัย

ดังนั้นองค์ความรู้ เรื่องสายพันธุ์ การจัดการ อาหาร เวชภัณฑ์ และน้ำเลี้ยง เป็นต้น ที่ผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ถูกนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งในภาครัฐ และเอกชน อย่างได้ผล

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เช่น เครื่องตรวจหาเชื้อแบคทีเรียแบบเรียลไทม์ ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ให้มา เป็นต้น หรือเครื่องตรวจเชื้อก่อโรค ก็เป็นสิ่งจำเป็นตรวจก่อนลงกุ้ง หรือสุ่มตรวจเดือนละครั้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ ม.บูรพา จะวิจัยและพัฒนาผลิตพ่อแม่พันธุ์คุณภาพ จนผู้เพาะพันธุ์นำไปผลิตลูกกุ้งสู่ผู้เลี้ยงได้สำเร็จ แต่เมื่อถามว่าอุปสรรคของการผลิตในทางการค้าคืออะไร อาจารย์บัลลังก์ยืนยันว่า แม้จะผลิตพ่อแม่พันธุ์ในบ่อดินระบบไบโอซีเคียวได้ในปริมาณมากพอสมควร บ่อละ 5,000 คู่ ขณะที่โรงเพาะฟักใช้ 500-600 คู่ จึงเกินความต้องการ

บางคนยังติดยึดอยู่กับการผลิตพ่อแม่พันธุ์ ต้องเลี้ยงในโรงเรือนมาตรฐานระบบไบโอซีเคียว จึงยังไม่กล้าใช้พ่อแม่พันธุ์ของ ม.บูรพา ทั้งๆ ที่การเลี้ยงกุลาดำในบ่อดินระบบไบโอซีเคียว ทำให้ได้กุ้งแข็งแรง ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เลี้ยงแล้วรอด 90-95% เมื่อพ่อแม่กุ้งแข็งแรง ลูกกุ้งก็แข็งแรง

อย่างไรก็ดี วันนี้มีบริษัทใหญ่ๆ สั่งพ่อแม่กุลาดำของ ม.บูรพา ไปเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 3 บริษัท แสดงถึงความมั่นใจในคุณภาพ

4.สภาพบ่อเลี้ยงหลังจับกุ้ง
4.สภาพบ่อเลี้ยงหลังจับกุ้ง

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

เรื่องการเลี้ยงกุ้งพ่อแม่พันธุ์กุลาดำ หรือวานาไม ในบ่อดิน หรือในโรงเรือน ที่มาตรฐานน้อย จะต้องคำนึงให้มากๆ คือ พันธุกรรม และการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค ดังนั้นถ้าจะเอาไปเลี้ยงต้องให้กรมประมงตรวจ

เมื่อสายพันธุ์กุ้งดี กุลาดำขนาด P14-15 ที่เลี้ยงในบ่อดิน 5 เดือน จับขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ เรื่องพันธุกรรมจึงมีความสำคัญ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ได้ทดลองเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลอดเชื้อในบ่อ PE น้ำ 60 คิว ซึ่งเป็นกุ้งที่ผ่านการเลี้ยงมา 10-11 เดือน จำนวน 200 คู่ น้ำหนักตัวเมีย 100-110 กรัม และตัวผู้ 100 กรัม เพื่อหาข้อมูลหลายๆ ด้าน

นอกจากนี้ ม.บูรพา ได้ทดลองเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาววานาไมอายุ 4-4.5 เดือน มาขุนในบ่อดินระบบไบโอซีเคียว โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ หรือ วช. ก็ประสบความสำเร็จง่ายกว่าการผลิตพ่อแม่กุ้งกุลาดำ

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์บัลลังก์จึงแนะนำให้เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งขาวมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำสลับบ้าง โดยปล่อยลูกกุ้งแบบไม่หนาแน่น เป็นการตัดวงจรโรคไปในตัว แต่บ่อเลี้ยงไม่ควรปู PE พื้นบ่อ เพราะกุ้งจะไม่มีหน้าดินให้ขุดคุ้ย และสีกุ้งจะดีกว่า มีจุลินทรีย์ธรรมชาติเกิดในบ่อให้เก็บกินของเสีย

ที่นี่เคยเลี้ยงในบ่อปู PE สำเร็จน้อยมาก ยกเว้นกุลาดำบางพันธุ์ ที่มีพฤติกรรมเหมือนกุ้งขาว กุ้งดำในบ่อดินโตดี สีสันสวย หนวดยาว ทุกอย่างดีหมด อาจารย์บัลลังก์ยืนยันถึงความสำคัญของบ่อดิน

ต้องการให้อาจารย์บัลลังก์เปรียบเทียบ รสชาติ ระหว่างกุ้งดำ/กุ้งขาว ก็ได้คำตอบว่า เลี้ยงที่เดียวกัน คุณภาพน้ำเดียวกัน อาหารเดียวกัน แต่ยืนยันว่ากุลาดำรสชาติอร่อยกว่า

แต่ถ้าเลี้ยงกุลาดำเชิงพาณิชย์ ต้องเป็น กุ้งพรีเมียม ต้องเลี้ยงเชิงเดี่ยว ปล่อยลูกกุ้ง 30,000-50,000 ตัว/ไร่ หรือ 80,000 ตัว/ไร่ จากนั้น 3-3.5 เดือน แล้วพาเชียนออก ที่เหลือเลี้ยงเป็นกุ้งไซซ์ใหญ่ 60 ตัว/กก.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากเป็นฟาร์มกุ้งกุลาดำเพื่อวิจัยและพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ ปัจจัยการผลิตทุกอย่างต้องได้มาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางตัวได้การสนับสนุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  หรือ เนคเทค เช่น เครื่องตรวจคุณภาพน้ำจากมือถือ หรือแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำ ในดิน และในตัวกุ้ง ก็มีเครื่องมือติดตาม หรือเครื่องมือชุดตรวจไวรัส ESP แบบง่ายๆ 3 ชั่วโมง รู้ผล ก็ต้องได้มาตรฐาน

ดังนั้น ม.บูรพา 2564 แม้โควิดรอบ 2 ระบาด ก็ไม่ได้ทำให้อาจารย์บัลลังก์และทีมงานย่อท้อ กลับเดินหน้าพัฒนาให้ได้คุณภาพมากขึ้น ภายใต้การบริหารปัจจัยการผลิต ที่ต้องคำนึงถึง ต้นทุน และการให้บริการคู่ค้า ด้วยความรับผิดชอบ

5.กุ้งกุลาดำไซซ์ที่ตลาดต้องการ
5.กุ้งกุลาดำไซซ์ที่ตลาดต้องการ

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุ้งกุลาดำ กุ้งขาววานาไม

อย่างไรก็ดีวงการกุ้งกุลาดำวันนี้เริ่มมีผู้เล่นมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำตำบลบ้านใหม่ ฉะเชิงเทรา กว่า 600 บ่อ ป้อนตลาดกุ้งอ๊อกเป็นหลัก โดยเลี้ยงแบบปล่อยบางก็ได้ผลดี คุ้มค่าแก่การลงทุน ซึ่งแน่นอนแหล่งเลี้ยงกุ้งกุลาดำในอดีตอยู่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน แต่วันนี้กำลังจะเกิดที่ภาคตะวันออก ด้วยเหตุผลต้นทุนโลจิสติกส์ และผู้เพาะเลี้ยงหลายคนมีฝีมือ

สำหรับในเรื่องโรค และวิธีการเลี้ยงอย่างไรให้ได้ไซซ์ที่ตลาดต้องการ วันนี้มีนักวิจัยลุยงานเชิงธุรกิจมากขึ้น จนได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยเฉพาะ แม้แต่ผู้ทำตลาดกุ้งอ๊อกส่งจีน ยกทีมมาบุกที่ตะวันออกมากขึ้น

ถ้าคนในวงการกุ้งดำเริ่มขยับ เท่ากับการกรุยทางไปสู่กุลาดำแช่แข็ง คู่ขนาดกับกุ้งขาววานาไม ซึ่งถ้าถึงตอนนั้นประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตกุ้งขาวและดำ แฝดสยาม ที่ทำเงินเข้าประเทศกว่าแสนล้านบาท/ปี

ต้องย้ำว่า “รสชาติ” คือ “จุดขาย” สำคัญ และวันนี้ “สายพันธุ์” มีทั้งในธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยง ต่างจากอดีตที่พ่อแม่กุลาดำได้จากทะเลเป็นหลัก ดังนั้นความพร้อมในการผลิตลูกกุ้งและกุ้งเนื้อจึงมากกว่าในอดีต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 378