การเลี้ยงไก่งวง มาตรฐานส่งออก ประกันราคารับซื้อ 130 บาท/กก. ราคาไข่ 50 บาท/ฟอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับเมืองไทย  “สัตว์เศรษฐกิจ” ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี จากผลผลิตการส่งออกในรูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งจำหน่ายตลาดในประเทศเองก็ตาม ทั้งนี้เมื่อเอ่ยถึง สัตว์เศรษฐกิจ ผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ก็จะนึกไล่เรียงถึงสุกร โค เป็ด ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และ อื่นๆ ลดหลั่นกันลงมาตามแต่จะนึกถึง ทว่าคำว่า “อื่นๆ..”  ไม่ได้หมายความว่า ไม่น่าสนใจ หรือไม่มีความสำคัญ เพียงแต่อาจเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ยังใหม่ในบ้านเรา หรือเป็นตลาดกลุ่มเฉพาะ (Niche Product) ผู้บริโภค และเกษตรกรผู้เลี้ยง อาจขาดเวทีเชื่อมโยงและช่องทางการเข้าถึงก็เป็นได้ หรือแม้แต่การขาดการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญได้ทั้งหมด เป็นต้น

“ไก่งวง” คือ คำว่า “สัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ..” ในที่นี้ที่เราต้องการสื่อถึง และได้เกริ่นนำ รวมถึงไก่งวง นับเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่มีความน่าสนใจในเรื่องของกระบวนการเลี้ยง และเรื่องของการทำตลาด ซึ่งนิตยสารสัตว์บกต้องการนำเสนอให้แฟนๆ ผู้อ่านได้ติดตามกัน

จริงๆ แล้วไก่งวงเป็นสัตว์ที่ชาวต่างชาตินิยมบริโภค ทั้งนำไปอบ นำไปย่าง และแปรรูปประกอบอาหารต่างๆ สารพัดวิธี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศไทย ตลาดผู้บริโภคไก่งวงคงไม่ใช่ “ตลาดแมส” (Mass Product) เพราะเมื่อนึกถึงสัตว์เศรษฐกิจประเภทสัตว์ปีก หลายคนย่อมนึกถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากไก่เนื้อมาเป็นลำดับต้นๆ เพราะเป็นตลาดซื้อขายขนาดใหญ่ และตรงความต้องการของ End User หรือผู้บริโภคทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ตามไก่งวงก็ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่ย้ำว่าไม่ควรมองข้าม ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยมีผู้เลี้ยงไก่งวงมานานแล้วร่วมสิบปี และก็มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่เลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จ สามารถส่งขายให้กับตลาดระดับกลาง-บน เช่น ห้างสรรพสินค้าขายส่งชั้นนำ และโมเดิร์นเทรด อีกเสียด้วย

1.การเลี้ยงไก่งวง
1.การเลี้ยงไก่งวง
2.คุณศรีวรพงษ์-ฤาชา-เจ้าของฤาชา-ฟาร์ม
2.คุณศรีวรพงษ์-ฤาชา-เจ้าของฤาชา-ฟาร์ม

ไก่งวงไทย มาตรฐานส่งออก

กระทั่งเกิดการจัดตั้งเป็น “กลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งประเทศไทย” ขึ้นมา ซึ่งนิตยสารสัตว์บกได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับแกนนำผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงฯ คือ คุณศรีวรพงษ์ ฤาชา และคุณนิรมล แซ่ลิ้ม แห่ง “ฤาชา ฟาร์ม” ฟาร์มเลี้ยงไก่งวงไทย มาตรฐานส่งออก ที่เรื่องคุณภาพไม่ต้องพูดถึง ต้องยกนิ้วโป้งกดไลค์ให้กับการรักษามาตรฐาน และปัจจุบันยังหาตัวจับได้ยากสำหรับผู้เลี้ยงไก่งวงในประเทศไทย ที่มีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานเช่นนี้

คุณศรีวรพงษ์ หรือคุณเฟริสท์ อดีตเคยประกอบธุรกิจร้านอาหาร และเรียนจบพร้อมกับมีประสบการณ์การทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชนตัวยง (สถาบันราชภัฏมหาสารคามปี 2535) โดยสายเลือด ก่อนพลิกชีวิตตนเองจากทำธุรกิจร้านอาหารดอดเข้าสู่วงการการทำเกษตร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยเลือกทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งสนใจและเลือกเลี้ยงไก่งวงรูปแบบเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ตามมาตรฐานการส่งเสริมของกรมปศุสัตว์ ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจเลี้ยงไก่งวง คุณศรีวรพงษ์เผยว่าเพราะมองเห็นโอกาส ซึ่งจริงๆ แล้วหากศึกษาทำความเข้าใจถึงระบบและขั้นตอนการเลี้ยงอย่างลึกซึ้ง และหากผู้เลี้ยงสามารถดูแลเอาใจใส่ไก่งวงเป็นอย่างดี และบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีมาตรฐาน ไก่งวงที่ตรงสเป็คความต้องการของตลาดจะมีมูลค่าสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้อย่างดีเยี่ยม

3.ครอบครัวฤาชาฟาร์มไก่งวง
3.ครอบครัวฤาชาฟาร์มไก่งวง

การก่อตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งประเทศไทย

สำหรับประวัติฤาชา ฟาร์ม (Luecha Farm) ภายใต้การบริหารของคุณศรีวรพงษ์ ฤาชา และคุณนิรมล แซ่ลิ้ม โดยฤาชา ฟาร์ม เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งประเทศไทย ในปัจจุบันมีโรงฟักไข่-พ่อแม่พันธุ์ 12 แห่งทั่วประเทศ และโรงขุนไก่งวงปัจจุบันกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่กำลังปรับปรุงฟาร์มเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังส่งไก่งวงเข้าโรงชำแหละที่ได้มาตรฐานฮาลาล (HALAL), GMP และอื่นๆ

ในส่วนฤาชา ฟาร์ม (Luecha Farm) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2558 ในพื้นที่บ้านหนองหว้า ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 5 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1 งาน บ่อน้ำ 1 งาน โรงเรือนไก่ 2 งาน และปลูกพืชไร่ พืชสวน อีก 6 งาน และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ อีก 2 งาน

จากนั้นจึงเริ่มมีการก่อตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งประเทศไทย โดยมีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง ทั้งปากต่อปาก และสื่อโซเชียลฯ กระทั่งปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มที่ขึ้นป้ายเลี้ยงไก่งวงซึ่งเป็นเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 400 ราย (จำนวนที่ขึ้นป้ายเลี้ยงในเครือข่ายของกลุ่มฯ) หรือคิดเป็นจำนวนคนซึ่งมีสมาชิกติดตามกว่า 12,000 คน

4.พื้นที่เลี้ยงไก่งวง
4.พื้นที่เลี้ยงไก่งวง

จุดเริ่มต้น การเลี้ยงไก่งวง

คุณศรีวรพงษ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของฤาชา ฟาร์ม ว่า แรกเริ่มเดิมทีตนเองไม่มีความรู้เรื่อง การเลี้ยงไก่งวง แม้แต่น้อยเลย อาศัยศึกษาหาข้อมูลเอาเองจากสื่อต่างๆ ทุกช่องทาง ประกอบกับถามผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ ตลอดจนเข้าไปขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ องค์ความรู้เรื่อง การเลี้ยงไก่งวง จากทางปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดี อีกทั้งด้วยใจที่ชอบพบปะชาวบ้าน และเป็นนักพัฒนาชุมชนอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว ซึ่งมีคติประจำใจที่ว่า  “คิดอย่างผู้นำ ทำอย่างผู้รู้ อยู่อย่างผู้ให้” คือ ปรัชญาการทำงาน และใช้ชีวิตของคุณศรีวรพงษ์ และที่สำคัญ คือ ตนเองชอบกินไก่งวง จึงใช้เงินเก็บที่ได้จากการทำงานลงทุนซื้อที่ดินแถวบ้าน และเนรมิตปรับโฉมเป็นอาณาจักรฤาชา ฟาร์ม ที่ได้มาตรฐานและยิ่งใหญ่ไม่เป็นสองรองใครในแวดวงผู้เลี้ยงไก่งวงในประเทศ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กล่าวได้ว่าปัจจุบันฤาชา ฟาร์ม ประกอบธุรกิจกิจ การเลี้ยงไก่งวง (พ่อแม่พันธุ์) รวมถึงรับซื้อไก่งวงจากกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย โดยภายใต้รูปแบบประกันราคา ปัจจุบันรับซื้ออยู่ที่ 130 บาท/กก. ทั้งนี้จากการดำเนินการส่งเสริม การเลี้ยงไก่งวง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยปัจจุบันมีการส่งเสริม การเลี้ยงไก่งวง จากกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ (ภาคอีสานเป็นส่วนมาก เนื่องจากเกษตรกรภาคอีสานมีประสบการณ์การทำปศุสัตว์สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ) โดยมีอัตรา การเลี้ยงไก่งวง มากขึ้น เติบโตเฉลี่ยกว่า 50,000 ตัว/ปี

“ปัจจุบันเรามีกลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่งวงกว่า 50 ฟาร์ม โดยสิ่งที่ทำให้กลุ่มฯ ของเราแข็งแกร่ง คือ การมีตลาดรับซื้อที่มั่นคง และยั่งยืน โดยทางกลุ่มฯ ส่งเนื้อไก่งวงให้กับห้างฯ แม็คโคร และห้างโมเดิร์นเทรด ชั้นนำของประเทศอื่นๆ อีก เข้าปีที่ 3 อาทิ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์  วิลล่า มาร์เก็ต เป็นต้น โดยประมาณการส่งจำหน่ายเนื้อไก่งวงกว่า 80-100 ตัน/ปี

โดยทางกลุ่มฯ มีวัตถุประสงค์ต้องการทำให้ฟาร์มเลี้ยงไก่งวงในประเทศมีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องพยายามยกระดับขีดความสามารถ ทั้งองค์ความรู้ ทั้งเรื่อง การเลี้ยงไก่งวง การให้อาหาร การดูแลเอาใจใส่ และการบริหารจัดการฟาร์ม ให้กับสมาชิกเครือข่ายของกลุ่มฯ ทุกคนให้เติบโตไปพร้อมกัน สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายของกลุ่มฯ อธิบายง่ายๆ คือ ผู้เลี้ยงต้องมีเงินทุน ผู้เลี้ยงต้องมีศักยภาพใน การเลี้ยงไก่งวง ขั้นต่ำ 500 ตัว และผู้เลี้ยงจะต้องรับลูกไก่งวงจากทางโรงฟักโรงใดก็ได้ในเครือข่าย หรือตามแหล่งที่มาของกลุ่มจัดสรรให้เท่านั้น เป็นต้น

ทั้งนี้ทางกลุ่มฯ จะมีการทำเอกสารสัญญากับพี่น้องเกษตรกรเครือข่ายทุกราย ในการดำเนินการเพาะเลี้ยงไก่งวงให้ตรงความต้องการ ทั้งปริมาณ จำนวน และคุณภาพ เพื่อส่งป้อนให้กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำตามความต้องการและที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างหลักประกัน มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย และเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อทางกลุ่มฯ และกระทบต่ออุตสาหกรรมตลาดไก่งวงทั้งประเทศ คุณศรีวรพงษ์ เปิดเผย

5.ไก่งวงฤาชา-ฟาร์ม-ทั้ง-3-สายพันธุ์
5.ไก่งวงฤาชา-ฟาร์ม-ทั้ง-3-สายพันธุ์

สายพันธุ์ไก่งวง

สำหรับไก่งวงที่ฤาชา ฟาร์ม เพาะเลี้ยง และส่งเสริมให้กับเกษตรกรเครือขายเลี้ยง คือ สายพันธุ์ “เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์” (Beltsvill Small White) โดยเป็นสายพันธุ์ที่ตรงตลาดผู้บริโภคแถบเอเชียต้องการสูง จึงเหมาะแก่การเพาะเลี้ยง โดยลักษณะเด่นพิเศษของสายพันธุ์ “เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์” มีขนาดเล็กไปจนถึงปานกลาง ขนสีขาว หนังสีขาว แข้งและนิ้วเท้าสีชมพู มีการเจริญเติบโตในระยะเล็กกระทั่งถึงระยะโตเต็มวัยในเวลารวดเร็วมาก

โดยเนื้อของไก่งวงสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ในการนำไปประกอบอาหาร เนื้อนุ่ม อร่อย และได้ปริมาณเนื้อเยอะ โดยไก่งวง 1 ตัว มีน้ำหนักเนื้อสูงกว่า 4-6 กก./ตัว เลยทีเดียว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.ลักษณะของไก่งวง
6.ลักษณะของไก่งวง

ลักษณะทั่วไปของไก่งวง

ในส่วนลักษณะทั่วไปของไก่งวงสายพันธุ์ “เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์” ปริมาณการให้ไข่ ผลผลิตไข่ประมาณ 80 ฟอง/ตัว/ปี ในส่วนระยะเลี้ยงจนกระทั่งจับขายเฉลี่ย  5.5 เดือน (จริงๆ แล้วเพศผู้เลี้ยงได้ถึง 7-8 เดือน) แต่ในส่วนเพศเมียถ้าหากเลี้ยงเกิน 5.5 เดือน หลังจากนั้นตัวเมียจะสร้างรังไข่และไข่ออกมา

ซึ่งน้ำหนักของร่างกายจะไปเติบโตที่รังไข่ ส่งผลให้ตลาด หรือห้างสรรพสินค้า ที่รับซื้อไม่ต้องการ เพราะเป็นน้ำหนักที่เกิดจากส่วนของรังไข่ไม่ใช่เนื้อ จึงไม่มีประโยชน์ที่ต้องเลี้ยงเอาไว้นาน จะทำให้หลุดไซส์

ส่วนน้ำหนักมาตรฐาน ไก่งวงเพศผู้จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 6-7 กก./ตัว และไก่งวงเพศเมียจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 4-5 กก./ตัว ซึ่งเป็นสเป็คที่ตลาดและห้างสรรพสินค้าชั้นนำต้องการมากที่สุด

7.อาหารไก่งวง-เบทาโกร-เบอร์-233
7.อาหารไก่งวง-เบทาโกร-เบอร์-233
บ่อบำบัด
บ่อบำบัด

การให้อาหารและน้ำไก่งวง

ในเรื่องของอาหารที่เพาะเลี้ยงไก่งวง  คุณศรีวรพงษ์เผยว่าเป็นอาหารเม็ดสูตรสำเร็จ โดยได้รับการพัฒนาสูตรภายใต้ความร่วมมือของ .เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาหารที่ให้ไก่งวงกินมีด้วยกัน 3 เบอร์ เป็นโปรตีนสำหรับเลี้ยงไก่งวงโดยเฉพาะ ได้แก่ เบอร์ 28 เบอร์ 21 และเบอร์ 18 ซึ่งอาหารดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ แข็งแรง สรีระ และน้ำหนักตัวของไก่งวง ทั้งเพศเมีย เพศผู้ ให้ตรงสเป็คตามความต้องการของห้างฯ แม็คโคร และโมเดิร์นเทรด

“ขั้นตอนการดูแลไก่งวง จริงๆ แล้วไม่แตกต่างจากการเลี้ยงไก่เนื้อ หรือเลี้ยงสัตว์โดยทั่วไปนัก กล่าวคือ มีการป้องกันยุง โดยการนำวัคซีนฝีดาษมาแทงที่ปีก และให้ความสำคัญเรื่องพยาธิ เพราะไก่งวงที่มีพยาธิเกิดจากการเลี้ยงผิดปกติ เช่น ผู้เลี้ยงให้หญ้า และน้ำที่ไม่สะอาด ให้ไก่งวงกิน ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่รูปแบบการเลี้ยงของทางกลุ่มฯ จะเลี้ยงแบบกรงลอย อาหารก็เป็นสูตรสำเร็จซึ่งถูกสุขลักษณะอยู่แล้ว

ด้านการให้อาหารจะมีให้วิตามินบ้าง โดยไก่งวงในช่วง 5-7 วันแรก เมื่อออกจากโรงฟักจะนำไปอนุบาล 1 เดือน หลังจากนั้นพอปีกเริ่มแข็งแรงขึ้น และแทงเข็มให้วัคซีนฝีดาษแล้ว อีกประมาณ  3 สัปดาห์ ก็ปล่อยขึ้นเล้าได้เลย ทั้งนี้ผู้เลี้ยงจะทำวัคซีนนิวคาสเซิลหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าผู้เลี้ยงคนไหนที่แอบเลี้ยงด้วยหญ้า หรือน้ำดื่ม ที่ไม่สะอาด ก็จะต้องมีการถ่ายพยาธิทุก 2 เดือน เช่นกัน” คุณศรีวรพงษ์เสริม

โฆษณา
AP Chemical Thailand
8.เจ้าหน้าที่ดูแลไก่งวง
8.เจ้าหน้าที่ดูแลไก่งวง
โรงฟักไข่ไก่งวง
โรงฟักไข่ไก่งวง
ไข่ไก่งวงฟองโต
ไข่ไก่งวงฟองโต

การบริหารจัดการฟาร์มไก่งวง

ด้านการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงไก่งวงให้ได้มาตรฐาน ภายใต้ฤาชา ฟาร์ม ซึ่งเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่งวงจำนวนกว่า 800 ตัว บริหารโดยแบ่งอัตราการเลี้ยงพื้นที่ ถ้าเป็นพ่อแม่พันธุ์ใช้พื้นที่การเลี้ยง 4-5 ตร.ม. ต่อ 1 ตัว ถ้าเป็นโรงขุนจะใช้พื้นที่การเลี้ยงอยู่ที่ 4 ตัว/ ตร.ม. เพราะพื้นที่การเลี้ยงจะมีผลต่ออุณหภูมิและอารมณ์ของตัวไก่งวงเองด้วย

การเลี้ยงไก่งวง อธิบายง่ายๆ คือ วางแผนกันปี/ปี เลี้ยงตามทิศทางและความต้องการของตลาด ทั้งนี้โดยปกติจะเลี้ยงในรูปแบบปล่อยอิสระ จึงจะทำการพักเล้าในช่วงฤดูฝน หรืออย่างน้อยๆ พักเล้า 30 วัน ซึ่งคุณศรีวรพงษ์เน้นย้ำการวางระบบ หรือการสร้างตารางโปรแกรมให้กับเครือข่ายปฏิบัติเหมือนกันทั้งหมด เพื่อผลลัพธ์ที่ตรงกันจำหน่ายสู่ตลาดได้คุณภาพมากที่สุด จึงจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงนั้นอยู่รอด และอยู่อย่างยั่งยืนได้ในอาชีพนี้

โดยเรื่ององค์ความรู้ การเลี้ยงไก่งวง และบริหารจัดการต่างๆ ทางกลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนการให้คำปรึกษาและจัดอบรมองค์ความรู้กระบวน การเลี้ยงไก่งวง จากทั้งปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์เขต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยดีมาโดยตลอด ส่งผลให้สมาชิกเครือข่ายกลุ่มฯ นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติและพัฒนาคุณภาพฟาร์มได้ดีขึ้นตามลำดับเป็นที่น่าพอใจมาก

ทั้งนี้จะมี Audit ซึ่งคอยหมั่นเข้ามาตรวจสอบคุณภาพฟาร์ม ตลอดจนเข้ามาประเมินโรงเชือด โรงฟัก โรงขุน โรงแช่ เช่นเดียวกับการเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานฟาร์มอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลดีทำให้สมาชิกเครือข่ายเกิดการตื่นตัว และเกิดการพัฒนาฟาร์มอยู่อย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย

อย่างไรก็ดีทางกลุ่มฯ กำลังส่งเสริมให้เครือข่ายผ่านการรับรองจากมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ให้ได้ทั้งหมด  โดยขณะนี้กว่า 80% ของฟาร์มเครือข่าย ได้ผ่านการอบรมจากปศุสัตว์ และได้รับใบประกาศจากฟาร์มปศุสัตว์เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายจากทางทีมสัตวแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่เข้ามาให้ความรู้ และดูแลให้การช่วยเหลือ การจัดการควบคุมโรค และในด้านความสะอาด ความปลอดภัยในฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพฟาร์มไก่งวงให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งทางกลุ่มฯ กล่าวขอขอบคุณทีมสัตวแพทย์ทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงวิธีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ คุณศรีวรพงษ์กล่าวเสริมว่าไม่มีเกณฑ์การคัดเลือกหรือสูตรที่ตายตัว  เพราะทางกลุ่มฯ ยังไม่มีองค์ความรู้ หรือแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจน ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ให้ดีที่สุดขนาดนั้น  โดยใช้การสังเกตจากประสบการณ์ เช่น ดูสรีระแล้วปกติ ไม่พิการ หน้าอกไม่แหลม ฯลฯ รวมถึงให้ทีมสัตวแพทย์เข้ามาช่วยตรวจสอบประเมินบ้าง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อย่างไรก็ดีขณะนี้มีข่าวการลักลอบนำไก่งวงที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งคุณศรีวรพงษ์กำชับทางสมาชิกเครือข่ายกลุ่มฯ ห้ามเข้าไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และจะสร้างผลเสียอย่างร้ายแรงให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวงแห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน

9.ไก่งวงแช่แข็ง
9.ไก่งวงแช่แข็ง
ไก่งวงอบ
ไก่งวงอบ
ไข่เค็มไก่งวง
ไข่เค็มไก่งวง

การจำหน่ายเนื้อไก่งวง และไข่ไก่งวง

สำหรับกระบวนการจำหน่ายและส่งเนื้อไก่งวงออกสู่ตลาด หรือขึ้นห้างฯ นั้น ยกตัวอย่างแต่ละขั้นตอน อย่างเช่น ไข่ไก่งวงจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 800 กรัม โดยราคาขายไข่เฉพาะกลุ่มอยู่ที่ฟองละ 25 บาท ส่วนราคาตลาดโดยทั่วไปฟองละ 50 บาท

ในส่วนกระบวนการจับไก่งวง เริ่มจากการตรวจสอบติดตามน้ำหนักของไก่งวงในระยะตั้งแต่ 1-2 เดือนแรก ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ต่อจากนั้นระยะเวลา 5 เดือน ทำการตรวจโรค และเข้าสู่ขั้นตอนดำเนินการทำใบเคลื่อนย้าย และแจ้งจำนวนไก่งวงที่พร้อมจะเข้าโรงเชือด (จ้างโรงเชือดประจำที่ได้มาตรฐานจากกรมปศุสัตว์) และติดฉลากวันที่ที่พร้อมเข้าโรงเชือดระบุให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนสู่การเชือดเสร็จแล้วจะทำการแช่แข็งก่อน 3 วัน ภายใต้อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส

หลังจากนั้น คือ ขั้นตอนแยกขนาด โดยชั่งน้ำหนัก และแพ็คเกจจิ้ง ให้ได้มาตรฐานตามความต้องการ รอขนย้ายส่งมอบให้กับห้างสรรพสินค้า และโมเดิร์นเทรด เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการส่งมอบ (พอสังเขป)

10.ฤาชา-น้ำดื่ม
10.ฤาชา-น้ำดื่ม

เป้าหมายและการวางแผนในอนาคต

เมื่อถามถึงเป้าหมายและการวางแผนขยับขยายอุตสาหกรรมไก่งวงในปี 2561 นี้ และอนาคต คุณศรีวรพงษ์บอกว่าขณะนี้มีแผนกำลังเจรจาพูดคุยกับโมเดิร์นเทรดในการผลิตส่งเนื้อไก่งวงในรอบต่อไป รวมถึงการได้โควต้าเพาะพันธุ์นกกระจอกเทศส่งขึ้นห้างฯ อีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับทุกๆ ฝ่าย คาดว่าจะมีความคืบหน้าในปลายปีนี้อย่างแน่นอน

“ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่งวงที่ทางกลุ่มฯ ผลิตส่งให้กับโมเดิร์นเทรดถูกกระจายส่งออกต่างประเทศ อาทิเช่น ประเทศกัมพูชา ทั้งนี้หากต้องการส่งออกไปไกลถึงยุโรป จำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบ การเลี้ยงไก่งวง ในบ้านเราให้ดีกว่านี้ หรือควรมีการส่งเสริม การเลี้ยงไก่งวงในระบบอีแวปจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการได้รับการส่งเสริมภายใต้รูปแบบ Animal Welfare ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากต่ออุตสาหกรรมไก่งวงในประเทศไทยในอนาคต”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
11.ฟาร์มไก่งวง
11.ฟาร์มไก่งวง

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงไก่งวง

ทั้งนี้คุณศรีวรพงษ์ยังกล่าวฝากถึงเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจเลี้ยงไก่งวง ตลอดจนผู้บริโภค ในตอนท้ายด้วยว่า “ฝากถึงคนที่สนใจเลี้ยงไก่งวง สำคัญที่สุด คือ อย่าคิดว่าจะทำเพื่อเป็นธุรกิจเสริม หรือควักเงินมาลงทุนสัก 2-3 แสนบาท แล้วจ้างคนอื่นเลี้ยง ซึ่งคุณจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะ การเลี้ยงไก่งวง ไม่ใช่เลี้ยงตามกระแส หรือเป็นอาชีพเสริม เพราะอย่างน้อยคุณต้องมีองค์ความรู้ที่ชัดเจน และคุณต้องถ่ายทอดได้ และที่สำคัญคุณต้องมีเงินทุนหมุนเวียนที่มากพอในการดูแลบริหารจัดการได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ผู้เลี้ยงไก่งวงก็ควรพร้อมที่เปิดใจเรียนรู้และพัฒนาร่วมไปกับพี่น้องเครือข่าย เพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ให้กลุ่มมีรายได้ และมีอนาคตที่สดใส ทั้งนี้ในอีกบทบาทหนึ่งซึ่งในฐานะที่ผมทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชน ผมมองว่า “การทำงานทุกอย่าง หากไม่มีกลุ่มก็จะไม่มีการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน“

และในส่วนของผู้บริโภค สิ่งที่ผมอยากจะฝากบอก คือ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าไก่งวงที่คุณได้บริโภคเข้าไปนั้นเป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย ผู้เลี้ยงปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์อย่างถูกต้องทุกอย่าง โดยการอุดหนุนบริโภคไก่งวงของท่าน ถือเป็นการต่อลมหายใจช่วยสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคง ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย ให้พวกเขามีกำลังใจในการประกอบอาชีพ และพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพในการผลิตสินค้าที่สะอาด ปลอดภัย ออกมาสู่ผู้บริโภค ภายใต้ระบบการซื้อขายในราคาที่เป็นธรรมที่สุด

ขอขอบคุณ คุณศรีวรพงษ์ ฤาชา และ คุณนิรมล แซ่ลิ้ม  แห่ง “ฤาชา ฟาร์ม”

ที่อยู่ติดต่อ เลขที่ 59 หมู่ 7 บ้านหนองหว้า ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 18240 โทร.089-001-8765, 085-100- 8765 อีเมล์ [email protected] หรือที่เว็บไซต์ Error! Hyperlink reference not valid. Luechafarm.com เฟสบุ๊ค : ไก่งวงไทย ฤาชาฟาร์ม