สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแลฯ เก่งเรื่องข้าว เดินหน้าปลูกผัก และเมล่อน ในโรงเรือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การรวมตัวของเกษตรกรในรูปขององค์กรเกษตรกร เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง อย่างเช่น สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแลฯ

โดยวันนี้ทีมงานพลังเกษตรอยากขอนำเสนอการรวมกลุ่มกันของสหกรณ์ๆ หนึ่ง ที่จากจุดเริ่มต้นเพียงเพื่อต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ ให้แก่คนในชุมชน แต่ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ ดังกล่าว ประกอบกับการบริหารจัดการ ซึ่งกำหนดรูปแบบและเป้าหมายอันชัดเจน ทำให้ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตร ณ เมืองโบราณแห่งนี้ ที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อนเติบโตอย่างมั่นคง และแข็งแรง

1.คุณจวน แก้วกุลศรี (กลาง) ประธานกรรมการบริหารสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล
1.คุณจวน แก้วกุลศรี (กลาง) ประธานกรรมการบริหารสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล

การจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแล จำกัด

สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นครั้งแรกในท้องที่อำเภอลับแล เมื่อ พ.ศ..2472 โดยตอนนั้นเรียกกันว่า “สหกรณ์หาทุน” ได้รับจดทะเบียนครั้งแรกจำนวน 2 สหกรณ์ มีสมาชิกแรกตั้ง 24 คน ใช้ทุนดำเนินงานเมื่อแรกตั้ง 16,150 บาท

สหกรณ์รุ่นนี้ ได้แก่ สหกรณ์ทุ่งยั้ง ไม่จำกัดสินใช้, สหกรณ์ไผ่ล้อม ไม่จำกัดสินใช้ ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ซึ่งมีบทบัญญัติให้สหกรณ์ชนิดเดียวกันตั้งแต่สองสหกรณ์ขึ้นไปอาจควบเข้ากันได้

สหกรณ์จึงมีมติให้ควบรวมกันระหว่างสองสหกรณ์เป็นสหกรณ์เดียว คือ สหกรณ์การเกษตรลับแล  จำกัด กับ สหกรณ์การเกษตรทุ่งยั้ง  จำกัด  ควบกันเป็น สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด โดยได้รับจดทะเบียนเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2518

2.สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลสาขาชัยจุมพล
2.สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลสาขาชัยจุมพล

การบริหารงานของ สหกรณ์การเกษตร เมืองลับแล

ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล  จำกัด ได้แยกการบริหารงาน และการบริการสมาชิก ออกเป็น 5 สาขา คือ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

1.สาขาสำนักงานใหญ่

2.สาขาไผ่ล้อม

3.สาขาหัวดง

4.สาขาตลิ่งต่ำ

5.สาขาชัยจุมพล

มีสมาชิกทั้งหมด 8,450 คน บริหารงานภายใต้การนำของประธานกรรมการ คือ คุณจวน แก้วกุลศรี และคุณรังสรรค์ ดีณรงค์ ในฐานะผู้จัดการใหญ่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ภาพรวมการดำเนินงานในด้านธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อ จัดหาสินค้าจำหน่าย แปรรูปสินค้าการเกษตร ธุรกิจปุ๋ยสั่งตัด ทุนดำเนินงาน 2,440,000 บาทโดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจของสหกรณ์ถือว่ารุดหน้าจากเดิมมากทีเดียว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทั้งในด้านของเงินทุน สถานที่ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต่างๆ

3.คุณรังสรรค์ ผู้จัดการใหญ่และคุณจวน ประธานกรรมการบริหาร
3.คุณรังสรรค์ ผู้จัดการใหญ่และคุณจวน ประธานกรรมการบริหาร

การส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์

และไม่เพียงได้รับการส่งเสริมที่ดีเท่านั้น การบริหารงานของสหกรณ์ ณ เมืองลับแลแห่งนี้ยังมีจุดแข็งอยู่ที่การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิก มีตลาดกลางในการรวบรวมและเป็นจุดศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าการเกษตรให้กับสมาชิก และผู้คนทั่วไปในชุมชน ยกตัวอย่าง ธุรกิจข้าว

การส่งออกของสหกรณ์ 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันส่งออกข้าวไปถึง 7,683 ตัน มูลค่า 162 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนในประเทศอยู่ที่ 4,648 ตัน มูลค่า 63 ล้านบาท

นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลยังส่งเสริมให้สมาชิกทำข้าวอินทรีย์ในโครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐ ซึ่งสหกรณ์มีการดูแลให้ตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการบริหารจัดการแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานขึ้นมาโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารพัฒนาข้าวครบวงจร ในชื่อโครงการผลิตข้าวครบวงจร 5GTS (5 Good To Success)

  • Good Field การจัดการแปลงนาที่ดี
  • Good Warehouse การจัดเก็บและรักษาวัตถุดิบที่ดี
  • Good Factory การจัดการโรงงานที่ดี
  • Good Data & Documents การมีข้อมูลที่ดี
  • Good Connection การปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงาน

โครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม หรือนาแปลงใหญ่นี้ ต้องการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน โดยพันธุ์ข้าวที่นี่มีทั้ง พันธุ์พิษณุโลก2 กข49 และกข47 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดยาว

4.คุณอุมาพร พลูใจ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลสาขาชัยจุมพล
4.คุณอุมาพร พลูใจ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลสาขาชัยจุมพล

สภาพพื้นที่ปลูก ผัก ผลไม้ ข้าว

อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของอำเภอลับแล ทำให้ผู้คนในชุมชุนมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะขอยกตัวอย่างการประกอบอาชีพของแต่ละสาขา ได้แก่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

-สาขาสำนักงานใหญ่ จะเน้นอาชีพทำนากับหอมแดง หอมแบ่ง

-สาขาไผ่ล้อม เป็นโซนนาข้าว

-สาขาหัวดง จะเน้นปลูกผลไม้ อาทิ ลองกอง ลางสาด ทุเรียน และมะยงชิด

-สาขาตลิ่งต่ำ ปลูกข้าว โรงสีนาแปลงใหญ่

ส่วนชัยจุมพลให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจ อย่าง หอมแบ่ง และปลูกข้าวบางส่วน ซึ่งความหลากหลายเช่นนี้ส่งผลให้สหกรณ์มีผลไม้ที่หลากหลาย มีพืชทุกฤดูกาล รวมถึงรายได้ที่เข้ามาทั้งปี นอกจากนี้การที่สหกรณ์มีประเภทธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ ธุรกิจปุ๋ยสั่งตัด ที่ช่วยลดต้นทุนไปกว่า 2 ล้านบาท ทำให้การเติบโตทั้งในแง่ของผลผลิต และรายได้ ของสหกรณ์เมืองลับแลแห่งนี้เป็นไปอย่างมั่นคง และรุดหน้าจากเดิม

5.ฟาร์มผักปลอดภัยสหกรณ์ลับแล
5.ฟาร์มผักปลอดภัยสหกรณ์ลับแล

การจัดตั้งฟาร์มผักปลอดภัย

“ช่วงผลกระทบจากโควิด-19 แล้วยังต้องเจอกับสภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา ไม่มีน้ำปลูกหอม เราจึงมานั่งคิดกันว่าจะช่วยเหลือสมาชิกด้านไหนได้บ้างที่ไม่ใช้น้ำเยอะ ปัจจัยการผลิตและเงินทุนที่มากมาย จุดนี้จึงนำมาซึ่งการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชระยะสั้น ซึ่งก็คือ การปลูกผักปลอดภัย” คุณอุมาพร พลูใจ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลสาขาชัยจุมพล เล่าถึงที่มาของการจัดตั้ง “ฟาร์มผักปลอดภัย” บนพื้นที่ของสาขาชัยจุมพล

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับสหกรณ์เกษตรสาขาชัยจุมพลมีสมาชิกทั้งหมด 1,057 คน สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดภัย 43 คน โดยสหกรณ์จะลงทุนนำร่องให้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การจัดตั้งโรงเรือน เปิดอบรมความรู้ให้ จะมีเพียงค่าน้ำ-ไฟ และอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นๆ ที่สมาชิกจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

6.ผักสลัดกรีนโอ๊ค
6.ผักสลัดกรีนโอ๊ค

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ผักออแกนิค และเมล่อน

จากวันแรกที่เริ่มทดลองปลูก 6 โรงเรือน (ผักไฮโดรโปนิกส์ 2 โรงเรือน-ผักออแกนิค 6 แปลง) บนพื้นที่ 5 ไร่ ของสหกรณ์สาขาชัยจุมพล ได้เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาขึ้นมาเพิ่มอีกทั้งหมด 16 โรงเรือน แบ่งเป็นฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ 6 โรงเรือน ผักออแกนิค 6 โรงเรือน และเมล่อนเพิ่มมาอีก 4 โรงเรือน

โดยผักไฮโดรโปนิกส์ก็จะมีผักสลัด กรีนโอ๊ค เร้ดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด, ฟาร์มออแกนิค มีพริกขี้หนู มะเขือเทศ 2 สายพันธุ์ สีดากับเอ็กซ์ตร้า และสตรอเบอร์รี่ พันธุ์ 80 ด้านระบบน้ำใช้น้ำบาดาล โดยใช้วิธีใส่เครื่องกรอง ดักสี ดักกลิ่น พักน้ำ และก็กรองน้ำ

7.ผลผลิตของสหกรณ์ลับแลไฮโดรฟาร์ม
7.ผลผลิตของสหกรณ์ลับแลไฮโดรฟาร์ม

ปัญหาและอุปสรรค การทำฟาร์มผักปลอดภัย

คุณอุมาพรกล่าวว่าในช่วงแรกๆ ของการทำฟาร์มผักปลอดภัยต้องประสบปัญหาทั่วๆ ไป อย่างเช่น เรื่องของตลาดรองรับสินค้า รวมถึงแผนการผลิต

“เริ่มแรกเรายังไม่เข้าใจแน่ชัดถึงความต้องการของผัก ตลาดต้องการอะไรมาก อะไรน้อย ระยะเวลาของผักด้วยว่าสมควรจะเก็บช่วงก่อนหน้าหรือหลัง อย่าง ผักไฮโดรโปนิกส์ ปกติใช้เวลาที่ 35-40 วัน บางครั้ง 35 วัน ก็เก็บได้ทั้งโรง แรกๆ ก็ลำบากอยู่” คุณอุมาพรให้ความเห็น

8.ผลิตจนถึงจัดจำหน่ายด้วยการจัดการของสหกรณ์
8.ผลิตจนถึงจัดจำหน่ายด้วยการจัดการของสหกรณ์

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ผักไฮโดรโปนิกส์

อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินการพัฒนาและศึกษาข้อมูลในเรื่องตลาดอย่างละเอียด  มีการเปิดช่องทางจำหน่ายออนไลน์ผ่านหน้าเพจ เฟซบุ๊ค ที่ชื่อ “สหกรณ์ลับแลไฮโดรฟาร์ม” เพิ่มเข้ามา รวมถึงบริการจัดส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้ช่องทางจำหน่ายเห็นผลขึ้นอย่างชัดเจน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ผลผลิตที่ได้ทางสหกรณ์ได้นำไปจำหน่ายผ่านศูนย์กระจายสินค้าของสหกรณ์เอง โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตของ 5 สาขา เครือข่ายร้านค้าที่รับสินค้าของสหกรณ์ไปวางจัดส่งให้สถานที่ราชการ ทั้งโรงพยาบาลค่ายพระยาพิชัยดาบหัก และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

9.คุณอุมาพร คุณจวน คุณรังสรรค์ ลงดูแลการจัดการฟาร์มผักของสหกรณ์
9.คุณอุมาพร คุณจวน คุณรังสรรค์ ลงดูแลการจัดการฟาร์มผักของสหกรณ์

แนวโน้มในอนาคต                               

ขณะที่ทิศทางอนาคตสหกรณ์เตรียมผลักดันการจำหน่ายทางออนไลน์เพิ่มการไลฟ์สดขายสินค้า การสั่งสินค้าและชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของสหกรณ์ ส่วนอีกด้านที่ต้องการต่อยอดจากเดิม ได้แก่ การพัฒนาและรักษาคุณภาพของสินค้า เตรียมพัฒนาเรื่องของตู้เก็บสินค้าที่มีมาตรฐานเพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และการขยายตลาดโดยอาศัยตลาดกลางสินค้าด้านเกษตรพื้นที่เขตภาคเหนือ ที่ปกติเป็นทางผ่านของหลายภาค เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น

เห็นได้ชัดว่าสหกรณ์แห่งนี้มีเครื่องมือหรือปัจจัยทางการผลิตพืชเศรษฐกิจครบวงจร จึงส่งเสริมสมาชิกในการทำธุรกิจได้เต็มที่

สนใจรายละเอียดติดต่อสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ที่อยู่ 206 หมู่ 13 ถนนอินใจมี ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 53130 โทรศัพท์ 055-431-032, Facebook : ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด-CDC

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร