“ผมเริ่มเลี้ยงหมูเมื่อปี 64 จากการปรับปรุงเล้าหมูของแม่ ซึ่งหยุดมาหลายปี” คุณดิเทพ โสรสา หรือที่คนตรังเรียกกันว่า “ช่างติ๊ก” เปิดเผย
ศิษย์เก่าวิศวช่างกล จากม.สงขลานครินทร์ หันมาทำธุรกิจปศุสัตว์ และเริ่มจากเลี้ยงแม่หมู 3 ตัว ปัจจุบัน 25 ตัว สายพันธุ์ไทย-เดนมาร์ก ปี 64 ซื้อตัวละ 2,800-3,000 บาท ปรากฏว่า เจอโรค ASF แต่ก็รอดมาได้ด้วยการป้องกัน
การเลี้ยงหมู
แรกๆ ซื้อลูกหมูจาก บริษัท ตรังวัฒนาฟาร์ม จำกัด ฟาร์มใหญ่ในจังหวัด อาหารหมูเป็นของ APM อาหารสัตว์ จากตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ มีพ่อพันธุ์ 3 ตัว เพื่อคุมฝูงแม่พันธุ์ บนเนื้อที่ฟาร์ม 3 ไร่ เป็นพ่อพันธุ์จากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูภาคใต้ แม้ พ่อดูร็อก ทั้ง 3 ตัว ให้น้ำเชื้อที่ดี แต่คุณติ๊กก็ซื้อน้ำเชื้อจากฟาร์มเอพีเอ็ม เจ้าของอาหาร APM มาผสมเทียม เพื่อให้ทันกับแม่พันธุ์ 25 ตัว
เป็นวิศวกร แต่ได้ประสบการณ์การเลี้ยงหมูจากแม่ แต่การเลี้ยงเมืองร้อนชื้น อย่าง ภาคใต้ ต้องดูแลใกล้ชิด “เรื่องฝน ดินฟ้าอากาศ เพราะหมูมีโอกาสป่วย และเรื่องคนเข้า-ออก เน้นเรื่องนี้เป็นหลัก” ช่างติ๊ก ยอมรับเรื่องการเอาใจใส่ เพราะเขาต้องการเก็บเกี่ยวข้อมูลเพื่อนำไปส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ให้นำลูกหมูของเขาไปขุน แล้วคุณติ๊กรับซื้อคืนเพื่อขายต่อให้โรงเชือด และเขียงหมู ในจังหวัด เพราะ เมืองหมูย่าง อย่าง จังหวัดตรัง แต่ละวันใช้หมูมากขึ้น
“ก่อนที่ผมมาทำ ผมมองตลาดเล็ก ตลาดนักหมูสด เช่น งานเลี้ยง งานศพ อะไรพวกนี้ เราไม่แข่งกับเจ้าใหญ่ที่แข่งขันกัน” คุณติ๊ก เปิดใจถึงการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นหมูขุนขนาด 105 กก. ซื้อหน้าฟาร์ม 90-93 บาท/กก. หักต้นทุนแล้ว ผู้เลี้ยงมีกำไร
การส่งเสริมการเลี้ยงหมู
ในฐานะที่ช่างติ๊กเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรัพย์มณีวิศวกรรม จำกัด ทำธุรกิจด้านออกแบบและก่อสร้างไบโอแก๊สให้กับภาครัฐและเอกชนหลายจังหวัดในภาคใต้ตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันจึงได้นำความรู้และทักษะมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและผลิต “ไบโอแก๊ส” ในฟาร์มของตน ให้เป็นต้นแบบของฟาร์มสุกรทั้งหลาย เพราะฟาร์มของตนเลี้ยงหมูขุนด้วย และส่งเสริมลูกฟาร์มให้เลี้ยงด้วย คือ ทำให้ครบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ซึ่งไบโอแก๊สจากขี้หมูได้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจชัดเจน เช่น แก๊ส ที่ได้นำไปใช้ในฟาร์ม ต้ม นมผง ให้ลูกหมูกิน และต่อท่อไปให้เพื่อนบ้าน 7 หลัง ใช้ทดแทนแก๊สหุงต้ม ด้วยทักษะทางวิศวกรรม ช่างติ๊กผลิตแก๊สได้มาก เพราะออกแบบได้เหมาะสม แม้แต่ ท่อแก๊ส ที่ชาวบ้านใช้เป็น ท่อ PE ราคาสูง และหาช่างมาเชื่อมยาก ช่างติ๊กจึงใช้ ท่อ PVC ทนแดด ซื้อได้ง่ายในร้านค้าท้องถิ่น มาใช้แทน
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
ต่อคำถามว่า เมื่อโมเดลเลี้ยงหมูป้อนตลาดท้องถิ่นเกิดควบคู่กับธุรกิจไบโอแก๊สจากขี้หมู จุดติด จะขยายฐานผู้เลี้ยงหมูในเครือข่ายให้กว้างขึ้นมั๊ย คำตอบจากช่างติ๊ก “เครือข่ายเล็กๆ แบบนี้ ตอบโจทย์การบริหารจัดการ พูดง่ายๆ ผมซื้ออาหารเข้าฟาร์มกระสอบละ 550 บาท ถามว่าผมขายปุ๋ยกระสอบละ 300 บาท ส่วนต่างต้นทุน 250 บาท ถ้าเราบริหารจัดการดีๆ ฟาร์มอยู่ได้ เพราะปุ๋ยกระสอบละ 1,600 บาท ผมทำปุ๋ยขี้หมูอัดเม็ด จากเคยขายขี้หมูกระสอบละ 40-50 บาท พอขาย 300 บาท ขายได้แสนกว่าบาท ปริมาณแน่นอน เพราะเราทำแบบอัดเม็ด”
จึงเห็นได้ว่า การลงทุนผลิตไบโอแก๊ส นอกจากได้แก๊สแล้ว กากขี้หมู จากระบบ ถูกนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์เม็ด ขายกระสอบละ 300 บาท และ น้ำขี้หมู ยังมีธาตุอาหารพืช นำไปใส่ในสวนปาล์ม และสวนยาง ปรากฏว่าดินดี ปาล์มออกลูกต้นละ 200 กก. ทุกๆ 15 วัน
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายหมู
ช่างติ๊ก วิศวกรติดดิน เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ใช้การตลาดนำการผลิตชัดเจน และจัดการ ต้นทุน การผลิตให้ต่ำ โดยทำทุกส่วนให้เป็นเงิน พร้อมกับทำหลายๆ อาชีพที่เกื้อกูลกัน เช่น สวนปาล์ม สวนยาง ปศุสัตว์ ไบโอแก๊ส ล้วนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการลดความเสี่ยงจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น พร้อมๆ กับสร้างฐานคู่ค้าเกษตรกร แบ่งธุรกิจกันชัดเจน ซึ่ง ตลาดหมูย่าง มีตำนานมาหลายปี แม้หมูย่างตัวละ 600 บาท จะต่างกับหมูเป็นหน้าฟาร์มตัวละ 510 บาท ก็ไม่เป็นไร กลับทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่รอดด้วยซ้ำ
การผลิตปุ๋ยอัดเม็ด
แม้เป็นวิศวกร แต่ช่างติ๊กก็ไม่คิดจะทำเองทั้งหมด ปรากฏว่า เครื่องอัดปุ๋ยเม็ด ตัดสินใจซื้อจาก เจ๊ทิพย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบและผลิตเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย และอาหารเม็ด เป็นต้น เพราะในทางธุรกิจแล้วซื้อคุ้มค่ากว่าทำเอง แม้ซื้อเครื่องจากจีนก็มีปัญหา “เขามีความชำนาญทำเครื่องอัดเม็ดอยู่แล้ว ถ้าซื้อเครื่องจากจีนใช้ได้ แต่ผมมองว่าความทนทานของเครื่องไม่ได้ และสปาเก็ตตี้ก็ไม่ได้ หรือถามว่าผมทำได้มั๊ย ทำได้ แต่ผมมองไปที่การประดิษฐ์ ความต่อเนื่อง และการขายมากกว่า จึงต้องซื้อ” ช่างติ๊ก ให้ความเห็นถึงมุมมองด้านการลงทุน
ต้องการปรึกษาเรื่องไบโอแก๊ส หรือต้องการเลี้ยงสุกรในเครือข่าย ติดต่อ คุณดิเทพ โสรสา หรือ ช่างติ๊ก บริษัท ทรัพย์มณีวิศวกรรม จำกัด โทร.083-015-4715