ฟาร์มแพะ สร้างรายได้ จากคนธรรมดาสู่เจ้าของฟาร์ม ต้นแบบคนสู้ชีวิต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งด้วยสภาพพื้นที่และอากาศที่เหมาะในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคเนื้อ-โคนม แพะ แกะ และสัตว์น้ำ เป็นต้น ฟาร์มแพะ

ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไก่ และสุกร เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีบริษัทใหญ่เป็นแหล่งเงินทุน และให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเลี้ยงมากมาย แต่ใช่ว่าการเลี้ยงสัตว์อื่นจะไม่ได้กำไร ทุกอย่างขึ้นกับการศึกษาและการลงมือทำอย่างจริงจังทั้งสิ้น

1.คุณสุรวัจน์-ยุพรภักดีโรจน์-เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ
1.คุณสุรวัจน์-ยุพรภักดีโรจน์-เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ

การเริ่มต้นทำ ฟาร์มแพะ 

นิตยสารสัตว์บกมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะนำเสนอ “แพะกำลังใจ แตแพะซิ่ง” เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะรายหนึ่งใน อ.บ้านนา จ.นครนายก ซึ่งในอดีตเคยต้องโทษอยู่ในเรือนจำนานกว่า 3 ปี และได้มีโอกาสร่วม “โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” และได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาให้เป็นบุคคลต้นแบบในโครงการกำลังใจ เพื่อให้เป็นกำลังใจแก่คนที่เคยก้าวผิดพลาดมาแล้วสามารถหันกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยไม่เป็นภาระแก่สังคมไทย

คุณสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์” หรือเรียกสั้นว่า “แต” เจ้าของ “ ฟาร์มแพะ ยุพรภักดีโรจน์” ปัจจุบันอายุ 36 ปี เรื่องราวชีวิตคุณแตก่อนจะหันเข้าสู่วงการแพะเศรษฐกิจใครจะเชื่อว่าเคยต้องโทษคดียาเสพติดมาก่อน มีชีวิตอยู่ในเรือนจำ 3 ปี 11 เดือน ที่เรือนจำจังหวัดชัยนาท แต่ด้วยพฤติกรรมที่ดีในระหว่างคุมขัง ทำให้คุณแตได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ เพื่อเป็นการแนะแนวอาชีพให้ผู้ต้องขังได้ออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ เช่น การปลูกผัก ผลไม้ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

หลังจากพ้นโทษออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง เป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ไม่มีอะไรเหลือ คุณแตรับจ้างทั่วไป ใครจ้างให้ทำอะไรก็ทำหมด  เพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง จนกระทั่งคุณแตได้มาสมัครงานที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้าน พร้าว ในตำแหน่งพ่อบ้าน มีอยู่วันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมงานปศุสัตว์จังหวัดนครนายก ได้พบกิจกรรมป้อนนมแพะ จุดนี้เองที่ทำให้คุณแตได้มีโอกาสสัมผัสความน่ารักในแบบของแพะ จึงตัดสินใจเลี้ยงแพะ เพราะตนมองว่าอนาคตแพะจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของไทย

ในปี 2557 คุณแตจึงตัดสินใจซื้อแพะเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 3 ตัว มาเลี้ยง โดยนำไปฝากเพื่อนเลี้ยง เนื่องจากบ้านแฟน (อ.บ้านนา จ.นครนายก) ไม่สนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์ “ผมมีความเชื่อว่าแพะจะสามารถเลี้ยงเราได้ และพวกมันน่ารัก เงินเดือนประจำที่ได้ คือ 9,500 บาท/เดือน ผมจะเก็บเดือนละ 5,000 บาท สำหรับซื้อแพะเดือนละ 1 ตัว ทุกวันตอนเช้าและเย็นผมจะออกไปตัดกระถิน/หญ้ามาให้แพะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนมีจำนวนแพะกว่า 180 ตัว จึงตัดสินใจลาออก แล้วเริ่มต้นวิถีชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอย่างจริงจัง” คุณแตกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงแพะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณแตยังเปิดเผยอีกว่า ตนทำงานที่ อบต.บ้านพร้าว อยู่ 2 ปี ส่วนแฟนทำงานอยู่ในมูลนิธิคนตาบอด หลังจากลาออกมาเลี้ยงแพะก็เริ่มศึกษาเรื่องการเลี้ยงแพะอย่างจริงจังจากผู้ที่เคยเลี้ยง สืบค้นความรู้จากทางอินเตอร์เน็ต และจากทางสมาคมผู้เลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันตนก็เป็นสมาชิกอยู่ ได้รับข่าวสารและอัพเดตความรู้เรื่องการจัดการและโรคต่างๆ จากทางสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถเลี้ยงแพะได้อย่างทุกวันนี้ ทั้งเรื่องการทำวัคซีน การดูแลและรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

2.แพะกำลังใจ-แตแพะซิ่ง
2.แพะกำลังใจ-แตแพะซิ่ง

การได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบ ภายใต้โครงการกำลังใจ

หลังจากความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพที่สุจริตเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อปี 2561 คุณสุรวัจน์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลต้นแบบภายใต้โครงการกำลังใจ ในพระราชดำริฯ ได้รับโล่เกียรติยศจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คุณแตและบุคคลอื่นที่เคยเลือกเดินบนเส้นทางผิดในชีวิตมาก่อน และอยากที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่บนเส้นทางที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวและสังคม

รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของผมมาก ทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป ทำงานเพื่อคนที่เรารัก และทำงานช่วยเหลือสังคมมากขึ้น เช่น เป็นวิทยากรในโครงการกำลังใจ ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด และให้ความร่วมมือทุกอย่างที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย ยกตัวอย่าง เด็กช่วยงานที่รับเข้ามาช่วยต้อนฝูงแพะแกะให้ผมก็เคยติดยาเสพติดมาก่อน เราช่วยให้เขาเลิก ให้งานเขา สอนเขา เพราะการผ่านจุดนั้นมาได้ทำให้เรารู้สึกว่าอยากให้ทุกคนที่เคยผิดพลาดสามารถก้าวผ่านจุดนั้นมาได้อย่างแท้จริง” คุณแตกล่าวด้วยความซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับจากพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

 3.คอกแพะ

3.คอกแพะ

สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ

ปัจจุบันฟาร์มแพะยุพรภักดีโรจน์มีจำนวนแพะทั้งสิ้นกว่า 100 ตัว โดยแบ่งเป็น 2 แห่งดังนี้

1.ฟาร์มแพะยุพรภักดีโรจน์ซึ่งอยู่จังหวัดชัยนาท (บ้านคุณพ่อของคุณแต) จำนวนแพะ 60 ตัว

2.ฟาร์มแพะยุพรภักดีโรจน์ซึ่งอยู่ที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก มีจำนวนแพะ 40 ตัว บนพื้นที่ 6 ไร่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประกอบด้วยที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ คอกแพะ และแปลงหญ้า ซึ่งคอกแพะคุณแตใช้เพียง 2 งาน เท่านั้น และแปลงหญ้าเป็นหญ้าแพงโกล่า ซึ่งคุณแตปลูกด้วยตัวเองอีกกว่า 3 ไร่

แพะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะ แค่มีแปลงหญ้า/ทุ่ง ให้แพะได้เดินเล่นบ้างเท่านั้น แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย แค่เพื่อให้อาหารจำพวกหญ้า ไม่จำเป็นต้องกินอาหารสำเร็จรูปเสมอไป ดังนั้นอาหารที่ฟาร์มเราใช้จะเป็นหญ้าแพงโกล่าเป็นหลัก มีเสริมด้วยผิวถั่วเหลือง แร่ธาตุ/วิตามินบ้างเล็กน้อยตามสถานการณ์ความจำเป็น” คุณแตยืนยันถึงวิธีการดูแลแพะเบื้องต้น

4.สายพันธุ์แพะใน-ฟาร์มแพะ
4.สายพันธุ์แพะใน-ฟาร์มแพะ

สายพันธุ์แพะ   

สายพันธุ์แพะที่คุณแตใช้ในครั้งแรกเป็นสายพันธุ์ลูกผสม ต่อมาเมื่อเริ่มมีประสบการณ์และคนรู้จักมากขึ้น จึงเริ่มนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จาก ว.อุดมฟาร์ม ของนายกวัตสัน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์จากต่างประเทศมาผลิตลูกพันธุ์ในประเทศไทย

ดังนั้นปัจจุบัน ฟาร์มแพะ ยุพรภักดีโรจน์เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์แองโกลนูเบียนกับพันธุ์บอร์ เหตุที่ต้องผสมทั้งสองสายพันธุ์นี้ คือ พันธุ์แองโกลนูเบียนให้ลูกดก ส่วนสายพันธุ์บอร์ได้เนื้อดี เมื่อผสมกันลูกที่ได้จะได้เนื้อดี และลูกดก ทนต่อโรคอีกด้วย

5.โรงเรือนแพะ
5.โรงเรือนแพะ

การบริหารจัดการโรงเรือนแพะ

คุณแตยังเปิดเผยถึงการดูแลแพะในทุกวันอีกว่า การเลี้ยงแพะสิ่งสำคัญ คือ ต้องดูแลความสะอาดของคอก/โรงเรือนให้ดี ถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ ทำโปรแกรมวัคซีนตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ปล่อยฝูงแพะลงทุ่ง 2 เวลา (เช้า-เย็น) ครั้งละ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้หญ้าเสริม ควรให้บ่อยครั้งเพื่อกระตุ้นการกินอาหาร มีอาบน้ำให้บ้างเป็นบางตัว เช่น ในฟาร์มจะอาบน้ำให้พ่อพันธุ์ทั้ง 2 ตัว ทุก 2 อาทิตย์ เป็นต้น

“ผมเลี้ยงแพะมาเกือบ 6 ปี ไม่ค่อยพบปัญหาอะไร แต่อาจต้องระวังในช่วงคาบเปลี่ยนฤดูกาล เช่น ปลายฝนต้นหนาว ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องทำวัคซีนป้องกันตามที่กรมปศุสัตว์แนะนำ เพื่อป้องกันโรคร้ายนี้ และที่ดินแถวนี้จะประสบปัญหาเรื่องน้ำเป็นหลัก เนื่องด้วยน้ำแถวนี้ส่วนใหญ่เป็นน้ำเสียจากฟาร์มขนาดใหญ่ที่ปล่อยทิ้งสู่คลองธรรมชาติ ผมแก้ปัญหาโดยคุณพ่อของแฟนขุดสระน้ำไว้ 3 สระ เพื่อใช้ในการเกษตร/เลี้ยงสัตว์ และอุปโภคบริโภค” คุณแตเปิดเผยถึงอุปสรรคในการเลี้ยงแพะที่ผ่านมา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในเรื่องการจัดการมูลนั้น คุณแตจะมีลูกค้าเจ้าประจำซึ่งซื้อไปใส่ในสวนทุเรียน และขายให้กับโรงเรียนนายร้อย จปร. ในราคากระสอบละ 35 บาท ซึ่งลักษณะมูลแพะจะแห้งอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องตาก  และไม่มีการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะก่อให้เกิดสารตกค้างในมูลอย่างแน่นอน

6.ลูกแพะ
6.ลูกแพะ

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การบริโภคเนื้อแพะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จัดเป็นเศรษฐกิจหลักตัวใหม่ที่เข้าสู่ตลาดและทำรายได้แก่ผู้เลี้ยงไม่น้อย ด้วยระยะเวลาที่เลี้ยงขุนประมาณ 4 เดือนกว่า น้ำหนักจับขายประมาณ 120 กก./ตัว ด้วยราคากิโลกรัมละ 125-130 บาท สูงกว่าราคาสัตว์เศรษฐกิจบางตัวในปัจจุบันด้วยซ้ำไป

สมมติเลี้ยงแพะ 50 แม่ ระยะเวลาตั้งท้อง 5 เดือน ได้ลูก (ไม่นับลูกแฝด) 50 ตัว ระยะเวลาหย่านม 3 เดือน ถ้าหากขายเป็นลูกแพะขุนในราคาต่ำตกตัวละประมาณ 2,000 บาท เดือนนั้นคุณจะได้เงินถึง 1 หมื่นบาท หากจะขุนต่อไปยิ่งได้กำไรมากกว่า เพราะแพะเป็นสัตว์กินง่าย แพะจะกินพืชหรือใบไม้เกือบทุกชนิดที่กินได้ แต่หากเสริมอาหารสำเร็จรูปก็จะโตเร็วขึ้น แต่ของผมไม่ได้ใช้ให้เพียงหญ้าเท่านั้น มีเสริมพวกข้าวโพดหมักบางช่วงที่ผมไม่ได้อยู่ดูแล ซึ่งซื้อมาในราคากระสอบละ 50 บาท เท่านั้น วิธีนี้จะทำให้ต้นทุนต่ำ เงินเหลือมากขึ้น” คุณแตกล่าวถึงรายได้จากการเลี้ยงแพะของตน

นอกจากการส่งแพะขายตามโรงเชือดหรือพ่อค้าคนกลางแล้ว ฟาร์มแพะ ยุพรภักดีโรจน์ยังมีกำไรจากการขายแพะเป็นตัวให้กับทางแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ โดยไม่มีการเชือดแต่จะขายตัวเป็นออกไปและลูกค้าไปเชือดเอง รายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับเลี้ยงครอบครัว

7.คุณแตยังเลี้ยงม้าอีกด้วย
7.คุณแตยังเลี้ยงม้าอีกด้วย ฟาร์มแพะ ฟาร์มแพะ ฟาร์มแพะ 

แนวโน้มในอนาคต

ผมไม่ใช่แค่เลี้ยงแพะอย่างเดียว แต่ยังเลี้ยงแกะ ม้า กระต่าย และไก่ แต่ที่ผมมีชีวิตอย่างทุกวันนี้ได้ เพราะแพะ เริ่มต้นจนศูนย์คือไม่มีอะไรเลย แต่แพะให้ทุกอย่างกับผม มีบ้าน มีเงิน มีศักยภาพ รู้คุณค่าของตนเอง วันนี้ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จไปแล้วหนึ่งก้าว และผมจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ ในอนาคตหากเป็นไปได้และมีเงินทุนมากพอจะขยาย ฟาร์มแพะ จากแม่พันธุ์ 40 แม่ เป็น 200 แม่ อาจจะทำไปเรื่อยเหมือนที่เคยทำมา ไม่ต้องเร่งทำจนตนเองเดือดร้อน

ต้องขอบคุณโครงการดีๆ อย่าง โครงการกำลังในพระราชดำริฯ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ที่ให้โอกาสคนที่ทำผิดพลาดแล้วได้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น และบุคคลที่สำคัญที่สุดของผม คือ ครอบครัว ขอบคุณที่ยังคอยเป็นกำลังใจให้กัน ไม่ทอดทิ้งกัน และสุดท้ายผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบเรื่องราวเหมือนผม ให้ก้าวเดินต่อไปได้ เพื่อชดเชยกับสิ่งที่เราได้กระทำลงไปในอดีต” คุณแตกล่าวทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกตื้นตันใจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ของ คุณสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์ (เจ้าของ ฟาร์มแพะ ยุพรภักดีโรจน์) และ ครอบครัว  เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตบนเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเบียดเบียนใคร  สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพะเนื้อ  และเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม  ได้ที่บ้านเลขที่  153  หมู่ 8 ต.บ้านพร้าว อ.บ้านนา จ.นครนายก 26110 หรือติดตามได้ที่เพจ, เฟสบุ๊ค แต แพะซิ่ง หรือสอบถามเพิ่มเติมโทร.080-830-4475 (แต)

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 320