ในที่สุดประเทศไทยก็ยูเทิร์นไปหา กุ้งกุลาดำ เหมือนในอดีต
โดยมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ ผู้ผลิตนอเพลียส ผู้อนุบาลลูกกุ้ง ผู้เลี้ยงกุ้งเนื้อ ผู้ผลิตอาหารกุ้ง และ ผู้ส่งออก เป็นต้น ขับเคลื่อนจากฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะในจังหวัด กระบี่ และ ภูเก็ต เป็นต้น ไปสู่ฝั่งอ่าวไทย จนเกิดกระแสด้วยการจัดสัมมนา ส่งสัญญานบอกถึงคนในวงการที่อยู่ในพื้นที่ความเค็มสูง
การจัดสัมมนางานกุ้งดำเพชรบุรี
ถ้านำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ภายใต้ 3 ทฤษฎี ได้แก่ BUTTERFLY EFFECT KAOS และ TURBO DYNAMIC จะพบว่า ผลการวิเคราะห์ชัดเจนว่าเกิด “ลมใต้ปีก” ของ ผีเสื้อกุลาดำ หลายตัว ที่ขยับปีกพร้อมกัน แล้ว “รวมตัว” กระพือปีกในรูปของงานสัมมนา ล่าสุดเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 65 ณ ม.ราชภัฎฯ เพชรบุรี งานนี้ชาวกุ้งดำและกุ้งขาว หลายจังหวัด หลายร้อยคน มาร่วมงาน จนสามารถดูดที่ปรึกษา รมต.เกษตร มาขึ้นเวที สนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา
กุ้งกุลาดำ กุ้งทะเลที่เกิดและเติบโตในทะเลหลายประเทศ เป็นอาหารโปรตีนสะอาดของนักกินกระเป๋าหนัก เนื่องจากรสชาติดี เนื้อแน่น อร่อย ในหลายๆ เมนู
ยุคที่กุ้งดำเฟื่องฟูในไทย ส่งผลให้ประเทศเป็นแชมป์โลกด้านการส่งออก โดยแลกด้วย ป่าชายเลน ที่วอดวายหลายจังหวัด
วันนี้คณะบุคคลจุดประกายกุ้งดำ เพราะเล็งเห็นคนกินที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่คลั่งไคล้กับกุ้งเป็นๆ ที่อยู่ในรูป กุ้ง อ๊อก จากประเทศไทย แม้ราคาแพงก็ต้องกิน โดยเฉพาะกุ้งไซซ์ใหญ่ หน้า 2 ที่เป็นกุ้งระดับพรีเมียม กลายเป็นอาหารจานโปรดของคนมีระดับ จากนั้นก็นำกุ้งดำไซซ์กลางมาต้ม หรือแช่แข็ง ยืดอายุให้นานขึ้น เพื่อเปิดตลาดผู้บริโภคเกรด B ซึ่งมีปริมาณมาก ทำให้กุลาดำในจีนมีคน 2 กลุ่ม บริโภค
การเป็น นกฟีนิกซ์ ของกุ้งกุลาดำครั้งนี้ มีข้อสังเกตหลายอย่าง เช่น 1.ความเบื่อหน่ายกุ้งขาวของเกษตรกร ที่สู้รบปรบมือกับสารพัดโรคไม่ไหว ตัดสินใจนำบ่อและเครื่องมือมาเลี้ยงกุลาดำ 2.ความง่ายในการเลี้ยงกุลาดำ ตอบโจทย์ทางธุรกิจชัดเจน 3.มีตัวอย่างของผู้สำเร็จให้ศึกษา และ 4.ความพร้อมของคนในคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำ ในการแบกรับความเสี่ยง เป็นต้น
การผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ
ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ 6 หน่วยงานธุรกิจ ที่ผลิตพ่อแม่พันธุ์ ได้แก่ ซีพีเอฟ เทอร์โบ “ลายทอง” ม.บูรพา บจ.มารีน เอ็มไพร์ MOANAฯ เชนแฮทเชอรี่ และ BLACKGEV เป็นต้น ล้วนใส่เกียร์ห้าเดินหน้าทางธุรกิจ เช่นเดียวกับผู้ผลิตอาหารกุ้งกุลาดำ ทำธุรกิจเต็มรูปแบบ หลายบริษัทประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะสู้ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น และธุรกิจห้องเย็น รวมทั้ง ผู้ส่งกุ้งอ๊อก ก็ตะลุยลงพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงเต็มตัว ซึ่งพื้นที่ความเค็มสูง หลายจังหวัดจะคึกคักมากขึ้นในปีหน้า
ระยอง จันท์ ตราด แปดริ้ว สมุทรปราการ เมือง 3 สมุทร เพชรบุรี และ ประจวบฯ ที่มีบ่อกุ้งร้างๆ มานาน จะถูกพัฒนาเป็นบ่อกุ้งกุลาดำอีกครั้ง แม้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ แต่เงินนอกระบบจะหลุดมาเข้าวงการกุ้งดำแน่นอน
![3.มือตลาดโกลด์ คอยน์ โชว์ความหอมของอาหาร](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2023/01/3.มือตลาดโกลด์-คอยน์-โชว์ความหอมของอาหาร.jpg)
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
บริษัทอาหารกุ้งกุลาดำ ที่ จัดตั้ง ผู้เลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน ถึงขนาดพิมพ์สมุดจดบันทึกการเลี้ยงกุ้ง พิมพ์ 4 สี คือ บริษัท โกลด์ คอยน์ สเปเชียลิตี้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุ่มสุดตัว เพื่อผลักดันอาหารกุ้งกุลาดำ 4 ชนิด ได้แก่ โกลด์ สุพรีม โกลด์ คลาสสิก โกลด์ แอดวานซ์ และ โกลด์ เอสเซนส์
ซึ่งมีโปรตีนตั้งแต่ 35-42 ให้ยึดตลาดมากที่สุด ได้ระบุโปรแกรมการใช้อาหาร น้ำหนักกุ้ง ตารางบันทึกการเลี้ยง สูตรการคำนวณหาผลผลิตของบ่อเลี้ยง ตารางผลบันทึกการเลี้ยงกุ้ง เป็นต้น และสรุปผลการเลี้ยงที่ระบุ “ต้นทุน” ทั้งหมด เพื่อให้เกษตรกรไปหักจากรายได้ขายกุ้ง เห็น “กำไร” ต่อครอปได้ชัดเจน และบริษัทอาหารกุ้งอีกหลายแบรนด์ ก็จะตะลุยฟาร์มมากขึ้น
แม้กระทั่ง คุณภาพน้ำ โกลด์ คอยน์ฯ ก็ไม่ละเลย ต้องให้เกษตรกรตรวจค่าตั้งแต่เดือนที่ 1-3 ทั้งในเรื่อง pH DO ความเค็ม อัลคาไลน์ แอมโมเนีย ไนไตรท์ ปริมาณแร่ธาตุ และ ชนิดของแพลงก์ตอน เป็นต้น
เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบ เป็นตัวอย่างการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบยั่งยืนนั่นเอง
![4.คุณชยานันท์ อินทรัตน์ (เสี่ยจอย) กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2023/01/4.คุณชยานันท์-อินทรัตน์-เสี่ยจอย-กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน.jpg)
สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง
เกษตรกรหัวก้าวหน้าบางราย อย่าง คุณชยานันท์ อินทรัตน์ (เสี่ยจอย) ประธานชมรมกุ้งกุลาดำ เพชรบุรี ลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 10 บ่อ และกุ้งขาว 20 บ่อ ที่หาดเจ้าสำราญ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับ นิตยสารสัตว์น้ำ ว่า ตนเลี้ยงกุลาดำ โดยใช้ลูกกุ้งหลายบริษัท เช่น ไทยลักซ์ และ โมน่า เป็นต้น โดยลงกุ้งเฉลี่ยไร่ละ 1 แสนตัว บ่อขนาด 3-4 ไร่ ความเค็มของน้ำประมาณ 10-15 แต้ม น้ำลึกประมาณ 1.5-1.8 เมตร ให้อาหารประเภทอาร์ทีเมีย ใช้หลายบริษัท ส่วนอาหารเม็ดก็ใช้หลายบริษัทเช่นกัน ให้ออกซิเจนด้วยใบพัดผิวน้ำ ไม่ต้องให้ใต้น้ำ เพื่อเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด
พออายุ 75 วัน ก็สุ่มไซซ์เพื่อพาเชียล เอาไซซ์ใหญ่ขาย กุ้งที่เหลือจะโตไว เพราะไม่แน่น พอได้ไซซ์ 30 ตัว/กก. หรือ 40 ตัว/กก. ก็จับคว่ำบ่อ ราคาหน้าบ่อ 30 ตัว/กก. 300 บาท หรือ 40 ตัว/กก. ราคา 250 บาท ซึ่งผู้ซื้อเพื่ออัดอ๊อกส่งจีนไม่ต่ำกว่า 4 บริษัท ยืนยันว่าตลอด 5 ปี ที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่เจอปัญหาเรื่องโรคแต่อย่างใด
ในด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ จะเห็นได้ว่า เสี่ยจอยใช้ปัจจัยการผลิตกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 4 บริษัท เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพ และการบริการหลังการขาย เป็นการกระจายความเสี่ยง และวัดความรับผิดชอบของบริษัท ผ่าน “เซลล์” ประจำฟาร์ม ซึ่งกุ้งกุลาดำที่สายพันธุ์นิ่งแล้ว มักจะไม่มีปัญหาด้านการเลี้ยง เมื่อลงกุ้งแล้วมักจะคาดหวัง วัน เวลา การขายในราคาที่ชัดเจนได้นั่นเอง
![5.กุ้งดำคุณภาพ ตัวสวยจัด แบบที่ตลาดต้องการ](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2023/01/5.กุ้งดำคุณภาพ-ตัวสวยจัด-แบบที่ตลาดต้องการ.jpg)
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้ง
กุ้งกุลาดำพรีเมียมไซซ์ใหญ่ ปลอดสาร สีสวย เลี้ยงด้วยเจ้าของฟาร์มมืออาชีพ ในพื้นที่ความเค็มสูงหลายจังหวัด หากปริมาณเยอะขึ้น จะมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ และผู้ซื้อ หรือไม่ โดยเฉพาะผู้นำเข้าใน จีน ฮ่องกง หรือที่กวางเจา แต่ละปีจะมีออเดอร์มากน้อยแค่ไหน??
จึงมีคำถามว่า ถ้าผู้ผลิตในนาม คลัสเตอร์กุ้งกุลาดำ จะวางแผนการผลิต/ปี ด้วยกุ้งพรีเมียมไซซ์ใหญ่ แล้วตั้ง “ราคา” ล่วงหน้า ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงตลาดจีนที่ผันผวน เหมือนสินค้าเกษตรตัวอื่น หรือจะวางแผนการผลิต กุ้งกุลาดำพรีเมียม ป้อน ญี่ปุ่น ยุโรป หรือ อเมริกา เป็นต้น ด้วยไซซ์ต่างๆ ในระบบกุ้งแช่แข็ง เพื่อแข่งกับ อินเดีย หรือ มาเลเซีย ที่ต้นทุนต่ำกว่าไทย จะเป็นไปได้หรือไม่??
คำตอบโปรดติดตามสัตว์น้ำฉบับหน้า รับรองว่าตาสว่างแน่นอน