การเลี้ยง กุ้งทะเล ด้วยเทคโนโลยี ผ่านระบบ IoT

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประวัติความเป็นมา

นายวิกรม ธารธรรมวงศ์ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ กุ้งทะเล นายายอาม ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี คือ หนึ่งในเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ภูมิลำเนาเดิมอยู่กรุงเทพฯ ประกอบอาชีพค้าขายเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง และร้านอาหารกลางคืน เมื่อปี 2549 มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ย้ายมาพักฟื้นร่างกายที่ จ.จันทบุรี และวางแผนช่วยคุณลุงเลี้ยงกุ้ง 1 บ่อ ประมาณ 3 ปี โดยคิดว่าเมื่อสุขภาพดีขึ้นแล้วจะกลับบ้านที่กรุงเทพฯ

1.กุ้งทะเล01

การเพาะเลี้ยงกุ้ง

ในปี 2552-2553 การเลี้ยงกุ้งประสบความสำเร็จค่อนข้างดี จึงได้เริ่มคิดซื้อที่ดินแปลงนี้เพื่อประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล (ฮัมมิ่งเวย์ฟาร์ม ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี) แต่เมื่อปี 2554 ฟาร์มประสบปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ผลผลิตกุ้งในฟาร์มลดลง เนื่องจากอัตราการตายของกุ้งสูง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดทุน ถึงแม้ว่าฟาร์มจะประสบปัญหา แต่คุณวิกรมยังคงมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้เรื่องการเลี้ยงกุ้งเพิ่มเติม ด้วยการศึกษาดูงานตามฟาร์มต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการและเกษตรกรผู้เลี้ยง

การเข้าร่วมงานวันวิชาการกุ้งจันท์/งานสัมมนาวิชาการต่างๆ เนื่องจากคุณวิกรมคิดอยู่เสมอว่าตนคือผู้เลี้ยงกุ้งมือใหม่ ยังไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงกุ้งมากนัก ปัจจุบันฮัมมิ่งเวย์ฟาร์ม ได้ปรับรูปแบบการเลี้ยง จากการเลี้ยงพร้อมกันทั้ง 3 บ่อ มาเป็นการทยอยเลี้ยงครั้งละบ่อ เมื่อกุ้งมีอายุมากกว่า 40 วัน จึงจะลงกุ้งเลี้ยงบ่อใหม่

อีกทั้งมีแนวคิดเริ่มนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล จนเป็นที่รู้จัก และเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา/ดูงานของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน ตลอดจนเกษตรกรผู้สนใจ จึงอาจกล่าวได้ว่า ฮัมมิ่งเวย์ฟาร์ม คือต้นแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะฟาร์มหนึ่งใน จ.จันทบุรี

2.กุ้งทะเล02

สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง

ฮัมมิ่งเวย์ฟาร์ม มีพื้นที่ฟาร์มทั้งหมดประมาณ 11 ไร่ แบ่งเป็นบ่อเลี้ยงจำนวน 3 บ่อ ขนาดประมาณ 2-3 ไร่ และบ่อพักน้ำจำนวน 1 บ่อ ขนาดประมาณ 4 ไร่ ฟาร์มตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ นำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์มโดยการขุดร่องน้ำต่อมาจากปากน้ำแขมหนูผ่านคลองตะกาดเง้า มีความเค็มเฉลี่ย 15-20 พีพีที และมีบ่อเก็บน้ำจืด ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจากร่องเขาด้านหน้าฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเตรียมบ่อเลี้ยง เมื่อนำดินเลนออกจากบ่อแล้ว จะตากบ่อประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ดินได้รับออกซิเจน และย่อยสลายสารอินทรีย์ รวมถึงฆ่าเชื้อโรคที่จะฝังอยู่ในดิน จากนั้นหว่านปูนขาว 1 ตัน และปูนมาร์ล 1 ตัน สำหรับบ่อขนาด 2-3 ไร่ ตามสภาพความเป็นกรดและด่าง (pH) ของดินบริเวณพื้นบ่อ

การเตรียมน้ำ สูบน้ำเข้าบ่อพักโดยผ่านการกรองด้วยมุ้งไนลอนสีฟ้า เพื่อป้องกันพาหะและศัตรูกุ้ง เช่น ปลา หอย ตัวอ่อน และไข่ของสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นต้น ใช้คลอรีนผง 90% จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเน้นฆ่าเชื้อโรค และกำจัดพาหะ สร้างอาหารธรรมชาติด้วยการทำสีน้ำ (แพลงก์ตอนพืช)

โดยใช้มูลไส้เดือน 20 กิโลกรัม ผสมกับกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ใช้สีน้ำเทียมในการทำสีน้ำ เพื่อลดปริมาณแสงตั้งแต่เริ่มปล่อยกุ้ง ควบคุมไม่ให้แพลงก์ตอนมีจำนวนมากเกินไป และทำให้ pH ไม่แกว่งมาก น้ำที่ใช้เลี้ยงจะใช้ระบบน้ำหมุนเวียน ซึ่งปกติจะเลี้ยงกุ้งในบ่อที่ 1 และ 2 โดยเมื่อจับกุ้งบ่อที่ 2 จะดูดน้ำเข้าบ่อที่ 3 เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เลี้ยงต่อ และเมื่อจับกุ้งบ่อที่ 1 จะดูดน้ำเข้าบ่อที่ 2 เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป

การเลือกลูกพันธุ์กุ้ง เกษตรกรจะพิจารณาสายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคขี้ขาว ซึ่งจะทำให้กุ้งไม่โต แตกไซซ์ และได้ผลผลิตน้อย อัตราปล่อยลูกกุ้งที่ระยะ PL12 ในอัตรา 100,000-150,000 ตัว/ไร่

3.กุ้งทะเล03

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

การให้อาหารตามตารางการให้อาหาร โดยการเช็คขนาดกุ้งจากยอทุกๆ 7 วัน เมื่อทราบน้ำหนักกุ้งจะปรับการให้อาหารตามตารางการให้อาหาร มีการใช้เครื่องคลุกอาหารเพื่อช่วยในการผสม ยีสต์+กรดอะมิโนจำนวน 7 กรัม กับจุลินทรีย์ ปม.2 จำนวน 100 มิลลิลิตร ต่ออาหารกุ้ง 1 กิโลกรัม ใช้เวลาในการคลุกประมาณ 2 นาที จากนั้นนำอาหารที่ได้ไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ก่อนนำไปใช้เลี้ยงกุ้ง

ฟาร์มมีการควบคุมคุณภาพน้ำให้มีความสมดุล เนื่องจากคุณภาพน้ำมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการเลี้ยงกุ้ง หากคุณภาพน้ำไม่ดีจะมีผลต่อการกินอาหารของกุ้ง และการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลินทรีย์ภายในบ่อ ทำให้กุ้งอ่อนแอ เจริญเติบโตช้า และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคกุ้งทะเล

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำและรักษาปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ตลอดการเลี้ยงให้ไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/ลิตร ด้วยการติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่บ่อเลี้ยงกุ้ง เฉลี่ยบ่อละ 6-8 ตัว/บ่อ ใบพัดตีน้ำเฉลี่ย 6-8 แขน/บ่อ โดยในช่วงเวลากลางวันเปิดเครื่องตีน้ำ 4-6 ตัว/บ่อ (4-6 แขน/บ่อ) และช่วงเวลากลางคืนเปิดเครื่องตีน้ำ 6-8 ตัว/บ่อ (6-8 แขน/บ่อ) ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง

ใบพัดตีน้ำแบบ “ใบพาย” จะกินน้ำลึก แต่เพิ่มออกซิเจนในน้ำได้น้อยกว่าใบพัดแบบ “ตีนเป็ด” ดังนั้นถ้าต้องการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ให้ใช้ใบพัดตีน้ำแบบ “ตีนเป็ด” แต่ถ้าต้องการหมุนเวียนน้ำและขับเคลื่อนมวลน้ำให้ใช้ใบพัดตีน้ำแบบ “ใบพาย”

4.กุ้งทะเล04

การติดตั้งเครื่องควบคุมระบบเติมอากาศอัจฉริยะ

ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ฮัมมิ่งเวย์ฟาร์มได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องควบคุมระบบเติมอากาศอัจฉริยะ เพื่อการตรวจวัดและติดตามการเปลี่ยนของคุณภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง (Real time) ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำ ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และอุณหภูมิ ได้ตลอดเวลา ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน (Smart Phone) โดยใช้ระบบ Internet of Things (IoT) นอกจากนี้ฟาร์มยังได้ติดตั้งมอเตอร์เกียร์แบบลอยน้ำ ซึ่งเป็นมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง ทดแทนมอเตอร์เกียร์แบบเดิมที่ติดตั้งไว้บริเวณคันบ่อด้วย

หลักการทำงานของเครื่องควบคุมระบบเติมอากาศอัจฉริยะ เกษตรกรกำหนดค่า DO เพื่อให้เครื่องฯ ทำงานได้เอง เช่น ตั้งค่า DO ไว้ที่ 5 มิลลิกรัม/ลิตร เมื่อระดับ DO ลดลงต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/ลิตร ระบบจะสั่งการเปิดเครื่องตีน้ำอัตโนมัติ และจะปิดเครื่องตีน้ำเมื่อระดับ DO เท่ากับค่าที่ตั้งไว้ เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถควบคุมเครื่อง ตีน้ำด้วยตนเอง (Manual) ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

หลังใช้เครื่องควบคุมระบบเติมอากาศอัจฉริยะ และมอเตอร์เกียร์แบบลอยน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พบว่าฟาร์มเปิดเครื่องตีน้ำลดลงจากเดิม คือ ในช่วงเวลากลางวันเปิดเครื่องตีน้ำ 1-2 ตัว/บ่อ (1-2 แขน/บ่อ) และในช่วงเวลากลางคืนเปิดเครื่องตีน้ำ 4-5 ตัว/บ่อ (4-5 แขน/บ่อ) ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ทำให้ช่วยลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งขาวของฟาร์มได้ประมาณ 20-30% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการเลี้ยงของฟาร์มด้วย

ก่อนติดตั้งเครื่องฯ ผมจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 38,000-40,000 บาท/เดือน แต่หลังจากติดตั้งเครื่องฯ แล้ว ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือประมาณ 28,000-29,000 บาท/เดือน ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุน 125 บาท/กิโลกรัม ขนาดกุ้ง 60 ตัว/กิโลกรัม อัตรารอดร้อยละ 80 และอัตราแลกเนื้อ (FCR) ประมาณ 1.4

โฆษณา
AP Chemical Thailand

5.กุ้งทะเล05

จุดเด่นของระบบการจัดการฟาร์มกุ้งอัจฉริยะ

ตรวจสอบคุณภาพน้ำอัตโนมัติ วัดค่าคุณภาพน้ำแบบทันทีและตลอดเวลา (Real time) แจ้งเตือนค่า DO เมื่อค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควบคุมเครื่องเติมอากาศอัตโนมัติตามค่า DO ที่ตั้งไว้ ตั้งเวลาควบคุมเครื่องเติมอากาศอัตโนมัติ หรือควบคุมด้วยตนเอง มีไซเรนแจ้งเตือน ก่อนเครื่องเติมอากาศทำงาน ควบคุมทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟน มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในตัว ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในฟาร์ม ผ่านแอปพลิเคชัน หรือตั้งเวลาอัตโนมัติ ช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้สูงสุด 20-50% ขึ้นอยู่กับการจัดการเลี้ยงของแต่ละฟาร์ม

เปรียบเทียบผลการเลี้ยงกับค่ามาตรฐานและข้อมูลในรอบการเลี้ยงก่อนๆ ใช้ข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ เช่น เมื่อไหร่ที่ควรจะทำการจับกุ้งออกบางส่วน เป็นต้น บันทึกและประมวลข้อมูลการให้อาหาร เพื่อทราบถึงระยะการเจริญเติบโตของกุ้ง ติดตาม FCR เพื่อปรับการให้อาหารแต่ละช่วงให้เหมาะสม ส่งผลให้คงคุณภาพน้ำที่ดีไว้ มีฟังก์ชันการบันทึกข้อมูลเพื่อทราบการเจริญเติบโตและเพื่อประเมินการเลี้ยง

6.กุ้งทะเล06

การบำรุงดูแลกุ้ง

เกษตรกรเชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งให้ปลอดโรค คือ สายพันธุ์กุ้ง และการเตรียมบ่อ นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง เกษตรกรจะมีการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ และลดปริมาณเชื้อก่อโรคทั้งในสิ่งแวดล้อม และในระบบทางเดินอาหารของกุ้ง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในกุ้ง และลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

สูตรการหมักและวิธีใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ ปม.2 (สูตรน้ำ) 200 มิลลิลิตร+น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม+อาหารกุ้ง 200 กรัม+น้ำจืด 200 ลิตร ผสมให้เข้ากัน ปิดฝาถัง และให้อากาศเป็นเวลา 36-48 ชั่วโมง เดือนที่ 1 ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ในบ่อวันละ 200 ลิตร (ตอนเย็นทุกวัน) เดือนที่ 2 ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ในบ่อวันละ 400 ลิตร (ตอนเช้า 200 ลิตร และตอนเย็น 200 ลิตร ทุกวัน) เดือนที่ 3 ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ในบ่อวันละ 800 ลิตร (ตอนเช้า 400 ลิตร และตอนเย็น 400 ลิตร ทุกวัน)

เมื่อพบโรคขี้ขาว เกษตรกรจะหยุดการให้อาหาร 1 วัน จากนั้นจะนำใบฝรั่งมาปั่นแล้วคั้นน้ำ นำมาคลุกกับอาหารให้กุ้งกินเป็นเวลา 3 วัน แล้วสังเกตอาการขี้ขาว ถ้ากุ้งยังเป็นโรคขี้ขาวจะนำขมิ้นมาปั่นแล้วคั้นน้ำ นำมาคลุกกับอาหารให้กุ้งกินอีก ถ้าอาการขี้ขาวยังไม่ดีขึ้นจะใช้กรดอินทรีย์ผสมอาหารให้กุ้งกินจนกว่าอาการขี้ขาวจะหายไป

เกษตรกรไม่ได้ดูดตะกอนเลนทิ้งระหว่างการเลี้ยง แต่จะทำการฉีดตะกอนเลน และเก็บไว้ในคูข้างฟาร์มเมื่อจับกุ้งหมดบ่อแล้ว เนื่องจากเกษตรกรปล่อยกุ้งบาง ทำให้สารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นในบ่อมีน้อย จึงเกิดตะกอนเลนระหว่างการเลี้ยงไม่มากนัก ทั้งนี้การดูดตะกอนเลนระหว่างการเลี้ยง หากใช้ปั๊มดูดที่ไม่มีกำลังมากพอ หรือไม่มีสต๊อปวาล์ว (stop valve) ที่ดี ตะกอนเลนที่อยู่ระหว่างการดูดจะตีย้อนกลับมาฟุ้งกระจายในบ่อ ส่งผลให้เกิดปัญหาตะกอนเข้าไปในเหงือกกุ้งได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

7.กุ้งทะเล07

ที่มา : การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.7401 (G)-2558, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การตรวจวัดคุณภาพน้ำ

การตรวจวัดและติดตามการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง (Real time) โดยใช้เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และส่งข้อมูลผ่านระบบ IoT บันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำ ได้แก่ DO pH และอุณหภูมิ ไว้ในฐานข้อมูล และสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ รายงานผลคุณภาพน้ำและส่งข้อมูลโดยผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้เกษตรกรสามารถติดตามและวิเคราะห์ข้อมูล

โดยสามารถดูแลบริหารจัดการผ่านระบบออนไลน์ได้จากทุกที่ ทุกเวลา เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ค่า DO ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ระบบจะแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟน และส่งสัญญาณเตือนภายในฟาร์ม เป็นต้น ระบบอัตโนมัติในฟาร์ม (Farm Automation) จะเปิดเครื่องตีน้ำอัตโนมัติเมื่อค่า DO ต่ำ และจะปิดเครื่องตีน้ำเมื่อค่า DO อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือเกษตรกรสามารถสั่งการด้วยตนเอง (Manual) ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนได้เช่นเดียวกัน

โดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 400