ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่ากุ้ง คือ สัตว์น้ำ ที่เกิดและเติบโตในน้ำที่เหมาะสมกับสายพันธุ์แต่ละชนิด แต่มนุษย์หลายประเทศ ก็ลงทุนเลี้ยงด้วยการใส่ใจในเรื่องน้ำ น้อยกว่าปัจจัยการเลี้ยงอย่างอื่น เช่น อาหาร เป็นต้น
การเลี้ยงกุ้งเชิงธุรกิจ “บ่อเลี้ยง” คือ บ้านของกุ้ง ซึ่งจะต้องออกแบบและสร้างให้เหมาะสม องค์ประกอบเริ่มตั้งแต่ รูปแบบ ชนิด ความกว้าง ความลึก และ น้ำเลี้ยง เป็นต้น รวมทั้งทิศทางลมและแสงที่สัมพันธ์กับที่ตั้งบ่อ
ตระกูลวานาไม เป็นกุ้งขาวที่ได้รับการพัฒนาด้วยบรีดเดอร์จากอเมริกา แล้วนำมาเลี้ยงและผสมจนได้พ่อแม่พันธุ์ ในประเทศที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในไทย ทั้งโดยรัฐและเอกชนในรอบ 10 กว่าปี ไม่ต่ำกว่า 9 ราย หลายจังหวัด ทั้งพื้นที่ความเค็มต่ำ และความเค็มสูง ถูกสร้างเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งขาว เกิดห่วงโซ่อุปทานต่างๆ เกาะเกี่ยวเป็นอาชีพที่หลากหลาย แต่สุดท้ายวงการนี้ก็เดินทางมาสะดุด เพราะโรคต่างๆ เล่นงาน เช่น โรคขี้ขาว เป็นต้น
สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง
ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดินแดนที่โด่งดังด้านธุรกิจกุ้งมากว่า 3 ทศวรรษ หลายคนยังอยู่รอดในธุรกิจ เช่น คุณพิสิทธิ์ นวนนุ่น เจ้าของ ก่อเขตฟาร์ม กล้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ้านกุ้ง โดยการลงทุนปูพื้นบ่อขนาด 3-4 ไร่ ด้วย “หินกรวด” ที่บรรทุกด้วยรถ 10 ล้อ 20 คัน มาเทแล้วบดอัดให้แน่นด้วยรถบด หนา 10 ซม. ใช้เงินสองแสนบาท โดยจะต้องทยอยทำไปเรื่อยๆ จนครบ 40 บ่อ ต้นทุนไม่ได้สูงกว่าพีอี แต่ใช้ได้นานกว่า และไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นแหล่งหมักหมมโรค ซึ่งเป็นเหตุให้กุ้งตาย
สำหรับ ก่อเขตฟาร์ม ใช้ลูกกุ้งของซีพีถึง 90% เป็นแฟนพันธุ์แท้มา 20 ปี จึงได้เครดิตถึง 60 วัน ในเรื่องน้ำเลี้ยง คุณพิสิทธิ์ใช้ ระบบน้ำหมุนเวียน หรือรีไซเคิลน้ำ แต่จะต้องมีบ่อเก็บและบำบัด 60% ของจำนวนบ่อในฟาร์ม ซึ่งระบบนี้ป้องกันโรคได้ดี เพราะน้ำเลี้ยงสะอาดตลอดเวลา ในเรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเสียเดือนละ 1.7-1.8 ล้านบาท/เดือน ดังนั้นจึงต้องติดตั้งระบบโซลาเซลล์ โดย บริษัท วีก้า ออโตเมชั่น (2000) จำกัด ขนาด 5 กิโลวัตต์ ทำให้ค่าไฟถูกลง และอายุการใช้งานถึง 25 ปี
ก่อเขตฟาร์ม ก็เหมือนฟาร์มกุ้งทั่วๆ ไป ที่ใช้การ “พาเชียล” จับกุ้งเป็นไซซ์ใหญ่ครั้งเดียว แล้วคว่ำบ่อ โดยผู้ซื้อจะซื้อ “กุ้งเป็น” ถึง 95% ไซซ์ที่ต้องการ คือ 40-70 ตัว/กก. ขายในประเทศเป็นหลัก ถามว่า 40 บ่อ ใช้แรงงานกี่คน คุณพิสิทธิ์ยืนยันว่า ตนใช้คนลาวประจำ 30 คน รายจ่ายทั้งเงินเดือนและโบนัสคนละ 20,000 บาท
เมื่อถามถึงความมั่นคงในการเลี้ยงกุ้งขาว 20 กว่าปี คุณพิสิทธิ์ยืนยันว่า กำไรตลอด เพราะมีการปรับตัวตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะตั้งอยู่ในป่าชายเลน ดินเปรี้ยว การลงทุนทำพื้นบ่อด้วยหินกรวด จึงไม่ต้องกังวลเรื่องดินเปรี้ยวจากพื้นบ่อแต่อย่างใด ในเรื่องส่วนรวม คุณพิสิทธิ์เคยเป็นประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองจำกัด เห็นได้ชัดว่าการเลี้ยงกุ้ง ถ้าเก่งในการปรับตัวก็อยู่ในอาชีพอย่างมั่นคง
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในบทบาทของ ระบบน้ำหมุนเวียน จึงได้เปิดใจ คุณยุทธนา รัตโน หรือ “คุณไก่” อดีตประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองจำกัด ซึ่งวันนี้คุณไก่ยังเลี้ยงกุ้งขาว 4 ฟาร์ม ด้วยระบบรีไซเคิลน้ำมากว่า 5 ปี ประสบความสำเร็จมาตลอด
กระแส กุ้งกุลาดำ ถูกจุดขึ้น เพราะ ตลาดจีน เริ่มเปิด จากฝั่งทะเลอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะที่เพชรบุรี คุณไก่ให้ความเห็นว่า “จากการสังเกตว่ามีการปรับปรุงพันธุกรรม ทำให้ลูกพันธุ์มีความนิ่ง แต่ข้อควรระวัง คือ ถ้าเลี้ยงกันเร็วเกินไป ตลาดจะรอดกับการผลิตหรือไม่ อย่างไรก็ดีหันมาเลี้ยงกุ้งดำสักระยะก็สามารถกลับมาเลี้ยงกุ้งขาวได้” ซึ่งรูปแบบอย่างนี้ คุณไก่มองว่ามันจะตัดวงจรโรคได้ หากใช้เวลา 1 ปี ในการสลับเลี้ยง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น โดยเฉพาะกุ้งขาว จะเลี้ยงง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี “ต้นทุน” การเลี้ยงกุ้งดำกับกุ้งขาวจะต่างกัน กุ้งดำต้นทุนต่ำกว่า กินอาหารน้อยกว่า แต่ก็มีจุดเปราะบาง คือ ตั้งแต่ไซซ์ 100 ถึง 60 ตัว/กก. จะต้องทำไซซ์ใหญ่ให้ได้ เพราะกุ้งดำยิวต้องแกะเปลือก ต้องไซซ์ใหญ่ ราคาจึงจะดี ใช้เวลาเลี้ยง 5 เดือน
เทคนิคการเลี้ยงกุ้ง
นอกจากนี้การเลี้ยงกุ้งดำ เรื่องทำสี แต่ละฟาร์มต้องใช้เทคนิคมากขึ้น โดยเฉพาะเทคนิคการหมักน้ำและเติมแร่ธาตุให้กุ้งกิน แต่มีข้อแม้ว่าต้องเลี้ยงบาง ต่างจากกุ้งขาวโดยสิ้นเชิง สำหรับความหนาแน่นในการปล่อยนั้น คุณไก่เปิดเผยว่า “ณ ปัจจุบันเขาไม่ปล่อยให้หนาแน่นเกินไป เขามีวิวัฒนาการ คือ บางคนลงแน่นก่อนแล้วค่อยย้ายตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ และความเค็มเป็นตัวกำหนดความหนาแน่น อย่างไรก็ดีหากปล่อยหนาแน่นเหมือนกุ้งขาว พอตัวใหญ่มันจะเต็มความจุในบ่อ ทำให้เราคอนโทรลการเลี้ยงยากขึ้น”
นอกจากนี้จะต้องนำ ฤดูกาล ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงมาพิจารณาด้วย เช่นเดียวกับเงินทุน เรามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งช่วงฤดูกาลที่เหมาะแก่การเลี้ยงกุ้ง ทั้งดำและขาว เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นช่วงที่ปลอดภัย โอกาสเลี้ยงไซซ์ใหญ่เป็นไปได้สูง ส่วนระบบการเลี้ยงให้ได้กุ้งปลอดสาร คุณไก่ยอมรับว่าประเทศผลิตกุ้งปลอดสาร ปลอดภัย มาตลอด “กระบวนการเลี้ยงของเรา วันนี้ค่อนข้างปลอดภัยสูง เพราะเรามีการพัฒนามากจนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยสูง” คุณไก่ ยืนยัน เพราะฟาร์มของไทยได้มาตรฐาน
สำหรับตลาดกุ้งดำ คุณไก่มองว่า เวลานี้เรามีทั้ง กุ้งเป็น กุ้งต้ม และ กุ้งมีชีวิต มีความหลากหลาย ถ้ารัฐช่วยเปิดตลาดเอเชียให้มากขึ้น จะทำให้วงการกุ้งดำกลับมา เพราะเกษตรกรมีตัวเลือกในการขายมากขึ้น
ในวงการกุ้งขาว 2566 คุณไก่ฟันธงว่า “ระบบการเลี้ยง” เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าขาวหรือดำ และ พันธุ์กุ้ง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมกุ้ง “พ่อแม่พันธุ์เราทำในประเทศ เราพัฒนาได้ ก็ต้องนำมาพัฒนาต่อ เราไม่ควรปิดกั้นจนเกินไป สายพันธุ์ยิ่งมีมากจะเกิดประโยชน์กับผู้เลี้ยงมากที่สุด สามารถแยกแยะได้ว่าพันธุ์ไหนต้านทานโรคตัวแดงแดงขาว พันธุ์ไหนต้านทานโรคขี้ขาว เรื่องนี้สำคัญ” คุณไก่ ให้ความเห็นถึงข้อดีที่รัฐจะต้องเปิดกว้างให้แข่งขันกันพัฒนาสายพันธุ์
การบำรุงดูแลกุ้ง
ส่วนระบบการเลี้ยง เริ่มตั้งแต่การออกแบบ “บ่อเลี้ยง” ไม่ว่า ปูพีอี หรือไม่ปูพีอี หรือปูพีอีเฉพาะขอบบ่อ ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน แต่เรื่อง “น้ำเลี้ยง” คุณไก่ให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ จะต้องทำให้น้ำปลอดเชื้อโรคตลอดเวลา นั่นคือ การแบ่งสัดส่วนบ่อเลี้ยงเป็น 60:40 คือ 60% ใช้เป็นบ่อกักเก็บน้ำ และบำบัดน้ำ อีก 40% เป็นบ่อเลี้ยงโดยเฉพาะ
“เราสูบน้ำเข้าครั้งเดียว ใช้ตลอดการเลี้ยง โดยไม่สูบน้ำนอกเข้ามาใช้ เราฆ่าพาหะในน้ำแล้วนำน้ำนั้นเลี้ยงหมุนเวียนไปมา เพราะน้ำจากบ่อกุ้งเลี้ยงถูกถ่ายออกไปในบ่อเก็บให้ตกตะกอนแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการทรีตให้เสียต้นทุน เราเรียกว่าระบบรีไซเคิล” คุณไก่ ให้ความเห็นถึงระบบรีไซเคิลน้ำ ข้อดี คือ ไม่ต้องสูบน้ำใหม่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ปล่อยน้ำเลี้ยงออกไป
ฟาร์มทั้ง 4 แห่ง ของคุณไก่ หลายบ่อใช้ระบบรีไซเคิลน้ำ ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ไม่ต้องเสียเงินค่าสารเคมีในการบำบัดน้ำ และค่าไฟในการถ่ายน้ำ ดังนั้นการให้น้ำตกตะกอนโดยธรรมชาติ จึงเป็นการลดต้นทุนเรื่องน้ำเลี้ยงได้ดีที่สุด เมื่อน้ำสะอาดก็ไม่เกิดโรค เหมือนการเลี้ยงปลาในตู้ปลานั่นเอง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้ง
นอกจากนี้คุณไก่ปล่อยลูกกุ้งไม่หนาแน่นมาก บางบ่อขนาด 5 ไร่ ปล่อยลูกกุ้ง 2 แสนตัว พอกุ้งโตขนาด 48-50 ตัว/กก. ก็พาเชียล พอโตขนาด 35-40 ตัว/กก. ก็พาเชียล ครั้งที่ 2 และสุดท้าย 25-30 ตัว/กก. ก็จับคว่ำบ่อ ไซซ์ 25 ตัว/กก. ราคาหน้าบ่อ 320 บาท และต้นทุนการเลี้ยงต่ำ กำไรเยอะ เป็นการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน เพราะเลี้ยงแล้วกำไร “ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงหลายบ่อ แต่เราได้กำไรเท่ากับเราเลี้ยงหลายบ่อ เราอย่าเอาหลายบ่อมาเป็นกำแพง ไม่งั้นเราจะสิ้นเปลืองเรื่อง พันธุ์ อาหาร อุปกรณ์ และ แรงงาน” คุณไก่ ฟันธงเรื่องใช้บ่อเลี้ยงให้น้อย แต่กำไร/บ่อให้มาก
เมื่อถามว่าจะไม่เลี้ยงกุ้งดำบ้างหรือ คำตอบ คือ ขอยืนหยัดเลี้ยงกุ้งขาววานาไม เพราะตอบโจทย์เรื่องกำไรชัดเจน “ตราบใดที่เราเลี้ยงกุ้งแล้วไม่มีกำไร ไม่มีทางจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นความยั่งยืน คือ เลี้ยงกุ้งต้องได้กำไรสม่ำเสมอ หรือเสียหายให้น้อยที่สุด หรือ 1% 10 บ่อ เสียหายไม่เกิน 1 บ่อ” คุณไก่ ฟันธง
จึงสรุปได้ว่า การเลี้ยงกุ้ง ระบบการเลี้ยง เป็นเรื่องที่ต้องชัดเจน ซึ่ง ระบบรีไซเคิลน้ำ ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ซึ่งคุณพิสิทธิ์ นวนนุ่น ก่อเขตฟาร์ม และ คุณยุทธนา รัตโน ได้ปฏิบัติจนประสบความสำเร็จมาตลอด