เปิดอาณาจักรฟาร์มแพะเนื้อ 1,500 ตัว ของ “ เอกรัตน์ฟาร์ม ” ป้อนตลาดภาคใต้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คอลัมน์แพะเศรษฐกิจฉบับนี้ ยังอยู่ที่ภาคใต้ จากฝั่งอันดามัน ข้ามไปดูการเลี้ยงแพะเชิงการค้าเต็มรูปแบบของ ครอบครัว “วรรณคำ” เจ้าของ “ เอกรัตน์ฟาร์ม ” ฝั่งอ่าวไทยกันบ้าง ต้องบอกว่าฟาร์มแพะแห่งนี้ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน เป็นฟาร์มแพะขนาดใหญ่ในภาคใต้

ด้วยระบบฟาร์มที่ถูกออกแบบ การดูแล และ การจัดการ ที่ทันสมัย ทั้งระบบการให้น้ำ ระบบการให้อาหาร และการจัดการด้านอื่นๆ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้การทำงานสะดวก สบาย และที่สำคัญสามารถจัดการโรงเรือนได้อย่างมีระบบ และหากนับจำนวนแพะ ทั้งพ่อพันธุ์เลือดร้อยที่มีมากกว่า 40 ตัว แพะขุน และ ลูกแพะ รวมกันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 1,500 ตัว ทั้งหมดล้วนเป็นแพะสายพันธุ์เศรษฐกิจที่มีมากกว่า 5 สายพันธุ์

เป็นฟาร์มแพะสายเนื้อ เน้นขุนเป็นแพะเนื้อ ในสัดส่วน 70/30 อีก 30 เน้นพัฒนาปรับปรุงสายเลือดแพะ ให้ได้แพะเนื้อที่มีคุณภาพ มีอัตราการแลกเนื้อสูง ในส่วนแพะขุน ที่นี่ผลิตแพะเนื้อป้อนตลาด กระบี่ และ ภูเก็ต เป็นหลัก แต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 100 ตัว พร้อมวางแผนอนาคต ผลิตป้อนตลาดไม่ต่ำกว่า 300-500 ตัว/ เดือน

1.คุณเลอศักดิ์ (พี่เอก) คุณรัตนา (พี่เล็ก) วรรณคำ เจ้าของเอกรัตน์ฟาร์ม
1.คุณเลอศักดิ์ (พี่เอก) คุณรัตนา (พี่เล็ก) วรรณคำ เจ้าของเอกรัตน์ฟาร์ม

การเลี้ยงแพะ

ฟาร์มแพะดังกล่าวนี้ มีชื่อว่า “เอกรัตน์ฟาร์ม”  ตั้งอยู่ที่ 80 หมู่ 11 ตำบลนำหัก อำเภอคีรีรัตน์นิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี คุณเลอศักดิ์ วรรณคำ (พี่เอก) และ คุณรัตนา วรรณคำ (พี่เล็ก) บริหารฟาร์มแพะแห่งนี้ ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการปศุสัตว์มากว่า 17 ปี จากธุรกิจขายปุ๋ย ขายอาหารสัตว์ สู่เจ้าของฟาร์มหมูขนาดใหญ่กว่า 10 ,000 ตัว ก่อนพลิกผันมาทำฟาร์มแพะดังที่เห็นในปัจจุบัน

จากการพูดคุย กับคุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา ได้คำตอบถึงสาเหตุที่เลิกเลี้ยงหมูหันมาเลี้ยงแพะนั้น คุณเลอศักดิ์ และคุณรัตนา เล่าให้ฟังว่า เดิมทีได้ทำธุรกิจฟาร์มหมูขนาดใหญ่ แต่ด้วยวิกฤต ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ลุกลามไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว สร้างความเสียหายไปทั่วประเทศ ทั้งฟาร์มใหญ่ ฟาร์มเล็ก หลายๆฟาร์มล้มละลายหมดตัวด้วยโรคดังกล่าวนี้ และอีกหลายๆ ฟาร์มที่รู้ข่าวสารได้เร็วก็สามารถปรับตัว รับมือกับโรคได้ทันท่วงที

ฟาร์มที่รู้ก่อนสามารถระบายหมูภายในฟาร์มออกได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับหยุดวงจรการเลี้ยง พูดง่ายๆ ว่า ปิดฟาร์มกันไปเลย อย่างกรณี ฟาร์มของคุณเลอศักดิ์ และ พี่รัตนา ที่สามารถระบายหมูที่เลี้ยงไว้ภายในฟาร์มได้หมด ก่อนที่โรคระบาดจะลุกลามมาทางใต้ นับเป็นอีกฟาร์มหนึ่งที่ไม่โดนโรคอหิวาต์แอฟริกาเล่นงาน

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.คอกแม่พันธุ์บอร์
2.คอกแม่พันธุ์บอร์

สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ

เมื่อถามถึงเรื่องแพะ ที่ปัจจุบันเปิดฟาร์มเลี้ยงแพะขนาดใหญ่ได้อย่างไร ? คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา บอกว่า “สำหรับแพะนะ มันเหนือความคาดหมาย เพราะว่าเราไม่เคยสัมผัส ไม่รู้จักเลย หยุดหมูก็คิดว่าจะทำอะไร ตอนแรกคิดอยู่เฉยๆ อยากพักผ่อน พออยู่ๆ ไป คิดจะเลี้ยงวัว ในสวนปาล์ม ให้ลูกน้องที่ทำสวนดูให้ พอมาคิดดูอีกทีเลี้ยงวัวมันก็นานกว่าจะได้เงิน คือ เราเลี้ยงหมูอยู่กับตัวเลข ถ้าเลี้ยงวัวใช้ระยะเวลานานเกิน ไม่คุ้มแน่

แต่เพราะเรามีสวนปาล์ม สวนยาง มีพื้นที่ฟาร์มหมูเดิม จังหวะนั้นมีรุ่นน้องมาชวนเลี้ยงแพะ ต้องบอกว่าไม่ได้มีข้อมูลมาก่อน ไม่รู้เรื่องแพะเลย อาศัยว่าไปตามฟาร์มต่างๆ ประกอบกับเรามีพื้นฐานจากการขายอาหาร เรารู้เรื่องอาหาร รู้เรื่องยา มีความรู้เรื่องปศุสัตว์อยู่แล้ว เลยตัดสินใจเอาแพะเข้ามาเลี้ยง ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด ซึ่งหมูยังมีบางส่วนไม่ได้ระบายออก กว้านซื้อแพะเข้ามาเรื่อยๆ ครั้งละ 20 /30 /40 ตัว ทั้งพ่อ แม่พันธุ์ เข้าฟาร์มอยู่ตลอด”

ช่วงแรกวางแผนและจัดการโรงเรือน เน้นความสะอาด และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังที่กล่าวตอนต้น เอกรัตน์ฟาร์มแพะต่อยอดจากธุรกิจฟาร์มหมูมาก่อน เนื่องด้วยโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา ทำให้หยุดเลี้ยงหมู เลิกกิจการถาวร เมื่อหันมาทำฟาร์มแพะจะใช้โครงสร้างของฟาร์มหมูเก่า ปรับปรุงยกพื้นสูง ซึ่งออกแบบให้แพะอยู่ได้อย่างสบาย เน้นความสะอาดเป็นหลัก

มีการวางระบบการให้น้ำ และ ให้อาหาร ด้วยระบบรางลำเลียงไปยังคอกเลี้ยงได้อย่างสะดวก สบาย การขนส่งอาหารขึ้นโรงเรือนใช้ระบบไฮโดรลิค เพิ่มความสะดวกต่อการทำงานได้เป็นอย่างดี ภายในโรงเรือนแบ่งโชนไว้อย่างชัดเจน คอกพ่อพันธุ์ คอกแม่พันธุ์ คอกขุนแพะเนื้อ และ คอกอนุบาลแพะ รวมถึงโซนจัดเก็บยา และนมแพะที่รีดแช่เย็นไว้จำนวนหนึ่ง พูดได้เลยว่าฟาร์มแห่งนี้มีรูปแบบการจัดการฟาร์มที่ดีมาก

ก่อนพูดถึงเรื่องสายพันธุ์แพะของทางฟาร์ม คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา กล่าวถึงรูปแบบการเลี้ยงแพะของทางฟาร์ม “ที่นี่เป็นฟาร์มแพะสายเนื้อ เน้นขุน 70% ผลิตแม่พันธุ์ 30%” ในสัดส่วน 70/30 % ส่วนของ 30% เน้นปรับปรุงแม่พันธุ์ดีไว้ใช้ภายในฟาร์ม และส่งต่อให้ผู้ที่สนใจสายพันธุ์แพะของทางฟาร์ม

3.คุณเลอศักดิ์ วรรณคำ กับพ่อพันธุ์ซาแนน
3.คุณเลอศักดิ์ วรรณคำ กับพ่อพันธุ์ซาแนน

สายพันธุ์แพะของ เอกรัตน์ฟาร์ม

ฟาร์มแพะที่นี่จะใช้พ่อพันธุ์เลือด 100% ทั้งหมด ดังที่กล่าว จุดประสงค์เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์เป็นหลัก ไว้ใช้ในฟาร์มตนเอง ส่วนแม่พันธุ์เป็นลูกผสม ผลิตลูกออกมา หากเป็นเพศผู้จะนำไปขุนทั้งหมด ส่วนแพะเพศเมียที่มีลักษณะดีจะนำไปเป็นแม่พันธุ์ต่อไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อถามถึงสายพันธุ์ต้องบอกว่าที่นี่มีพันธุ์แพะมากกว่า 5 สายพันธุ์

-สายพันธุ์บอร์ 100 % (พ่อพันธุ์ประเทศออสเตรเลีย และประเทศแอฟริกา)

-ซาแนน (พ่อพันธุ์ประเทศฝรั่งเศส)

-ซามี่ แพะดามัสกัส (พ่อพันธุ์นำเข้า)

-แองโกล นูเบียน (พ่อพันธุ์นำเข้า)

-คาราฮารี เรด (พ่อพันธุ์นำเข้า)

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งพ่อพันธุ์ของที่นี่มีมากกว่า 40 ตัว เป็นสายเลือด 100% ทั้งหมด ส่วนแม่พันธุ์จะเป็นลูกผสมทั้งหมด มีไม่ต่ำกว่า 600 ตัว ที่นำเข้ามาเลี้ยงในช่วงแรกเปิดฟาร์ม โดยจะเน้นนำพ่อพันธุ์เลือด 100 % มาผสมเป็นหลัก (พ่อพันธุ์ 1 ตัว คุมฝูงตัวเมีย ไม่ต่ำกว่า 40 ตัว) เพื่อผลิตลูกแพะสายเนื้อ ที่มีอัตราการแลกเนื้อสูง โครงสร้างใหญ่สมบูรณ์ และ แข็งแรง ต้านทานโรคได้ดี

4.พ่อพันธุ์บอร์
4.พ่อพันธุ์บอร์

ลักษณะโดดเด่นของแพะ

สำหรับคุณสมบัติเด่นและรายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์นั้น คุณ เลอศักดิ์ และ คุณรัตนา บอกว่า พันธุ์บอร์เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง หากจะเปรียบเทียบยี่ห้อรถยนต์ แพะพันธุ์บอร์ต้องเป็นยี่ห้อรถเบนซ์ ลักษณะโครงสร้างที่แข็งแรง เป็นแพะเนื้อที่ล่ำสัน บึกบึน ยาวหนา และสวยงาม สีจะมีสีเข้มอมน้ำตาล ลำตัวมีสีขาว ซึ่งนี่คือความโดดเด่นของแพะพันธุ์บอร์ ปัจจุบันทางฟาร์มมีพ่อพันธุ์อยู่ 2 สาย คือ สายแอฟริกาใต้ และ สายออสเตรเลีย

พ่อพันธุ์แองโกล นูเบียน (Anglo-Nubian )
พ่อพันธุ์แองโกล นูเบียน (Anglo-Nubian )

สายพันธุ์ถัดมาเป็นสายพันธุ์แองโกล นูเบียน เป็นแพะที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ประเทศอังกฤษ เป็นแพะที่ผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ เข้าด้วยกัน 1.แพะพันธุ์พื้นเมืองของอังกฤษ 2.แพะพันธุ์ซาริบิ ของอียิปต์ 3.จากพ่อพันธุ์นูเบียน ซึ่งนำเข้าจากอินเดีย รัสเซีย และ อียิปต์ นี่คือที่มาของแพะแองโกล นูเบียน จนปัจจุบันแพร่กระจายไปในหลายประเทศ

ลักษณะที่น่าสนใจแพะพันธุ์นี้ ลำตัวใหญ่ ขาเล็ก หูยาว สันจมูกโด่งงุ้ม อาจมีเขาหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีเขามีขนาดเล็กแบนแนบติดหัว และต้องบอกว่าเป็นแพะที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี เป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นแพะเนื้อ และนม แพะพันธุ์นี้จะมีหลากสี เช่น สีดำ เทา ครีม น้ำตาล หรือมีจุดด่างต่างๆ ตามลำตัว

เมื่อโตจะมีน้ำหนัก 60-65 กิโลกรัม ส่วนเพศผู้จะมีน้ำหนัก 79-85 กิโลกรัม  สำหรับแพะพันธุ์นี้ คุณเลอศักดิ์บอกว่าหากนำพ่อพันธุ์เลือด 100% มาผสมกับแม่ลูกผสม ลูกแพะที่ออกมา เจริญเติบโตดี มีโครงสร้างที่ใหญ่ เหมาะที่จะนำไปเป็นแพะขุนได้ดี

พ่อพันธุ์คาราฮารี เรด (kalahari red )
พ่อพันธุ์คาราฮารี เรด (kalahari red )

สายพันธุ์คาราฮารี เรด (karahari red) คุณเลอศักดิ์บอกว่าน่าสนใจมากสายพันธุ์หนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่ทางฟาร์มนำพ่อเลือด 100% มาปรับปรุง จนได้ลูกผสมที่เจริญเติบโตได้เร็ว ให้น้ำหนักดี จัดเป็นแพะเนื้อที่ดีเช่นกัน สำหรับสายพันธุ์นี้พัฒนาสายพันธุ์จากกลุ่มแพะพื้นเมือง มีถิ่นกำเนิดในประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศนามีเบีย ในแถบทะเลทรายคาราฮารี ลักษณะคล้ายแพะพันธุ์บอร์ สายเนื้อ เจริญเติบโตเร็ว ทนอากาศแล้งได้ดี มีความเป็นแม่ดี มีขนสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้มตลอดตัว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
แพะซามี่
แพะซามี่

สายพันธุ์ซามี่ (แพะดามัสกัส) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ทางเอกรัตน์ฟาร์มนำเข้ามาปรับปรุงสายเลือด จนได้ลูกผสมที่มีโครงสร้างดี ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลแพะสายพันธุ์นี้ยังมีน้อย ถึงแม้ว่าทางกรมปศุสัตว์จะนำเข้ามาเป็นพ่อพันธุ์สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม ส่วนทางฟาร์มเอกชนมีการนำเข้ามาพัฒนาสายเลือดอย่างต่อเนื่อง ต้องบอกว่าเป็นพันธุ์ที่ให้เนื้อ นม ขน และ หนัง ตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นแพะที่มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง ซีเรียถือเป็นบ้านเกิด มีชื่อเรียก shami, BaladI, chami หรือ Aleppo เป็นแพะที่บรรดาฟาร์มต่างๆ ให้ความสนใจกันมากขึ้นในปัจจุบัน

พ่อพันธุ์ซาแนน
พ่อพันธุ์ซาแนน

อีกสายพันธุ์หนึ่ง ฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่หลัก 100 ตัวขึ้นไป ขาดไม่ได้อย่างแน่นอน คือ แพะซาแนน  เป็นแพะสายนม ซึ่งที่เอกรัตน์ฟาร์มมีพ่อพันธุ์นำเข้าจากฝรั่งเศส เลือด 100% แพะพันธุ์นี้มีสีขาว สีครีม หรือ สีน้ำตาลอ่อนๆ ถูกตั้งชื่อตามชื่อหุบเขาซาแนน ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ซาแนนเป็นแพะสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในแพะสายนม มีชื่อเสียงเรื่องการให้นมสูงสุด ลักษณะทั่วไป มีขนสั้น มีติ่งใต้คอ 2 ข้าง ในบางครั้งอาจจะไม่มี ดั้งจมูก ใบหน้า มีลักษณะตรง ใบหูเล็ก และตั้งชี้ไปข้างหน้า ส่วนใหญ่จะไม่มีเขา ทั้งเพศผู้ เพศเมีย จุดด้อยของแพะพันธุ์นี้ปรับตัวยากต่อสภาพแวดล้อม ไม่ทนต่ออากาศร้อน และร้อนชื้น ปัจจุบันทางฟาร์มได้นำเข้ามาพัฒนาปรับปรุงเพื่อรีดนมไว้เลี้ยงลูกแพะภายในฟาร์ม สามารถลดต้นทุนการซื้อนมผงเลี้ยงลูกแพะที่แม่ไม่ต้องการ หรือลูกแพะที่แม่ไม่มีนมให้กินได้เป็นอย่างดี

5.ลูกผสมซามี่ ของฟาร์ม
5.ลูกผสมซามี่ ของฟาร์ม

การพัฒนาสายพันธุ์แพะ

ทำความรู้จักกับสายพันธุ์แพะทางฟาร์มแล้ว มาลงลึกถึงรายละเอียดและความน่าสนใจของแพะแต่ละสายพันธุ์ ที่ทางเอกรัตน์ฟาร์มนำมาพัฒนาและปรับปรุงสายเลือด จนได้แพะสายเนื้อที่มีคุณภาพ ในประเด็นนี้ คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา บอกว่า “เราแบ่งระบบการทำฟาร์มออกเป็น 3 ส่วน มีแม่พันธุ์ลูกผสม ผลิตลูกขุนขาย ใช้พ่อพันธุ์เลือด 100% ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อใช้ในฟาร์ม”

อย่างกรณี สายพันธุ์บอร์ ออสเตรเลีย คุณเลอศักดิ์บอกว่าได้ซื้อพ่อพันธุ์เลือด 100% จากฟาร์ม CP ส่วนสายพันธุ์บอร์ แอฟริกา ได้ซื้อจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นเลือดร้อยเช่นกัน เมื่อนำมาผสมมกับแม่พันธุ์ลูกผสม ลูกที่ออกมาเจริญเติบโตได้ดีมาก อัตราแลกอาหารเป็นเนื้อสูง โครงสร้างดี บึกบึน หนาให้เนื้อดี และที่สำคัญตลาดตอบรับดี เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงในตลาดอยู่แล้ว

แต่ข้อเสียของบอร์ ไม่มีน้ำนมให้ลูก ถึงจะมีก็มีน้อย ต้องให้นมเสริม ยิ่งสายเลือดสูงๆ ยิ่งต้องป้อนนมลูกแพะ “แพะหากต้องป้อนนมคือจบ ถ้าใช้นมช่วย มีต้นทุน หมายถึงต้องซื้อนมผง หรือนมกล่องนะ ทำยังไงก็ได้ เลี้ยงแพะ แม่แพะต้องมีนมให้ลูกกิน ถึงจะดี ในความคิดของพี่นะ” พี่รัตนากล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อถามต่อว่าลูกผสมของสายเลือดไหนที่เหมาะสมที่จะนำมาทำแพะขุนต่อจากสายพันธุ์บอร์ดังที่กล่าว คุณเลอศักดิ์บอกว่า “ในความคิดพี่นะ ลูกผสมคาราฮารี เรด และ ซามี่ นะ อย่าง แพะคาราฮารีเรด ข้อดีของเขา คือ  น้ำหนักดีเหมือนบอร์ไม่แตกต่างมากนัก คาราฮารีเรดเนื้อจะแน่นกว่าบอร์ เฉลี่ยแล้วน้ำหนักห่างจากบอร์ 2-3 กิโลกรัม เกิดพร้อมกัน ขุนอาหารเหมือนกัน เลี้ยงคอกเดียวกัน แต่ คาราฮารี เรด จะหนักกว่า แน่นกว่า”

ถ้าเป็นลูกผสมแพะซามี่ เป็นแพะได้เปรียบ เพราะเป็นแพะกึ่งเนื้อ นม โครงสร้างใหญ่ โตเร็ว ถ้านำมาขุนเนื้อ ลูกผสมซามี่จะได้เปรียบกว่าลูกผสมสายพันธุ์อื่น คือ แม่ไม่รู้สายพันธุ์อะไร เอาพ่อซามี่ 100% ทับ โตดีกว่า ได้เปรียบกว่าบอร์ กะลา พูดถึงสายพันธุ์นะ สู้ซามี่ไม่ได้ น้ำหนักดีกว่า ส่วนความดังต้องยอมรับสู้บอร์ไม่ได้อยู่แล้ว เห็นบอร์เหมือนเห็นเบนซ์ แต่ถ้าไม่คำนึงถึงความดัง เน้นลูกขุนคืออะไรก็ได้ ที่ใช้เวลาน้อย โตเร็ว มันมีจุดคุ้มทุนของมันเอง “พี่เลอศักดิ์”กล่าวย้ำ

อีกสายพันธุ์ที่ต้องพูดถึง นั่นคือ แองโกล นูเบียน ทางฟาร์มได้นำพ่อพันธุ์เลือด 100% มาพัฒนาสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน แองโกล นูเบียน เป็นแพะสายเนื้อ นม โครงสร้างใหญ่ เช่นเดียวกับพันธุ์ซามี่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับซามี่ต้องบอกว่าเหมือนกันเกือบทุกอย่าง แต่ด้อยกว่าซามี่อยู่ 1 อย่าง ที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงสร้างเล็ก มีความเป็นแม่ที่ดีเช่นเดียวกับซามี่

อีกสายพันธุ์ที่ฟาร์มขนาดใหญ่ต้องมีติดฟาร์ม นั่นก็คือ แพะซาแนน แพะสายนม ที่ให้น้ำนมมากที่สุด และเป็นแพะที่มีโครงสร้างใหญ่ ในบรรดาแพะสายนม สาเหตุที่ต้องมีแพะสายพันธุ์นี้ติดฟาร์ม คุณเลอศักดิ์ให้เหตุผลว่า “ฟาร์มขนาดนี้ สายพันธุ์ซาแนนต้องมีนะ

นอกจากจะผลิตลูกผสมขายแล้ว นำมาเป็นแพะนม รีดนมเก็บไว้ เป็นคลังน้ำนมสำรอง สำหรับแม่พันธุ์ที่เลี้ยงลูกไม่เก่ง ไม่สนใจลูก เต้านมอักเสบ หรือเกิดมาแม่ตาย ก็สามารถนำน้ำนมที่เรารีดนมแช่เย็นเก็บไว้มาให้ลูกแพะเหล่านี้กิน คือ ที่นี่จะรีดน้ำนมเก็บสำรองแช่เย็นไว้ ไม่ต่ำกว่า 4 ตู้ ซึ่งดีกว่าที่ต้องไปซื้อนมผง นมกล่อง มาให้ลูกแพะกิน สามารถลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี”

6.อาหารหยาบ จะให้หญ้าเนเปียร์และทางปาล์มหมักเป็นหลัก
6.อาหารหยาบ จะให้หญ้าเนเปียร์และทางปาล์มหมักเป็นหลัก

การบริหารจัดการฟาร์มแพะ

ปัจจุบันทางฟาร์มสามารถผลิตลูกแพะพันธุ์ซาแนนได้แล้ว 3 รุ่น เพศเมียจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ เพศผู้ก็จะนำไปเป็นแพะเนื้อขุนขาย หากมีลักษณะที่ดีจำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์ ส่วนข้อเสียของพันธุ์ซาแนนต้องบอกว่าเป็นแพะที่บอบบางที่สุด ลูกที่ออกมาอ่อนแอมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ คือ เป็นแพะที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แต่หากเลยช่วงหย่านมไปแล้วประมาณ 4-5 เดือน ก็จะเจริญเติบโตเร็วเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ เช่นกัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากที่นี่จะมีแพะสายเนื้อ สายนม ยังมีแพะสายพันธุ์น่ารัก อย่าง แพะแคระ ปิ๊กมี่ (mini pygmy) แพะพันธุ์นี้เป็นแพะสวยงาม สายพันธุ์อัฟริกา  สูงแค่เข่า น้ำหนักเฉลี่ย 10 กิโลกรัม สูง 30-40 เซนติเมตร ลักษณะนิสัยขี้อ้อน ขี้เล่น เหมาะที่จะเลี้ยงเป็นแพะสวยงาม ทางฟาร์มมีพ่อแม่พันธุ์ 1 คู่ สามารถผลิตลูกออกมาได้ 2 รุ่น ซึ่งอนาคตจะขยายพันธุ์ต่อไป เพื่อเพิ่มช่องทางการทำตลาดแพะอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากสายพ่อแม่พันธุ์ และสายขุน

รู้จักสายพันธุ์แพะของเอกรัตน์ฟาร์มกันแล้วดังที่กล่าวข้างต้น ที่นี่วางรูปแบบการเลี้ยงในสัดส่วน 70/30% 70 คือ สายขุน 30 คือ ปรับปรุง พัฒนาสายพันธุ์ ไว้ใช้ในฟาร์ม และจำหน่ายสำหรับการขุนให้ได้แพะเนื้อที่มีคุณภาพนั้น คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา บอกว่าหัวใจสำคัญของการทำฟาร์มแพะ คือ โรงเรือนที่ดี ที่นี่จึงออกแบบโรงเรือนให้ดูโปร่ง ระบายอากาศได้ดี สะอาด แยกคอกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ คอกขุน เนื้อ คอกอนุบาล ไว้อย่างเป็นสัดส่วน

การให้น้ำ อาหาร จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรง เช่น การขนส่งอาหารขึ้นฟาร์มใช้ระบบไฮโดรลิค การลำเลียงอาหารใช้ระบบรางเลื่อน เน้นการทำงานสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน นอกจากโรงเรือนที่ดี การที่จะเลี้ยงแพะจำนวนมากๆ จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีแปลงหญ้าขนาดใหญ่ ซึ่งที่นี่มีแปลงหญ้าเนเปียร์ ขนาดพื้นที่ 25 ไร่ และให้อาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก

สำหรับการขุนแพะเนื้อของที่นี่จะใช้ลูกแพะที่ผลิตเองทั้งหมด จะแบ่งไปแต่ละสาย ที่มีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน อย่างกรณีลูกผสมบอร์ ซามี่ และ คาราฮารีเรด อายุใกล้เคียงกัน ก็สามารถจับมาขุนคอกเดียวกันได้ โดยจะดูตามความเหมาะสม อายุไม่ต่างกันมาก “แม่แพะท้อง 5 เดือน เลี้ยงลูก 3 เดือน นำมาขุนอีก 4 เดือน ก็จับขายได้”

การให้อาหารที่นี่เน้นอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก อาหารหยาบ หญ้าเนเปียร์ หญ้าหมัก ทางปาล์มหมัก ก็จะให้ปรกติ ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารเม็ด แพะขุนเนื้อ ปริมาณที่ให้ 6-7 ขีด/ตัว/วัน (ที่เหลือ เป็นอาหารหยาบ) ส่วนทางปาล์มบดหมัก ซึ่งเป็นส่วนที่ได้จากสวนปาล์มของทางฟาร์มนำมาใช้ประโยชน์ได้

โดยจะหมักไว้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 80-90 ถัง โดยอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิค 1 ถัง มีน้ำหนัก 50-60 กิโลกรัม หมักทิ้งไว้ 3-4 เดือน ก่อนจะนำออกมาใช้ ในกรณีฝนตกตัดหญ้าไม่ได้ และช่วงหน้าแล้ง ขาดแคลนหญ้าสด “จริงๆ แล้วแพะ 1,500 ตัว ต้องมีแปลงหญ้าไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ที่ของเรามี 25 ไร่ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องใช้ทางปาล์มหมักเข้ามาช่วย ผสมหญ้าสด และฟาง ร่วมด้วย”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
7.คอกขุนแพะเนื้อ
7.คอกขุนแพะเนื้อ

กลยุทธ์การเลี้ยงแพะ

เมื่อถามถึงกลยุทธ์การเลี้ยงแพะให้ได้กำไรนั้นมีหลักการอย่างไรในการเลี้ยง คุณเลอศักดิ์ตอบว่าเลี้ยงแพะตั้งแต่ท้องกระทั่งขุนขายใช้เวลา 1 ปี หากจะเลี้ยงขายได้เร็ว และมีกำไร ในความคิดของตนนั้นมองว่าสายพันธุ์ต้องดี อาหารดี การจัดการภายในฟาร์มดี ทุกๆ ขั้นตอน ตลอดจนถึงการควบคุมโรค

ซึ่งที่นี่เน้นการป้องกันเป็นหลัก มันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเลี้ยงสัตว์ องค์ประกอบอื่นๆ ก็แค่รองๆ ลงมา “ เอาแพะป่วย แพะไม่ดีมาเลี้ยง ให้อาหารกระสอบละ 1,000-2,000 มันก็ไม่โต หรือมีแพะดี อาหารดี แต่คอกไม่ได้เรื่อง แพะก็ไม่โต ป่วยตายอีก” ดังที่กล่าว หลักการเลี้ยงแพะให้มีคุณภาพมี 3 อย่าง ที่ต้องคำนึง สายพันธุ์ดี อาหารดี และ การจัดการที่ดี

หลักการเลี้ยงแพะของที่นี่จะเน้นการป้องกันเป็นหลัก ใช้ระบบการเลี้ยง แบบฟาร์มปิด ยืนโรงเรือน 100 % “ด้วยประสบการณ์เลี้ยงหมูขุนมา 17 ปี ได้นำหลักการเลี้ยงหมูมาใช้ต่อยอด การเลี้ยงแพะเน้นการป้องกันเป็นหลัก ป้องกันไว้ก่อน ในอาหารข้นจะผสมยาในสัดส่วนที่เหมาะสม ให้ยาผสมคลุกเคล้าไปกับอาหารเป็นช่วงๆ

อย่าง ช่วงปลายฤดูฝน ช่วงต้นฤดูแล้ง คือ ที่นี่จะไม่ให้แพะป่วยก่อน ยาที่ให้ก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เราป้องกัน 100 ตัว ป้องกันได้ 95 ตัว เหลือ 5 ตัว เรารักษาได้ไม่ยาก แต่ถ้าเราไม่ป้องกัน เกิดโรคทั้ง 100 ตัว เราเอาไม่ไหว นี่คือหลักการง่ายที่ทางฟาร์มเน้นปฏิบัติ” ส่วนยาฉีดที่นี่จะเน้นบำรุงเป็นหลัก คุณเลอศักดิ์ กล่าว

8.แฝด 3 ก็มีครับ
8.แฝด 3 ก็มีครับ

ช่องทางตลาดและการจำหน่ายแพะ

ช่องทางและการทำตลาดแพะของฟาร์ม คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา บอกว่าการทำตลาดของฟาร์ม นอกจากตลาดภายในจังหวัดแล้ว ตลาดหลักๆ คือ จังหวัดกระบี่ และภูเก็ต “ตลาดใกล้ๆ บ้าน ยังไม่สามารถส่งได้เพียงพอ เราผลิตแพะขุนได้ 100 ตัว / เดือน แต่อนาคตตั้งเป้าไว้ 300-500 ตัว คือ เราไม่ต้องไปมองตลาด 4 จังหวัดภาคใต้หรอกครับ

แพะตลาดไม่โต เหมือน หมู ไก่ ก็จริง คนบริโภคอีกกลุ่มก็จริง แต่แพะมันเป็นสัตว์ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง ทำให้คู่แข่งที่จะพัฒนาแข่งกัน เหมือน หมู ไก่ มีน้อย หมูนะจังหวะราคาขึ้นๆ เลย เวลาลงก็ลงใจหาย แต่แพะตลาดมันนิ่ง ราคาค่อนข้างเสถียร มันมีกลไกราคาของมันอยู่แล้ว ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงตลาดได้ ตลาดมันมีความชัดเจนของมันอยู่แล้ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ดังที่กล่าวหากภาวะปกติราคาแพะจะค่อนข้างเสถียร แพะขุนมีน้ำหนักตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่ 120-140 บาท ซึ่งตัวที่มีขนาดเล็กจะค่อนข้างแพง แต่สำหรับที่เอกรัตน์ฟาร์ม กำหนดจุดคุ้มทุนอยู่ที่น้ำหนักแพะ 30 กิโลกรัมขึ้นไป หากน้ำหนัก 35-40 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ 140 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแพะที่มีน้ำหนักขนาดนี้ มีอัตราการแลกเนื้อค่อนข้างดี

แต่สำหรับบางฟาร์มเน้นขายแพะเล็ก มันเป็นจุดคุ้มทุนที่น้ำหนักดังกล่าว เนื่องจากเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ เลี้ยงเองเป็นอาชีพเสริม ใช้อาหารผสมวัตถุดิบทั่วไป ต้นทุนจัดการต่ำ ทำให้สามารถขายแพะขนาดเล็กได้ แต่สำหรับเอกรัตน์ฟาร์ม หากขายแพะเล็ก คำนวณดูแล้วไม่คุ้มทุน เพราะมีต้นทุนการจัดการฟาร์มที่สูง เพราะเป็นระบบฟาร์มใหญ่ ขนาดฟาร์มรองรับได้มากกว่า 2,000 ตัว มีลูกน้องดูแล 8 คน รวมค่าจัดการด้านอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ที่นี่จึงเน้นขายแพะมีน้ำหนักตัว 30 กิโลกรัมขึ้นไป ดังที่กล่าว

และหากลงลึกเรื่องการทำตลาดของเอกรัตน์ฟาร์ม ตลอดระยะเวลา 2 ปี บอกได้เลยว่ายังไม่สามารถผลิตแพะเนื้อให้พอกับความต้องการของตลาด เฉพาะตลาดในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต ยังมีความต้องการแพะเนื้อจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ทำให้ทางฟาร์มเริ่มวางแผนการผลิตแพะเนื้อ โดยอนาคตตั้งเป้าหมายไว้ที่ 500 ตัว/ เดือน

นอกจากเอกรัตน์ฟาร์มเน้นสายเนื้อเป็นหลักดังที่กล่าว แต่ด้านการปรับปรุงสายเลือด พัฒนาสายพันธุ์ ให้มีอัตราการแลกเนื้อเป็นอาหารได้ดี ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง อย่างปัจจุบันได้พัฒนา แพะสายซามี่-บอร์ สายกะลา-บอร์ และสายอื่นๆ อีก ผลที่ได้ คือ ได้ลูกผสมที่มีโครงสร้างใหญ่ ให้น้ำหนักดี โตเร็ว แข็งแรง เป็นลูกผสมสายเนื้อที่ดี

การพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ ส่วนหนึ่งจะเป็นแม่พันธุ์หลักของฟาร์มต่อไป ส่วนหนึ่งก็จะแบ่งขายให้กับผู้สนใจ ราคาขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆ โดยราคาขายเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 15,000-20,000 บาท ซึ่งหากผู้สนใจหรือจะเยี่ยมชมฟาร์ม ทางฟาร์มยินดีต้อนรับทุกท่าน

9.คอกแม่พันธุ์ซาแนน ของฟาร์ม
9.คอกแม่พันธุ์ซาแนน ของฟาร์ม

แนวโน้มในอนาคต

สำหรับแนวโน้มและอนาคตการเลี้ยงแพะของเอกรัตน์ฟาร์ม คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา บอกว่าดังที่กล่าว ในอนาคตจะขยายเพิ่มมากขึ้น เพราะได้วางเป้าหมายการผลิตแพะเนื้อไว้ที่ 500 ตัว/เดือน ซึ่งตอนนี้เรามีพ่อพันธุ์ดี สายพันธุ์เศรษฐกิจ อยู่กว่า 5 สาย สายพันธุ์บอร์ สายพันธุ์ซามี่ (แพะดามัสกัส) สายพันธุ์คาราฮารีเรด สายพันธุ์แองโกล นูเบียน และ สายพันธุ์นม ซาแนน ล้วนเป็นแพะเลือด 100% นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งทางฟาร์มลงทุนซื้อพ่อพันธุ์เหล่านี้ในราคาตั้งแต่ 40,000-60,000 บาท เพื่อมาผลิตแพะเนื้อ และพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้แพะลูกผสมที่ดี โครงสร้างใหญ่ บึกบึน น้ำหนักดี ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่า ทางฟาร์มได้ใช้เงินลงทุนหลายล้านบาทเพื่อจัดการฟาร์มในรูปแบบของโรงงานขนาดใหญ่ คือ พัฒนาสายพันธุ์ไว้ใช้เองภายในฟาร์ม มีพ่อแม่พันธุ์ของฟาร์มเอง ผลิตลูกแพะ ขุนเนื้อ ป้อนตลาด ในรูปแบบฟาร์มที่ครบวงจร นี่คือแนวทางการทำฟาร์มแพะของ เอกรัตน์ฟาร์ม

การทำฟาร์มแพะ สิ่งสำคัญที่สุด ต้องมีใจรัก ทำด้วยความสบายใจ ทำด้วยความตั้งใจ ศึกษา ไม่รู้อะไรให้ถามจากผู้รู้ และโดยส่วนตัวเชื่อว่าการทำฟาร์มแพะ มันกินเย็น ไม่กินนาน จนมีคำพูดที่ว่า คนเลี้ยงแพะ “อึด ทน ถึก” คือ คนเลี้ยงแพะต้องใจเย็น ต้องไม่ลืมเรื่องของเวลา ต้นทุนที่ต้องใส่ลงไปทุกวัน ต้องเข้าใจในจุดนี้ แต่ส่วนตังมองว่าเราเลี้ยงแพะ 2 ปี พอปีที่ 3 แพะเลี้ยงแพะ ปีที่ 4 แพะเลี้ยงเรา” คุณเลอศักดิ์ และ คุณรัตนา กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้นการเลี้ยงแพะ ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่ ต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงให้ชัดเจน สายเนื้อก็ต้องมีลูกผสมที่ตอบโจทย์ให้ได้ถึงจุดคุ้มทุน สายพ่อแม่พันธุ์ก็เช่นกัน ต้องมีพันธุกรรมที่มีความโดดเด่น ซึ่งการทำฟาร์มขนาดใหญ่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เลี้ยงให้โต ให้ไว ขายได้เร็ว นั่นคือจุดคุ้มทุนที่ชัดเจน

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือจะติดต่อขอเยี่ยมชมฟาร์ม สามรถติดต่อ ได้ที่ เอกรัตน์ฟาร์มแพะ (เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี กรมปศุสัตว์) 80 หมู่ 11 ตำบลนำหัก อำเภอคีรีรัตน์นิคม  จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร.093-576-4028

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 352