สภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลอย่างมากต่อเกษตรกร และวงการเกษตร ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนได้เกิดพายุฤดูร้อน มีลมพัดแรงถล่มสวนผลไม้ของเกษตรกรเสียหายไปเป็นจำนวนมาก จากการรายงานข่าวของสื่อทีวี และสื่อสิ่งพิมพ์รายวันต่างๆ ที่ได้นำเสนอความเสียหายของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ไม่ว่าจะเป็นสวนทุเรียน ลำไย กล้วยไข่ เป็นต้น
ทางทีมงานนิตยสารเมืองไม้ผลได้ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ อันเป็นประโยชน์มาฝากท่านผู้อ่าน ในฉบับนี้ยังคงมีหลายสวนที่ไม่โดนพิษพายุฤดูร้อนถล่ม หากแต่ก็ยังได้รับผลกระทบในทางอ้อมอยู่มาก
“สวนตรงฤกษ์” ตั้งอยู่ที่ 14/1 หมู่ 8 ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง สวนแห่งนี้มีประสบการณ์ในการทำสวนทุเรียนที่ได้คุณภาพ มาตรฐานนอก มากว่า 3 ทศวรรษ จัดการบริหารสวนโดย คุณบุญเชิด แสงคำอินทร์ อดีตชาวนาที่หันมาเป็นชาวสวนทุเรียน เพราะเห็นว่าน่าจะสร้างเงินได้ดีกว่า เจ้าของสวนตรงฤกษ์เล่าว่า
เขาเริ่มหันมาทำสวนทุเรียนอย่างจริงจัง โดยหาซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนสายพันธุ์ชะนีจากร้านขายต้นไม้ทั่วไปนำมาปลูกในพื้นที่กว่า 6 ไร่ หรือประมาณ 100 ต้น ต่อมาได้ย้ายมาปลูกอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากสวนเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร จำนวน 200 ต้น
สภาพพื้นที่ ปลูกทุเรียน
“เดิมทีผมทำไร่ ทำนา แล้วถ้านับจริงๆ ก็เกือบ 50 ปีแล้ว ตอนอยู่บ้านเก่า ห่างจากนี้ไปประมาณ 1 กม.ปลูกทิ้งไว้แล้วก็ไปทำงานอย่างอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่เป็นสวนปัจจุบันนี้ หลังจากปลูกไปกว่าจะได้เก็บผลผลิตก็ใช้เวลากว่า 5 ปี ระหว่างนั้นก็ไปทำงานที่โรงกลั่น แล้วกลับเข้ามาจัดการสวนอีกครั้ง ตอนทุเรียนอายุ 6 ปีแล้ว
ช่วงแรกจะเจอปัญหาเรื่องของน้ำ ซึ่งเรามีน้ำ หากแต่มันไม่เพียงพอจำเป็นต้องขุดสระ ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย และจัดการที่ยุ่งยากกว่าสมัยนี้อยู่มาก แต่หลังๆ มาก็เริ่มดีขึ้น และลงทุนวางระบบน้ำเป็นแบบสปริงเกลอร์ในสวน” คุณบุญเชิดกล่าว
การป้องกันกำจัดโรค-แมลง และศัตรูพืช
คุณบุญเชิดเผยว่า สภาพอากาศแปรปรวนหนัก บ้างก็ร้อนจัด บ้างก็พายุฝน ทำให้การจัดการสวนทุเรียนไม่เป็นไปตามต้องการ คำนวณการเตรียมต้นได้ยาก แม้กระทั่งต้นที่ติดดอก ออกผล แล้วเกิดปัญหาดอกฝ่อ เกิดการระบาดของเชื้อรา ส่งผลกระทบให้ปริมาณของผลผลิต ในขณะเดียวกันการเตรียมต้นเพื่อให้ติดดอก ออกผล ล่าช้ากว่าทุกปี
โดยเฉพาะช่วงนี้กำลังเจอปัญหาเรื่อง “เพลี้ยไก่แจ้” ระบาดในสวน วิธีการจัดการดูแลโดยฉีดพ่นด้วยสารเคมีเพื่อกำจัดและป้องกันการระบาด และสาเหตุการเกิดเชื้อรา ทำให้ทางสวนต้องมีการเพิ่มต้นทุนด้านการกำจัดโรคพืชมากขึ้นโดยเฉพาะปีนี้หมดค่าใช้จ่ายไปกับการซื้อสารกำจัดโรคพืช แมลง และศัตรูพืช ไปหลายแสนบาทแล้ว
เพลี้ยไก่แจ้ในทุเรียน ตัวเต็มวัยของแมลงชนิดนี้วางไข่เข้าไปในเนื้อเยื่อพืช ทำให้เห็นเป็นวงสีเหลือง หรือน้ำตาล ตามใบเป็นกลุ่มๆ กลุ่มหนึ่งมีประมาณ 8-14 ฟอง หลังจากนั้นไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนขนาดยาวประมาณ 3 มม. และมีปุยสีขาวติดอยู่ตามลำตัว โดยเฉพาะด้านท้ายของลำต้นมีปุยสีขาวคล้ายๆ กับหางไก่
แมลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า “เพลี้ยไก่แจ้” หรือ “เพลี้ยไก่ฟ้า” เมื่อแมลงนี้ลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย สีน้ำตาลปนเขียว ขนาดยาวประมาณ 5 มม. มีอายุได้นานถึง 6 เดือน มักไม่ค่อยบิน นอกจากได้รับความกระทบกระเทือน ทั้งตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จะอาศัยอยู่ด้านหลังใบตลอดเวลา แมลงชนิดนี้ ทั้งตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนของทุเรียนที่ยังไม่โตเต็มที่ ทำให้ใบอ่อนเป็นจุดสีเหลือง ไม่เจริญเติบโต และเล็กผิดปกติ เมื่อระบาดมากๆ ใบจะหงิกงอ แห้งและร่วงหมด นอกจากนั้นยังทำให้ยอดอ่อนแห้งและตายได้ ตัวอ่อนของเพลี้ยชนิดนี้จะขับสารสีขาวออกมา เป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราตามบริเวณที่สารสีขาวขับออกมา ระยะที่ทำลายมากที่สุด คือ ในระยะตัวอ่อน
การบริหารจัดการสวนทุเรียน
หากนับเวลาจากที่เขาลงมือทำสวนทุเรียนอย่างจริงจังมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การตลาด ความนิยมของผู้บริโภค รวมไปถึงสภาพอากาศ จะทำให้สวนทุเรียนแห่งนี้เปลี่ยนรูปแบบการจัดการอย่างไร รวมไปถึงมีวิธีในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้างนั้น เมืองไม้ผลมีคำตอบจากเจ้าของสวนตรงฤกษ์มาให้ได้ติดตาม และนำไปประยุกต์ใช้กัน
คุณบุญเชิดเล่าว่าการแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตพืชผลทางการเกษตรลดลงมาก ที่น่าเป็นห่วง คือ ทุเรียนที่ออกดอกรุ่น 4 ซึ่งกำลังติดผลขนาดเท่าไข่ไก่ และทุเรียนออกดอกรุ่นที่ 5 หรือรุ่นสุดท้าย ที่มีทั้งระยะหัวกำไล ดอกบาน และหางแย้ ซึ่งยังไม่ติดผล หากสภาพอากาศแปรปรวน ร้อนสลับฝน และเกิดพายุฝน ลมแรงพัดกระหน่ำ โอกาสที่ทุเรียนจะสลัดผล และดอกทิ้ง มีค่อนข้างสูง
และในขณะเดียวกันสิ่งที่ยากสำหรับเกษตรกร ก็คือ สภาพดินฟ้าอากาศ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ก็ทางสวนทุเรียนเราต้องการให้ฝนทิ้งช่วง คือ ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ฝนจะต้องทิ้งช่วงสัก 1 อาทิตย์ จะทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้มาก และสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น
แต่นั่นต้องมีการเตรียมต้น เตรียมใบ ก่อนนะ ปกติในเขตพื้นที่นี้จะดี สภาพอากาศเหมาะ แต่ปีนี้ฝนเยอะเกินไป ปีนี้หลายสวนมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากทุเรียนค่อยไม่ติดดอก หรือดอกร่วงหมด เพราะโดนพายุฝนซัด เกิดเชื้อรา ฝนตกทำให้แตกใบอ่อน จึงทำให้ปีนี้ราคาทุเรียนสูงขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และทราบมาว่ามีชาวสวนทุเรียนหลายรายโค่นทุเรียนทิ้ง หันไปปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมาก สวนทุเรียนจึงน้อยลง ทำให้ราคาดี
ด้านตลาดผลผลิตทุเรียน
ปัจจุบันคุณบุญเชิด ปลูกทุเรียน อยู่ 20 ไร่ เขาเผยว่าผลผลิตทุเรียนจากทางสวนปีนี้ลดลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตโดยรวม 30 กว่าตัน/20 ไร่ แต่ปีนี้ ณ วันที่ทางทีมงานเข้าเยี่ยมที่สวนเป็นการตัดรุ่นสุดท้าย และรวมผลผลิตทั้งหมดของปีนี้แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 20 กว่าตัน เท่านั้น
ช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม จะเป็นช่วงผลผลิตทุเรียนจากสวนเริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องราคา เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน และอินโดนีเซีย มีความต้องการในปริมาณมาก
การจำหน่ายผลผลิตทุเรียน
สำหรับด้านราคานั้น คุณบุญเชิดบอกว่าจะมีล้งมารับซื้อแบบเหมาสวน โดยให้ราคา 65 บาท/กก.หลังจากนั้นทางล้งจะนำไปคัดเกรด เพื่อแยกประเภทสำหรับส่งออกไปขายยังประเทศจีน และเพื่อขายในประเทศไทย และเมื่อก่อนผมขายที่ตลาดเขาดิน แต่มีปัญหาด้านราคา เดี๋ยวนี้ตลาดกว้าง มีล้งเข้ามาเหมายกสวน และเกษตรกรสามารถต่อรองราคาได้
เนื่องจากล้งรับซื้อมีมาก เขาแข่งขันกันสูง ล้งไหนให้ราคาดี เราก็ตกลงกับล้งนั้น เขามาตัดเอง แล้วก็เอาไปคัดเกรด คัดไซส์เอง เพื่อจำแนกเกรดที่จะลงกล่องส่งต่างประเทศ และขายในประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณบุญเชิด แสงคำอินทร์ 14/1 หมู่ 8 ต.พังราด อ.แกลง จ.ระยอง 21170 โทร.08-8528-0558 ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน ปลูกทุเรียน