ทุเรียนแปลงใหญ่ตะวันออก สำเร็จเพราะฝีมือ??

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กระแสไม้ผลระดับราชินี อย่าง “ทุเรียนหมอนทอง” ของไทย กวาดเงินจากชาวจีนแผ่นดินไทยเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ยังแรงแบบไฟไหม้ฟาง แม้กระแสลบ เรื่อง “ทุเรียนอ่อน” ยังคุกรุ่น แต่ความมั่นใจทุเรียนไทยยังอยู่ในระดับใช้ได้

วัดได้จากการให้สัมภาษณ์ของ คุณวัลลภ จันทร์งาม อดีต สศก.เกษตรจังหวัดระยอง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรจังหวัดระยอง ยืนยันว่า ชาวสวนทุเรียนจังหวัดระยองได้รวมตัวกันเป็นทุเรียนแปลงใหญ่ 18 กลุ่ม กระจายอยู่ในหลายอำเภอ

1.คุณวัลลภ จันทร์งาม อดีต สศก.เกษตรจังหวัดระยอง
1.คุณวัลลภ จันทร์งาม อดีต สศก.เกษตรจังหวัดระยอง

การจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน

“แปลงใหญ่ที่จัดตั้งโดยกรมส่งเสริมฯ ตั้งแต่ปี 59 แรกๆ เป็นแต่ละเขตไม่กี่แปลง แต่ภาคตะวันออกแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี” คุณวัลลภ เปิดเผย และสาเหตุที่บางแปลงถูกยุบ เพราะพื้นที่การเกษตรถูกเปลี่ยนแปลงโดยนโยบายของรัฐ ตรงกันข้าม คุณวัลลภฟันธงว่า เกษตรแปลงใหญ่มีแต่จะเพิ่ม “ยิ่งกลุ่มเข้มแข็งมากขึ้นเท่าไหร่ สมาชิกจะเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มมากขึ้นเท่านั้น ผมบอกว่าการทำแปลงใหญ่ คือ ทำของให้มีคุณภาพ ถ้าคุณภาพดี ราคาจะมาเองครับ”

การทำแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ เพิ่มคุณภาพผลผลิต เพิ่มจำนวน เพิ่มประสิทธิภาพ และ เพิ่มมูลค่า เพิ่มผลผลิต/ต้น ให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ปีนี้ได้ทุเรียนเกรด A 50% ปีหน้าต้อง 60% และปีต่อไป 70% เป็นต้น

ในฐานะที่คุณวัลลภอยู่ตะวันออก ต้องดูแปลงใหญ่ 9 จังหวัด ยอมรับว่า แปลงใหญ่รวมกลุ่มประชุมกันทุกเดือน เช่น  5 พ.ย. ประชุมเรื่องเส้นความกดอากาศลงมา จะทำให้ทุเรียนออกดอกชุดใหญ่ “ก่อนหน้านี้มีลมหนาวมาชุดหนึ่งแล้ว แต่มีฝนมากระทบ บางสวนดอกร่วง แต่ 5 พ.ย. เส้นความเย็นลงมาอีก ทุเรียนจะออกดอกชุดใหญ่ ถ้าสวนไหนพร้อม ใบแก่เต็มที่ แต่ระยอง จันท์ ตราด ฝนมาตลอด รักษาใบแก่ไม่ได้ ถ้าใบไม่แก่ ออกดอกก็ร่วง” ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมส่งเสริมฯ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ช่วงออกดอก ครั้งที่ 2 ดอกบาน ประเมินผลผลิตได้ว่ามี เท่าไหร่ โดยธรรมชาติทุกปีตะวันออก วันลอยกระทง มีผลแน่นอน

2.ทุเรียนคุณภาพดี ผลใหญ่ สีสวย
2.ทุเรียนคุณภาพดี ผลใหญ่ สีสวย

สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน

การผลิตทุเรียนแปลงใหญ่ เรื่องดินและปุ๋ยก็สำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ คุณวัลลภเป็นนักส่งเสริม และเป็นเกษตรกรปลูกยางและทุเรียน 70 ไร่ ในเขตบ้านฉาง ยืนยันว่า ต้องวิเคราะห์ดินเพื่อหาค่าต่างๆ เช่น pH เป็นต้น และต้องรู้จักพืชที่จะปลูก เช่น การใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ก็ต้องปรับตามความเหมาะสมกับดินและพืช ซึ่งทางกรมส่งเสริมฯ ได้แนะนำกลุ่มเกษตรกรให้ผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดย หมอดินอาสา มาช่วยวิเคราะห์ โดยเฉพาะในจังหวัดระยอง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่ง ศูนย์จัดการดินและปุ๋ย กระจายทุกอำเภอ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“เกษตรกรมีพื้นที่มากๆ สามารถซื้อเครื่องวิเคราะห์ดิน ราคา 2,000 กว่าบาท ได้ ในสถานการณ์ที่ปุ๋ยแพง เรากำหนดราคาไม่ได้ แต่เรากำหนดใช้ปุ๋ยของเราได้ ซึ่งเวลานี้ชาวสวนทุเรียนเริ่มสนใจ เพราะปุ๋ย 15-15-15 จาก 700 กว่าบาท มาเป็น 2,000 กว่าบาท เกือบ 200%” คุณวัลลภ ให้ความเห็น

เมื่อถามถึงผลผลิตทุเรียนปีนี้ คุณวัลลภเปิดเผยว่า ระยอง จันท์ ตราด ประมาณ 1 ล้านตัน ประเมินจากต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตปีที่แล้ว กับที่จะให้ผลผลิตในปีนี้ ปี 64 ผลผลิต 780,000 ตัน แม้จะเจอโควิด 19 แต่ก็สามารถกระจายผลผลิตได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะทางเครื่องบินส่งออกเป็นแสนตัน นอกจากนี้ยังส่งออกทางเรือด้วย

3.คุณถาวร โตอาจ ประธานแปลงใหญ่ ทุเรียน พลงตาเอี่ยม
3.คุณถาวร โตอาจ ประธานแปลงใหญ่ ทุเรียน พลงตาเอี่ยม

แปลงใหญ่ (ทุเรียน) พลงตาเอี่ยม

เน้นผลิตทุเรียนคุณภาพ มาตรฐาน GAP

จังหวัดระยอง ถือเป็น 1 ในจังหวัดภาคตะวันออกพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ EEC ซึ่งจัดเป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพของการปลูกทุเรียน โดยเฉพาะอำเภอวังจันทร์ มีผู้บุกเบิกปลูกทุเรียนยุคแรกตั้งแต่ปี 2508 และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนมากที่สุดในระยอง

คุณถาวร โตอาจ ประธานแปลงใหญ่ (ทุเรียน) พลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ให้ข้อมูลเรื่องการทำสวนทุเรียนของตนเองว่า ดั้งเดิมเป็นคนนนทบุรี มีอาชีพปลูกผักมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ต่อมาคุณพ่อได้ย้ายถิ่นฐานมาจังหวัดระยอง เมื่อปี 2514 จึงทำให้ต้องเดินทางมาระยองอยู่บ่อยๆ เมื่อปี 2530 ตนมีครอบครัวจึงซื้อที่ดินในระยอง และต้องการดูแลคุณพ่อด้วย จึงพาครอบครัวมาลงหลักปักฐานที่นี่ และได้ลงทุนปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี แซมบ้างนิดหน่อย บนพื้นที่เนินเขาจำนวน 15 ไร่  ระบบน้ำยังเป็นขุดสระเก็บน้ำและใช้ปั๊มดึงน้ำ แล้วต่อสายยางรดต้นทุเรียน เป็นหลัก

กระทั่งปี 2540 เริ่มมีการนำระบบน้ำสปริงเกลอร์ ของ “ดำ น้ำหยด” มาปรับใช้ในสวน โดยอาศัยแหล่งน้ำจากคลองสาธารณะมาเก็บไว้ที่บ่อเก็บน้ำของสวนที่ลงทุนขุดไว้  จึงทำสวนควบคู่ไปกับอาชีพสมาชิกสภาท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2539 เรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันเป็นรองนายกอบต.พลงตาเอี่ยม

4.ต้นทุเรียนหมอนทองอายุ 35 ปี
4.ต้นทุเรียนหมอนทองอายุ 35 ปี

การบริหารจัดการสวนทุเรียน

คุณถาวรให้ข้อมูลถึงการทำสวนทุเรียนว่า “สมัยก่อนก็ไม่รู้หรอกว่าปลูกทุเรียนดูแลอย่างไร ก็ลองผิดถูกมาเรื่อย เมื่อก่อนทุเรียนราคาก็ไม่ได้สูง พื้นที่การปลูกทุเรียนก็ไม่ขยับขึ้นมาก ส่วนใหญ่ในพื้นที่เน้นปลูกยางพารา ก่อนหน้านี้ผมมีสวนยางพารา สวนขนุน ราคาก็พอไปได้ ช่วงหลังๆ เมื่อปี 2560 ราคาขนุนไม่ดี จึงรื้อสวนขนุนมาปลูกทุเรียน เพราะทุเรียนราคาดี อีกทั้งมีแหล่งน้ำจากคลองชลประทานผ่านด้วย  จึงขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มอีก 30 ไร่ โดยเน้นปลูกสายพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ยอมรับว่าการปลูกทุเรียนทั้ง 15 ไร่ เจอปัญหาเรื่องโรครากเน่าโคนเน่าเรื่อยมา ทุเรียนช่วงแรกๆ ก็เหมือนคนร่างกายแข็งแรงหนุ่มสาว ปัญหาเรื่องโรคน้อย พอทุเรียนอายุมากขึ้น 30 กว่าปี ก็มีโรคบ้าง ตอนนี้แปลง 15 ไร่ ทุเรียนในรุ่นแรกอายุ 35 ปี เหลือ 180 ต้น แต่ก็มีปลูกเพิ่มหลายรุ่น ต้นไหนตายก็แซมไปเรื่อย จึงมีต้นทุเรียนอายุระหว่าง 10-35 ปี คละกันไป รวมแล้วมีทุเรียนหมอนทอง  250 ต้น และชะนี 30 ต้น และมีสวนปลูกใหม่อีก 30 ไร่ ประมาณ 600 ต้น ก็เน้นเป็นพันธุ์หมอนทอง แต่มีพันธุ์อื่นเล็กๆ น้อยๆ เพราะยังไงราคาทุเรียนพันธุ์หมอนทองก็ยังไม่ตกมาก เพราะสามารถไปสู่ตลาดแปรรูปได้ ส่วนพันธุ์อื่นๆ ทำไม่ได้ นอกจากนำไปกวน

5.การปลูกทุเรียนแซมต้นที่ตายไป ทำให้ทุเรียนในสวนยุคแรกมีทุเรียนหลายรุ่น
5.การปลูกทุเรียนแซมต้นที่ตายไป ทำให้ทุเรียนในสวนยุคแรกมีทุเรียนหลายรุ่น

การบำรุงดูแลต้นทุเรียน

“พวกยาฉีดหญ้าอย่าไปใช้ สังเกตว่าผมไม่ฉีดยาฆ่าหญ้ามา 3 ปี ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เพราะต้นสมบูรณ์มากขึ้น ผมใช้แรงงานคนแบกเครื่องตัดหญ้าในพื้นที่เนิน แต่พื้นที่เรียบก็ใช้รถตัดจะได้เร็วขึ้น การเลือกใช้ปุ๋ยก็สำคัญ ช่วงหลังๆ มานี้ผมเน้นมาทางปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีตระกูลซัลเฟต ผมเคยใช้ปุ๋ยคลอไรด์เยอะแล้วตกค้างในดิน พอเก็บผลผลิตเสร็จต้นโทรมมาก ปีนี้ปุ๋ยเคมีแพง ผมไม่ได้ใส่เยอะ ผมก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์สลับกับปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยอินทรีย์จะใส่เยอะหน่อย ผมจะเน้นปรับสภาพดิน เพราะดินมีความสำคัญ  ดินดี ต้นทุเรียนสมบูรณ์ โรคภัยก็ไม่มี แมลงก็ไม่กวนมาก“

การทำใบชุดแรกใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เสริมด้วยฮิวมิค ผสมน้ำราดและฉีดพ่นทางดิน พอใส่ปุ๋ยอินทรีย์ช่วงทำใบชุดแรก ก็จะสลับกับปุ๋ยเคมีสูตร 17-17-17 ใส่ช่วงที่แตกใบ พอใบเพสลาดใบจะแก่เข้มพอดี และมาใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไปอีก 1 ครั้ง ช่วงใบเริ่มดันก็พอ เริ่มยอดมาผมก็เติมปุ๋ยเคมีสูตร 17-17-17 ไปอีก 1 ครั้ง แล้วมาใส่ปุ๋ยเคมีซัลเฟต สูตร 8-24-24 ช่วงสะสมตาดอก จะทำให้ต้นไม่โทรม ต้นใหญ่ ผมใส่ 10 กำมือแค่นั้น ไม่ได้ใส่ 3-5 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ผมใส่ปุ๋ยเป็นช่วง ควบคู่กับการให้อาหารเสริมทางใบ เช่น แมกนีเซียม สังกะสี แคลเซียม โบรอน ผสมฮอร์โมน พวกหวีทอง ก็ใช้ได้ผลดี” คุณถาวร ให้ข้อมูลการใส่ปุ๋ยช่วงทำชุดใบจนถึงการสะสมตาดอก

กระทั่งดอกมาก็ใส่ปุ๋ยตามไปอีกเพื่อบำรุงให้สมบูรณ์ เปรียบเหมือนคนตั้งท้อง ถ้าไม่บำรุงลูกจะไม่แข็งแรง หรือสำหรับทุเรียนถ้าไม่บำรุงช่วงออกดอกอาจจะไม่ติดลูกก็ได้ หรือถ้าติดลูกอาจจะไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเน้นให้ปุ๋ยทางดิน ควบคู่กับเสริมทางใบพอสมควร แต่จะไม่ให้อาหารบางตัวประเภทสาหร่ายบางตัวที่ความคาวและหวาน หรือน้ำสีดำจะไม่ใช้ ในช่วงที่อากาศเริ่มเย็น เช่น บางตัวฉีดพ่นไปเรียกแมลงออกมาอีก ช่วงนี้จะเจอปัญหาไรแดงเยอะ หรืออาหารทางด่วนบางตัว นำมาฉีดพ่นทางใบอาจทำให้เป็นเพลี้ยแป้งทั้งสวนก็ได้

เมื่อทุเรียนเริ่มแตกตาดอก จะตัดแต่งดอกก่อนช่วงเริมโตเป็นมะเขือพวง พอเป็นหางแย้เท่าหัวแม่มือไปจนถึงผลเท่าไข่ไก่ จะแต่งลูกให้ขาดเลย ว่าต้นไหนจะไว้กี่ลูก/ต้น เช่น ต้นใหญ่ 36 ปี ก็จะดูสภาพแต่ละต้นด้วย จะไว้ลูก 70-100 ลูก/ต้น ส่วนต้นอายุ 5-20 ปี ก็จะลดสัดส่วนลงเหลือ 50-80 ลูก/ต้น จะได้ผลผลิตทุเรียนไซซ์เท่ากันหมด ถ้าเอาไว้เยอะเลี้ยงลูกไม่ไหวก็สลัดลูกทิ้ง และใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17 และ15-5-20 ตบท้ายเพื่อเพิ่มน้ำหนัก และการเข้าสี

6.การติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ในสวนปลูกใหม่
6.การติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ในสวนปลูกใหม่

การใส่ปุ๋ยและน้ำต้นทุเรียน

นอกจากเรื่องการใส่ปุ๋ยที่ต้องเน้นทั้งคุณภาพและการใส่แล้ว การให้น้ำเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย การทำสวนทุเรียนอยู่ที่เทคนิคเยอะ และเทคนิคของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น เวลาขึ้นลูกขึ้นหนาม ถ้าให้น้ำมากก็มีผลช่วงรัดใบอ่อน ซึ่งคุณถาวรจะไม่ค่อยทำแบบนั้น ทุเรียนจะให้น้ำพอสมควรไปถึงอายุผล 45 วัน หนามเริ่มโต ค่อยรดน้ำเยอะ กรณีรดน้ำอย่าให้ลูกทุเรียนหนามแดงอย่างเดียว  ซึ่งสาเหตุของผลร่วงในระยะติดผลมาจากการแตกใบอ่อน ต้องบริหารเรื่องน้ำให้ดี ให้มากไม่ได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ ฝน ถ้าฝนตกทั้งวันก็มีโอกาสรัดใบสูง มีเทคนิคเยอะ เช่น ความชื้นในอากาศสูงแล้วยังรดน้ำซ้ำไปอีก จะทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อน หรือในระยะติดดอก ดอกก็จะร่วง ถ้าเป็นช่วงที่ลมหนาวเริ่มมา ถ้าลมแรง เราต้องเพิ่มน้ำ เพราะถ้ามีลมมาก ใบจะคายน้ำมากกว่าปกติ ความชื้นในดินลดลง กรณีถ้ารัดใบแทงใบ จะใช้ปุ๋ยเกล็ดฉีดพ่นทางใบเพื่อเร่งให้ใบแก่ ส่วนปริมาณการรดน้ำจากเดิมเคยรดน้ำ 15 นาที วันเว้นวัน ก็ปรับมาเหลือ 5 นาที พอใบทุเรียนเริ่มคลี่ก็ปรับการรดน้ำเพิ่มขึ้น แต่ละพื้นที่ชุดดินที่ปลูกก็ไม่เหมือนกัน

การให้น้ำต้องสังเกตด้วยตัวเองเป็นหลัก ถ้าเป็นดินลูกรัง การรดน้ำจะแห้งเร็ว แต่ปลูกทุเรียนได้ดี ดังนั้นจึงต้องอาศัยประสบการณ์และการเก็บสถิติด้านข้อมูลไว้ เพื่อหาวิธีจัดการได้ทันท่วงที ถ้าช่วงผลเล็กๆ ใส่น้ำมาก ก็เหมือนเด็กที่เพิ่งคลอด กินน้อย บางคนเห็นลูกมารดน้ำเยอะไปรัดใบอ่อนเลย ทิ้งลูก หรือไม่ทิ้งลูกก็เบี้ยวไม่สมบูรณ์ สำคัญคือช่วงติดดอกจะเน้นฉีดแคลเซียม โบรอน ให้เยอะ เพื่อสร้างเกสรให้สมบูรณ์ พอติดลูกฉีดแคลเซียมโบรอนอีก เพื่อสร้างเม็ดและเนื้อสร้าง สังเกตลูกไหนกลมจะมีเมล็ด ถ้าลูกไหนมีลักษณะวงรีจะดี เม็ดลีบ เนื้อแน่น

7.การเปิดร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่
7.การเปิดร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่

การป้องกันและกำจัดโรคต้นทุเรียน

ส่วนเรื่องโรครากเน่าโคนเน่า คุณถาวรบอกว่า ที่สวนจะใช้โฟลิอาร์ฟอส ฝังเข็ม 3 เข็ม/ต้น แผลจะแห้งเร็ว ส่วนโคนต้นจะถากเปลือกออกบางๆ ไม่ให้ถึงเนื้อไม้ แล้วใช้อาลีเอทผสมกับคอปเปอร์ผสมน้ำแล้วทาเปลือกที่ถากไว้บริเวณโคนต้น แผลจะแห้งหมดเลย สมัยก่อนใช้แผลมันไม่แห้ง จึงปรับมาใช้สูตรนี้ได้ 2 ปี ปรากฏว่าแผลแห้งดี และสร้างเปลือกใหม่ ก่อนหน้านี้เคยถากเปลือกลึกถึงเนื้อไม้แล้วมีปัญหาต้นผุและทำให้ต้องตัดทิ้ง ซึ่งปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ที่ใช้ก็จะซื้อมาจากร้านของลูกชายที่เพิ่งเปิดกิจการได้ไม่นาน  ชื่อ “ร้านกอทวีทรัพย์” จำหน่ายท่อพีวีซี และอุปกรณ์การเกษตรทุกชนิด ปุ๋ย ยา  ฯลฯ นั่นคือธุรกิจและการทำสวนของครอบครัว

8.การจัดประชุมสมาชิกแปลงใหญ่
8.การจัดประชุมสมาชิกแปลงใหญ่

จุดเริ่มต้นแปลงใหญ่พลงตาเอี่ยม

นอกจากดูแลสวนทุเรียนทั้ง 35 ไร่เองแล้ว คุณถาวรยังเป็นประธานแปลงใหญ่ ทุเรียนพลงเอี่ยม อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้แปลงใหญ่พลงตาเอี่ยมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2559 มีประธานคนเก่า และมีคุณถาวรเป็นรองประธาน หลังจากที่ประธานคนเก่าเสียชีวิตแล้ว คุณถาวรจึงได้รับเลือกมาเป็นประธาน เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส จำนวน 10 ล้านบาท และเริ่มต้นคัดเลือกสมาชิก เน้นสรรหาคนดี มีความพร้อม ยุคเริ่มต้นมีสมาชิก 60 ราย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 112 ราย

ทางกลุ่มแปลงใหญ่ฯ มีสินเชื่อปัจจัยการผลิตในราคาถูกกว่าซื้อที่ร้านเพื่อให้สมาชิกได้ไปใช้ โดยแต่ละผลิตภัณฑ์มีส่วนต่างค่าดำเนินงานให้กับทางกลุ่มด้วย เช่น ให้วงเงินปัจจัยการผลิตแก่สมาชิกสวนทุเรียนจำนวน 5 ไร่ ให้วงเงินปัจจัยการผลิต 100,000 บาท และหลังเก็บผลผลิตให้สมาชิกชำระคืนทั้งหมดก่อนเดือนมิถุนายน โดยไม่มีดอกเบี้ย ส่วนต่างที่ได้รับจากปัจจัยการผลิตทางกลุ่มจะมีเฉลี่ยปันผลคืนแก่สมาชิก เช่น สมาชิกซื้อสินค้าเยอะก็เฉลี่ยคืนให้เยอะ และมีปันผลเงินหุ้นและดอกเบี้ยให้ด้วย

นอกจากปัจจัยการผลิตแล้ว ทางกลุ่มยังมีวงเงินกู้ให้กับสมาชิกด้วยในอัตราดอกเบี้ยถูก และให้วงเงินจำนวน 20,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขให้สมาชิกซื้อหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท จำนวน 60 หุ้น ส่วนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา ปั๊มน้ำ อุปกรณ์ต่างๆ ปลอดดอกเบี้ย ส่วนใหญ่สมาชิกจะใช้ปัจจัยการผลิตของกลุ่ม ทั้ง 112 ราย มีสวนทุเรียนประมาณ 2,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2 ตัน/ไร่ และสมาชิกทั้ง 112 ราย สวนได้รับ GMP ทั้งหมดแล้ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
9.ผลผลิตทุเรียน ไซซ์เสมอ คุณภาพดี
9.ผลผลิตทุเรียน ไซซ์เสมอ คุณภาพดี

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตทุเรียน

แต่คุณถาวรยอมรับว่า “ที่กลุ่มมีล้งมาติดต่อซื้อผลผลิตทุกปี ผมยอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จ ตอนมาติดต่อเราก็สารพัดให้ เวลาเก็บผลผลิตก็ไม่ได้ตามเงื่อนไขตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่มาซื้อเหมือนเพื่อนซื้อ มาซื้อทุเรียนคุณภาพ แต่ให้ราคาถูก ทางกลุ่มฯ จึงให้สมาชิกขายแบบอิสระ เน้นทำคุณภาพ ราคาได้ พอใจราคาก็ขายกับพ่อค้าคนกลางได้เลยไม่ได้บังคับ ผมมองว่าถ้าทุเรียนเหมือนลำไยป่านนี้ตายไปแล้ว ถูกกดราคา แต่ทุเรียนสามารถยืดระยะเวลาได้ จึงกดราคายากกว่าลำไย ตลาดทุเรียนพรีเมียมอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เป็นตลาดเล็ก ตลาดใหญ่สุด คือ จีน ทุเรียนพรีเมียม คุณภาพสูง ก็มีหลายแบรนด์ ” คุณถาวรกล่าวถึงตลาดรับซื้อผลผลิต

10.การให้ข้อมูลวิชาการในสวนทุเรียน
10.การให้ข้อมูลวิชาการในสวนทุเรียน

การให้ข้อมูลวิชาการในสวนทุเรียน

ขณะที่ตลาดเกษตรกรยังไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่การรวมกลุ่มในรูปแปลงใหญ่ทุเรียนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะชาวสวนที่มาเป็นสมาชิกได้ประโยชน์ โดยเฉพาะได้ราคาปัจจัยการผลิตถูกลง ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ บุคลากรจากภาครัฐ อย่าง สำนักงานเกษตร มีการจัดประชุมวิชาการทุกเดือน เพื่อให้สมาชิกรับทราบข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรรับมือและปรับตัวได้ทันสถานการณ์ “ตั้งแต่ราคาปุ๋ยแพง ทำให้เราชาวสวนปรับตัวว่าจะลดต้นทุนอย่างไร เน้นปุ๋ยอินทรีย์ เราก็คัดคุณภาพ แบรนด์ใหนดีก็บอกต่อกันในกลุ่ม” คุณถาวรกล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แปลงใหญ่ทุเรียนตำบลพลงตาเอี่ยม (ปี59)  ม.6 ต.พลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 29