การปลูกทุเรียน
“ป่าเด็งถิ่นชาวเขา มะนาวสวย รวยโคนม ชมช้างป่า” เป็นคำขวัญตำบลป่าเด็ง ในอำเภอแก่งกระจาน พื้นที่ส่วนใหญ่จะล้อมรอบไปด้วยภูเขา และมีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ทำให้สามารถปลูกไม้ผลได้ หลากหลายชนิด และมีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เลี้ยง”วัวนม” ขนาดใหญ่ และยังสามารถปลูกทุเรียนที่มีรสชาติดี สร้างรายได้ให้กับชาวสวนที่นี่ด้วย
แต่เดิมที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ไม่ใช่พื้นที่ปลูกผลไม้ประเภททุเรียน หรือเงาะ แต่เมื่อชาวบ้านเห็นชาวบ้านป่าละอูปลูกทุเรียนขายได้ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน จึงมีชาวบ้านในตำบลป่าเด็งนำทุเรียนมาปลูกบ้าง โดยปลูกกันครัวเรือนละไม่กี่ต้น เพื่อนำมารับประทาน แต่จะมีบางรายที่ปลูกจำนวนมากเพื่อทำเป็นการค้า ขณะนี้จำนวนพื้นที่ปลูกทุเรียนในตำบลป่าเด็งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากเดิมมีเพียงไม่กี่ไร่ และค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็น 200-300 ไร่ และเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 1,000 กว่าไร่ ซึ่งทุเรียนจะมีผลผลิตให้กับเกษตรกรเก็บเกี่ยวทุกปี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้ปีละหลายแสนบาท
ทุเรียนที่มาจากพื้นที่ตำบลป่าเด็งจะมีความพิเศษ คือ เมล็ดจะลีบเล็ก เนื้อมาก หวาน หอม อร่อย เปลือกบาง เป็นพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผู้บริโภคชอบรับประทาน แหล่งปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงในหลายจังหวัด อาทิ ระยอง จันทบุรี ชุมพร เป็นต้น แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ตำบลป่าเด็ง ผลผลิตที่ได้กลับกันมีความอร่อย มิหนำซ้ำคุณภาพของผลทุเรียนที่ได้กลับดีกว่าเดิม จนพ่อค้า แม่ค้า หลายแห่งแห่กันมาซื้อ
คุณนอง เข็มกลัด และคุณอนันต์ คงสบาย ปลูกทุเรียน 10 ไร่ จ.เพชรบุรี
คุณนอง เข็มกลัด และคุณอนันต์ คงสบาย สองสามีภรรยา เจ้าของสวนทุเรียนในตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนอยู่ 10 ไร่ จากสมัยก่อนที่เคยปลูกพืชอย่างอื่น เช่น กล้วย มะเขือเปราะ และผักชนิดต่างๆ ก็เริ่มมาปลูกทุเรียนแซมในสวนกล้วยของตน ระหว่างรอต้นทุเรียนให้ผลผลิตก็จะทำการปลูกผักภายในสวนทุเรียน เพื่อสร้างรายได้ก่อนที่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งการปลูกทุเรียนจะใช้ระยะเวลา 5-6 ปี ในการรอให้ผลผลิตออกมาให้เห็นอยู่บนต้น ซึ่งปัจจุบันสวนทุเรียนของคุณนองและคุณอนันต์มีต้นทุเรียนอายุ 10 ปี ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
คุณนองเล่าว่าตนได้นำพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจากชุมพรมาปลูก ตอนแรกนำมาปลูกประมาณ 400-500 ต้น แต่จะมีหลายราคาตั้งแต่ต้นละ 7-15 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่งพันธุ์ทุเรียน จนปัจจุบันที่สวนทุเรียนของคุณนองมีทุเรียนปลูกไปแล้วมากกว่า 800 ต้น ซึ่งอายุของทุเรียนภายในสวนจะแตกต่างกันตั้งแต่อายุ 5 ปี ไปจนถึงอายุ 10 ปี ผลผลิตที่ได้จะออกมามากตามจำนวนอายุของต้น ยิ่งต้นทุเรียนอายุเยอะเท่าไร ผลผลิตก็จะเยอะตามเท่านั้น กิ่งพันธุ์ทุเรียนที่มาจากชุมพรเมื่อนำมาปลูกแล้วปรากฏว่าสามารถปลูกได้เจริญเติบโตดี ที่สำคัญรสชาติอร่อยไม่แพ้ทุเรียนในพื้นที่ที่มีชื่อเสียง เพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนในบริเวณนี้จะเป็นดินปนทราย เหมาะสำหรับการปลูกผลไม้ จึงไม่แปลกใจที่ทำให้รสชาติของทุเรียนถูกปากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีลักษณะเปลือกบาง เมล็ดลีบ เนื้อมาก และรสชาติหวาน มัน หากใครได้ซื้อไปรับประทานรับรองต้องติดใจอย่างแน่นอน
สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน
พื้นที่ปลูกทุเรียนคุณนองและคุณอนันต์จะเป็นดินปนทรายที่เหมาะสำหรับในการปลูกทุเรียน ทำให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดี การเตรียมดินต้องปรับพื้นที่ก่อนที่จะกำหนดผังปลูก และติดตั้งระบบน้ำ โดยปรับพื้นที่ให้ราบ ไม่ให้มีแอ่งที่น้ำจะท่วมขังได้ และถ้าเป็นไปได้ควรปรับเป็นเนินลูกฟูกเพื่อปลูกทุเรียนบนสันเนิน ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว 4×3 วา ทรงพุ่มจะพอดีกัน ไม่ชนกันมากเกินไป ส่วนการจัดวางระบบน้ำจะต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนด้วย เพื่อให้สะดวกเวลารดน้ำต้นทุเรียน และการขุดหลุมปลูกทุเรียนไม่ควรขุดหลุมลึกเกินไป เพราะรากของทุเรียนจะหากินบริเวณหน้าดิน ถ้าขุดลึกรากจะไม่สามารถหาอาหารได้ และต้นทุเรียนจะไม่เจริญเติบโต
การปลูกทุเรียนสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การขุดหลุมปลูก และไม่ขุดหลุม ขึ้นอยู่กับสวนไหนสะดวกทำแบบไหน เพราะลักษณะและสภาพสวนแต่ละสวนจะแตกต่างกันไป ควรเลือกปลูกให้เข้าแต่ละสภาพพื้นที่ อย่างเช่น วิธีการขุดหลุมปลูกจะเหมาะสมกับพื้นที่ที่ค่อนข้างแล้ง และยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก ซึ่งวิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้เป็นอย่างดี ข้อเสีย คือ ถ้ามีฝนตกชุก และมีน้ำขัง จะทำให้รากของทุเรียนเน่า และต้นทุเรียนตายได้ง่าย ส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุมเหมาะสำหรับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้ทำให้มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขังบริเวณโคนต้น แต่ต้องวางระบบน้ำให้ดีก่อนปลูก ซึ่งต้นทุเรียนจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม
ต้นกล้าควรหาต้นที่มีขนาดเล็ก มีระบบรากดี ไม่คดงอ แต่หากจะปลูกด้วยต้นกล้าขนาดใหญ่ควรตัดแต่งรากที่คดงอ ทั้งที่ก้นถุง และด้านข้าง รวมไปถึงการพรางแสงให้กับต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ หรือจะปลูกต้นไม้ เช่น กล้วย เพื่อพรางแสงให้ต้นทุเรียนก็ได้
การให้น้ำและปุ๋ยต้นทุเรียน
ทุเรียนต้องการน้ำสม่ำเสมอในการยืนต้น และให้ผลผลิต น้ำจึงจำเป็นมากในการปลูกทุเรียนเพื่อการค้า การให้น้ำต้องเว้นช่วงวันให้เท่ากัน เช่น 5 วัน รด 1 ครั้ง ก็ต้องเว้นการรดน้ำให้เท่ากันและสม่ำเสมอ ส่วนการให้น้ำใช้แบบสปริงเกลอร์ เพราะการให้น้ำแบบนี้จะสะดวก และสามารถย้ายหัวให้น้ำได้ รัศมีการให้น้ำกว้าง รดน้ำ 1 ครั้ง ได้ทีละหลายๆ ต้น ประหยัดเวลา แต่ข้อเสีย คือ วัชพืชภายในสวนทุเรียนจะโตเร็ว ทำให้ต้องกำจัด สิ้นเปลืองทุนและแรงงาน เมื่อต้นทุเรียนยังเล็กควรมีการบำรุงโดยการใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 เพื่อบำรุงต้นให้เจริญเติบโตได้ดีแทบทุกสวนของต้น พอต้นทุเรียนเริ่มใหญ่ขึ้น และมีผลผลิต ควรเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพ
การตัดแต่งกิ่งและช่อดอกทุเรียน
หลังจากออกดอก 5 สัปดาห์ ควรตัดแต่งช่อดอกบนกิ่งขนาดเล็ก หรือดอกที่อยู่ปลายกิ่งทิ้ง ให้เหลือเฉพาะดอกรุ่นเดียวกันในกิ่งเดียวกัน เมื่อเก็บผลผลิตทุเรียนไปแล้ว พักต้นไว้ประมาณ 1 เดือน ค่อยเริ่มตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นทุเรียนมีโครงสร้างและทรงพุ่มที่ดี การตัดแต่งกิ่งจะต้องเว้นลำต้นเดียว และเว้นกิ่งประธานกิ่งแรก สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร และไว้กิ่งให้เรียงเป็นระเบียบ เหมาะแก่การไว้ผล และไม่บดบังแสงแดดซึ่งกันและกัน และจะต้องควบคุมความสูงของลำต้นไว้ที่ประมาณ 7 เมตร
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคและแมลงที่สำคัญของทุเรียน ได้แก่ โรครากเน่า และโคนเน่า โรคผลเน่า โรคราแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ ไรแดงทุเรียน และหนอนกินขั้วผล เป็นต้น
1.โรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราเจริญเติบโตเข้าไปทำลายทุเรียน ทั้งที่โคนต้น ลำต้น กิ่ง และราก โดยจะสังเกตได้จากต้นที่เป็นโรคนี้จะมีใบด้าน ไม่เป็นมัน และสีจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วร่วงหล่น ต้นที่เป็นโรคจะแสดงอาการเน่าและใบเหี่ยว แผลที่ต้นหรือกิ่งจะเน่าเป็นจุดฉ่ำน้ำ เปลือกจะเน่าเป็นสีน้ำตาล และมีเมือกไหลออกมา ซึ่งจะสังเกตได้ในเวลาเช้า หรือช่วงที่มีอากาศชื้น เมื่อถากเปลือกออกจะเห็นเปลือกด้านไม่มีสีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลเข้ม และถ้าขุดดูรากจะพบว่าที่รากแก้วและรากฝอยถูกทำลายเน่าเป็นสีน้ำตาล ทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรม และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด คือ ตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย นอกจากนั้นอย่าให้น้ำขังแฉะบริเวณโคนต้น ควรถากบริเวณที่เป็นโรคออกเพียงเบาๆ แล้วใช้สารเคมี พวกเมทาแลคซิลผสมน้ำทาบริเวณที่ถากออก
2.โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายผลทุเรียน ตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อนจนกระทั่งผลแก่ ผิวที่ผลอ่อนจะมีผงสีขาวๆ คล้ายโรยด้วยแป้ง และผลอ่อนก็จะร่วงไป แต่ถ้าเชื้อโรคเข้าทำลาย เมื่อผลโตแล้วจะทำให้ผลแก่มีสีผิวที่ผิดปกติ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การป้องกันกำจัด นำผลทุเรียนที่ร่วงหล่นไปเผาทำลาย และฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงละลายน้ำ ในขณะที่ทุเรียนเริ่มติดผล
3.โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายผลทุเรียนตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อนจนกระทั่งผลแก่ ผิวที่ผลอ่อนจะมีผงสีขาวๆ คล้ายโรยด้วยแป้ง และผลอ่อนก็จะร่วงไป แต่ถ้าเชื้อโรคเข้าทำลายเมื่อผลโตแล้วจะทำให้ผลแก่มีสีผิวที่ผิดปกติ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การป้องกันกำจัด จะทำเหมือนลักษณะของการเป็นโรคผลเน่า
4.เพลี้ยไก่แจ้ แมลงชนิดนี้เมื่อตัวเต็มวัยจะเข้าไปวางไข่ในเนื้อเยื่อใบพืช ทำให้เห็นเป็นวงสีเหลือง หรือสีน้ำตาล ตามใบเป็นกลุ่มๆ กลุ่มหนึ่งมีประมาณ 8-14 วง หลังจากนั้นไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนขนาดประมาณ 3 มิลลิลิตร และมีปุยสีขาวติดอยู่ตามลำต้น โดยเฉพาะด้านท้ายของลำต้นมีปุยขาวคล้ายๆ กับหางไก่ แมลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า “เพลี้ยไก่แจ้” หรือ “เพลี้ยไก่ฟ้า”
การป้องกันกำจัด สำรวจยอดอ่อนและใบอ่อนทุเรียน เมื่อพบเพลี้ยไก่แจ้ให้ใช้กับดักสารเหนียวสีเหลืองล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำบนใบอ่อนที่คลี่แล้วเพื่อลดปริมาณเพลี้ยไก่แจ้ และเมื่อสำรวจพบจำนวนยอดทุเรียนถูกทำลายให้ใช้สารเคมีฉีดทำลาย
5.ไรแดงทุเรียน มีการระบาดมากในช่วงฤดูหนาว หรือตอนฝนทิ้งช่วง ซึ่งมีอากาศแห้งแล้ง และลมแรง โดยไรแดงจะดูดน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณหน้าใบของทุเรียน โดยเฉพาะตามแนวเส้นกลางใบเป็นคราบไรเป็นสีขาวเกาะติดบนใบ เป็นผงสีขาวคล้ายนุ่นจับ และจะทำให้ใบร่วง หลังจากนั้นทุเรียนจะแตกใบใหม่ ดอกและผลจะร่วงเสียหาย ไรแดงยังดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนของผลอ่อน ใบอ่อน กิ่งอ่อน ได้อีกด้วย
การป้องกันกำจัด สังเกตบริเวณสวนทุเรียนถ้ามีไรแดงกระจายอยู่บ้างเล็กน้อยให้ฉีดน้ำในบริเวณทรงพุ่มของต้นทุเรียนเพื่อลดปริมาณไรแดงลง แต่ถ้าพบว่ามีการระบาดในจำนวนมากให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นทำลาย
6.หนอนกินขั้วผล จะชอนไชและกินอยู่ที่บริเวณขั้วผล หรือต่ำกว่าขั้วผลลงมาเล็กน้อย ถ้ามีหนอนเข้าทำลายมากจะทำให้ผลหลุดออกจากขั้วและร่วง ส่วนใหญ่จะเข้าทำลายในระยะผลอ่อน
การป้องกันกำจัด เมื่อตรวจพบผลทุเรียนถูกทำลายจำนวนตั้งแต่ 4 ผลต่อต้นขึ้นไป ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีเพื่อกำจัดและป้องกันการเข้าทำลาย
การเก็บเกี่ยวผลทุเรียน
ควรเก็บเกี่ยวผลที่แก่แล้ว โดยสังเกตจากลักษณะของผล และนับอายุของทุเรียน ระยะเวลาที่จะตัดลูกทุเรียนเราจะรอให้ลูกหล่นนำมาก่อน 1-2 ลูก แล้วค่อยทยอยตัด แต่ไม่ได้หมายความว่า ตัดทั้งต้น ต้องดูลักษณะของผลทุเรียนด้วย ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย และคลุกคลีอยู่กับทุเรียนมานาน จึงทำให้สามารถรู้ถึงผลผลิตที่จะเก็บได้” คุณนองกล่าว
ลักษณะผลเมื่อทุเรียนแก่จะพบการเปลี่ยนแปลง คือ
– ก้านผลเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ สาก ตรงรอยต่อของระหว่างก้านผลตอนบนกับก้านผลตอนล่าง (ปลิง) จะบวมใหญ่ เห็นรอยต่อชัดเจน
– ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาล หนามกางออก ร่องหนาค่อนข้างห่าง สังเกตรอยแผลบนพูจะเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นพันธุ์ก้านยาวจะเห็นไม่ชัด
– การเคาะเปลือกหรือกรีดหนามผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ
– เมื่อผลทุเรียนเป็นต้นเริ่มแก่สุกและร่วงก็เป็นสัญญาณเตือนว่าทุเรียนที่เหลือซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันเริ่มแก่ สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ควรใช้มีดคมและสะอาดตัดบริเวณเหนือปลิงของก้านผลส่งลงมาให้คนที่รอรับข้างล่าง อย่าให้ผลกระทบพื้น วิธีที่นิยม คือ ใช้เชือกโรย หรือใช้กระสอบป่านตระหวัดรับผล ห้ามวางผลทุเรียนบนพื้นดินในบริเวณสวนโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผลเน่าติดไปกับผลทุเรียน
การบำรุงดูแลรักษาต้นทุเรียน
ภายหลังจากเก็บทุเรียนหมดแล้วควรเตรียมความพร้อมให้กับต้นทุเรียนเพื่อการติดดอก ออกผล ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตควบคู่ไปกับการเพิ่มปริมาณ จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
ต้นทุเรียนถ้ามีการสะสมอาหารเพียงพอจะสังเกตได้จากต้นและใบจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน มีทรงพุ่มสวยงาม ถ้าต้นทุเรียนมีความพร้อมก็จะทำให้ทุเรียนสามารถให้ผลผลิตที่ดี คุณภาพอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และให้ผลผลิตในช่วงเวลาที่เหมาะสม หากไม่มีการเตรียมสภาพต้นให้พร้อมในช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม จะทำให้ทุเรียนออกดอกช้า การติดผล การพัฒนาการของผล และการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะช้าตามไปด้วย
การโยงกิ่งทุเรียนเพื่อป้องกันกิ่งหักโค่นจะเริ่มโยงผลทุเรียนเมื่อตัดแต่งผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว การโยงผลทุเรียนต้องผูกเชือกโยงกับทุเรียนให้เลยตำแหน่งเชื่อมต่อระหว่างขั้วผลกับกิ่งไปทางด้านปลายยอดของกิ่ง พยายามสอดดึงเชือกโยงทำมุมกว้างกับกิ่งแล้วดึงปลายเชือกผูกรั้งกับต้นให้ดึงพอประมาณ เพื่อให้กิ่งสามารถเคลื่อนไหวได้บ้าง และกิ่งยกระดับสูงขึ้นเล็กน้อย
ด้านตลาดทุเรียน
ส่วนใหญ่ทุเรียนในแถบตำบลป่าเด็งจะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงสวน มีทั้งรับซื้อแบบเหมาทั้งสวน คนที่รับซื้อต้องนำคนมาตัดทุเรียนเอง และตัดไปส่งขายที่ตลาดท่ายาง ซึ่งราคาจะไม่ต่างกันมากเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ขายกันราคากิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งเป็นราคาขายส่งพ่อค้า แม่ค้า ที่มารับซื้อทุเรียน
“ต้นทุเรียนที่โตเต็มที่ 1 ต้น จะได้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม ต้นทุเรียนมีอายุมากเท่าใด ผลผลิตที่ได้จะมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าต้นอายุ 10-20 ปี ผลผลิตยิ่งเยอะยิ่งน้ำหนักดี ช่วงปีแรกๆ ที่ได้ผลผลิตปีนั้นเก็บได้ 6-7 ตัน ต่อ 10 ไร่ ได้ 500,000 บาท มาปีนี้แหละมันไม่ดก อากาศมันหนาว ทุเรียนชอบอากาศร้อน พอมันสะบัดร้อนสะบัดหนาวไปทุเรียนจะร่วน และจะไม่มีใบสร้างอาหารมาเลี้ยงดอก ถ้าใบไม่สมบูรณ์ดอกจะไม่ติด ดกก็ไม่ดก คราวนี้ก็ต้องรอรอบใหม่ เสียเวลาไปอีกเดือนเพื่อรอผลผลิต แต่เพิ่งจะเป็นปีนี้แหละ” คุณนองกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณนอง เข็มกลัด และคุณอนันต์ คงสบาย 310/1 ม.5 บ้านสวนใหญ่พัฒนา อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170 โทร.08-7983-4966 และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง 72/2 ม.3 ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170