สหกรณ์การเกษตรบ้านโพธิ์จำกัด ซื้อ “อาหารกุ้ง” 40 ล้านบาท/ปี เจอ 3 วิกฤต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ด้วยอำนาจซื้อของผู้บริโภคกุ้งที่ลดลง ส่งผลให้ ผู้ผลิต หรือ “เกษตรกร” ได้รับผลกระทบเต็มๆ

เด็ดดอกไม้กระเทือนถึงดวงดาว ตามทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก ชัดเจน

สหกรณ์การเกษตรบ้านโพธิ์จำกัด ฉะเชิงเทรา สมาชิกหลายคนเลี้ยง กุ้งขาว และ กุ้งก้ามกราม ปนกันในบ่อ ในอดีตพอจะมีกำไรอยู่รอดในวงการ แต่วันนี้ทุกคนเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต ชีวิตลำบากสุดๆ

แต่ชาวนากุ้งบางคนมองว่า ถ้าเลี้ยงด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังอยู่ได้สบาย มีตัวอย่างให้ศึกษา

1.สหกรณ์บ้านโพธิ์1

การเพาะเลี้ยงกุ้ง

แต่ชาวนากุ้งบ้านโพธิ์ 5 คน ได้แก่ คุณสมเจตน์ อุปถัมภ์  คุณหล่อ เสาวิจิตร์  คุณจำลอง สุวินัย  คุณสมพร คำเงิน และ คุณประสม แจ้งประจักษ์ โดยมี คุณจีรนุช อุปถัมภ์ (ปู) ผจก. ร่วมกันให้ข้อมูลด้านการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งประสบปัญหาต่างๆ ที่หนักกว่าทุกปี แม้ว่าวันนี้จะมีผู้ส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่ขายได้ราคา แต่ต้นทุนลูกกุ้งสูงกว่าลูกกุ้งก้ามกรามทั่วไปเกือบ 3 เท่าตัว

สมาชิกสหกรณ์ร่วม 800 คน ปรากฏว่า เลี้ยงกุ้งและปลาถึง 90% อีก 10% ทำนาข้าว ดังนั้นถ้าเลี้ยงกุ้งแล้วขาดทุน ก็จะต้องเลิกเลี้ยง ปล่อยบ่อให้ว่าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ครั้นจะไปเลี้ยง กุ้งก้ามกรามเพศผู้ ที่มีอนาคต ก็ไม่ง่าย เพราะต้นทุนสูงกว่า และเลี้ยงไปแล้วไม่มีพ่อค้าซื้อ ก็ขาดทุน เนื่องจาก พ่อค้ากุ้ง หรือ “แพกุ้ง” ในพื้นที่ จะซื้อกุ้งขาว/กุ้งก้าม ในบ่อแบบ “คว่ำบ่อ” หรือ เหมาจับทั้งบ่อ เพื่อจะตีราคากุ้งก้ามกรามแบบเพศเมียทั้งหมด เพื่อ “กำไร” ที่มากกว่าซื้อกุ้งก้ามเพศผู้ล้วนๆ

แม้การเลี้ยงกุ้งขาวปนกุ้งก้าม ขายแบบคว่ำบ่อ แต่ละคนก็มี “รูปแบบ” การเลี้ยงที่ต่างกัน บางคนปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามมากกว่าลูกกุ้งขาว บางคนก็ปล่อยกุ้งก้ามน้อยกว่ากุ้งขาว และบางรายก็ปล่อยให้สัดส่วนเท่ากัน ไม่มี “สูตร” การปล่อยลูกกุ้งแบบตายตัว และ “ไซซ์กุ้ง” ที่จับ แม้แพกุ้งจะซื้อเหมือนๆ กัน แต่เรื่องไซซ์กุ้งที่ โรงงานแช่แข็ง หรือ “ห้องเย็น” ต้องการ ก็ไม่ได้แจ้งให้ แพ หรือ เกษตรกร รู้ล่วงหน้า

2.สหกรณ์บ้านโพธิ์2

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

ในเรื่อง “การเตรียมบ่อ” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสร้างบ้านให้กุ้งอยู่สบาย ต้องออกแบบให้ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ คุณหล่อ เสาวิจิตร์ เปิดเผยว่า เริ่มตั้งแต่เอา รถแบคโฮ มากวาดเลน หว่านปูน โดโลไมท์ ปรับสภาพดิน และ ปรับสภาพน้ำ ไม่วัดค่า pH เหมือนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพราะกุ้งขาวจะว่ายน้ำไปเรื่อยๆ ไม่หมกอยู่ก้นบ่อเหมือนกุลาดำ

ส่วนความลึกของบ่อกุ้งประมาณ 1.7 เมตร ซึ่งเรื่อง การเตรียมบ่อ และ การลงทุน เลี้ยงกุ้ง ขึ้นอยู่กับ “ขนาด” ของบ่อ และ 2-3 ปี จึงจะเตรียม 1 ครั้ง เช่น บ่อ 10 ไร่ พอลงปูนขาวเสร็จก็วิดน้ำใส่ ค่าวิดน้ำ 3,000-4,000 บาท ค่าลูกกุ้งตัวละ 3.5 สตางค์ ปล่อย 20,000 ตัว เป็นเงิน 70,000 บาท ค่าอาหาร ค่าตีน้ำ และ ค่าบริหารจัดการ เป็นต้น โดยเฉพาะค่า “อาหาร” เป็นต้นทุนหลัก แต่ถ้าปล่อยลูกกุ้งแล้ว เดือนเดียว “กุ้งขาว” ตาย มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว

คุณสมเจตน์ อุปถัมภ์ ยอมรับว่า พอเลี้ยงได้ 2 เดือน ยกยอขึ้นมาดู ปรากฏว่าไม่มีกุ้ง กุ้งตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่พบ ก็คือ มี “นกนางนวล” บินมากินกุ้ง  นกจะเป็นพาหะของโรคหรือเปล่า  ฟาร์มของตนปล่อยกุ้งก้ามกราม  50 กก. กุ้งขาว 500 กก. จับกุ้งก้ามได้ 500 กก. และ กุ้งขาวได้ 10 กว่ากก. ก็ไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน นอกจากนี้ฤดูกาลที่เปลี่ยนก็เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา

ซึ่ง คุณหล่อ  เสาวิจิตร์ ยอมรับว่า ตนเลี้ยง กุ้งก้ามกราม 50 กก. และ กุ้งขาว 50 กก. ปรากฎว่าได้ผลผลิตแค่ 200  กก.  ทั้งๆ ที่เปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้ออกซิเจน  ตั้งแต่ปล่อยลูกกุ้งได้  2  เดือน  โดยเฉพาะในช่วงฝนตก และ อากาศอับๆ แต่ก็ไม่รอด

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.อาหารกุ้ง
3.อาหารกุ้ง

การจำหน่ายอาหารกุ้ง

เมื่อถามถึง “อาหารกุ้ง” ทางสหกรณ์ขายทั้ง 5 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ โกรเบสท์ ของ บริษัท โกรเบสท์คอร์โพเรชั่น จำกัด แบรนด์ นีโอ, ฟาร์มเมอร์ช้อย ของ บริษัท INTEQC จำกัด แบรนด์ กรีนเวฟ ของ บริษัท โภคาฟีด จำกัด แบรนด์ ฮีโร่ ของ บริษัท เอเชียน ฟีด จำกัด ทุกแบรนด์ซื้อจากเอเยนต์ในพื้นที่ เช่น แบรนด์ โกรเบสท์ เป็นต้น

ทุกแบรนด์ที่สหกรณ์ขายให้สมาชิก เกิดจากความต้องการของสมาชิกเอง ถ้ามีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา ก็ต้องดูว่าสมาชิกสนใจไหม อีกอย่างสมาชิกที่ใช้อาหารกุ้งแบรนด์ไหนมั่นใจ ก็จะใช้แบรนด์นั้นเป็นหลัก และใช้ตามๆ กัน เพราะบางคนใช้บางแบรนด์แล้ว แค่เปิดถุงอาหารทิ้งไว้ ไม่กี่วันราก็ขึ้น อาหารเม็ดจับตัวเป็นก้อน ซึ่งต่างจากแบรนด์ที่สหกรณ์ขายที่มีคุณภาพ

ที่ประชุมสหกรณ์ได้นำประเด็นเรื่องการสั่งซื้ออาหารจากโรงงานโดยตรง หรือเป็นเอเยนต์ ไม่ใช่ “ซับ-เอเยนต์” อย่างที่เป็นอยู่ ปรากฏว่าไม่มี ผู้บริหาร หรือ เจ้าของโรงงาน มาร่วมประชุม เพราะถือว่าได้ให้เอเยนต์ในพื้นที่ดูแลแล้ว

วันนี้อาหารกุ้งขึ้นราคา มีผลกระทบต่อสมาชิกผู้เลี้ยงอย่างรุนแรง สหกรณ์การเกษตรบ้านโพธิ์ฯ พยายามช่วยสมาชิกให้อยู่รอดด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่ง่าย แม้จะซื้ออาหาร ปี 64 กว่า 40 ล้านบาท/ปี แต่ไม่มีอำนาจต่อรองกับโรงงาน

4.คุณสุรัตน์ ธวัชสานนท์
4.คุณสุรัตน์ ธวัชสานนท์

ปัญหาและอุปสรรคอาหารกุ้ง

เรื่องนี้ทาง สหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ไม่ได้ใส่เกียร์ว่าง หาทางช่วยเท่าที่กฎระเบียบเอื้ออำนวย ซึ่ง คุณสุรัตน์ ธวัชสานนท์ (มด) ก็เข้ามาประสานงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการผลักดันให้สหกรณ์จัดซื้ออาหารโดยตรงจากโรงงาน ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่จะต้องทำต่อไป

ต้นทุนการเลี้ยงกุ้ง วันนี้ค่าอาหารเป็นต้นทุนถึง 70% ดังนั้นเมื่ออาหารขึ้นราคากระสอบละ 35 บาท ผู้เลี้ยงต้องแบกภาระหนัก ทางสมาชิกที่ร่วมประชุม รวมทั้ง ผู้จัดการสหกรณ์ มีความเห็นตรงกันว่าถ้าอาหารขึ้นกระสอบละ 10-20 บาท พอสู้ไหว แต่ถ้าถึง 70 บาท โคม่าแน่นอน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อถามถึงข้อดีของการพัฒนาฟาร์ม GAP มีความเห็นตรงกันว่า ไม่มีประโยชน์ต่อการทำให้ธุรกิจดีขึ้น สมาชิกจึงไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด

เมื่อ “น้ำมัน” ขึ้นราคาอย่างบ้าเลือด และค่า “ไฟฟ้า” ก็ขึ้น เรื่องนี้ทาง สหกรณ์ และ สมาชิก ต้องแบกภาระหนัก เพราะต้องใช้เชื้อเพลิงทั้ง 2 อย่าง ให้การตีน้ำ ให้ออกซิเจน

5.กุ้งตัวใหญ่ ได้คุณภาพ
5.กุ้งตัวใหญ่ ได้คุณภาพ

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้ง

ในเรื่องราคา “กุ้งเนื้อ” คนจับกุ้งจะอิงราคาจากตลาดมหาชัยเป็นหลัก และชุดจับกุ้งก็มีหลายชุดๆ ละ 6-7 คน โดยจับแบบ “คว่ำบ่อ” เป็นหลัก ค่าแรงคนจับ 250-300 บาท/คน โดยใช้ “ปริมาณกุ้ง” เป็นตัวกำหนดค่าแรง ซึ่งรูปอย่างนี้จะทำให้ฟาร์มกุ้งมีคนแย่งกันจับ และจับได้ตลอดทั้งวัน โดยมี “แม่ค้า” หรือ “แพกุ้ง” ในพื้นที่ คอยซื้อตลอดเวลา

วันนี้ราคากุ้งขาวดีกว่ากุ้งก้ามกราม ดังนั้นสมาชิกต้องเลี้ยงปนกันในบ่อ ส่วนใหญ่ปล่อยลูกกุ้งตามอัตราส่วน เช่น ลูกกุ้งก้ามกราม 400 ตัว/กก. ก็ต้องใช้ลูกกุ้งขาว 50,000 ตัว เลี้ยง 3 เดือน ได้กุ้งขาว 600-700 กก. เป็นต้น

สรุปได้ว่า วันนี้ สหกรณ์การเกษตรบ้านโพธิ์จำกัด จำเป็นต้องให้สมาชิกเดินหน้าเลี้ยง กุ้งขาว และ กุ้งก้ามกราม ต่อไป เพราะมีความพร้อมเรื่อง น้ำจืด น้ำกร่อย ลูกพันธุ์ และ แพกุ้ง ท่ามกลางวิกฤต 3 ด้าน ได้แก่ โรค อาหาร และ พลังงาน ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ราคากุ้งก้ามกรามยังไม่โงหัว

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 394