กุนเชียงปลายี่สก การแปรรูป จนขึ้นแท่นของดีเมืองกาญฯ จากฝีมือวิสาหกิจชุมชนไทย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อาหารแปรรูปในปัจจุบันนี้นับว่าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะง่ายต่อการนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร สามารถเก็บรักษาได้นานกว่าอาหารสด อีกทั้งยังสะดวกสบายต่อการซื้อหา ทำให้เกิดอาชีพการแปรรูปอาหารมากขึ้นตามกัน ทำให้เกิดผลดีต่อหลายภาคส่วน ทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง จนถึงแม่ค้าแม่ขาย อีกทั้งภาครัฐยังมีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ภายในชุมชนนั้นๆ ภายใต้การผลิตที่ได้มาตรฐานสากล กุนเชียงปลายี่สก

1.คุณพิสิษฐ์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลอินทรีย์
1.คุณพิสิษฐ์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลอินทรีย์

การผลิตและแปรรูปปลายี่สก

นิตยสารสัตว์น้ำอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้ผลิต “กุนเชียงปลายี่สก” ให้ขึ้นแท่นเป็นของดีประจำจังหวัดกาญจนบุรีได้ในทุกวันนี้ จึงอยากพาท่านผู้อ่านมาพูดคุยกับทาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไส้กรอกสมุนไพร ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

โดยได้รับเกียรติจาก คุณพิสิษฐ์ เต่งภาวดี ประธานกลุ่ม และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิก 21 ราย กว่า 600 หุ้น ได้แปรรูปและผลิตกุนเชียงจากเนื้อของปลายี่สก 100% จนได้รับรางวัลมากมายหลายแขนง จนมีชื่อเสียงได้รับการส่งเสริมเป็น 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ.2547 และได้รับเป็นสินค้ามาตรฐาน OTOP 5 ดาว สูตรดั้งเดิม  และสูตรเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว และ OTOP TOP TEN  ในสูตรผสมเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว ประจำจังหวัด ในชื่อแบรนด์ “เต่ง กุนเชียงปลายี่สก ”

คุณพิสิษฐ์เล่าความเป็นมาให้เราฟังว่า “เดิมทีที่ทำครั้งแรกจะเป็นไส้กรอกหมู กุนเชียงหมู ช่วงหลังๆ ไส้กรอกหมูเกิดปัญหาการตลาดยุ่งยาก เพราะว่าเป็นของสด เวลานำไปวางที่ร้านค้า อายุของสินค้าสั้นกว่า ถ้าเราเก็บเองแบบปิด 2 เดือน ถึงจะเกิดรสเปรี้ยว เพราะถูกเก็บอยู่ที่อุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส

แต่ถ้าร้านค้าเก็บน่าจะมีการเปิด-ปิดอยู่เป็นประจำ จะทำให้เกิดรสเปรี้ยวเร็วมากขึ้นภายในไม่เกิน 2 อาทิตย์ เพราะถ้าสินค้าเกิดรสเปรี้ยวต้องนำไปเปลี่ยนให้ ทำให้เกิดการสูญเสียมาก ส่วนของกุนเชียงหมูพอขายได้ แต่ว่าจะขายได้น้อย เพราะว่าสู้ราคาหมูไม่ไหว ต้นทุนสูงราคาเลยสูงกว่าชาวบ้าน 2 เท่า ทำให้ขายสู้กับคนอื่นไม่ได้”

ด้วยความตั้งใจยังเดินหน้าสู้กันต่อ แต่เมื่อผ่านไปสักพักตลาดยังไปไม่ได้ รายรับน้อยกว่ารายจ่าย จนทาง OTOP ได้ให้ไปออกบูธที่ศาลากลาง ปรากฏว่าเป็นงาน OTOP มีสินค้าจากหลายจังหวัดเข้ามาขาย จนได้มาพบเห็นการทำกุนเชียงปลาของบูธข้างๆ กัน แต่ทำด้วยกระบวนการที่ไม่สะอาดมากนัก โดยการอัดและตัดขายสดๆ ตรงนั้น จึงสังเกตได้ว่าการทำกุนเชียงสดมีต้นทุนที่ต่ำ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการอบแห้งอะไร ทำแล้วทานได้เลย จึงหันกลับมาคิดในมุมมองของตนเองถึงวัตถุประสงค์ของตนที่ต้องการทำตลาดให้เป็นวงกว้าง ต้องสามารถเก็บได้เป็นระยะเวลานาน

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.ไซซ์ปลานิลที่นำมาทอด
2.ไซซ์ปลานิลที่นำมาทอด

การแปรรูปปลายี่สก

ทางกลุ่มจึงหันเหเปลี่ยนจากไส้กรอกมาเป็นกุนเชียง เพราะมองว่าสามารถเก็บได้นานขึ้น ปรากฏว่าในช่วงแรกตลาดยังทำได้ไม่ดี เกิดปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ แต่เดิมยังเป็นถุงใสธรรมดา จะเก็บรักษาไว้ได้แค่อาทิตย์กว่าๆ จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนถุง พัฒนาบรรจุภัณฑ์มาเรื่อยๆ ในที่สุดได้ออกมาเป็นบรรจุระบบสุญญากาศ สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 5-6 เดือน

ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนจากการทำกุนเชียงหมูมาเป็นกุนเชียงปลา เพราะว่าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า สามารถหาผลผลิตในพื้นที่ได้ง่ายกว่า และอีกหนึ่งแนวคิดในการทำกุนเชียงปลา ทางกลุ่มได้มองหาปลาที่เป็นปลาประจำจังหวัดกาญจนบุรี อย่าง ปลายี่สก เป็นปลาที่ขึ้นชื่อของเมืองกาญฯ ทางกลุ่มจึงนำปลายี่สกที่เป็นวัตถุดิบท้องถิ่นมาทดลองทำเป็น กุนเชียงปลายี่สก จนได้เสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

ตัวของปลายี่สกเองจะมีก้างเยอะ ถ้าตัวเล็กๆ ก้างจะเยอะมาก เพราะโครงสร้างของปลาจะใหญ่ สามารถใหญ่เต็มที่ได้ถึง 30-40 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อโครงสร้างใหญ่ต้องมีก้างเยอะ เพื่อพยุงร่างกายในการว่ายน้ำ จึงไม่เป็นที่นิยมกินมากเท่าไหร่ ทำให้ราคาของตัวปลาถูก จึงมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงมากว่าเดิม เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะคัดเลือกไซซ์ก่อนส่งเข้าไลน์ผลิต เมื่อคัดไซซ์เสร็จจะแล่เนื้อออก จากนั้นนำไปสับรวมทั้งเนื้อและก้างให้ละเอียด ข้อดีของการปนก้างเข้าไปด้วยจะได้รับแคลเซียมปริมาณสูง ซึ่งได้รับการยืนยันจากแลปวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ

3.ผลิตภัณฑ์กุนเชียงปลายี่สก
3.ผลิตภัณฑ์กุนเชียงปลายี่สก

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุนเชียงปลายี่สก

กุนเชียงปลายี่สก เข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ.2548 เริ่มทดลองวางขายตามร้านค้า ในปี พ.ศ.2549 เริ่มต้นจากน้อย และยอดขายทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นแท่นติดตลาดในระยะเวลาไม่นาน และต่อมาได้รับการคัดเลือกเป็นของดีประจำจังหวัดอีกด้วย

คุณพิสิษฐ์กล่าวถึงความสำเร็จตรงนี้ว่า “ช่วงเปลี่ยนมาทำกุนเชียงปลายี่สก แรกๆ ยังต้องสุ่มหาทางไปเรื่อยๆ เริ่มต้นจากการทำเพียง 20 กิโลกรัม พอแห้งจะเหลือ 10 กว่ากิโลกรัม พอนำไปวางขาย ผลปรากฏว่าขายจนหมด จึงเริ่มปริมาณการผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ พอเริ่มขายดีมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มวางแผนการผลิตในปีต่อไป เริ่มจากการสำรวจร้านค้าก่อนนำผลิตภัณฑ์วางจำหน่าย เพื่อวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ และเริ่มสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อาทิ ผ่านมาตรฐานของอย., มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน INNOVATION Packaging รางวัล DE Mark Sward และ PM Award เป็นต้น”

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ เต่ง กุนเชียงปลายี่สก มีทั้งหมด 3 สูตร สูตรดั้งเดิม สูตรผสมฟักข้าว และสูตรไขมันต่ำ ราคาขายแต่ละสูตรจะไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนแต่ละอันไม่เท่ากัน หลักๆ ตอนนี้ทางกลุ่มฯ ทำกุนเชียงปลายี่สก จะมีแพลนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในไม่ช้า นั่นคือ ปลานิลอินทรีย์อบกรอบ แบบพร้อมทาน ตอนนี้อยู่ในช่วงรอลูกปลา และขอมาตรฐานการตรวจสอบจาก อย.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยจะใช้ลูกปลานิลไซซ์ประมาณ 3-5 กรัม/ตัว เป็นลูกปลานิลที่ทางกลุ่มส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยง ช่วยชาวบ้านที่มีบ่ออยู่แล้วไม่ต้องลงทุน ผลิตภัณฑ์ปลานิลอินทรีย์อบกรอบหลักๆ คือ จะเน้นให้รับประทานได้ง่าย เก็บรักษาได้ยาวนาน เพื่อเสริมแคลเซียมให้กับผู้บริโภค

4.ลูกฟักข้าวคุณภาพ สำหรับนำมาทำเป็นส่วนผสม กุนเชียงปลาสูตรสมุนไพร
4.ลูกฟักข้าวคุณภาพ สำหรับนำมาทำเป็นส่วนผสม กุนเชียงปลาสูตรสมุนไพร

แนวโน้มในอนาคต

คุณพิสิษฐ์ย้ำแนวทางในอนาคตของกลุ่มให้เราฟังว่า “ ทุกวันนี้ยังคงดิ้นรนหาช่องทางการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ศึกษาและทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค เป็นต้น เพื่อพยายามตามตลาดให้ทัน และเปิดให้นำสินค้าไปลงตามแฟนเพจของตัวแทนจำหน่าย  ลงในเว็บ shopee และไปรษณีย์ แต่ออนไลน์อาจขายไม่ได้เท่าหน้าร้าน จะได้ประมาณแค่ 10 %  แต่หวังว่าช่วงนี้จะเริ่มมีกระแสมากยิ่งขึ้น แต่ร้านค้าท้องถิ่นค่อนข้างจะเยอะกว่าแล้ว อย่างร้านค้าทางใต้ที่เป็นร้านค้าประจำ สั่งมาเยอะทีละ 50-100 แพ็ค อาทิ พัทลุง ตรัง สงขลา นครศรีธรรมราช เป็นต้น”

ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไส้กรอกสมุนไพรยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ให้สามารถทำตลาดได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งทางกลุ่มยังเปิดรับตัวแทนจำหน่ายที่สนใจจะนำสินค้าไปจำหน่าย เรื่องราคาลองสอบถามกันเข้ามาได้ และสุดท้ายด้วยประสบการณ์และแนวคิดที่ก้าวไกลของกลุ่มจะยังคงยืนหยัดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ออกมาเพื่อผู้บริโภคทุกคนต่อไป

สำหรับท่านที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไส้กรอกสมุนไพร โทร : 081-837-1970 หรือแฟนเพจ : เต่ง เชียงปลายี่สก By Tengproducts ทางกลุ่มยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณพิสิษฐ์ เต่งภาวดี โทร : 081-837-1970 ที่ตั้งกลุ่ม 54 หมู่ที่ 2 บ้านปลักสะแก ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 370