ขวัญข้าวฟาร์ม จากธุรกิจ บริษัททัวร์ สู่การทำฟาร์มเป็ดไข่คุณภาพ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

22เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศมาตลอด นิตยสารสัตว์บกมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณเนตรนภา ภูคะฮาด จากเจ้าของธุรกิจ บริษัททัวร์ ที่ผันตัวเองมาทำฟาร์มเป็ดไข่ “ขวัญข้าวฟาร์ม” เพราะผลกระทบจากโควิด-19

1.คุณเนตรนภา ภูคะฮาด และทีมงาน
1.คุณเนตรนภา ภูคะฮาด และทีมงาน

จุดเริ่มต้นเลี้ยงเป็ดไข่

“เนตรเพิ่งทำฟาร์มจริงจังได้เมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นเนตรทำธุรกิจเกี่ยวกับ บริษัททัวร์ และมีรถตู้ให้เช่า เรามองว่าเมืองไทยไม่ทำท่องเที่ยวก็น่าจะทำธุรกิจอาหาร แต่ตอนนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวมันดรอปไปเยอะมาก เมื่อมาเจอโควิด-19 บริษัทไม่มีรายได้ เราจึงต้องมาคิดใหม่ แต่ดีที่เรามีที่เกือบ 200 ไร่ จึงอยากทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ จึงได้เลือกพื้นที่ตรงนี้ทำฟาร์ม เพราะห่างไกลเขตชุมชน” คุณเนตรเผยถึงที่มาของการทำฟาร์ม

เดิมคุณเนตรอยู่กรุงเทพฯ แต่ คุณพ่อ คุณแม่ อยู่ที่ฉะเชิงเทรา จึงกลับมาคิดว่าจะทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ จะถนัดเรื่องทำไร่ ทำสวน อยู่แล้ว ในตอนแรกคุณเนตรจะเลี้ยงปลา แต่มองว่าถ้าจะเลี้ยงปลาจะมีรายได้ช่องทางเดียว และต้องการทำอะไรที่มีรายได้เข้าทุกวัน คุณเนตรจึงมองว่าการเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ

“เพราะเราก็มีที่ดิน ที่มีแหล่งน้ำตลอดทั้งปี ซึ่งก็เหมาะกับการที่จะใช้เลี้ยงเป็ด ที่ต้องมีบ่อน้ำให้เขาได้เล่น ถ้าเลี้ยงไก่เรามองว่าด้วยความที่เราเป็นฟาร์มใหม่ เราคงจะสู้ฟาร์มใหญ่ไม่ได้ เพราะเขาเลี้ยงกันทีเป็นแสนตัว และตัวเราเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานและประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้ด้วย จึงกังวลว่าอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ในการเลี้ยงเป็ดนั้น เรามองว่าเราสามารถเติบโตได้มากกว่าการทำฟาร์มไก่ จึงหันมาลงทุนในการทำฟาร์มเป็ด มันก็อาจทำให้เราเติบโตได้ในอนาคต” คุณเนตรให้เหตุผลเพิ่มเติมในการเลือกทำฟาร์มเป็ด

2.ไข่เป็ดพร้อมส่งลูกค้า
2.ไข่เป็ดพร้อมส่งลูกค้า

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่เป็ด

ขวัญข้าวฟาร์มเริ่มเลี้ยงครั้งแรก 2,000 ตัว ในตอนแรกตั้งใจทดลองเลี้ยงไปก่อน แต่การลงทุนเลี้ยงเป็ด 2,000 ตัวไม่ใช่น้อยๆ และพอเริ่มมีลูกค้ารู้จักฟาร์มเยอะขึ้น มันกลายเป็นว่าการเลี้ยงแค่ 2,000 ตัว มันตอบโจทย์ตลาดที่หามาได้ วันหนึ่งจะได้ไข่วันละ 1,600-1,700 ฟอง ซึ่งเมื่อหาตลาดรับซื้อเจ้าใหญ่ๆ ได้แล้ว แต่ไข่มีไม่พอส่ง มันก็กลายเป็นปัญหา คุณเนตรจึงได้ทำการขยายฟาร์มเพิ่มเพื่อรองรับตลาดรายใหญ่ที่หาได้

“ถ้าเราจะจับกลุ่มรายเล็กได้ไหมก็ได้ แต่เราจะมีปัญหาตรงที่เจ้าเล็กๆ ตลาดจะไม่ค่อยแน่นอน และปริมาณก็ไม่มากพอ ทำให้เราต้องหาตลาดใหม่ตลอด เราก็มองว่าถ้าเราพึ่งตลาดรายเล็กๆ แบบเดียว เราจะอยู่ยาก ซึ่งเรามองว่าถ้าเราขยายฟาร์ม และเรามีผลผลิตที่มากพอที่จะส่งรายใหญ่ เราก็วิ่งหารายใหญ่ พวกโรงงานไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ที่เขาจะรับซื้อทีละเยอะๆ และเป็นคู่ค้ากัน มันจะทำให้เราเหนื่อยน้อยลง และตอบโจทย์เราได้ดีกว่า” คุณเนตรเผยถึงที่มาของการขยายฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.พื้นที่สำหรับให้เป็ดเล่นน้ำ
3.พื้นที่สำหรับให้เป็ดเล่นน้ำ

สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ด

ปัจจุบันขวัญข้าวฟาร์มมีเป็ดไข่อยู่ประมาณ 7,000 ตัว และกำลังขยายโรงเรือนที่ 3 และ4 แต่ละโรงเรือนจะมีบ่อน้ำอยู่คู่ทุกๆ โรงเรือน รูปแบบภายในโรงเรือนจะแบ่งเป็นพื้นที่เป็น 3 ส่วน โซนสำหรับให้เป็ดไข่ โซนสำหรับกินอาหาร และโซนสำหรับลงเล่นน้ำ คุณเนตรตั้งเป้าที่จะขยายให้ได้ถึง 20,000 ตัว โรงที่ 3 จะเริ่มขึ้นหลังสงกรานต์ โดยจะเว้นช่วงการลงเป็ดแต่ละโรงเรือนประมาณเดือนครึ่ง โรงที่ 3 จะเริ่มลงเป็ดประมาณเดือนมิถุนายน ตั้งเป้าว่าปีนี้จะให้ได้ 1.5-2 หมื่นตัว

คุณเนตรได้ให้เหตุผลที่ไม่ขยายฟาร์มทีเดียว เพราะเป็ดจะมีช่วงผลัดขน โรงแรกช่วงนี้เป็นช่วงผลัดขน เป็ดโรงที่ 2 จึงจะเข้ามาเสริม ให้มีไข่ตลอดเพียงพอต่อลูกค้า พอเป็ดโรงสองเริ่มผลัดขน ก็จะมีเป็ดโรงที่ 3 และโรงแรกเข้ามาเสริม จะทำให้มีไข่เป็ดส่งลูกค้าทุกวัน ซึ่งถ้าลงทีเดียวช่วงไข่ลดมันจะลงหมด ช่วงไข่เยอะมันก็จะมากเกินไป ทำให้เราจัดการกระจายสินค้าไม่ทัน

เมื่อเป็ดให้ผลผลิตมาระยะหนึ่ง พอถึงอายุ 10 เดือน เป็ดจะผลัดขน และไข่เริ่มลดลง สิ่งที่สังเกต คือ ปริมาณขนที่หล่นที่พื้น และปริมาณไข่ที่ลดลง จะใช้เวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์ เป็ดจะเริ่มกลับมาไข่ใหม่ ช่วงนี้เป็ดต้องการโปรตีนสูง เพื่อใช้ในการสร้างขนให้กลับมา ดูที่สูตรอาหารที่เราให้อาจจะเพิ่มโปรตีนขึ้น และลดแคลเซียมลง และทำวัคซีนในช่วงเป็ดผลัดขน เพราะจะได้ภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำ

4.โรงเรือนเป็ด
4.โรงเรือนเป็ด

การบริหารจัดการฟาร์มเป็ด

การดูแลบริหารฟาร์ม คุณเนตรก็ไม่ได้ทำคนเดียว จะมีพี่น้องมาช่วยกัน แต่คุณเนตรจะเป็นตัวหลักในเรื่องของการหาตลาด ส่วนตัวพี่สาวและน้องสาวจะดูเรื่องของวัตถุดิบ การจัดหาแหล่งอาหารในราคาที่ดี

พื้นที่ที่มีไม่ได้นำมาเลี้ยงเป็ดเพียงอย่างเดียว มีการจัดสรรแบ่งทำการเกษตรอื่นๆ มีการทำนาอยู่ประมาณ 100 ไร่ เป็นข้าวหอมปทุม และก็มีสวนมะม่วง มะพร้าว และไผ่ จะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้จากหลายช่องทาง และลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว

“ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ คือ เรื่องตลาด จะเห็นว่าพื้นที่แถวนี้จะไม่มีใครทำเกษตรผสมผสานเลย ส่วนใหญ่จะทำนากัน เพราะมีแหล่งน้ำเพียงพอ และสามารถทำนาได้ตลอดทั้งปี จึงมีโรงสีข้าวใหญ่ๆ เยอะมาก ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้าน ซึ่งทำนาแล้วมีที่ขายได้แน่นอน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การทำสวนผสมผสานแถวนี้จึงไม่ค่อยมี อาจจะด้วยการหาตลาดและแหล่งรับซื้อเป็นสิ่งที่สำคัญ เราเป็นคนรุ่นใหม่ คิดต่าง จึงเลือกลองทำฟาร์มเป็ด เพราะไข่เป็ดมันก็ดีอย่าง คือ มันสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายกว่าไข่ไก่

สำหรับองค์ความรู้ที่นำมาเลี้ยงเป็ด คุณเนตรเผยว่าไม่ได้ไปปรึกษาหรือถามเพื่อน เพราะไม่มีคนรู้จักทำธุรกิจทางด้านนี้ ต้องยอมรับว่าศึกษาดูจากยูทูป กูเกิ้ล และคำนวณดูว่าการทำฟาร์มเป็ดไข่ ต้นทุนกับรายได้ที่จะได้มามันคุ้มทุนหรือไม่

นอกจากนี้เพราะทางฟาร์มเลือกใช้อาหารของ  บริษัท  ซันฟีด  จำกัด จึงมีสัตวแพทย์ และสัตวบาล  มาคอยให้คำแนะนำปรึกษาอยู่เสมอ ทำให้การเลี้ยงเป็ดไข่สำหรับมือใหม่ อย่าง ขวัญข้าวฟาร์ม ไม่ยุ่งยาก และได้ผลผลิตที่ดี

ส่วนเป็ดที่นำมาเข้าฟาร์มเลี้ยงนั้น จะเป็นเป็ดสาวพร้อมไข่ที่สมบูรณ์ วัคซีนครบ เป็ดจะใช้เวลาปรับตัวประมาณ 2-3 อาทิตย์ จึงจะเริ่มไข่ ถ้า % ไข่ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าโอเคมาก โรงเรือนที่สองได้เป็ดจากฟาร์มที่ดี ฉีดวัคซีนให้ครบ เป็ดสมบูรณ์ ปรับสภาพได้เร็ว ให้ผลิตได้เร็ว และตามเป้า 80-85%

แต่โรงแรกเราเจอปัญหาค่อนข้างเยอะ ได้เป็ดคละรุ่นมา ทำให้ทางฟาร์มต้องอุ้มต้นทุนค่าอาหารเลี้ยงให้เขาสมบูรณ์เกือบ 2 เดือน กว่าเป็ดจะให้ไข่ จึงได้ประสบการณ์และเข้าใจมากขึ้นในการเลี้ยงเป็ดไข่ ว่าเป็ดสาวพร้อมไข่และสมบูรณ์จะอายุประมาณ 22 สัปดาห์

“จากเลี้ยงเป็ดไข่ 2,000 ตัว เป็ดเริ่มให้ไข่ครั้งแรก 60 ใบ ตอนนั้นเนตรดีใจมาก ซึ่งการเลี้ยงโรงเรือนแรกปัญหาเยอะมาก มันทำให้เราได้เรียนรู้และหาวิธีจัดการ”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.บรรยากาศด้านหน้าฟาร์มเป็ดไข่
5.บรรยากาศด้านหน้าฟาร์มเป็ดไข่

การทำฟาร์มมาตรฐาน GMP

ตอนนี้ทางฟาร์มกำลังขอทำฟาร์มมาตรฐาน GMP โดยคุณเนตรได้ให้เหตุผลว่า “เพราะเนตรคิดว่าถ้าเราตั้งใจจะทำทั้งทีก็ควรทำให้ดีไปเลย นอกจากจะขยายฟาร์มแล้วเราควรทำฟาร์มมาตรฐานด้วย เพื่อเป็นตัวการันตีของฟาร์มด้วย ให้ลูกค้าไว้วางใจได้ ถึงเราจะเป็นฟาร์มใหม่ แต่เราก็มองไปถึงอนาคต เราไม่ได้ทำเล่นๆ เราต้องการให้ฟาร์มเรามีมาตรฐาน”

แม้จะเจอปัญหา ไม่ว่าจะผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจทัวร์ต้องหยุดชะงัก และได้หันมาเลี้ยงเป็ดไข่ แต่ก็ได้เจอกับปัญหาใหญ่ในการเลี้ยงครั้งแรก แต่คุณเนตรก็ไม่เคยท้อ เรียนรู้ปัญหาที่เจอและหาทางแก้ไขจนสามารถผ่านมันไปได้ แม้จะเป็นฟาร์มใหม่ แต่ก็มีผลผลิตที่ดี มีมาตรฐาน มีการวางแผนขยายและพัฒนาฟาร์มมาเสมอ

ทีมงานนิตยสารสัตว์บกขอเป็นกำลังใจให้ขวัญข้าวฟาร์ม และเกษตรกรทุกท่าน ที่กำลังเจอปัญหา ไม่ว่าปัญหาจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ขอให้ผ่านพ้นไปให้ได้

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณเนตรนภา ภูคะฮาด ขวัญข้าวฟาร์ม

หากผู้อ่านท่านใดสนใจไข่เป็ดสดใหม่ คุณภาพ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : ขวัญข้าว ฟาร์ม หรือโทร.090-981-2962

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 337