รวยแบบคุณพี เศรษฐี ก้านยาว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ผลไม้ที่มี “เปลือกหนาม” ห่อหุ้ม เนื้อ และ เมล็ด เมื่อเนื้อสุก รสชาติหวาน มัน อย่าง “ทุเรียน” ในเมืองร้อนชื้นหลายประเทศ กลายเป็นของหวานที่คนเอเชียติดใจ แม้ราคาแพงก็ซื้อ ประเทศไทยหลากหลายด้วย “สายพันธุ์” กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้ง ที่ราบ และ บนภูเขา ให้ผลผลิต ทั้ง ปริมาณ และ คุณภาพ ที่ต่างกัน แต่ที่เป็นเลิศด้านรสชาติ กลายเป็นทุเรียนที่ราบลุ่มเจ้าพระยา อย่าง จังหวัด “นนทบุรี” และ “กรุงเทพ” ซึ่งมีดินตะกอนที่อุดมด้วยธาตุอาหารหลายชนิด และกิตติศัพท์ของทุเรียนแห่งนี้ ทำให้สายพันธุ์ถูกนำไปปลูกหลายพื้นที่ ขณะที่ทุเรียนพื้นเมืองหลายภูมิภาค ถูกลดบทบาท เพราะชาวสวนปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทำให้สายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาโดยภาครัฐ ได้รับความนิยม เช่น “หมอนทอง” เป็นต้น จากนั้นก็กระจายไปทั่วประเทศ เป็นทุเรียนเศรษฐกิจระดับประชาติ ขณะที่ เซียนทุเรียน หลายคน ได้พิสูจน์รสชาติของทุเรียนทุกพันธุ์ ยังได้อนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองไว้ เช่น ชะนี ก้านยาว หลิน-หลง ลับแล และ กบ เป็นต้น หลายคนปลูกเพื่อการค้า ร่ำรวยกันไปตามๆ

1.ทุเรียนรูปทรงสวย ก้านผลยาว
1.ทุเรียนรูปทรงสวย ก้านผลยาว

การขึ้นทะเบียนเป็นทุเรียน GI

สำหรับ ทุเรียนนนท์ วันนี้กลายเป็น “ทุเรียน GI” ของจังหวัด เป็นผลไม้ประจำถิ่น ซึ่งมีชาวสวนมาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ต.ค.63 จำนวน 1,087 ราย พื้นที่ 2,120 ไร่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ปากเกร็ด บางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง และ ไทรน้อย มี 4 พันธุ์ ทางการค้า ได้แก่ ก้านยาว ชะนี หมอนทอง และ กระดุม

และหน่วยงานรัฐได้เร่งดำเนินการให้ชาวสวนขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 60-63 ต้องใช้ GI 70 ราย ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่สำรวจสุ่มตัวอย่าง 27 ราย พบว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 24,684 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 58 กก./ไร่/ปี (ทุเรียน 1 ลูก น้ำหนักเฉลี่ย 2-3 กก.) ราคาขาย ณ เดือน พ.ค.64 อยู่ที่ 1,839 บาท/กก. ได้ผลตอบแทน กำไรสุทธิ 82,697 บาท/ไร่/ปี

หากเปรียบเทียบทุเรียนไม่ได้ GI จะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 22,107 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 40 กก./ไร่/ปี ราคาขาย 1,588 บาท/กก. ได้ผลตอบแทน 63,520 บาท/ไร่/ปี กำไรสุทธิ 41,413 บาท/ไร่/ปี จะเห็นได้ว่า ต้นทุน GI สูงกว่า แต่ทำกำไรสุทธิสูงกว่า 99.69% ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุเรียน GI มาตรฐาน ผู้บริโภคตรวจสอบย้อนกลับได้ ชาวสวนพิถีพิถันในการดูแลไว้กิ่งละ 2 ลูก ต้นไม่โทรม ผลผลิตได้คุณภาพ ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง ทางราชการให้การรับรองสินค้า GI และ QR CODE ที่ผลทุเรียน และบรรจุภัณฑ์น่าเชื่อถือ

2.คุณอนัน บุญรอด
2.คุณอนัน บุญรอด

ปัญหาและอุปสรรคการปลูกทุเรียน

คุณพี หรือ คุณอนัน บุญรอด ชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ คนรุ่นใหม่หัวใจทุเรียนพรีเมียม ประธานชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย เปิดตัวให้สัมภาษณ์พิเศษหลายเรื่อง

1.ตลาดจีน : เริ่มมีความเสี่ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากทุเรียนเป็น “พืชกระแส” มีคู่แข่ง อย่าง เวียดนาม และ มาเลเซีย ไม่เกินเดือน ก.พ.65 นี้ จีนไฟเขียว ให้ทุเรียน 2 ประเทศ เข้าจีนโดยตรง ไม่ต้องผ่านไทย

2.ผลิตทุเรียนคุณภาพพรีเมียม หนีคู่แข่ง

คุณพีมองว่า ชาวสวนทุเรียนควรจะผลิตทุเรียนให้อร่อย เป็นทุเรียนระดับพรีเมียม ซึ่งไม่ยาก หากต้องการจะทำ วันนี้มีการปลูกทุเรียนทั่วประเทศ แต่ไม่ได้คุณภาพ “ความน่าเป็นห่วงทุเรียนไทย อย่างเดียว คือ สัดส่วนการตลาด เรื่องปริมาณ ยังไงไทยก็อันดับ 1 เพราะพันธุ์หมอนทองเรามีมากที่สุดในโลก แต่ในเรื่องมูลค่าของผลผลิต ประเทศจีนทำมูลค่าได้ดีกว่าไทยมาก ถ้าเทียบ/กิโลกรัม”

คุณพี ให้ความเห็น และให้แง่คิดว่า วันนี้ชาวสวนไม่ต้องมองว่า “สัดส่วน” ทุเรียนทั้งประเทศเท่าไหร่ แต่ควรมองว่า “มูลค่า/กก.” เท่าไหร่ วันนี้ทุเรียนไทย ในทัศนะคุณพี คือ 80% ขึ้นไป ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ “รสชาติ” ทุเรียนที่แท้จริง

คุณภาพของทุเรียน คือ อร่อย ปลอดภัย ได้ มาตรฐาน แต่ปัจจุบันวงการทุเรียนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไปมุ่ง “ปริมาณ” และ “ผลตอบแทน” ทางธุรกิจเป็นหลัก

เช่น ทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์ อร่อย แต่ไม่ได้โฟกัสไปหาคำตอบว่าเพราะอะไร ชาวสวนนนท์ก็ยังไม่ได้ค้นหา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ผมพยายามผลักดันให้เกิดคำว่า รสแท้ทุเรียนไทย ใครที่จะมารู้จักเรา จะได้ลิ้มรสชาติแท้ๆ ทุเรียนไทย นี่คือจุดประสงค์ในการทำงานของผม” คุณพี ให้ความเห็นถึงจุดยืนของชมรม

3.พูใหญ่ เนื้อเยอะ
3.พูใหญ่ เนื้อเยอะ

สายพันธุ์ทุเรียน

เนื่องจากทุเรียนมีความหลากหลายด้านสายพันธุ์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะพันธุ์ ความอร่อยไม่ใช่แค่รสชาติหวาน แต่บางพันธุ์มีกลิ่นหอม เช่น ชะนี เป็นต้น

ดังนั้นแต่ละปี คุณพีหมดเงินหลายแสนบาทเพื่อซื้อทุเรียนชิม จนพบว่า ก้านยาว ต้นที่อร่อยที่สุดอยู่ที่ไหน จากนั้นก็จะ ตอนกิ่ง ไปปลูก เพื่อขยายให้มากที่สุด เพื่อให้ชาวสวนที่มีอุดมการณ์เดียวกันไปปลูกแต่ละจังหวัด และ ก้านยาว เป็นทุเรียนที่มีรูปทรงสวย เป็นรูปลิ้นจี่ ก้านผลยาว น้ำหนัก 2.5-4 กก./ผล หนามใหญ่ มีระเบียบ รูปทรงคล้ายปิรามิด และมี 8 พู/ผล ซึ่งจะเป็นทุเรียนสวยที่สุด ราคา กก.ละ 5,000 บาท ซึ่งคุณพีประสบความสำเร็จในการผลิต และขายก้านยาวพรีเมียมทางออนไลน์ หลายคนต้องการซื้อ แต่ผลผลิตไม่พอ

4.บรรยากาศสวนทุเรียน
4.บรรยากาศสวนทุเรียน

สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน

ในการผลิตทุเรียนพรีเมียมคุณภาพนั้น คุณพีมองว่าจะต้องเข้าใจนิสัยของทุเรียนแต่ละพันธุ์ สภาพแวดล้อม และ องค์ความรู้ ในการปลูก อย่าง เมืองนนท์ ปลูกระบบร่อง เพราะเป็นที่ลุ่ม ป้องกันน้ำท่วม รากทุเรียนอ่อนแอ เมื่อเจอน้ำนานๆ จะเน่า ดังนั้นการเตรียมหลุมปลูกจึงต้องปั้นโคกให้สูง วางต้นทุเรียนด้านบน เนื่องจากพื้นดินเป็นดินเหนียว อุ้มน้ำ เวลาร้อนจะแข็ง รากขาด จำเป็นต้องเอาดินที่เหมาะสมมาปั้นเป็นหลุมแล้วปลูก ระยะปลูกขนาด 4×4 เมตร หรือ  4 ตารางเมตร และในการจัดการผล/ต้น ไม่ควรเกิน 10 ผล หรือกิ่งละ 1 ผล ก็พอ

“เมื่อทุเรียนเริ่มอ่อนแอจะแสดงอาการทันที บางกรณีเกิดจากทำลูกมากไป ดังนั้นการพัฒนาทุเรียนต้องเริ่มตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีดูแลรักษา การให้อาหาร การบำรุงรักษาต้น การบริหารผลผลิต และ การตัดผล” คุณพี ให้ความเห็น

สุดท้าย คุณพีให้แง่คิดเรื่องคนไทยไปยกย่องทุเรียนประเทศเพื่อนบ้าน มาลดบทบาท หมอนทอง ของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ล้งจีน” ที่มีบทบาทในไทย ต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 23