ข้าราชการไทยทุกกระทรวง ทบวง กรม กว่าจะไต่เต้าขึ้นงานบริหาร “ระดับจังหวัด” ได้ ต้องใช้พลังมหาศาล เช่น คุณสุชาติ พิลาเดช ประมงจังหวัดอยุธยา 1 ตุลาฯ 65 เกษียณ ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตราชการกรมประมงพอสมควร
นิตยสารสัตว์น้ำ เห็นว่า คุณสุชาติมี “ผลงาน” มากมาย ตลอดระยะเวลารับราชการ จึงนำประวัติ-ผลงาน มาเสนอคนในวงการสัตว์น้ำได้ศึกษา
8 ปี สังกัด 4 หน่วยงาน และขึ้นเป็นประมงอำเภอที่อีสาน โดยเฉพาะที่ยโสธร
การส่งเสริมการเลี้ยง กบ และ ปลาตะเพียน
“ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การพัฒนาเขาดีมาก ยอมรับเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม วิชาการ คนอีสานน้ำไม่เต็มแก้ว แต่คนภาคกลางน้ำเต็มแก้ว” คุณสุชาติ เปิดเผย เช่น การส่งเสริมการเลี้ยงกบทั้งอำเภอ โอเคพร้อมใจกันเลี้ยง จนวันนี้มีเงินเพราะขายลูกกบ (ฮวก) ให้ผู้เลี้ยงในภาคกลาง
พอมาอยู่ที่เขื่อนป่าสักฯ ลพบุรี ได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย และได้ร่วมกับ “ซีพี” นำ ปลาตะเพียน กลับบ้าน เป็นโครงการชื่อดังในยุคนั้น “ซีพีเข้ามาช่วย ให้งบประมาณเยอะมาก ทุกวันนี้ทราบว่ายังทำอยู่ เขาไปซื้อกระชัง และขุดบ่อให้” คุณสุชาติ ย้อนอดีตเรื่องการส่งเสริมเลี้ยงปลาตะเพียน
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ปลา และ กุ้ง
สมัยเป็นประมงอำเภอเสนา ได้เขียนโครงการ ปลาสวายรมควัน จนทางกรมสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรม เกษตรกรทำกันจริงจัง แต่จุดอ่อน คือ ไปขายตัดราคากันในตลาดอาฟริกา หลังจากที่คุณสุชาติไม่ได้ทำงานที่นั่น “ทุกวันนี้ราคา 100 กว่าบาท ตอนที่ผมอยู่ 200 กว่าบาท ราคาตก เพราะอบรมควันไม่แห้ง พอใส่ตู้คอนเทนเนอร์ 2 เดือนกว่า ฟรีซแข็ง เสียหายกลางทะเล บางคนจดทะเบียนกับต่างชาติ แล้วมาแข่งขันกัน”
จึงสรุปได้ว่า เพราะไม่มีระเบียบวินัย ไม่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ต่างจากคนจีนที่ค้าขายสำเร็จ เพราะซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
แต่โครงการกุ้งก้ามกรามแปลงใหญ่ อยุธยา มาตรฐาน GAP ของกรมประมง คุณสุชาติเข้าไปส่งเสริมประสบความสำเร็จมาก ทั้งในด้านการผลิต และการตลาด ขายดีจนไม่มีกุ้งขาย
แม้แต่เรื่อง “กุ้งขาว” จังหวัดอยุธยา ต้องรับผิดชอบ การผลิตปีนี้ 600 ตัน สำเร็จแน่นอน สนองนโยบายรัฐบาล 4 แสนตัน
การเพาะเลี้ยงกุ้ง
การส่งเสริมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณสุชาติได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อขอน้ำหมัก และจุลินทรีย์ มาใช้ และ ทางกรมประมงเองก็มี ปม.1 ปม.2 มาเสริม ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งทำให้มีคุณภาพ ซึ่งผู้ว่าอยุธยาเป็นพรีเซนเตอร์เอง จนกุ้งก้ามกรามดังมากๆ
เนื่องจากอยุธยา ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นรายย่อยเป็นหลัก ที่ลงทะเบียนไว้ประมาณ 5,000 ราย จึงต้องใช้นโยบายกุ้งแปลงใหญ่ ได้ดอกเบี้ยพิเศษจาก ธกส. และต้นทุนการเลี้ยงต่ำ/ผลผลิตสูง
แม้จะเป็นอาชีพเสริมการทำนา แต่ก็ทำให้มีรายได้ดีขึ้น เมื่อข้าวราคาตก
วันนี้เศรษฐกิจแย่หนัก คนจนเดือดร้อน ปรากฏว่าวัดต่างๆ ที่เลี้ยงปลาในคลองหน้าวัดก็เดือดร้อน เพราะมีคนขโมยจับปลา ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่พอที่จะไปจับ หรือบางทีเจอผู้ทำผิดก็ได้ตักเตือน เพราะเขาจะอดตาย จับปลาไปต่อชีวิต
“ผมโชคดี ไปอยู่ที่ไหนได้ความรู้จากลูกน้อง หน่วยงานใกล้เคียงกัน พอมีกิจกรรมก็ไปร่วมกับเขา วงการสัตว์น้ำอะไร ช่วยได้ก็จะช่วย ผมภูมิใจในงานที่ทำ ทำมาแล้วจำไม่ได้ และไม่เคยลืมคนที่ช่วยผมเป็นร้อยคน” คุณสุชาติ เปิดเผยถึงความสัมพันธ์กับคนทำงาน
แนวโน้มในอนาคต
สำหรับ จังหวัดอยุธยา คุณสุชาติ เห็นว่า ควรจะมี ตลาดกลางสัตว์น้ำ และ ห้องเย็น ที่เกิดขึ้น ควรจะให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดตรวจสอบได้ “เมื่อก่อนผมเคยเห็นคณะกรรมการตรวจห้องเย็น ไม่ว่าที่บ้านโพธิ์ หรือ ระยอง แต่อยุธยากลายเป็นกรรมการระดับกรม เป็นตัวแทน” คุณสุชาติ ให้ความเห็นเรื่องห้องเย็น ซึ่งมีมากในอยุธยา และเขายืนยันอีก 2 ปี โลกจะวิกฤตอาหาร เพราะโรคระบาด และสงครามไทยจะเป็นครัวโลกได้ โดยทำอาหารปลอดภัยมาตรฐาน GAP และ GMP
แม้ชีวิตจะผูกพันกับสัตว์น้ำ แต่คุณสุชาติรัก ต้นไม้ เหมือนชีวิต จึงขยันปลูก ยางนา ไม้ป่า ประดู่ ชิงชัน มะค่า เป็นต้น ปลูกเป็นระเบียบ “ผมปลูกต้นไม้ตั้งแต่เด็กๆ รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผมจะปลูกป่า ผมอยู่เขื่อนศรีฯ ตรงข้ามน้ำตกห้วยขมิ้นอ่างเก็บน้ำใหญ่ ผมเรียกตรงนั้นว่า แหลมกรุงเทพ มันสูง มองเห็นน้ำตกห้วยขมิ้น เมื่อก่อนก็มีป่าอยู่แล้ว ผมปลูกเสริม ปลูกประดู่แดง ประดู่ป่า แม้ที่เขื่อนป่าสักฯ ไปดูได้ เข้าไปร่มเย็น อากาศสบาย ผมไปแวะหาน้องๆ ต้อนรับผมอย่างดี” คุณสุชาติ เปิดเผย