สกู๊ปพิเศษ แนวทางผลิต “ ทุเรียน ” ภาคใต้ สร้างรายได้แบบยั่งยืน ทุเรียนสาลิกา ทุเรียน GI…ราชาทุเรียนบ้านเมืองพังงา ชาวสวนเก่งการจัดการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ฝน 8 แดด 4… วลีที่เป็นอัตลักษณ์ ดินแดนด้ามขวานของไทย

คนใต้เข้าใจสภาพแวดล้อม 2 ฝั่งทะเล ทั้ง แปซิฟิก และ อันดามัน จึงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว

ดำเนินชีวิตด้วยการประมง ปลูก และ เลี้ยงสัตว์ ระยะหลังเปิดตัว ธรรมชาติ เป็นจุดขาย เพื่อขยายธุรกิจท่องเที่ยวจนดังระดับโลก

อย่างไรก็ดี หากรัฐไทยจะสร้าง “แลนด์บริดจ์” เชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร เส้นระนอง-ชุมพร ก็ยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจด้ามขวาน จะขยายฐานจากด้ามไปสู่ขวานทั้งเล่มโดยออโต้

เมื่อชาวเอเชียเลือดมังกร ขยันบริโภคผลไม้เมืองร้อน อย่าง ทุเรียนหมอนทอง ของไทย แม้ราคาแพงก็ยอม เพราะติดใจในรสชาติ ส่งผลให้ชาวสวนทุเรียนภาคใต้หลายจังหวัด เร่งพัฒนารูปแบบการผลิตทุเรียนให้ได้ทั้ง ปริมาณ และ คุณภาพ เพราะภาคใต้มี “จุดเด่น” ด้านทุเรียนหลายประการ โดยเฉพาะ องค์ความรู้ ที่ถ่ายทอดหลายรุ่น และ เมล็ดทุเรียน ที่จะต้องเพาะเป็น “ต้นตอ” จากต้นแม่ อายุกว่า 60 ปี ก็มีหลายจังหวัด

แต่จุดอ่อนบางประการก็มี เช่น โรครากเน่าโคนเน่า ศัตรูพืช หลายชนิด มุ่งทำลายทุเรียนตลอดระยะเวลาการผลิต และปุ๋ยเคมีราคาสูงกว่า ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทีมงานนิตยสารพลังเกษตร ได้จัดทำสกู๊ปพิเศษ เรื่อง แนวทางการผลิตทุเรียนภาคใต้ เพื่อรายได้แบบยั่งยืน โดยนำข้อคิดเห็นของคนในวงการที่มีประสบการณ์สูงมานำเสนอ

1.ผลที่ตัด 80% จะได้เนื้อ และรสชาติ ที่อร่อย
1.ผลที่ตัด 80% จะได้เนื้อ และรสชาติ ที่อร่อย

ลักษณะโดดเด่นของทุเรียนสาลิกา

สาลิกา เป็นชื่อเรียกทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพังงา เป็นทุเรียนพื้นเมืองมีถิ่นกำเนิดที่อำเภอกะปง เป็นสายพันธุ์ทุเรียนที่คัดสรรโดยธรรมชาติ จากรุ่นสู่รุ่น จนได้ทุเรียนพันธุ์ดี ที่ชื่อ สาลิกา มีรสชาติหวาน มัน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบผู้ที่ได้ลิ้มลอง คำว่า สาลิกา ชื่อเรียกทุเรียนพันธุ์นี้ มีที่มาจากนกสายพันธุ์หนึ่ง ชื่อว่า สาลิกา เป็นนกที่มีลักษณะสีสันสดใส เสียงร้องที่ไพเราะ

ความโดดเด่นของทุเรียนสาลิกา คือ ผลกลม สามารถตั้งโต๊ะได้โดยไม่ล้ม ความยาวของผล จากขั้วผลวัดได้ 30  เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  20  เซนติเมตร เปลือกบาง หนามสั้น ผลดิบจะมีสีเขียวเข้ม  สีจะอ่อนลงเมื่อผลเริ่มสุก เมล็ดภายในส่วนใหญ่ลีบเล็ก  และที่สำคัญไส้ในจะมีสีสนิมแดง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนพันธุ์นี้ หากปอกดูไส้ในไม่เป็นสนิมแดง ไม่ใช่พันธุ์แท้แน่นอน น้ำหนักผลโดยเฉลี่ย 1.5-2.5 กิโลกรัม

ข้อสังเกต เรื่องรสชาติของทุเรียนสาลิกา ผลทุเรียนที่สุกหล่น หากรับประทานเลยจะมีรสชาติที่พอดี หวาน หอม อร่อย แต่หากทิ้งไว้ 2-3 วัน รสชาติจะกลายเป็นทุเรียนบ้าน ความอร่อยจะลดลง ทุเรียนตัด 80% เมื่อสุกจะมีรสชาติที่อร่อยมาก เนื้อในเต็มพู มีร่องเล็กน้อย รสชาติจะมีความหวาน มัน หอม อร่อย จากข้อสังเกตดังกล่าว การกินทุเรียนสาลิกาให้อร่อยต้องเป็นทุเรียนตัด เมื่อสุกจะมีรสชาติที่อร่อยมากกว่าผลหล่น

ด้านรสชาติ ต้องบอกว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติ หวาน มัน เนื้อทุเรียนมีสีเหลืองทอง เนื้อแน่น ละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ แต่ไม่ฉุน จนได้ฉายาว่า ราชาทุเรียนบ้าน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ทุเรียนสาลิกาเป็น ‘ทุเรียน GI’ โดยทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้าทุเรียน สาลิกา พังงา

2.ผลกลมสวย เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอ่อนๆ
2.ผลกลมสวย เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอ่อนๆ

การขึ้นทะเบียนเป็นทุเรียน GI

GI หรือ (Geographical Indications) หมายถึง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ เครื่องหมายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะ ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI เปรียบเสมือนแบรนด์ ท้องถิ่น บ่งบอกถึงคุณภาพ และแหล่งที่มา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

และจากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากทุเรียนสาลิกาพังงาได้รับการขึ้นทะเบียน ยังพบว่ามีทุเรียนอีก 8 สายพันธุ์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เช่น ทุเรียนนนทบุรี  ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนปราจีน ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ ทุเรียนในวงระนอง  และ ทุเรียนภูเขาไฟ สำหรับทุเรียน GI สาลิกาพังงา หลายปีที่ผ่านมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ จนมีคำกล่าวที่ว่า มาพังงา ต้องได้กินทุเรียนสาลิกา เป็นคำกล่าวที่หลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี

3.สวนทุเรียนสาลิกา ที่นี่เน้นทำทุเรียนต้นเตี้ย
3.สวนทุเรียนสาลิกา ที่นี่เน้นทำทุเรียนต้นเตี้ย

การปลูกทุเรียน

การผลิตทุเรียนสาลิกา แต่ละปีทุเรียนสาลิกา พังงา ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัน ผลผลิตจะออกสู่ตลาด เดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม อย่างกรณีปีนี้ฤดูกาล 2565 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ดอกเริ่มติดดอก คาดว่าจะไปเก็บผลผลิตได้ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

ด้วยเหตุผลที่ทุเรียนสาลิกามีรสชาติ อร่อย ราคาแพง ปัจจุบันชาวสวนในจังหวัดพังงา และใกล้เคียง ได้ขยายพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ทำให้ต้นพันธุ์ทุเรียนสาลิกาพันธุ์ดี มีราคาสูง  ต้นพันธุ์เสียบยอด ตกต้นละ 200-300 บาทต่อต้น (จากแหล่งพันธุ์ดั้งเดิม)

การปลูกทุเรียนสาลิกา ปัจจุบันหลายๆ สวน ทั้งในพื้นที่แหล่งกำเนิดพันธุ์อำเภอกะปง และ อำเภอต่างๆ ในจังหวัดพังงา ได้มีการพัฒนาการปลูก การดูแลรักษา แบบสวนมืออาชีพมากขึ้น มีการพัฒนาการทำสวนในเชิงธุรกิจมากกว่าในอดีตที่เน้นปลูกแบบสวนผสม

พูดถึงการปลูกทุเรียน ปัจจุบันต้องยอมรับว่าทุเรียนปลูกได้ทุกภาคของประเทศ ยิ่งเป็นทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีความต้านทานต่อโรคแมลงสูง ยิ่งปลูกง่าย หากมีการจัดการที่ดี มีแหล่งน้ำ ตลอดฤดูการปลูก มีไม้บังลม และดินมีค่าความเป็นกรด ด่าง 5.5-6.5 ก็เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียน

4.ต้นทุเรียนสาลิกา อายุ 2 ปี
4.ต้นทุเรียนสาลิกา อายุ 2 ปี

การบริหารจัดการสวนทุเรียน

สำหรับการทำสวนทุเรียนของที่นี่ จากที่ได้สัมผัสกับชาวสวนทุเรียน และเก็บข้อมูลในช่วงฤดูทุเรียนในปีที่ผ่านๆ มา ในเขตจังหวัดพังงา หลายพื้นที่ ทั้งในแหล่งกำเนิดอำเภอกะปง และ อำเภออื่นๆ พบว่าการปลูกเน้นเป็นสวนขนาดใหญ่มากขึ้น บางสวนมีการควบคุมทรงพุ่ม ทำทุเรียนต้นเตี้ย ปลูกแบบยกร่อง ก็มีให้เห็นมากขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การจัดการสวนทุเรียนที่นี่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสวนทุเรียนดั้งเดิม มีอายุตั้งแต่ 10-30 ปี หรือมากกว่านั้น ต้นทุเรียนแต่ละต้นมีความสูงกว่า 10 เมตร ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการดูแลจัดการสวนมากกว่าสวนที่ทำทุเรียนต้นเตี้ย ชาวสวนที่นี่จะเริ่มจัดการต้นทุเรียนหลังการเก็บผลผลิตปลายเดือนพฤษภาคม ฟื้นฟูต้น สร้างใบ เริ่มจากตัดแต่งกิ่งแห้งไม่สมบูรณ์ออก จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นหลัก หรือจะใช้สูตร 15-5-25 ตามความชอบของแต่ละสวน ส่วนปุ๋ยเร่งดอกจะเน้น 8-24-24 ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม

กรณีสวนทุเรียนสาลิกาที่บ้านสวนนรมน ตำบลถ้ำ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นสวนทุเรียนดั้งเดิม แต่ละปีสามารถทำเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะสามารถขายผลผลิตได้ราคาดี 150-250 บาท ต่อกิโลกรัม ผลผลิตของที่นี่จะออกช่วงปลายเดือนเมษายน เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งลูกค้าจะมีการจองล่วงหน้า ออเดอร์แต่ละปีไม่น้อยเลย การจัดการดูแลสวนทุเรียนสาลิกา ที่นี่ไม่แตกต่างจากสวนอื่น ภายหลังจากเก็บทุเรียนจนหมดสวน

5.คุณนรมน ตุลยนิษกะ เจ้าของบ้านสวนทุเรียนสาลิกา
5.คุณนรมน ตุลยนิษกะ เจ้าของบ้านสวนทุเรียนสาลิกา

การบำรุงดูแลต้นทุเรียน

คุณนรมน  ตุลยนิษกะ บอกว่า ที่นี่จะเน้นการตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออก ซึ่งต้องใช้คนงานที่มีฝีมือ และ แข็งแรง เนื่องจากต้นทุเรียนที่นี่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ภายหลังจากตัดแต่งกิ่ง จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-5-25 อัตราที่ใส่ตามความเหมาะสม ไม่เกิน 5 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งจะทยอยใส่ 3 ครั้ง ให้ครบ 5 กิโลกรัม บำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่ตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ต้นทุเรียนมากที่สุดก่อนที่จะออกดอก

นอกจากใช้สารเคมี ที่สวนยังเน้นวิธีป้องกันโรคแมลงด้วยวิธีไม่เป็นอันตราย เช่น การใช้สารสกัดจากพืช ก่อนออกดอกที่นี่จะเน้นใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับต้น แต่จะลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งของการใส่ปกติ เพื่อลดไนโตรเจน เพราะเน้นให้เกิดตาดอก

คุณนรมนกล่าวต่อว่าการทำให้ดอกทุเรียนติดผลนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องบอกว่ามีทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ ต้องลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่มีอากาศที่แปรปรวน ร้อนชื้น ต้องเตรียมความพร้อมของต้นให้ดี  ซึ่งการติดดอก ออกผล ได้ดี ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมเป็นสำคัญ

เนื่องจากทุเรียนสาลิกาเป็นทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่น การผสมเกสร หรือการปัดเป่า ไม่สำคัญมากนัก อาศัยการผสมเกสรโดยธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งทางสวนจะเลี้ยงผึ้งโพรงไว้เป็นตัวช่วยอีกแรง ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดของต้นที่สูง แต่ทั้งนี้ในบางสวนที่ทำทุเรียนสาลิกาต้นเตี้ย เน้นผสมเกสรด้วยวิธีการปัดเป่าเพื่อเพิ่มโอกาสการติดดอก ออกผล ได้ดีขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เรื่องการให้น้ำมีความสำคัญมาก หากช่วงนั้นไม่มีฝนตกลงมา ช่วงที่ดอกทุเรียนพัฒนาเป็นเหยียดตีนหนู มั่นใจว่าเป็นดอกแล้ว ให้น้ำตามปกติ ให้สังเกต คือ ถ้าดอกร่วงผิดปกติ แสดงว่าการให้น้ำน้อยเกินไป การให้น้ำควรให้ตามความเหมาะสม ดูจากขนาดต้น ดอก เป็นหลัก

หลังจากทุเรียนติดผล คุณนรมนกล่าวต่ออีกว่าช่วง 5-6 สัปดาห์ ที่นี่จะเน้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผล และเพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อทุเรียน และนอกจากปุ๋ยอินทรีย์แล้ว จะเสริมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตราที่ใส่ตามความเหมาะสมของต้น และสูตร 0-0-50  ตามความเหมาะสมเช่นกัน

6.ควบคุมต้นไม่ให้สูง เพื่อการจัดการที่ง่าย.
6.ควบคุมต้นไม่ให้สูง เพื่อการจัดการที่ง่าย.

ปัญหาและอุปสรรคของต้นทุเรียน

ปัญหาและอุปสรรคการทำสวนทุเรียนสาลิกา คือ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการทำสวนทุเรียนสาลิกา พังงา และไม่เฉพาะเป็นปัญหาใหญ่ต่อการปลูกทุเรียนสาลิกา เพราะปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่การปลูกทุเรียนในภาคใต้ ปัญหาดังกล่าวนี้น่าจะต้องหยิบยกเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสร้างความเสียหายแต่ละปีไม่น้อยเลยทีเดียว

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนใต้ หรือ หนอนมาเลย์ ตัวเต็มวัยเป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 100-200 ฟอง จะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณหนามทุเรียน ใกล้ขั้วผล ช่วงผลอ่อน หลังจากฟักเป็นตัวอ่อนจะเจาะกินเมล็ดภายในผลเป็นอาหาร จะสังเกตการเข้าทำลายของหนอนได้ยาก เพราะมีขนาดเล็กมาก และจะทำลายในช่วงเมล็ดแข็ง ถ่ายมูลออกมาปะปนกับเนื้อทุเรียน

เมื่อทุเรียนแก่ใกล้สุก หนอนโตเต็มวัยพร้อมที่จะเจาะรูออกมา จากนั้นจะเข้าดักแด้ในดินได้นาน 9 เดือน เป็นผีเสื้อออกจากดักแด้ ภายใน 1 เดือน สามารถเข้าทำลายทุเรียนรุ่นหลังๆ ในปีเดียวกัน หรือปีถัดไป เป็นวงจรที่กำจัดได้ยาก กลายเป็นปัญหาหนักอกของชาวสวนทุเรียนในปัจจุบัน

การกำจัดและควบคุมหนอนดังกล่าว ชาวสวนทุเรียนที่ปลูกทุเรียนสาลิกาในจังหวัดพังงา เน้นกำจัดหลายวิธี หนึ่งในนั้นกำจัดโดยใช้สารเคมีฉีดพ่นทุกๆ 7-10 วัน ช่วงทุเรียนได้ 6 สัปดาห์ สารเคมีที่ใช้แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 25%EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และ คาร์บาริล (carbaryl) 85% wp อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากชาวสวนทุเรียนสาลิกา พังงา จะประสบปัญหาเรื่องหนอนเจาะทุเรียนเป็นหลักแล้ว ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนยังเป็นปัจจัยควบคุมคุณภาพทุเรียนเป็นสำคัญ ในบางปีฝนตกเยอะ ส่งผลต่อไส้ในทุเรียน หนามทุเรียนมี เชื้อราดำ รวมถึงปัญหาสัตว์ฟันแทะ กัดกิน กว่าที่ชาวสวนจะได้ทุเรียนคุณภาพแต่ละลูกไม่ใช่เรื่องง่าย

7.ลักษณะเด่น ของทุเรียนสาลิกา ผลตั้งโต๊ะได้โดยไม่ล้ม
7.ลักษณะเด่น ของทุเรียนสาลิกา ผลตั้งโต๊ะได้โดยไม่ล้ม

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายทุเรียนสาลิกา

สำหรับการทำสวนทุเรียนสาลิกา พังงา ที่บ้านสวนนรมน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ผลผลิตที่นี่จะเน้นขายออนไลน์เป็นหลัก ท่านที่สนใจสามารถสั่งจองล่วงหน้าก่อนฤดูกาลที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งทางเจ้าของสวนยืนยันว่าทุเรียนสาลิกาที่นี่มีคุณภาพอย่างแน่นอน

จากข้อมูลการทำสวนทุเรียนสาลิกา ต้องยอมรับว่าทุเรียนสาลิกาเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญ มีศักยภาพ ในระดับจังหวัด ทำเงินให้กับผู้ปลูกแต่ละปีไม่น้อยเลยทีเดียว หากทุกภาคส่วน สนับสนุน ส่งเสริม ช่วยกันดูแลจัดการ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โอกาสของทุเรียนสาลิกาซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจะสามารถทำเงินให้กับชาวสวนได้เพิ่มมากขึ้น

ต้นทางในที่นี้ หมายถึง ต้องพัฒนารูปแบบการทำสวนให้ทันสมัย ตั้งแต่ การปลูก การดูแลรักษา ตลอดถึงการเก็บผลผลิต พร้อมๆ กับการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุเรียนสาลิกาในปัจจุบัน ส่วนปลายทาง คือ การตลาด ที่ต้องใส่ใจผู้บริโภค ไม่ตัดทุเรียนอ่อน ทุเรียนที่หล่นต้องขายในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งต้องสร้างมาตรฐานของสินค้า ที่ชื่อว่า ทุเรียนสาลิกา ไม้ผลอัตลักษณ์ของชาวพังงา โอกาสของทุเรียนสาลิกาในตลาดจะเพิ่มมากขึ้น

เรื่องราวทุเรียนสาลิกา  พังงา ที่นำเสนอ ต้องบอกว่าเป็นข้อมูลเพียงบางส่วน หากผู้รู้ท่านใดมีข้อมูลการทำสวนทุเรียนสาลิกาเพิ่มเติม ยินดีแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำเสนอต่อผู้สนใจ สมบัติ ทัพไทย โทร.093-028-6750

เมื่อนำ “องค์ความรู้” มาวิเคราะห์ จะพบว่า ชาวสวนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดี โดยเฉพาะแนวทางทำให้ต้นทุเรียนแข็งแรง อันเนื่องมาจากการจัดการที่ถูกต้อง แม้แต่ “หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน GI” ที่พังงา ก็ไม่สุดวิสัยที่จะป้องกัน ถ้ารัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เรื่องทุเรียน เป็นงานฝีมือ ดังนั้น รัฐ และ เอกชน ต้องพัฒนาองค์ความรู้ และ ปรับตัวตามสถานการณ์ สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องทุเรียนในทุกๆ เรื่อง โทร.085-075-8853

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 24